โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
Facebook Travel Unlimited / เที่ยวถึงไหนถึงกัน
สุนทรภู่ครูกวีมีชื่อนัก
ว่าเมาเหล้าเมารักเมาอักษร
ทั้งสามเมาเข้าสิงอิง“สุนทร”
ไม่มีวันพักผ่อนหย่อนกายใจ
ถ้าไม่เมาสุราหรือนารี
ก็เมาการกวีเป็นที่หมาย
ในชีวิตตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย
“ภู่”ไม่วายว่างเว้นเป็นคนเมา...
กลอนโดย : “พระราชธรรมนิเทศ”
26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของสยามประเทศ
เพราะเป็นวันที่ “เด็กชายภู่” ได้ถือกำเนิดลืมตาขึ้นมาดูโลก เมื่อเวลาประมาณ 2 โมงเช้า(แปดโมงเช้า) วันจันทร์ เดือน 8 ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 หรือตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329
หลังจากนั้นได้เติบโตดำรงตำแหน่ง “พระสุนทรโวหาร” ซึ่งเมื่อกาลเวลาผ่านพ้นมาคนไทยต่างรู้จักกันดีในนาม “สุนทรภู่” มหากวีศรีรัตนโกสินทร์
มหากวี อาลักษณ์ขี้เมา
สุนทรภู่ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นบุตรชายของนางช้อย (สันนิษฐานว่าเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา) และนายพลับหรือขุนศรีสังหาร ชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง จ.ระยอง สันนิษฐานว่าท่านถือกำเนิดที่ย่านวังหลังหรือย่านบางกอกน้อย (อาจจะแถวๆริมคลองบางกอกน้อย) ธนบุรี โดยบิดา มารดา ได้ตั้งชื่อให้ว่า“ภู่”
ดวงชะตาการเกิดของเด็กชายภู่แม้จะมีเรื่องเล่าขานว่า โหรได้ผูกดวงของเด็กชายคนนี้ว่าเป็นผู้ที่มี “อาลักษณ์ขี้เมา”
เรื่องนี้ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ โดยหลายคนเชื่อว่าน่าจะมีการมาแต่งเติมกันภายหลังตามลักษณะนิสัยคนชอบดื่มของสุนทรภู่
ขณะที่ผู้รู้บางคนก็แย้งว่าจริง ๆ แล้วท่านสุนทรภู่ไม่ได้ขี้เมา แต่แค่ชอบดื่มสุรา (ดังปรากฏในบทกลอนของท่าน) เพราะถ้าหากว่าท่านขี้เมาดื่มหัวราน้ำคงไม่มีโอกาสได้สร้างสรรค์ผลงานดีออกมาสู่สายตาชาวโลกจวบจนทุกวันนี้
มหากวีศรีรัตนโกสินทร์
เชื่อกันว่าในวัยเยา เด็กชายภู่ได้ร่ำเรียนหนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว หรือ วัดศรีสุดาราม (ริมคลองบางกอกน้อย) ในปัจจุบัน
เมื่อโตมาเป็นวัยรุ่นนายภู่ได้ฉายแววความเป็นยอดนักกวีเอก เริ่มมีชื่อเสียงด้านเจ้าบทเจ้ากลอน แต่งเพลงยาว และเขียนจดหมายรักได้หวานนัก ถึงขนาดมีคนมาจ้างวานและมีลูกศิษย์ลูกหามาฝากตัว
นอกจากจะมีพรสวรรค์ด้านการกวีและเป็นนักดื่มชั้นเซียนแล้ว เรื่องเจ้าชู้นายภู่ก็ไม่ยิ่งหย่อน ในช่วงวัยรุ่นเขาได้พบรักกับ “แม่จัน” ผู้เป็นนางข้าหลวงในวังหลัง (ด้วยเหตุนี้ พระราชธรรมนิเทศ จึงร้อยรจนาเรื่องราว 3 เมา (เมาเหล้า เมารัก เมาอักษร) ที่เป็นจุดเด่นของสุนทรภู่ไว้ใน 2 บทแรกของกลอนสรุปชีวประวัติสุนทรภู่ที่ได้เกริ่นกล่าวนำไว้ในข้างต้น)
อย่างไรก็ดีความรักระหว่างนายภู่กับแม่จันในช่วงแรกเป็นรักที่อาภัพ เพราะการเอื้อมเด็กดอกฟ้าของนายภู่ เมื่อความทราบถึงสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังหลัง พระองค์ทรงกริ้ว รับสั่งให้นำนายภู่และแม่จันไปจองจำ แต่ทั้งคู่ถูกจองจำอยู่ได้ไม่นาน สมเจ้าฟ้าฯวังหลังก็เสด็จทิวงคต ทำให้นายภู่และแม่จันพ้นโทษออกมาเป็นอิสระ เพราะสมัยนั้นมีประเพณีแต่โบราณที่จะมีการปล่อยนักโทษ หลังพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตหรือพระราชวงศ์ชั้นสูงเสด็จทิวงคต เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศล
เมื่อสุนทรภู่พ้นโทษท่านได้เดินทางไปหาบิดาของตัวเองที่บวชอยู่ที่วัดป่าบ้านกร่ำ แห่งบ้านกร่ำ เมืองแกลง จังหวัดระยอง
สำหรับการไประยองของสุนทรภู่ในสมัยนั้น ท่านสัญจรไปทางเรือ ใช้เวลารอนแรมอยู่นาน เมื่อยามเปลี่ยวเหงาผู้มีกวีในหัวใจอย่างสุนทรภู่ จึงแต่งบทกลอนนิราศบันทึกอารมณ์และการเดินทาง เกิดเป็น “นิราศเมืองแกลง” ขึ้น
นิราศเมืองแกลงเป็นนิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่ แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2349 ถือเป็นนิราศเรื่องยาวที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งสุนทรภู่เขียนพรรณนาอารมณ์ และบรรยากาศในการรอนแรมเดินทางไว้ค่อนข้างละเอียด สำนวนกลอนที่ใช้ถือเป็นต้นตำรับของกลอนตลาดแท้ คือไม่ค่อยมีศัพท์แสงสูงส่งหรูหรา แต่เป็นภาษาสามัญชนที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย เห็นภาพอย่างชัดแจ้ง
นอกจากนิราศเมืองแกลงแล้ว สุนทรภู่ท่านยังมีผลงานอื่น ๆ อีกได้แก่ นิทาน บทละคร บทเสภา บทเห่หล่อมพระบรรทม บทละคร และ สุภาษิต โดยผลงานเด่น ๆ ซึ่งเป็นรู้จักกันเป็นอย่างดีก็อย่างเช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ นิราศเมืองเพชร สุภาษิตสอนหญิง บทเสภาขุนช้างขุนแผน นิทานสิงหไกรภพ และ “พระอภัยมณี” หนึ่งในวรรณกรรมชิ้นเอกของสยามประเทศ
ในส่วนเรื่องราวชีวิตของสุนทรภู่นั้นก็โลดโผน โศก สุข ทุกข์ ผิดหวัง สมหวัง เปรียบคล้ายดังละคร ซึ่งในบั้นปลายท่านได้สร้างสรรค์ผลงานอีกหลายเรื่องรวมถึงแต่งพระอภัยมณีจนจบ
สุนทรภู่แก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2398 สิริรวมอายุได้ 69 ปี ได้ชื่อว่าเป็นมหากวี 4 แผ่นดิน (ร.๑-ร.๔) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในปี พ.ศ. 2529 เนื่องในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล ที่มหากวีท่านนี้ถือกำเนิด สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ถือเป็นหนึ่งในกวีเอกของโลก และมหากวีผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่บทกลอนของท่านยังทรงอิทธิพลต่อคนไทยมาจนถึงยุคปัจจุบัน
ปัจจุบัน ในวันที่ 26 มิถุนายน ของทุก ๆ ปี ถือเป็น “วันสุนทรภู่” ที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกแด่ยอดมหากวีผู้นี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญด้านวรรณกรรมของเมืองไทย
สุนทรภู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองระยอง
“ผลไม้รสล้ำ อุตสาหกรรมก้าวหน้า น้ำปลารสเด็ด เกาะเสม็ดสวยหรู สุนทรภู่กวีเอก”
คำขวัญจังหวัดระยอง ซึ่งได้บรรจุชื่อของสุนทรภู่เข้าไว้ด้วย เนื่องจากแม้สุนทรภู่ท่านจะไม่ได้เกิดที่ระยอง แต่บิดาของท่านเป็นคนระยอง (อย่างไรก็ดีมีบางคนเชื่อว่าสุนทรภู่ท่านเกิดที่ระยอง)
นอกจากนี้ชื่อของ “เกาะแก้วพิสดาร” ที่ปรากฏเป็นฉากสำคัญในนิทานเรื่องพระอภัยมณีนั้น เชื่อกันว่า คือ “เกาะเสม็ด” แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดระยองนั่นเอง
เรื่องนี้มีผู้รู้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อครั้งที่สุนทรภู่เดินทางมาเยี่ยมพ่อที่จังหวัดระยอง ท่านอาจเคยมาเห็นความงดงามของเกาะเสม็ดจนเกิดเป็นแรงบันดาลใจนำไปใส่จินตนาการสร้างสรรค์เป็นเกาะแก้วพิสดาร เป็นฉากสำคัญในพระอภัยมณีก็เป็นได้
โดยช่วงที่สุนทรภู่มาเมืองแกลงนั้นมีบทกลอนที่ท่านรำพันออกมาว่า “..มาอยู่บ้านกร่ำระกำใจ ชวนกันไปชมทะเลทุกเวลา...” ซึ่งสถานที่ที่เชื่อว่าสุนทรภู่ท่านชอบมานั่งมองทะเลก็คือบริเวณปลายแหลมแม่พิมพ์นั่นเอง
ด้วยความที่สุนทรภู่ท่านมีเรื่องราวเกี่ยวพันกับจังหวัดระยอง หลังเวลาผ่านพ้นมากว่า 100 ปี ทางจังหวัดระยองได้รำลึกถึงความสำคัญของท่านด้วยการดำเนินการจัดสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ขึ้น ในปี พ.ศ. 2498 ในบริเวณวัดป่ากร่ำ (วัดร้าง) ต.บ้านกร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง
อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานมากเนื่องจากช่วงหนึ่งการก่อสร้างถูกทิ้งค้างเติ่งอยู่กว่า 10 ปี กระทั่งในปี พ.ศ.2511 ทางจังหวัดระยองต้องเปิดรับบริจาคเงินทั่วประเทศเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อ ทำให้อนุสาวรีย์สุนทรภู่ก่อสร้างจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2513
ปัจจุบันอนุสาวรีย์สุนทรภู่ เมืองแกลง ถือเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดระยอง ที่นี่เป็นสวนสาธารณะและ สถานที่พักผ่อนของชาวเมืองระยอง มีรูปปั้นของบรมครูกวีสุนทรภู่ตั้งเด่นอยู่บนเนินหญ้าสีเขียวในท่วงท่าที่ทั่งน่าอย่างสง่าในมือซ้ายถือกระดานชนวน
ขณะที่บริเวณรอบ ๆ อนุสาวรีย์นั้นก็มีรูปปั้นของบุคคลสำคัญในวรรณคดีพระอภัยมณี ไม่ว่าจะเป็น รูปปั้นพระอภัยมณีเป่าปี่ที่อยู่ด้านหน้าของรูปปั้นสุนทรภู่ ถือเป็นภาพจำที่ปรากฏเคียงคู่กัน ร่วมด้วยรูปปั้นนางยักษ์ผีเสื้อสมุทร นางเงือก สุดสาครขี่ม้านิลมังกร ฤาษี ชีเปลือย
นอกจากนี้อนุสาวรีย์สุนทรภู่ยังมีอีกหนึ่งบริบทสำคัญ นั่นก็คือการได้รับการเคารพศรัทธาจากผู้คนจำนวนมากในฐานะหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของเมืองระยอง โดยชาวบ้านในละแวกนี้นิยมเรียกท่านว่า “พ่อปู่ภู่”
สำหรับต้นทางเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อปู่ภู่ มาจากศาลไม้เล็ก ๆ ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ด้านข้างซ้ายเยื้องมาข้างหลังของอนุสาวรีย์สุนทรภู่ (เมื่อมองจากด้านหน้าเข้าไป)
ศาลไม้หลังนี้เป็นศาลเก่าแก่ในลักษณะของศาลผีที่ตั้งมาตั้งแต่ก่อนจะมาการสร้างอนุสาวรีย์ โดยชาวบ้านที่นี่จะรู้จักกันดีว่าเป็นศาลสุนทรภู่ ภายในศาลมีรูปจำลององค์เล็กของสุนทรภู่ ซึ่งก็มีคนนิยมมากราบไหว้ขอพรท่านเรื่อยมา
ครั้นเมื่อมีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นในบริเวณนี้ ก็ยิ่งทำให้คนมากราบไหว้ทั้งศาลและอนุสาวรีย์กันเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันแต่ละวันจะมีคนเดินทางมาเที่ยวชมอนุสาวรีย์ของท่านพร้อมกราบไหว้ บูชา ขอพรพ่อปู่ภู่ กันไม่ได้ขาด
ทั้งนี้ชาวบ้านแถวนั้นเชื่อกันว่า องค์พ่อปู่ภู่เด่นในเรื่องการขอด้านการงาน การศึกษา ขอให้สอบได้ ขอให้สมัครเข้าทำงานได้ โดยเฉพาะงานราชการ ส่วนรองลงมาก็คือเรื่องของคู่ครอง แต่ก็มีหลายคนที่มาขอพรเรื่องอื่นแล้วสมหวังกับไป
อนึ่งการยกท่านสุนทรภู่จากจากบุคคลสำคัญสู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นไปตามคติความเชื่อในเรื่องการนับถือผี ผนวกกับความเชื่อท้องถิ่นเรื่องบุคคลนิยม
เมื่อบุคคลสำคัญอันเป็นที่เคารพของชาวบ้าน เสียชีวิตก็จะมีการตั้งศาลบูชา สร้างรูปเคารพ หรือสิ่งแทนบุคคลนั้น ๆ เพื่อกราบไหว้ขอพร ไม่ว่าจะเป็นการนับถือศาลเจ้าเมือง หรือบุคคลสำคัญตามท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น การนับถือพระยารัษฎานุประดิษฐ์ที่เมืองตรัง การกราบไหว้แม่นาคพระโขนง (สำหรับคนที่นับถือแม่นาคและเชื่อว่าแม่นาคมีตัวตนจริง) ที่วัดมหาบุศย์ กทม. หรือการกราบไหว้ขอพรรูปเคารพหุ่นขี้ผึ้ง “พุ่มพวงดวงจันทร์” ที่วัดทับกระดาน จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น
สำหรับกรณีของสุนทรภู่แม้ท่านจะมีบทบาทสำคัญในฐานะยอดกวีเอกของโลก แต่หลังจากท่านเสียชีวิตลง ด้วยชื่อเสียง ผลงาน เกียรติประวัติ ของท่าน ก็ทำให้คนรุ่นหลังจำนวนมากยกย่องท่าน เป็น“สิ่งศักดิ์สิทธิ์” หรือ “ปูชนียบุคคลศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งนี่ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่ ที่เราควรเคารพในความเชื่อที่แตกต่างของคนอื่น ถ้าความเชื่อนั้นไม่ได้เป็นผลร้ายต่อสังคม ประเทศชาติ และไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใด
....................................................................................................
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager
Facebook Travel Unlimited / เที่ยวถึงไหนถึงกัน
สุนทรภู่ครูกวีมีชื่อนัก
ว่าเมาเหล้าเมารักเมาอักษร
ทั้งสามเมาเข้าสิงอิง“สุนทร”
ไม่มีวันพักผ่อนหย่อนกายใจ
ถ้าไม่เมาสุราหรือนารี
ก็เมาการกวีเป็นที่หมาย
ในชีวิตตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย
“ภู่”ไม่วายว่างเว้นเป็นคนเมา...
กลอนโดย : “พระราชธรรมนิเทศ”
26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของสยามประเทศ
เพราะเป็นวันที่ “เด็กชายภู่” ได้ถือกำเนิดลืมตาขึ้นมาดูโลก เมื่อเวลาประมาณ 2 โมงเช้า(แปดโมงเช้า) วันจันทร์ เดือน 8 ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 หรือตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329
หลังจากนั้นได้เติบโตดำรงตำแหน่ง “พระสุนทรโวหาร” ซึ่งเมื่อกาลเวลาผ่านพ้นมาคนไทยต่างรู้จักกันดีในนาม “สุนทรภู่” มหากวีศรีรัตนโกสินทร์
มหากวี อาลักษณ์ขี้เมา
สุนทรภู่ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นบุตรชายของนางช้อย (สันนิษฐานว่าเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา) และนายพลับหรือขุนศรีสังหาร ชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง จ.ระยอง สันนิษฐานว่าท่านถือกำเนิดที่ย่านวังหลังหรือย่านบางกอกน้อย (อาจจะแถวๆริมคลองบางกอกน้อย) ธนบุรี โดยบิดา มารดา ได้ตั้งชื่อให้ว่า“ภู่”
ดวงชะตาการเกิดของเด็กชายภู่แม้จะมีเรื่องเล่าขานว่า โหรได้ผูกดวงของเด็กชายคนนี้ว่าเป็นผู้ที่มี “อาลักษณ์ขี้เมา”
เรื่องนี้ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ โดยหลายคนเชื่อว่าน่าจะมีการมาแต่งเติมกันภายหลังตามลักษณะนิสัยคนชอบดื่มของสุนทรภู่
ขณะที่ผู้รู้บางคนก็แย้งว่าจริง ๆ แล้วท่านสุนทรภู่ไม่ได้ขี้เมา แต่แค่ชอบดื่มสุรา (ดังปรากฏในบทกลอนของท่าน) เพราะถ้าหากว่าท่านขี้เมาดื่มหัวราน้ำคงไม่มีโอกาสได้สร้างสรรค์ผลงานดีออกมาสู่สายตาชาวโลกจวบจนทุกวันนี้
มหากวีศรีรัตนโกสินทร์
เชื่อกันว่าในวัยเยา เด็กชายภู่ได้ร่ำเรียนหนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว หรือ วัดศรีสุดาราม (ริมคลองบางกอกน้อย) ในปัจจุบัน
เมื่อโตมาเป็นวัยรุ่นนายภู่ได้ฉายแววความเป็นยอดนักกวีเอก เริ่มมีชื่อเสียงด้านเจ้าบทเจ้ากลอน แต่งเพลงยาว และเขียนจดหมายรักได้หวานนัก ถึงขนาดมีคนมาจ้างวานและมีลูกศิษย์ลูกหามาฝากตัว
นอกจากจะมีพรสวรรค์ด้านการกวีและเป็นนักดื่มชั้นเซียนแล้ว เรื่องเจ้าชู้นายภู่ก็ไม่ยิ่งหย่อน ในช่วงวัยรุ่นเขาได้พบรักกับ “แม่จัน” ผู้เป็นนางข้าหลวงในวังหลัง (ด้วยเหตุนี้ พระราชธรรมนิเทศ จึงร้อยรจนาเรื่องราว 3 เมา (เมาเหล้า เมารัก เมาอักษร) ที่เป็นจุดเด่นของสุนทรภู่ไว้ใน 2 บทแรกของกลอนสรุปชีวประวัติสุนทรภู่ที่ได้เกริ่นกล่าวนำไว้ในข้างต้น)
อย่างไรก็ดีความรักระหว่างนายภู่กับแม่จันในช่วงแรกเป็นรักที่อาภัพ เพราะการเอื้อมเด็กดอกฟ้าของนายภู่ เมื่อความทราบถึงสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังหลัง พระองค์ทรงกริ้ว รับสั่งให้นำนายภู่และแม่จันไปจองจำ แต่ทั้งคู่ถูกจองจำอยู่ได้ไม่นาน สมเจ้าฟ้าฯวังหลังก็เสด็จทิวงคต ทำให้นายภู่และแม่จันพ้นโทษออกมาเป็นอิสระ เพราะสมัยนั้นมีประเพณีแต่โบราณที่จะมีการปล่อยนักโทษ หลังพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตหรือพระราชวงศ์ชั้นสูงเสด็จทิวงคต เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศล
เมื่อสุนทรภู่พ้นโทษท่านได้เดินทางไปหาบิดาของตัวเองที่บวชอยู่ที่วัดป่าบ้านกร่ำ แห่งบ้านกร่ำ เมืองแกลง จังหวัดระยอง
สำหรับการไประยองของสุนทรภู่ในสมัยนั้น ท่านสัญจรไปทางเรือ ใช้เวลารอนแรมอยู่นาน เมื่อยามเปลี่ยวเหงาผู้มีกวีในหัวใจอย่างสุนทรภู่ จึงแต่งบทกลอนนิราศบันทึกอารมณ์และการเดินทาง เกิดเป็น “นิราศเมืองแกลง” ขึ้น
นิราศเมืองแกลงเป็นนิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่ แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2349 ถือเป็นนิราศเรื่องยาวที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งสุนทรภู่เขียนพรรณนาอารมณ์ และบรรยากาศในการรอนแรมเดินทางไว้ค่อนข้างละเอียด สำนวนกลอนที่ใช้ถือเป็นต้นตำรับของกลอนตลาดแท้ คือไม่ค่อยมีศัพท์แสงสูงส่งหรูหรา แต่เป็นภาษาสามัญชนที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย เห็นภาพอย่างชัดแจ้ง
นอกจากนิราศเมืองแกลงแล้ว สุนทรภู่ท่านยังมีผลงานอื่น ๆ อีกได้แก่ นิทาน บทละคร บทเสภา บทเห่หล่อมพระบรรทม บทละคร และ สุภาษิต โดยผลงานเด่น ๆ ซึ่งเป็นรู้จักกันเป็นอย่างดีก็อย่างเช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ นิราศเมืองเพชร สุภาษิตสอนหญิง บทเสภาขุนช้างขุนแผน นิทานสิงหไกรภพ และ “พระอภัยมณี” หนึ่งในวรรณกรรมชิ้นเอกของสยามประเทศ
ในส่วนเรื่องราวชีวิตของสุนทรภู่นั้นก็โลดโผน โศก สุข ทุกข์ ผิดหวัง สมหวัง เปรียบคล้ายดังละคร ซึ่งในบั้นปลายท่านได้สร้างสรรค์ผลงานอีกหลายเรื่องรวมถึงแต่งพระอภัยมณีจนจบ
สุนทรภู่แก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2398 สิริรวมอายุได้ 69 ปี ได้ชื่อว่าเป็นมหากวี 4 แผ่นดิน (ร.๑-ร.๔) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในปี พ.ศ. 2529 เนื่องในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล ที่มหากวีท่านนี้ถือกำเนิด สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ถือเป็นหนึ่งในกวีเอกของโลก และมหากวีผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่บทกลอนของท่านยังทรงอิทธิพลต่อคนไทยมาจนถึงยุคปัจจุบัน
ปัจจุบัน ในวันที่ 26 มิถุนายน ของทุก ๆ ปี ถือเป็น “วันสุนทรภู่” ที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกแด่ยอดมหากวีผู้นี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญด้านวรรณกรรมของเมืองไทย
สุนทรภู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองระยอง
“ผลไม้รสล้ำ อุตสาหกรรมก้าวหน้า น้ำปลารสเด็ด เกาะเสม็ดสวยหรู สุนทรภู่กวีเอก”
คำขวัญจังหวัดระยอง ซึ่งได้บรรจุชื่อของสุนทรภู่เข้าไว้ด้วย เนื่องจากแม้สุนทรภู่ท่านจะไม่ได้เกิดที่ระยอง แต่บิดาของท่านเป็นคนระยอง (อย่างไรก็ดีมีบางคนเชื่อว่าสุนทรภู่ท่านเกิดที่ระยอง)
นอกจากนี้ชื่อของ “เกาะแก้วพิสดาร” ที่ปรากฏเป็นฉากสำคัญในนิทานเรื่องพระอภัยมณีนั้น เชื่อกันว่า คือ “เกาะเสม็ด” แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดระยองนั่นเอง
เรื่องนี้มีผู้รู้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อครั้งที่สุนทรภู่เดินทางมาเยี่ยมพ่อที่จังหวัดระยอง ท่านอาจเคยมาเห็นความงดงามของเกาะเสม็ดจนเกิดเป็นแรงบันดาลใจนำไปใส่จินตนาการสร้างสรรค์เป็นเกาะแก้วพิสดาร เป็นฉากสำคัญในพระอภัยมณีก็เป็นได้
โดยช่วงที่สุนทรภู่มาเมืองแกลงนั้นมีบทกลอนที่ท่านรำพันออกมาว่า “..มาอยู่บ้านกร่ำระกำใจ ชวนกันไปชมทะเลทุกเวลา...” ซึ่งสถานที่ที่เชื่อว่าสุนทรภู่ท่านชอบมานั่งมองทะเลก็คือบริเวณปลายแหลมแม่พิมพ์นั่นเอง
ด้วยความที่สุนทรภู่ท่านมีเรื่องราวเกี่ยวพันกับจังหวัดระยอง หลังเวลาผ่านพ้นมากว่า 100 ปี ทางจังหวัดระยองได้รำลึกถึงความสำคัญของท่านด้วยการดำเนินการจัดสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ขึ้น ในปี พ.ศ. 2498 ในบริเวณวัดป่ากร่ำ (วัดร้าง) ต.บ้านกร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง
อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานมากเนื่องจากช่วงหนึ่งการก่อสร้างถูกทิ้งค้างเติ่งอยู่กว่า 10 ปี กระทั่งในปี พ.ศ.2511 ทางจังหวัดระยองต้องเปิดรับบริจาคเงินทั่วประเทศเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อ ทำให้อนุสาวรีย์สุนทรภู่ก่อสร้างจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2513
ปัจจุบันอนุสาวรีย์สุนทรภู่ เมืองแกลง ถือเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดระยอง ที่นี่เป็นสวนสาธารณะและ สถานที่พักผ่อนของชาวเมืองระยอง มีรูปปั้นของบรมครูกวีสุนทรภู่ตั้งเด่นอยู่บนเนินหญ้าสีเขียวในท่วงท่าที่ทั่งน่าอย่างสง่าในมือซ้ายถือกระดานชนวน
ขณะที่บริเวณรอบ ๆ อนุสาวรีย์นั้นก็มีรูปปั้นของบุคคลสำคัญในวรรณคดีพระอภัยมณี ไม่ว่าจะเป็น รูปปั้นพระอภัยมณีเป่าปี่ที่อยู่ด้านหน้าของรูปปั้นสุนทรภู่ ถือเป็นภาพจำที่ปรากฏเคียงคู่กัน ร่วมด้วยรูปปั้นนางยักษ์ผีเสื้อสมุทร นางเงือก สุดสาครขี่ม้านิลมังกร ฤาษี ชีเปลือย
นอกจากนี้อนุสาวรีย์สุนทรภู่ยังมีอีกหนึ่งบริบทสำคัญ นั่นก็คือการได้รับการเคารพศรัทธาจากผู้คนจำนวนมากในฐานะหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของเมืองระยอง โดยชาวบ้านในละแวกนี้นิยมเรียกท่านว่า “พ่อปู่ภู่”
สำหรับต้นทางเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อปู่ภู่ มาจากศาลไม้เล็ก ๆ ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ด้านข้างซ้ายเยื้องมาข้างหลังของอนุสาวรีย์สุนทรภู่ (เมื่อมองจากด้านหน้าเข้าไป)
ศาลไม้หลังนี้เป็นศาลเก่าแก่ในลักษณะของศาลผีที่ตั้งมาตั้งแต่ก่อนจะมาการสร้างอนุสาวรีย์ โดยชาวบ้านที่นี่จะรู้จักกันดีว่าเป็นศาลสุนทรภู่ ภายในศาลมีรูปจำลององค์เล็กของสุนทรภู่ ซึ่งก็มีคนนิยมมากราบไหว้ขอพรท่านเรื่อยมา
ครั้นเมื่อมีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นในบริเวณนี้ ก็ยิ่งทำให้คนมากราบไหว้ทั้งศาลและอนุสาวรีย์กันเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันแต่ละวันจะมีคนเดินทางมาเที่ยวชมอนุสาวรีย์ของท่านพร้อมกราบไหว้ บูชา ขอพรพ่อปู่ภู่ กันไม่ได้ขาด
ทั้งนี้ชาวบ้านแถวนั้นเชื่อกันว่า องค์พ่อปู่ภู่เด่นในเรื่องการขอด้านการงาน การศึกษา ขอให้สอบได้ ขอให้สมัครเข้าทำงานได้ โดยเฉพาะงานราชการ ส่วนรองลงมาก็คือเรื่องของคู่ครอง แต่ก็มีหลายคนที่มาขอพรเรื่องอื่นแล้วสมหวังกับไป
อนึ่งการยกท่านสุนทรภู่จากจากบุคคลสำคัญสู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นไปตามคติความเชื่อในเรื่องการนับถือผี ผนวกกับความเชื่อท้องถิ่นเรื่องบุคคลนิยม
เมื่อบุคคลสำคัญอันเป็นที่เคารพของชาวบ้าน เสียชีวิตก็จะมีการตั้งศาลบูชา สร้างรูปเคารพ หรือสิ่งแทนบุคคลนั้น ๆ เพื่อกราบไหว้ขอพร ไม่ว่าจะเป็นการนับถือศาลเจ้าเมือง หรือบุคคลสำคัญตามท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น การนับถือพระยารัษฎานุประดิษฐ์ที่เมืองตรัง การกราบไหว้แม่นาคพระโขนง (สำหรับคนที่นับถือแม่นาคและเชื่อว่าแม่นาคมีตัวตนจริง) ที่วัดมหาบุศย์ กทม. หรือการกราบไหว้ขอพรรูปเคารพหุ่นขี้ผึ้ง “พุ่มพวงดวงจันทร์” ที่วัดทับกระดาน จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น
สำหรับกรณีของสุนทรภู่แม้ท่านจะมีบทบาทสำคัญในฐานะยอดกวีเอกของโลก แต่หลังจากท่านเสียชีวิตลง ด้วยชื่อเสียง ผลงาน เกียรติประวัติ ของท่าน ก็ทำให้คนรุ่นหลังจำนวนมากยกย่องท่าน เป็น“สิ่งศักดิ์สิทธิ์” หรือ “ปูชนียบุคคลศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งนี่ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่ ที่เราควรเคารพในความเชื่อที่แตกต่างของคนอื่น ถ้าความเชื่อนั้นไม่ได้เป็นผลร้ายต่อสังคม ประเทศชาติ และไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใด
....................................................................................................
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager