xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านห้วยโปร่ง” เที่ยวชุมชน ยลผ้าทอไทหล่ม ถิ่นประวัติศาสตร์เมืองราดพ่อขุนผาเมือง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
มัคคุเทศก์น้อยชวนเที่ยวบ้านห้วยโปร่ง
การท่องเที่ยวชุมชน ถือเป็นการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้เข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ได้เรียนรู้ความเป็นอยู่ วิถีการทำมาหากิน และภูมิปัญญาต่างๆ จากชาวบ้านในพื้นที่ ได้ใช้เวลาซึมซับความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ต่างๆ

อย่างที่ “บ้านห้วยโปร่ง” อยู่ที่ ต.บ้านหวาย อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ที่เพิ่งเปิดให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวได้ไม่นาน แต่ก็มีความน่าสนใจทั้งในด้านพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ รวมถึงวิถีชีวิต และงานศิลปหัตถกรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน
สืบสานภูมิปัญญาผ้าไทหล่ม
สาธิตกระบวนการทอผ้า
หากว่ามาที่บ้านห้วยโปร่งแล้วไม่รู้จะเริ่มจากจุดไหน สามารถมาที่ “ศูนย์เรียนรู้แหล่งวัฒนธรรมบ้านห้วยโปร่ง” ที่ตั้งอยู่ภายใน “วัดโพนชัย” ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมของภูมิปัญญาพื้นบ้านก็ว่าได้ ที่นี่จะให้ความรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนบ้านห้วยโปร่ง การท่องเที่ยวชุมชน รวมไปถึงเรื่องราวของผ้าทอและกลองเส็ง ของดีของบ้านห้วยโปร่ง

ชาวบ้านห้วยโปร่งมีอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากการอพยพของคนลาวหลวงพระบาง จึงเกิดเป็นเสน่ห์วัฒนธรรมของชาวไทยหล่ม ผ่านอัตลักษณ์ของผ้าพื้นถิ่น ซึ่งภูมิปัญญาผ้าไทหล่มที่มีชื่อเสียงก็คือ “ซิ่นหัวแดงตีนก่าน” มีลวดลายเฉพาะและมีลักษณะที่สำคัญคือการทอแยกชิ้น ได้แก่ หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น
หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น
การแต่งกายซิ่นหัวแดงตีนก่าน
ส่วนที่เป็นหัวซิ่นจะใช้เป็นผ้าสีแดงมีลวดลาย ตัวซิ่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือลายหมี่จะเล็ก ซึ่งผืนหนึ่งจะมีหลายลาย เช่น ลายหอปราสาท ลายนาค ลายกระจับ เป็นต้น ถ้ามองผิวเผินจะคล้ายกับซิ่นของทางภาคอีสาน ส่วนตีนซิ่นจะเป็นลวดลายแนวขวาง เมื่อได้ทั้งสามส่วนมาแล้วก็นำมาเย็บต่อกัน ได้เป็นซิ่นหัวแดงตีนก่าน ปัจจุบัน ชาวบ้านก็ยังนิยมนุ่งกันอยู่ โดยมีการประยุกต์มาตัดเป็นผ้าถุงแบบสำเร็จรูป เพื่อให้สวมใส่ได้ง่ายมากขึ้น และยังนำไปประยุกต์ทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น กระเป๋า ที่มีลวดลายงดงาม
สาธิตการเส็งกลอง
กลองที่ทำในหมู่บ้าน
อีกหนึ่งภูมิปัญญาของชาวบ้านห้วยโปร่งที่ยังคงรักษาไว้ก็คือ “กลองเส็ง” ที่นี่ยังมีการทำกลองด้วยมือตามแบบโบราณ คำว่า “เส็ง” หมายถึง การแข่งขัน หรือการประชันกัน การเส็งกลองจึงมีความหมายถึงการแข่งขันตีกลองให้มีเสียงดัง ไพเราะ เสียงใส หรือเสียงทุ้ม โดยมีเทคนิคตั้งแต่ขั้นตอนการทำกลอง ไปจนถึงเทคนิคในการตี เพื่อที่จะหาผู้ชนะในการแข่งเส็งกลอง
เจดีย์พระนางสิงขรเทวี
เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านแล้ว ก็สามารถเดินเล่นในหมู่บ้านชมของดีกันต่อได้ โดยที่นี่จะมีเส้นทางการเดินระยะไม่ไกลมากนัก มีมัคคุเทศก์น้อย ซึ่งเป็นเด็กๆ ในชุมชนพาเดินชมด้วย ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้นับว่าเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเชื่อว่าเป็นที่ตั้งของ “เมืองราด” เมืองเก่าแก่ยุคเดียวกับการก่อตั้งกรุงสุโขทัย โดยมีพ่อขุนผาเมืองเป็นเจ้าเมืองราด ฉะนั้น ที่บ้านห้วยโปร่งจึงมีสถานที่ที่เกี่ยวกับเมืองราดอยู่หลายแห่ง

เส้นทางการเดินชมบ้านห้วยโปร่งเริ่มจากที่ “วัดโพนชัย” วัดสำคัญในหมู่บ้าน เป็นวัดเก่าแก่ที่ก่อตั้งขึ้นโดยชาวบ้านที่อพยพมาอาศัยในพื้นที่นี้ ในวัดโพนชัยมี “เจดีย์พระนางสิงขรเทวี” เจดีย์เก่าแก่ตั้งอยู่กลางวัด เป็นเจดีย์ทรงดอกบัวเหลี่ยมฐานสูง บัวเหลี่ยมมีลักษณะสั้นและป้อม สูงประมาณ 15 เมตร ชาวบ้านเชื่อว่าพระธาตุเจดีย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระนางสิงขรเทวี พระมเหสีของพ่อขุนผาเมือง
หลวงพ่อตากแดด
ข้าวสารดำ
ด้านในวัดมี “หลวงพ่อตากแดด” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่ฝ่าพระหัตถ์ซ้ายและฝ่าพระบาทขวามีรูปกงจักรปรากฏอยู่ ในอดีตชาวบ้านเคยสร้างหลังคาเพื่อกันแดดกันฝนให้หลวงพ่อ แต่ก็จะมีลมพายุพัดโครงหลังคาพังครั้งแล้วครั้งเล่า ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าท่านไม่ชอบการมีหลังคามุงครอบไว้ จึงเป็นที่มาของชื่อหลวงพ่อตากแดด

อีกมุมหนึ่งของวัดมี “ศาลาข้าวสารดำ” สร้างขึ้นในบริเวณที่เป็นจุดค้นพบข้าวสารดำ ลักษณะเป็นเมล็ดข้าวสารสีดำที่เชื่อว่าถูกไฟไหม้ โดยความเชื่อเกี่ยวกับข้าวสารดำนี้ เชื่อว่า พระนางสิงขรเทวีขอร้องไม่ให้พ่อขุนผาเมืองยกทัพไปตีเมืองสุโขทัย ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในการปกครองของขอม แต่พ่อขุนผาเมืองไม่ยินยอม จึงเกิดการน้อยใจเป็นอย่างยิ่ง พระนางจึงจุดไปเผาบ้านเรือน คลังเสบียง และยุ้งฉางข้าว ทำให้ข้าวสารที่มีถูกเผาไหม้จนหมด กลายเป็นข้าวสารดำดังที่เห็นในปัจจุบัน
เที่ยวลัดเลาะไปตามลำน้ำ
เดินเที่ยวบ้านห้วยโปร่ง
จากวัดโพนชัย มีเส้นทางลัดเลาะไปตามริมลำน้ำ ผ่านสวนและบ้านของชาวบ้าน ระหว่างทางก็จะมีพืชท้องถิ่นที่สามารถเก็บไปปรุงเป็นเมนูอาหารถิ่นได้ เดินลัดเลาะข้ามลำน้ำแล้วเข้าไปที่โรงเรียนพ่อขุนผาเมืองอุปถัมภ์ ซึ่งมี “เจดีย์พ่อขุนผาเมือง” ตั้งอยู่ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงบัวแปดเหลี่ยม ฐานบัวขนาดใหญ่และกว้างแต่ฐานต่ำ บริเวณยอดขาดหายไป แต่คาดว่ามีความสูงราว 16-20 เมตร ด้านข้างเจดีย์มี “ต้นจำปาพันปี” เป็นต้นลีลาวดีขนาดใหญ่ (หรือต้นจำปาในภาษาลาว) อยู่คู่กัน
เจดีย์พ่อขุนผาเมืองและต้นจำปาพันปี
ที่บ้านห้วยโปร่งยังมีที่เที่ยวใกล้ๆ อีก คือ “อนุสรณ์สถานเมืองราด” ภายในอนุสรณ์สถาน มีอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ให้ได้ไปสักการะ เป็นรูปปั้นของพ่อขุนผาเมืองในท่ายืน มือข้างซ้ายชี้นิ้วลงยังแผ่นดิน อันหมายถึง แผ่นดินตรงนี้คือบ้านเกิดของท่าน โดยรอบฐานทั้งสี่ทิศเป็นเรื่องราวโดยย่อของพ่อขุนผาเมือง ส่วนด้านหลังเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ จัดแสดงประวัติของเมืองราด ข้าวของเครื่องใช้โบราณ และข้อมูลโบราณสถานต่างๆ

หากว่าอยากมาสัมผัสชุมชนบ้านห้วยโปร่งแบบถึงแก่น ที่นี่ก็มีที่พักแบบโฮมสเตย์ให้มาพักด้วย มานอนสัมผัสบรรยากาศของที่นี่ เดินทัวร์รอบๆ ชุมขน พร้อมกับร่วมทำกิจกรรมหลากหลายกับชาวบ้าน แล้วอย่าลืมชิมอาหารถิ่นอร่อยลิ้น และหากว่าใครมาพักในช่วงวันเสาร์ ก็จะมีโปรแกรมพิเศษพาเที่ยวถนนคนเดินไทหล่ม ในตัวเมืองหล่มสัก ที่จะเปิดให้เดินเล่นกันทุกๆ เย็นวันเสาร์อีกด้วย
อนุสรณ์สถานเมืองราด
* * * * * * * * * * * * * * * * *

“บ้านห้วยโปร่ง” ต.บ้านหวาย อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหวาย โทร. 0-5670-4594 กลุ่มทอผ้าไทหล่มบ้านหวาย โทร. 08-9591-6566 ที่พักแบบโฮมสเตย์ติดต่อ โฮมสเตย์เฮือนตาน้อย โทร. 08-1751-9109 โฮมสเตย์ลุงด่อย โทร. 08-1531-8555 โฮมสเตย์ป้านุช โทร. 08-3873-3173
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager



กำลังโหลดความคิดเห็น