xs
xsm
sm
md
lg

"สักสี" ลวดลายแห่งศักดิ์ศรี รู้จักไทย-ไต้หวันผ่านรอยสัก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
หลากเรื่องราวเกี่ยวกับการสักของคนไทย-ไต้หวัน ในงานนิทรรศการสักสี สักศรีฯ
หากการวาดคือการแต่งแต้มสีสันและเส้นสายลงบนวัสดุต่างๆ การ “สัก” ก็ถือเป็นการวาดแบบหนึ่ง เพียงแต่เป็นการสรรค์สร้างลวดลายลงบนผิวหนังของมนุษย์ และการจะได้มาซึ่งรอยสักนั้นก็ต้องแลกด้วยความเจ็บปวด

ปัจจุบันหลายคนมีมุมมองต่อรอยสักแตกต่างกันไป บ้างชื่นชอบชื่นชม บ้างมีอคติ แต่กลับกันในอดีตนั้น คนที่มีรอยสักจะได้รับการยอมรับว่าเหนือกว่าคนที่ไร้รอย...
การสักขาลายของคนล้านนา
เรื่องราวของการสักถูกนำมาบอกเล่าผ่านนิทรรศการ “สักสี สักศรี : ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน” (Tattoo Color, Tattoo Honor : Indigenous Tattoo in Taiwan and Thailand) ที่จัดขึ้น ณ มิวเซียมสยาม ซึ่งไม่เพียงนำเอาเรื่องราวการสักของคนไทยโดยเฉพาะการ “สักขาลาย” ของคนล้านนาที่น่าสนใจมาบอกเล่า แต่ยังนำเอาการสักของกลุ่มชาติพันธุ์ในไต้หวันที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนและหาชมได้ยากมาจัดแสดงให้ชมกัน โดยความร่วมมือของมิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย

การจะได้มาซึ่งรอยสักนั้นต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวด เพราะวิธีการสักคือการนำเหล็กแหลมที่จุ่มหมึกหรือน้ำมันแทงลงบนผิวหนังเพื่อให้เกิดเป็นเครื่องหมายหรือลวดลาย โดยมนุษย์นั้นรู้จักการสักมาตั้งแต่โบราณ พบหลักฐานเป็นรอยสักที่บริเวณหลังและข้อเท้าจากซากมนุษย์โบราณอายุกว่า 5,300 ปี ซึ่งพบที่ธารน้ำแข็งอาเล็ทซ์ กลาเซียร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หรือแม้แต่บนร่างของมัมมี่ในประเทศอียิปต์ก็พบรอยสักเช่นกัน
รอยสักอักขระศักดิ์สิทธิ์บนแผ่นหลัง และสักขาลายที่ช่วงล่างของลำตัว
การสักในปัจจุบันส่วนมากแล้วเป็นเรื่องของแฟชั่นและความสวยงาม แต่ในอดีต เหตุผลในการสักนั้นมีหลากหลาย ทั้งเพื่อบอกยศตำแหน่งและเป็นเครื่องหมายแห่งเกียรติยศ บ้างเพื่อเป็นการส่งสาร บ้างเชื่อว่าจะเป็นการคุ้มครองตัวผู้สัก เช่นเดียวกับลวดลายและรูปแบบที่มีความแตกต่างกันไป เรียกว่าเป็นเสน่ห์แห่งรอยสักก็ว่าได้

สักขาลายแบบไทย

สำหรับคนไทยนั้นคุ้นเคยกับการสักมาแต่โบร่ำโบราณ ในอดีตชายไทยนิยมสักยันต์ สักรูปสัตว์ สักอักขระศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อความแคล้วคลาดอยู่ยงคงกระพัน และยังมีการสักเพื่อประโยชน์ในการจำแนกกรมกองสังกัด เช่น การสักเลก

เชื่อว่าที่มาของการสักลายของคนไทย เป็นประเพณีที่ได้มาจากชาวไทใหญ่ สิบสองปันนาและสิบสองจุไท โดยมีเรื่องเล่าเป็นตำนานว่า หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว กษัตริย์เมืองยูนนาน หนองแส และแคว้นสิบสองจุไทไม่ได้รับแจกพระบรมสารีริกธาตุ จึงได้นำเอาพระอังคารธาตุหรือขี้เถ้ากลับมา แล้วอธิษฐานให้ขี้เถ้าแทรกซึมเข้าตามเนื้อตัว ด้วยอิทธิฤทธิ์ทำให้คงกระพันชาตรีมีกำลังดังช้างสาร ด้วยความเชื่อนี้ คนไทจึงนิยมสักลายสีดำบนร่างกาย (ที่มา : ไพโรจน์ สโมสร. 2523. 55-56)
การถอดลวดลายการสักของคนล้านนา
พูดถึงวัฒนธรรมการสักแบบดั้งเดิมของคนไทยที่เรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์และโดดเด่นที่สุด ต้องยกให้กับ “วัฒนธรรมการสักขาลาย” ของชาว “ลาวพุงขาว” และ “ลาวพุงดำ” โดยคำว่า “ลาว” นั้นเป็นคำที่คนไทยสมัยก่อนใช้เรียกแบบเหมารวมถึงคนที่อยู่ทางภาคเหนือและอีสาน รวมไปถึงคนเวียงจันทร์และหลวงพระบาง ส่วน “พุงขาว” และ “พุงดำ” ก็ไม่ใช่การเรียกตามสีผิวแต่อย่างใด แต่เรียกตามการสักลายที่ขาและพุงนั่นเอง

“ลาวพุงขาว” คือคนที่สักตั้งแต่เข่าขึ้นไปต้นขาโดยไม่สักพุง เป็นวัฒนธรรมการสักของคนล้านช้าง คือหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และอีสานของไทย ส่วน “ลาวพุงดำ” คือคนที่สักลวดลายตั้งแต่ขาท่อนล่างขึ้นมาถึงพุงหรือเอว เป็นวัฒนธรรมการสักของคนล้านนาหรือคนภาคเหนือของไทย
ช่างอ๊อด ศราวุธ แววงาม ช่างสักจากเชียงใหม่โชว์รอยสักขาลายแบบชาวล้านนา
วัฒนธรรมการสักของชาวล้านนานั้นแบ่งออกได้เป็น 2 อย่างคือการสักส่วนบน (ตั้งแต่เอวขึ้นไป) เรียกว่าสักขาย่าม (คงกระพัน) และสักปิยะ (สักมหานิยม) โดยจะใช้สมุนไพรและธาตุศักดิ์สิทธิ์ สักเป็นอักขระหรือยันต์หรือรูปสัตว์ รวมถึงสวดคาถากำกับระหว่างสัก กับอีกแบบหนึ่งคือการสักส่วนล่าง (ตั้งแต่เอวลงไป) เรียกว่าสักขาลาย และสักข่ามเขี้ยว (ป้องกันสัตว์มีพิษ) สักเป็นลายสัตว์ต่างๆ ในกรอบสี่เหลี่ยมโดยไม่มีการเสกคาถาหรือใช้ตัวยาใดๆ เป็นการสักเพื่อฝึกความอดทน

การสักลงบนผิวหนังปกติก็เจ็บพอแรงอยู่แล้ว และยิ่งสักลงบนเนื้ออ่อนๆ อย่างต้นขาหรือหน้าท้องนั้นก็เป็นความเจ็บปวดอย่างยิ่ง โดยจากคำบอกเล่าของผู้ที่ผ่านการสักขาลายมาแล้วบอกว่า “สุดแสนทรมาน” จนถึงตายก็มี สมัยก่อนคนที่สักจึงมักสูบหรือกินฝิ่นเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวด แต่ทั้งนี้ก็ต้องทน เพราะการสักเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความอดทนและกล้าหาญ สามารถทนทานต่อความเจ็บปวด หญิงสาวเมื่อเลือกคู่ครองก็จะเลือกผู้ชายที่มีรอยสักซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นลูกผู้ชายโดยแท้จริง
ซ่งไห่หัว ศิลปินช่างสักชาวไผวัน มาสาธิตการสักให้ชม
สักแบบไต้หวัน

ส่วนการสักของชาวไต้หวันนั้น เป็นวัฒนธรรมการสักของกลุ่มชาติพันธุ์ที่น่าสนใจถึง 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกคือ “ชาวไท่หยา” ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเกาะไต้หวัน ชาวไท่หยานี้มีการสักทั้งผู้ชายและผู้หญิง ที่สำคัญคือเป็นการสักบนใบหน้า โดยมีความเชื่อว่า ผู้ที่มีรอยสักบนใบหน้าเท่านั้นที่จะได้ข้ามสะพานสายรุ้งได้หลังจากเสียชีวิต ซึ่งสะพานนี้จะนำพาสู่โลกแห่งวิญญาณและพาให้ได้ไปพบกับบรรพบุรุษ

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถสักบนใบหน้าได้ เพราะผู้ชายจะต้องพิสูจน์ว่าตนเองนั้นมีความกล้าหาญและมีความสามารถมากพอ เช่น สามารถล่าสัตว์ใหญ่ได้ หรือพิสูจน์ความเป็นนักรบด้วยการตัดหัวศัตรูกลับมาได้ ส่วนผู้หญิงก็จะต้องพิสูจน์ความขยันและความสามารถในการทอผ้าหรือปลูกพืช และหากได้รับการสักบนใบหน้าแล้วก็จะได้รับการยอมรับว่าเป็นชาวไท่หยาอย่างแท้จริง
ชมวิธีการสักของชาวไผวันที่มีวัสดุอุปกรณ์ที่ต่างจากของไทย
อีกหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ของไต้หวันคือ “ชาวไผวัน” ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของเกาะก็มีวัฒนธรรมการสักเช่นเดียวกัน โดยเป็นการสักลวดลายบนมือและตามร่างกาย โดยการสักของชาวไผวันนั้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ ศักดินา สถานะทางสังคมและความรับผิดชอบ ลวดลายพิเศษบางลายผู้ที่สามารถสักได้จะต้องเป็นหัวหน้าเผ่า หรือเป็นสมาชิกในครอบครัวของหัวหน้าเผ่าเท่านั้น หากใครสักลายโดยไม่ได้รับอนุญาตจะต้องถูกลงโทษหรือถูกกีดกันจากคนในเผ่า

ชาวไผวันทั้งชายหญิงก็ล้วนมีรอยสัก โดยชายไผวันจะสักช่วงบนของลำตัว ทั้งหน้าอก หลังและแขน ส่วนผู้หญิงจะสักบริเวณหลังมือ

แม้จะมีลวดลายและรูปแบบการสักที่แตกต่างกัน แต่อย่างหนึ่งที่คล้ายกันระหว่างการสักขาลายของล้านนาและการสักของ 2 ชนเผ่าในไต้หวันก็คือการยอมรับผู้ที่มีรอยสักว่าเป็นผู้กล้าหาญและมีสถานะค่อนข้างเหนือกว่าคนอื่น
ภาพวาดแสดงถึงการสักที่ใบหน้าชาวไท่หยาทั้งชายและหญิง

และอีกสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันก็คือ ทุกวันนี้การสักตามจารีตประเพณีนั้นน้อยลงอย่างมาก ทำให้ช่างสักและการถ่ายทอดลายสักลดน้อยถอยตามลงไป แต่ก็มีผู้ที่พยายามสืบทอดการสักแบบประเพณีนิยมให้ยังคงอยู่ต่อไป และนิทรรศการสักสี สักศรีฯ ในครั้งนี้ ก็เป็นอีกแรงหนึ่งที่จะช่วยทำให้คนทั่วไปได้รู้จักและเข้าใจความหมายของการสักมากขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นการสืบทอดความรู้เกี่ยวกับการสักอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

การแกะสลักไม้จำลองรอยสักของชาวไผวันทั้งชายหญิง ฝีมือของช่างชาวไต้หวัน
การแกะสลักจำลองรอยสักบนมือของชาวไผวัน
ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมากในนิทรรศการ “สักสี สักศรี : ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน” รวมถึงยังมีกิจกรรมการเสวนาและเวิร์คช้อปที่น่าสนใจตลอดการจัดงานซึ่งจัดยาวตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 27 ตุลาคม 2562 จึงอยากชวนผู้ที่สนใจเรื่องราวของการสักเข้าชมนิทรรศการได้ฟรี ณ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) ถนนสนามไชย กรุงเทพฯ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 0 2225 2777 เว็บไซต์ www.museumsiam.org หรือ www.facebook.com/museumsiamfan

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager



กำลังโหลดความคิดเห็น