ช่วงปี 2560-2561 มีข่าวดีเล็ก ๆ ที่สื่อส่วนใหญ่มองข้ามไปนั่นก็คือ ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น331,951.67 ไร่ ส่งผลให้ไทยมีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดในรอบ 6 ปี ด้วยจำนวน 102,488,302.19 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.68 ของพื้นที่ประเทศ ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการเพิ่มผืนป่าของประเทศไทย
ขณะที่ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้นตั้งเป้าเอาไว้ว่า ภายในปี 2580 ประเทศไทยต้องเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ
สำหรับหนึ่งในส่วนงานสำคัญในการเพิ่มพื้นที่ป่าและการอนุรักษ์ผืนป่าของเมืองไทยให้ดำรงคงอยู่ก็คือ “อุทยานแห่งชาติ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งอยู่ 3 ประการ คือ เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัย และเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ
ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย มีที่ประกาศไปแล้ว 133 แห่ง และกำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการประกาศอีก 22 แห่ง (รวม 155 แห่ง) เป็นอุทยานแห่งชาติทางบก 11 แห่ง และอุทยานแห่งชาติทางทะเล 22 แห่ง มีเนื้อที่รวม 43.99 ล้านไร่ หรือ 13% ของเนื้อที่ประเทศทั้งหมด
โดยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทยที่ประกาศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 และ อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน ใน อ.ท่าวังผา จ.น่าน เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งสุดท้ายในสมัย รัชกาลที่ ๙
ครั้นมาถึงในยุคสมัยรัชกาลที่ ๑๐ ล่าสุดประเทศไทยมีอุทยานแห่งชาติที่ประกาศขึ้นมาใหม่ในรัชกาลปัจจุบันรวมแล้วทั้งหมด 5 แห่ง ดังนี้
อุทยานแห่งชาติเจ็ดสาวน้อย
อุทยานแห่งชาติเจ็ดสาวน้อย มีพื้นที่ 26,238.00 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี และ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 129 ของประเทศไทย ที่ทำการอุทยานตั้งอยู่ หมู่ 9 บ้านแก่งหลุ ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี
อุทยานแห่งนี้ ถูกยกฐานะขึ้นมาจากวนอุทยานน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ที่จัดตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2523 โดยกองบำรุงสมัยนั้น เป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งนับตั้งแต่มีการยกฐานะขึ้นเป็นอุทยานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติเจ็ดสาวน้อย มีการจัดการที่ดีขึ้นผิดหูผิดตา มีระเบียบ มีความสะอาดมากขึ้น
อุทยานแห่งชาติเจ็ดสาวน้อย นอกจากจะมีน้ำตกชั้นต่างๆ ที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยแล้ว ยังมีลานกางเต็นท์ย่านที่ทำการและกำลังดำเนินการของบประมาณสร้างลานกางเต็นท์ใหม่ริมอ่างเก็บน้ำมวกเหล็กซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงามมากขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างแน่นอน นับเป็นอุทยานแห่งชาติหนึ่งที่ครบในเรื่องการท่องเที่ยว
อุทยานแห่งชาติเจ็ดสาวน้อย มีน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เป็นชั้นหินปูนที่สวยงาม 7 ชั้น ไหลลดหลั่นกัน ท่ามกลางบรรยากาศที่ร่มรื่น
อุทยานแห่งชาติขุนสถาน
อุทยานแห่งชาติขุนสถาน มีพื้นที่ 214,058.00 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.นาน้อย อ.นาหมื่น จ.น่าน และ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2560 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 130 ของประเทศไทย
อุทยานแห่งนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาพื้นที่ป่าธรรมชาติบนดอยสูง ซึ่งเป็นรอยต่อเชื่อมระหว่าง อ.สอง จ.แพร่ และ อ.นาน้อย อ.นาหมื่น จ.น่าน ที่กำลังถูกบุกรุก แผ้วถางอย่าหนักให้ถูกคุ้มครองโดยรูปแบบอุทยานแห่งชาติ มีการสำรวจจัดตั้งตั้งแต่ ปี 2541
อุทยานแห่งชาติขุนสถาน ตั้งอยู่บนความสูงตั้งแต่ 120-1,726 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีแม่น้ำน่านเป็นแนวกั้นระหว่างจังหวัดอุตรดิตถ์กับจังหวัดน่าน มีลำธารที่เกิดจากป่าผืนนี้หลายสาย ที่ล้วนเป็นต้นธารของแม่น้ำน่าน เช่น ห้วยน้ำแหง ห้วยน้ำอูน ห้วยน้ำลี และขุนดอยต่าง ๆ เช่น ดอยจวงปราสาท สูง 1,193 เมตร ดอยแม่จอก สูง 1,469 เมตร ดอยกู่สถาน(ดอยธง) สูง 1,634 เมตร
อุทยานแห่งชาติขุนสถาน มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ คือ ดอยขุนสถาน อ.นาน้อย จ.น่าน ซึ่งเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่มีความสวยงามและอากาศเย็นสบาย ในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ ตามเส้นทางบนดอยขุนสถานจะมีดอกนางพญาเสือโคร่งออกดอกบานอย่างสวยงาม จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างมาก
อีกทั้งยังมี น้ำตกขนาดใหญ่ ที่ได้ฉายาว่าน้ำตกตระกูลลี คือน้ำตกขุนลี น้ำตกลีหลวงและน้ำตกตาดลี ที่เป็นสามน้ำตกที่ต่อเนื่องกัน เป็นการท่องเที่ยวแนวผจญไพร ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง อีกทั้งยังมีน้ำตกอื่นๆในพื้นที่อีกหลายแห่ง
นอกจากนี้ อช.ขุนสถาน ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจอื่น ๆ อีก อาทิ ดอยแม่จอก, จุดชมวิวดอยธง-ผากระทิงตก, จุดชมวิวดอยผาผึ้ง เป็นต้น
อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้
อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ มีพื้นที่ 221,446 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.สันกำแพง อ.ดอยสะเก็ด อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ และ อ.บ้านธิ อ.เมือง จ.ลำพูน ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2560 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 131 ของประเทศไทย ที่ทำการอุทยานอยู่ที่หมู่ 3 บ้านแม่หวาน ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ อยู่ริมถนนสายดอนสะเก็ด-เวียงป่าเป้า เป็นอุทยานแห่งชาติที่เดินทางสะดวกเหมาะกับการพักแรมแบบกางเต็นท์มากที่สุด
ที่มาของอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้นั้นน่าสนใจยิ่ง โดยเมื่อปี พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ ๙) และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (พระราชินีในรัชกาลที่ ๙) พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านแม่ตะไคร้ และทรงทราบถึงความเป็นอยู่แร้นแค้น ของราษฎร พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการเพื่อพัฒนาอาชีพและส่งเสริมคุณธรรม เพื่อให้ราษฎรมีอาชีพที่มั่นคงถาวร พอกินพอใช้ตามอัตภาพ และให้ยึดถือหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพการครองเรือน เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรในท้องถิ่นที่ใกล้เคียง
ต่อมาทรงมีรับสั่งและมีหนังสือจากสำนักราชเลขาธิการ ให้กรมป่าไม้ โดยกองอุทยานแห่งชาติดำเนินการจัดตั้งเป็นวนอุทยาน เพื่อให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ศึกษาค้นคว้าตามธรรมชาติ การอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารและสัตว์ป่า โดยให้ดำเนินการสนองพระราชดำริในการปรับปรุงพื้นที่เป็นที่อยู่ธุดงค์สถานของพระภิกษุสามเณร และเป็นที่ปฏิบัติธรรมของประชาชนทั่วไป ให้ชื่อโครงการว่า “โครงการพัฒนาชนบทยากจนตามพระราชดำริ” การดำเนินการตามแผนงานโครงการเบื้องต้น ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการ กปร. จึงนับได้ว่าเป็นวนอุทยานที่มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น
ในปี 2530 วนอุทยานแม่ตะไคร้ ได้ส่งข้อมูลการสำรวจเบื้องต้น เพื่อยกฐานะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการสำรวจและจัดตั้ง และพบว่าเป็นพื้นที่มีความสมบูรณ์ของธรรมชาติ เป็นขุนดอยสูงใหญ่ อันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกผีปันน้ำ เป็นแหล่งต้นน้ำหลายสาย ตลอดจนมีพืชพรรณที่หายากหลายอย่างจึงเห็นควรจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติให้ดำเนินการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติขึ้นในเวลาต่อมา
อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญคือ อ่างเก็บน้ำแม่ตะไคร้, อ่างเก็บน้ำแม่ตีบ-สาร, เขื่อนแม่กวงอุดมธารา รวมถึงมีน้ำตกที่สวยงามอย่างน้ำตกตาดเหมย น้ำตกแม่ต๋ง น้ำตกแม่ตะไคร้
นอกจากนี้ อช. แม่ตะไคร้ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจอื่น ๆ อีก อาทิ ดอยลังกาหลวง ดอยลังกาน้อย ซึ่งเป็นเส้นทางเดินป่าที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวผู้รักการเดินป่าอยู่ไม่น้อย
อุทยานแห่งชาติน้ำตกธารเสด็จ-หมู่เกาะพะงัน
อุทยานแห่งชาติน้ำตกธารเสด็จ-หมู่เกาะพะงัน มีพื้นที่ 26,895.04 ไร่ ตั้งอยู่ใน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 132 ของประเทศไทย
อุทยานแห่งชาติน้ำตกธารเสด็จ-หมู่เกาะพะงัน มีที่ทำการตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 บ้านมะเดื่อหวาน ต.เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน บริเวณกลุ่มน้ำตกแพงที่รู้จักกันดีนั่นเอง ห่างจากท่าเรือท้องศาลาไปตามถนนท้องศาลา-โฉลกหลำแค่ 3 กม. เท่านั้น
อุทยานแห่งนี้ที่มาจากการที่ ปี 2510 เริ่มมีชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าพระครูสุภัทรธรรมาภิรม (วิธูร ธรรมวโร) เจ้าอาวาสวัดราษฎร์เจริญ (บนเกาะพะงัน) เห็นว่าพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีป่า มีน้ำตก ควรจะตั้งเป็นวนอุทยานน้ำตกแพงก่อน ท่านเจ้าอาวาสจึงชักชวนชาวบ้านสร้างถนนไปยังน้ำตกและขอร้องชาวบ้านให้เก็บป่าบริเวณน้ำตกไว้
ต่อมา ปี 2520 ท่านพระครูจึงมอบวนอุทยานน้ำตกแพง ให้กับกรมป่าไม้ดูแล และกรมป่าไม้ก็ประกาศเป็น “วนอุทยานน้ำตกแพง” สังกัดกองอุทยานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2530 ส.ส. ในพื้นที่เสนอให้จัดตั้งเป็นอุทยานฯ ทางกรมป่าไม้จึงดำเนินการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติขึ้นในเวลาต่อมา
อุทยานแห่งชาติน้ำตกธารเสด็จ-หมู่เกาะพะงัน มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญคือ น้ำตกธารเสด็จ ซึ่งเป็นเส้นทางตามรอยเสด็จของ รัชกาลที่ ๕ ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ กลุ่มน้ำตกธารเสด็จ-น้ำตกพุแดงและน้ำตกธารสามปั้น เป็นน้ำตกที่อยู่ในลำธารเดียวกัน ห่างกันไม่มาก เดินเท้าจากถนนไม่เกิน 100 เมตรแห่ง ลำธารธารเสด็จนี้จะไหลออกทะเลที่อ่าวธารเสด็จ ซึ่งห่างหน่วยพิทักษ์อุทยานราว 200 เมตรเท่านั้น ที่นี่มีที่พักแรมและเดินทางสะดวก มีน้ำไหลตลอดทั้งปีจึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวอย่างมาก
นอกจากนี้ อช. น้ำตกธารเสด็จ-หมู่เกาะพะงัน ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจอื่น ๆ อีก อาทิ เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกลุ่มน้ำตกแพง (น้ำตกแพงน้อย- แพงใหญ่-น้ำตกธารน้ำรัก)
และจุดชมวิวโดมศิลา เป็นเส้นทางเดินเลียบน้ำตกขึ้นเขาระยะทางสั้นๆแต่สวยงาม เส้นทางเดินป่าขึ้นยอดเขาหราซึ่งเป็นเขาที่สูงที่สุดบนเกาะ(635 เมตร จากระดับน้ำทะเล) ข้างบนมีป่าบัวเฉกที่หนาทึบและเป็นจุดชมทิวทัศน์ท้องทะเลที่สวยงาม รวมถึงมี ยอดเขาหรา เขากินนอน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของอุทยานฯแห่งนี้
อุทยานแห่งชาติดอยจง
อุทยานแห่งชาติดอยจง มีพื้นที่ 210,200 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.เถิน อ.สบปราบ จ.ลำปาง และ อ.ลี้ จ.ลำพูน ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 133 ของประเทศ และเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับล่าสุด (ลำดับที่ 5 ที่ประกาศในรัชสมัยรัชกาล ที่ ๑๐)
อุทยานแห่งชาติดอยจง มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญคือ ดอยจง ที่มียอดสูง 1,379 เมตร จากระดับน้ำทะเล ทอดตัวยาวอยู่ในพื้นที่ทั้งใน อ.ลี้ จ. ลำพูน และ อ. เถิน แม่พริก สบปราบ จ.ลำปาง พื้นที่ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง เบญจพรรณ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีลำห้วยลำธารหลายสายที่เกิดจากป่าแห่งนี้เช่นไหลลงทั้งแม่น้ำวังและแม่น้ำปิง
ดอยจง ถือเป็นดอยที่โดดเด่น ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตสมัยเริ่มสงครามเย็น ที่นี่เคยถูกใช้เป็นที่ตั้งสถานีโทรคมนาคมของกองทัพอากาศมาก่อน ก่อนที่จะย้ายไปที่ดอยอินทนนท์ในภายหลัง
ยอดดอยจง เป็นหนึ่งในจุดหมายของนักท่องเที่ยวผู้รักการเดินป่า เพื่อขึ้นไปชมทิวทัศน์ของยอดดอยสูงแห่งนี้ ในช่วงปลายเดือนมกราคม ป่าเต็งรังของดอยจงจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีสันต่างๆอย่างสวยงาม
นอกจากนี้ อช.ดอยจง ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจอื่น ๆ อีก อาทิ อ่างเก็บน้ำแม่ยอง น้ำตกตาดปู่หล้า น้ำตกธารมะไฟ และน้ำตกแม่ยอง ที่อยู่ในลำธารสายเดียวกันอีกด้วย
และนี่ก็คือ 5 อุทยานแห่งชาติลำดับล่าสุด ในยุคสมัยของรัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งปัจจุบันอุทยานแห่งชาติทั้ง 5 แห่งนี้เก็บค่าบริการเพียง 20 บาท แต่ก็มีธรรมชาติให้เก็บเกี่ยวความสุขอย่างมากมาย
นอกจากนี้ถ้าสังเกตต่อไปว่า ระยะเวลาในการดำเนินการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ มาจนถึงวันที่อุทยานได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นอุทยานแห่งชาติอย่างสมบูรณ์นั้น ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปีในแต่ละแห่ง
ทั้งนี้การดำเนินการอุทยานแห่งชาติเจริญรุดหน้ามาอย่างมาก มีข้อน่าสังเกตว่าถ้าเป็นอุทยานแห่งชาติในยุคเก่า พื้นที่มักจะเป็นผืนใหญ่ ไม่มีชุมชนอยู่ในพื้นที่ป่า แต่ถ้าเป็นอุทยานแห่งชาติที่ประกาศในภายหลัง มักจะมีพื้นที่เป็นเกาะกระจัดกระจาย มีชุมชนคั่นหรืออยู่ภายในพื้นที่อุทยาน แต่อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ยังสามารถบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติได้
อย่างไรก็ดีเป็นที่เสียดายว่าพื้นที่ที่มีความสวยงามสมบูรณ์หลายแห่งที่ทางอุทยานฯได้ไปเตรียมการณ์สำรวจไว้แล้วนั้น ทางชุมชนและท้องถิ่นหลาย ๆ แห่ง ไม่ให้ความยินยอม ด้วยเกรงจะชาวบ้านในพื้นที่จะเข้ามาหาผลประโยชน์จากผืนป่าอีกไม่ได้
ทำให้พื้นที่ป่าในหลาย ๆ แห่งของบ้านเราไม่ได้ถูกจัดการอย่างเป็นระบบ ป่าสมบูรณ์บางแห่งก็ถูกทำลาย รุกราน แผ้วถาง จนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ซึ่งถ้าหากทั้งคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ เห็นความสำคัญของการเป็นอุทยานแห่งชาติแล้วก็จะเข้าใจว่า “อุทยานแห่งชาติ” ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นของคนทั้งประเทศนั่นเอง
....................................................................................................
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager