xs
xsm
sm
md
lg

ยลเสน่ห์บ้านเล็กกลางป่าใหญ่ ชุมชน“ห้วยหินลาดใน” ชิมของเด็ดน้ำผึ้ง-ชา ตื่นตาต้นลำพูยักษ์ 10 คนโอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
การคั่วชาแบบดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ
“บ้านห้วยหินลาดใน” อีกหนึ่งชุมชนที่มีความน่าสนใจ ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก ที่นี่ตั้งอยู่ในป่าที่สมบูรณ์มากในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เมื่อมาที่นี่แล้วจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวปกาเกอะญอในเรื่องของการทำชา น้ำผึ้ง และยังจะได้เห็นต้นลำพูต้นใหญ่ขนาดกว่า 10 คนโอบที่มีอายุกว่า 100 ปี อีกด้วย
ผืนป่าอันอุมดมสมบูรณ์
บ้านห้วยหินลาดใน เรียกตามลักษณะของลำห้วยที่เป็นหินลาดลงตามห้วย ที่นี่เป็นชุมชนในหุบเขาสลับซับซ้อน รวมถึงเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยน้อยใหญ่ถึง 14 สาย และด้วยความร่วมมือของคนในชุมชน ทำให้ในปัจจุบันยังคงสามารถอนุรักษ์ผืนป่าที่เขียวขจีเอาไว้ได้กว่า 21,000 ไร่ จนได้รางวัลลูกโลกสีเขียวมาเป็นเครื่องการันตีความสมบูรณ์นี้ไว้
ต้นชาป่า
อาชีพหลักของชาวบ้านคือ “การทำสวนชา” เป็นชาพันธุ์พื้นเมือง (ชาป่า) ลักษณะต้นจะสูงและเวลาเก็บจะต้องปีนขึ้นไปเก็บ โดยปลูกผสมผสานกลมกลืนไปกับผผืนป่าธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี และในทุกเช้าชาวบ้านจะแบกตะกร้าขึ้นหลังแล้วเข้าป่าไปเก็บใบชากัน
ยอดอ่อนใบชา
โดยเมื่อเก็บมาแล้วก็จะนำมาผ่านขั้นตอนต่างๆ ตามประเภทของชา อย่างเช่น “ชาเขียว” จะมีขั้นตอนการทำคือนำใบชาที่เก็บมาสดๆ อย่าให้ช้ำมาคั่วมือในกระทะที่จุดด้วยไม้ฟืน ใช้ความร้อนประมาณ 350 องศาเซลเซียส (ซึ่งชาวปกาเกอะญอจะรู้ด้วยการใช้มืออังเป็นระยะๆ จนรู้สึกว่ามือชา) คั่วไปเรื่อยๆ อย่าให้ไหม้ประมาณ 20 นาที
การทดสอบความร้อนแบบชาวบ้าน
การคั่วใบชา
และในขณะที่คั่วอยู่จะได้กลิ่นของใบชาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่กลิ่นเหมือนหญ้าที่เพิ่งตัดมาใหม่ๆ จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นกลิ่นเหมือนผักต้ม และเมื่อเริ่มได้ที่จะมีกลิ่นเหมือนเนื้อปลาย่าง ซึ่งที่กลิ่นเปลี่ยนไปแบบนี้เป็นเพราะเอนไซม์ในตัวใบชาถูกความร้อนเผาจนหายไป เป็นกระบวนการของการทำชาเขียวนั่นเอง
ใบชาที่คั่วเสร็จแล้ว
การนวดใบชา
เมื่อคั่วเสร็จแล้วก็จะตักขึ้นจากระทะแล้วนำมานวดด้วยมือเพื่อให้เซลล์แตกตัว โดยการนวดของชาวปกาเกอะญอจะมีสองแบบคือ นวดแบบใช้อุ้งมือคลึงเป็นวนกลม และนวดแบบลักษณะยาว หลังจากนวดแล้วก็จะนำไปตากแดดจนแห้ง และนำบรรจุห่อจัดส่ง
กล่องไม้ที่ชาวบ้านทำขึ้นให้เป็นรังผึ้ง
นอกจากที่นี่จะขึ้นชื่อเรื่องชาแล้ว ยังขึ้นชื่อเรื่อง “น้ำผึ้ง” อีกด้วย ซึ่งน้ำผึ้งของที่นี่นั้นถือเป็นน้ำผึ้งที่มีความพิเศษเฉพาะตัว เนื่องจากได้จากผึ้งที่อยู่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ พืชพรรณนานาชนิดให้ผึ้งได้ไปเก็บเกสร โดยหากเดินลัดเลาะในเส้นทางเดินป่าที่ชาวบ้านใช้นั้นจะได้เห็นกล่องไม้ที่ชาวบ้านทำไว้เพื่อเลี้ยงผึ้ง วางแทรกตามโคนต้นไม้อยู่เป็นระยะ
น้ำผึ้งชนิดต่างๆ
สำหรับน้ำผึ้งของที่บ้านหินลาดในจะได้จากผึ้ง 3 ชนิด คือ “ผึ้งหลวง” ซึ่งผึ้งหลวงคือผึ้งที่อยู่บนต้นไม้ จะบินออกไปหาน้ำผึ้งได้ไกลและได้เกสรจากพืชในระดับที่สูงกว่าผึ้งชนิดอื่นๆ ต่างจาก “ผึ้งโพรง” ที่จะบินหาเกสรในระดับพื้นดิน ทำให้น้ำผึ้งของทั้งสองชนิดนี้มีรสชาติที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และ “ผึ้งชันโรง” ผึ้งชนิดนี้มีความพิเศษในตัวเองสูง เพราะรังผึ้งจะถูกซ่อนอยู่ในโพรงไม้หรือใต้ดินและเป็นรังที่มีระบบปิด ทำให้น้ำผึ้งเกิดการหมักตัวในรังของมันเองตามธรรมชาติ รสของน้ำผึ้งที่ได้จะค่อนข้างเปรี้ยวขมเป็นพิเศษ
ต้นลำพูต้นใหญ่
และอีกหนึ่งไฮไลต์ของที่นี่ก็คือ “ต้นลำพู” ต้นใหญ่ขนาดกว่า 10 คนโอบ มีอายุมากกว่า 100 ปี ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ให้คนรุ่นหลังได้เห็น ซึ่งพ่อหลวงชัยประเสริฐ โพคะ เล่าให้ฟังว่า “ต้นลำพูตรงนี้ไม่ใช่ต้นใหญ่ที่สุดเท่าที่ป่าผืนนี้เคยมีมา จริงๆ มีต้นที่ใหญ่กว่านี้ แต่ลำต้นเอนเลยโค่นลงไป จึงเหลือแค่ต้นนี้ให้ได้เห็นกัน”
พ่อหลวงชัยประเสริฐ โพคะ
หากใครที่สนใจเรื่องของชาป่าและน้ำผึ้ง หรืออยากมาสูดอากาศสดชื่นแบบตัดขาดจากโลกภายนอก (ที่นี่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์) สามารถมาได้ที่ “บ้านห้วยหินลาดใน” ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย สอบถามรายละเอียดได้ที่ ททท. เชียงราย โทร. 0-5371-7433
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager
กำลังโหลดความคิดเห็น