xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกในไทย นิทรรศการรอยสัก 2 แผ่นดิน “ไทย-ไต้หวัน” ที่ มิวเซียมสยาม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
การสาธิตการสักลายของชาวไต้หวัน
ครั้งแรกในไทย มิวเซียมสยาม ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน ชวนชมนิทรรศการ “สักสี สักศรี Tattoo COLOR, Tattoo HONOR” ผสานวัฒนธรรมรอยสัก ชาวไท่หย่า ชาวไผวัน และชาวล้านนา ตั้งแต่วันนี้ถึง 27 ตุลาคม 2562 ที่ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) ถนนสนามไชย กรุงเทพฯ

มิวเซียมสยาม ร่วมกับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย เปิดตัวนิทรรศการ “สักสี สักศรี ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน” (Tattoo COLOR, Tattoo HONOR) ครั้งแรกของไทยในการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับรอยสัก 2 แห่ง เพื่อบอกเล่ามรดกทางวัฒนธรรม ผ่านศิลปะการสักลายบนเรือนร่างของ 3 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ ชาวไท่หย่า (Atayal) ชาวไผวัน (Paiwan) จากไต้หวัน และชาวล้านนาไทย อันสะท้อนวัฒนธรรมการสักลายที่บ่งบอกถึงความกล้าหาญ เกียรติยศ และคติความเชื่อ ฯลฯ
ภายในห้องจัดแสดงนิทรรศการ “สักสี สักศรี ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน” (Tattoo COLOR, Tattoo HONOR)

รองศาสตราจารย์ บุญสนอง รัตนสุทรากุล รักษาการประธานกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากความร่วมมือของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน สู่การจัดนิทรรศการ “สักสี สักศรี ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน” (Tattoo COLOR, Tattoo HONOR) ที่ใช้ศิลปะการสักลาย ในการถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ถือว่าเป็นมิติใหม่ในการสร้างสรรค์องค์ความรู้ เพราะการสักลายไม่เพียงแต่เพื่อความสุนทรียะเท่านั้น แต่ยังมีนัยยะสำคัญที่กล่าวถึงเกียรติยศ และความภาคภูมิใจ ในขนบธรรมเนียมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งในประเทศไทย และไต้หวัน


นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า นิทรรศครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างมิวเซียมสยาม และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน ที่บอกเล่าเรื่องราวและมรดกทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ของไทยและไต้หวัน ผ่านศิลปะการสักลายบนเรือนร่างผ่าน 3 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ ชาวไท่หย่า (Atayal) ทางตอนเหนือของไต้หวัน ชาวไผวัน (Paiwan) ทางตอนใต้ของไต้หวัน และชาวล้านนา ทางตอนเหนือของไทย อันสะท้อนวัฒนธรรมการสักลายเพื่อบ่งบอกถึงความกล้าหาญ เกียรติยศ และคติความเชื่อ เพื่อสนับสนุนการถ่ายทอด มรดกทางภูมิปัญญา สู่คนรุ่นใหม่และประชาชนไม่ให้สูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์
ผู้ร่วมแถลงข่าวถ่ายภาพร่วมกับนักแสดง

ภายในนิทรรศการจะได้ชมศิลปะการสักลาย ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับรอยสักที่มีร่วมกันในภูมิภาค ประกอบไปด้วย 3 โซนกิจกรรมคือ 1.โซนภาพและวัตถุจัดแสดง อาทิ หุ่นไม้แกะสลัก มือไม้แกะสลัก ภาพประวัติศาสตร์การสักของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น 2.โซนกิจกรรมเสวนาและเวิร์คชอป จากผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกวัฒนธรรม ทั้งไทยและไต้หวัน และ 3. โซนฉายภาพยนตร์สารคดี ที่จะบอกเล่าองค์ความรู้การสักลาย การสื่อนัยยะทางสังคม ในรูปแบบผสมผสานที่น่าสนใจ


ด้าน นาย หง ซื่อ โย่ว (Mr. Hung, Shih-Yu) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน หรือ National Taiwan Museum (NTM) กล่าวว่า ไต้หวันเลือกนำเสนอการสักของ 2 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ ชาวไท่หย่า (Atayal) และชาวไผวัน (Paiwan) โดย ชาวไท่หย่า (Atayal) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของไต้หวัน ซึ่งทั้งสองกลุ่มได้ใช้ศิลปะการสักลายบนร่างกาย แสดงถึงเกียรติยศทางสังคม ขนบธรรมเนียมกลุ่ม ผนวกกับคติความเชื่อทางศาสนาของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้การสักไม่ใช่เพื่อสุนทรียะเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์และความสัมพันธ์ทางสังคม ที่ต้องได้รับอนุญาตหรือการยอมรับในกลุ่มก่อนจะสักลาย
ภาพวาดแสดงรอยสักของชาวไต้หวัน
การแสดงที่จำลองการสักบนใบหน้าของผู้หญิงชาวไต้หวัน
การแสดงในงานเปิดนิทรรศการ
นิทรรศการ “สักสี สักศรี ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน” จะจัดแสดงให้ชมตั้งแต่วันนี้-27 ต.ค.นี้ สามารถเข้าชมได้ฟรี ณ มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มิวเซียมสยาม ถนนสนามไชย กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2225 2777 เว็บไซต์ www.museumsiam.org หรือ www.facebook.com/museumsiamfan
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager



กำลังโหลดความคิดเห็น