xs
xsm
sm
md
lg

"10 ที่เที่ยวนครศรีฯ" ยลของดี อิ่มบุญสุขใจ ไหว้พระมหาธาตุ-หลักเมือง เสริมสิริมงคล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ศูนย์รวมจิตใจของชาวนครศรีฯ
“นครศรีธรรมราช” ขึ้นชื่อว่าเป็น “นครสองธรรม” อันเนื่องมาจากความโดดเด่นทั้งในเรื่องของ “ธรรมะ” และ “ธรรมชาติ” โดยเฉพาะเรื่องของธรรมะนั้นจะเห็นได้จากการที่เมืองนครเป็นอาณาจักรโบราณที่มีประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองมาอย่างยาวนาน

และเมืองธรรมะในดินแดนใต้แห่งนี้ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่หลากหลาย ครั้งนี้จึงขอแนะนำ 10 สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในตัวเมืองนครศรีธรรมราช หากใครเดินทางมาเยือนแล้วจะต้องไม่พลาดไปเยี่ยมชม
พระบรมธาตุเมืองนคร พระเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้
สถานที่แรกที่จะพาไปชมก็คือ “วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร” ถ.ราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครศรีธรรมราช และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของพุทธศาสนิกชน ซึ่งผู้มาเยือนเมืองนครศรีไม่ควรพลาดการไปกราบสักการะด้วยประการทั้งปวง

ตามตำนานเล่าว่า พระบรมธาตุเมืองนครสร้างขึ้นครั้งแรกประมาณ ปี พ.ศ. 854 ภายในบรรจุพระทันตธาตุ(ส่วนฟันของพระพุทธเจ้า)ดั้งเดิมเป็นศิลปะแบบศรีวิชัย ต่อมาในปี พ.ศ.1093 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้สร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมกับสร้างเจดีย์องค์ใหม่ทรงศาญจิครอบพระบรมธาตุองค์เดิม จากนั้น พ.ศ.1770 มีพระภิกษุจากลังกามาบูรณะองค์พระบรมธาตุให้เป็นแบบทรงลังกาหรือทรงโอคว่ำดังที่เห็นในปัจจุบัน มีความสูง 55.78 เมตร องค์ระฆังสูง 9.80 เมตร มีปล้องไฉน 52 ปล้อง ถือเป็นพระเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ และเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่องค์แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บันไดทางขึ้นสู่องค์พระบรมธาตุ
ภายในวิหารพระม้าที่เป็นบันไดทางขึ้นสู่องค์พระบรมธาตุ ด้านซ้าย-ขวา มีรูปปั้นของเทพผู้พิทักษ์คือ ท้าวจตุคาม-รามเทพ ประดิษฐานอยู่ขนาบข้างประตูทางเข้า-ออก องค์พระธาตุ ท้าวจตุคาม-รามเทพ เป็นเทพที่เชื่อว่าคือท้าวจตุคามรามเทพ อันลือลั่นแห่งเมืองนคร นอกจากเทพทั้งสองแล้วที่นี่ยังมีผู้พิทักษ์อื่นๆ อาทิ ท้าวจตุโลกบาล นาค ครุฑ สิงห์ เป็นต้น
ศาลหลักเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช
จากนั้นเอาฤกษ์เอาชัย ด้วยการไปกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมืองนครฯ ที่ “ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช” เพื่อความเป็นสิริมงคล ภายในมีความงดงามเป็นอย่างมาก ประกอบไปด้วยอาคาร 5 หลัง หลังกลางเป็นที่ประดิษฐานหลักเมืองออกแบบให้มีลักษณะคล้ายศิลปะศรีวิชัย เรียกว่าทรงเหมราชลีลา ส่วนอาคารเล็กทั้งสี่หลังถือเป็นศาลบริวารสี่ทิศ เรียกว่าศาลจตุโลกเทพ ประกอบด้วยพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระพรหมเมือง และพระบันดาลเมือง
องค์เสาหลักเมืองที่ทำด้วยไม้ตะเคียนทองแกะสลัก
เมื่อเดินเข้ามายังอาคารหลังกลาง จะได้พบกับองค์เสาหลักเมืองที่ทำด้วยไม้ตะเคียนทองแกะสลักลวดลายอย่างงดงามตั้งแต่ฐาน เป็นวงรอบเก้าชั้น มี 9 ลาย ส่วนบนของเสาเป็นรูปจตุคามรามเทพ (สี่พักตร์) หรือเทวดารักษาเมือง เหนือสุดเป็นเปลวเพลิงอยู่บนยอดพระเกตุ คือยอดชัยหลัก
กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช
ถ้าใครนั่งรถผ่านตามถนนราชดำเนินแล้วจะเห็น “กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช” แต่เดิมกำแพงเมืองก่ออิฐถือปูนทั้งสี่ด้าน มีเชิงเทินใบเสมา มุมกำแพงทั้งสี่ด้านมีป้อมมุมละป้อม กำแพงทางด้านเหนือและด้านใต้มีประตูเมืองด้านละหนึ่งประตู คือ ประตูชัยเหนือ หรือ ประตูชัยศักดิ์ และทางด้านใต้ คือ ประตูชัยให้ หรือ ประตูชัยสิทธิ์ และถัดออกจากแนวกำแพงเมืองเป็นคูเมือง ซึ่งกำแพงเมืองเก่าก็ได้พังทลายไปตามกาลเวลา และได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาโดยตลอด

กระทั่งปัจจุบันนี้กำแพงเมืองนครฯ ที่ได้ชมกันนั้นมีแนวกำแพงเมืองที่หลงเหลืออยู่เป็นแนวขนานไปกับคูเมืองตั้งแต่ประตูชัยเหนือหรือประตูชัยศักดิ์ ไปทางตะวันออกยาวประมาณ 100 เมตร ที่ยังคงแสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ ความแข็งแกร่ง ความเจริญรุ่งเรือง และประวัติศาสตร์อันยาวนาน ที่ชาวนครฯ ยังคงร่วมใจกันอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี
วัดแจ้งวรวิหาร
อีกหนึ่งวัดที่มีความน่าสนใจของเมืองนครศรีฯ ก็คือ “วัดแจ้งวรวิหาร” ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ใกล้กับสนามกีฬาจังหวัด ก่อสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นที่ประดิษฐานบัวบรรจุอัฐิของพระยานคร และเชื่อว่ารวมถึงพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอีกด้วย
อุโบสถของวัดแจ้งวรวิหาร
เดิมพื้นที่ของวัดแห่งนี้รกร้าง เป็นป่ารกทึบ และชาวเมืองนครศรีธรรมราชเรียกว่า ป่าหัวนา ของวัดประดู่ซึ่งอยู่ติดกัน และคุณชี พี่สาวของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) เป็นผู้สร้างวัดนี้ในราวปี 2325 สิ่งสำคัญในวัดนี้คือ “เก๋งจีน” มีลักษณะเป็นอาคารหันหน้าไปทางทิศใต้ ขนาดกว้าง 8.20 เมตร ผนังก่ออิฐถือปูนหนา เป็นผนังทึบสามด้าน หน้าต่างหรือช่องระบายอากาศเป็นรูปวงกลม ภายในวงกลมทำเป็นซี่กรง ประตูเป็นเครื่องไม้แกะลายฉลุ มีลวดลายจีนและรูปสัตว์ต่างๆ อาทิ ลายดอกโบตั๋น ลายลูกทับทิม รูปไก่ฟ้า
เก๋งจีน ที่ประดิษฐานบัวบรรจุอัฐิของพระยานคร
ด้านหน้าเก๋งมีซุ้มประตูทางเข้าประดับด้วยลายปูนปั้น รูปเทพรำ ประกอบลายด้านขด 2 ซุ้ม เครื่องบนเป็นเครื่องไม้หลังคาทรงจั่วเรียบแบบจีน มุงกระเบื้องดินเผา สันหลังคาปั้นเป็นรูปสิงห์ลวดลายพรรณพฤกษาแบบจีนทั้งสองด้าน ภายในเก๋งจีนประดิษฐานบัว 2 องค์ ซึ่งเป็นศิลปะทางภาคใต้ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ลักษณะบัวทางทิศตะวันตก เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองปิดทอง ขนาดฐานกว้าง 1.05 เมตร สูง 2.30 เมตร ฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานสิง มีฐานบัวซ้อนกันขึ้นไปสองชั้น ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นเป็นลายกนกไทย ลายกระจังตาอ้อย ประดับด้วยกระจกสีฟ้า บนพื้นสีแดง ส่วนยอดทำเป็นดอกบัวตูม อันเป็นลักษณะเฉพาะของบัวบรรจุพระอัฐิของผู้วายชนม์ผู้ชาย
วัดประดู่พัฒนาราม
ในเขตพื้นที่ติดกันก็คือ “วัดประดู่พัฒนาราม” หรือ “วัดประดู่” หรือ “วัดโด” เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน เดิมบริเวณพื้นที่แห่งนี้เป็นดอนทราย มีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นเต็มไปหมด สภาพเป็นป่ารกชัด แต่มีต้นประดู่ขึ้นอยู่มาก เมื่อสร้างวัด จึงให้ชื่อว่า “วัดประดู่” ภาษาภาคใต้เรียกว่า วัดโด
บริเวณภายในวัดประดู่พัฒนาราม
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก สารนครศรีธรรมราช ปีที่ 28 ฉบับที่ 4 เมษายน 2542 ระบุไว้ว่าพี่สาวของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ชื่อ หญิง หรือ คุณหญิง เป็นผู้เสื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง เป็นผู้สร้างวัดประดู่
เจดีย์ที่อยู่ในวัดประดู่พัฒนาราม
ภายในวัดมีสถานที่สำคัญคือ “เก๋งพระเจ้าตาก” หรือ ตึกเจ้าตาก ตั้งอยู่ตรงหน้าอุโบสถอาคารทรง สี่เหลี่ยมจัตุรัส ผนังก่ออิฐ ถือปูนหนาทึบ 3 ด้าน ยกพื้น สูง กว้าง และ ยาว ด้านละ 6 เมตร โครงหลังคาทำด้วยไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ลักษณะศิลปะจีน ภายในเก๋งพระเจ้าตาก มีบัว คือ เจดีย์ ขนาดย่อม 1 องค์ส่วนยอดเป็นรูปทรงดอกบัวตูม สร้างเป็นบัว 3 ชั้น ย่อมุมไม้สิบสอง สูง ประมาณ 2 เมตร ก่อด้วยอิฐถือปูน ประดับลวดลายด้วยกระจกสี
เก๋งพระเจ้าตาก
สำหรับเก๋งพระเจ้าตาก คาดว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2385 โดยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง)เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ผู้เป็นโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับเจ้าจอมมารดาปราง ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ท่านได้บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระอัยกาและพระอัฐิเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ท่านบิดาไว้ในบัวทรงเจดีย์องค์เดียวกัน
หอพระนารายณ์
จากนั้นมายัง “หอพระนารายณ์” ตั้งอยู่ที่ถ.ราชดำเนิน เป็นโบราณสถานในศาสนาพราหมณ์ ภายในหอพระนารายณ์ มีเทวรูปพระนารายณ์สลักจากหินทรายสีเทา ทรงมาลารูปกระบอกปลายสอบและพระหัตถ์ขวาทรงสังข์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 10 - 11 นับเป็นเทวรูปที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช
หอพระอิศวร
ด้านฝั่งตรงข้ามกันเป็นที่ตั้งของ “หอพระอิศวร” เป็นอีกหนึ่งโบราณสถานในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ภายในหอพระอิศวรเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของพระอิศวรและฐานโยนิ รวมทั้งเทวรูปสำริดอีกหลายองค์ อาทิ พระอุมา พระพิฆเนศ เทวรูปศิวนาฎราช ซึ่งจำลองมาจากองค์จริงที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช
ด้านหน้าเป็นที่ตั้งของเสาชิงช้า
ด้านนอกของหอพระอิศวร ยังเป็นที่ตั้งของเสาชิงช้า ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาใหม่แทนของเก่า ที่ใช้ในพิธีตรียัมปวายและตรีปวายของพราหมณ์ เมืองนครศรีธรรมราช โดยเสาชิงช้านี้มีรูปแบบเหมือนเสาชิงช้าที่กรุงเทพฯ เป็นการจำลองแบบมา แต่ว่ามีขนาดเล็กกว่า
วัดเสมาเมือง
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวัดที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจก็คือ “วัดเสมาเมือง” เชื่อว่าเป็นสถานที่ค้นพบศิลาจารึกวัดเสมาเมือง หรือจารึกหลักที่ 43 อันมีเนื้อหากล่าวถึงพระเจ้ากรุงศรีวิชัย อายุสมัยราวต้นพุทธศตวรรษที่ 14 มีหลักฐานกล่าวถึงประวัติการสร้างวัดเสมาเมืองไว้ว่า พระเจ้าศรีธรรมโสกราช เป็นผู้ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1318 ภายหลังที่ได้สร้างพระบรมธาตุแล้ว 18 ปี สถานที่สร้างวัดนี้เป็นทำเลใจกลางเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยนั้น มีพระประสงค์ที่จะให้ภิกษุ ฝ่ายมหายานจำพรรษาเป็นแห่งแรก วัดนี้เป็นต้นกำเนิดของวัดทั้งหลายในเมืองนคร
รูปหล่อหลวดปู่ทวด
และวัดแห่งนี้ยังมีความเกี่ยวเนื่องกับ "หลวงปู่ทวด" ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ ในอดีตท่านได้เดินทางมาศึกษาพระธรรม ณ วัดเสมาเมือง ตั้งแต่ขณะเป็นเณรจนอายุท่านครบบวช หลวงปู่ทวดได้พำนักอยู่ในวิหารที่มีลักษณะเหมือนเรือสำเภาจนชาวบ้านเรียกติดปากว่า “วิหารสำเภา” จนถึงทุกวันนี้
บ้านท่านขุนรัฐวุฒิวิจารย์
จากนั้นมายัง “บ้านท่านขุนรัฐวุฒิวิจารย์” เป็นเรือนปั้นหยายกพื้น หลังคาสูง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2445 โดยนายเขียน มาลยานนท์ ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็น “ขุนรัฐวุฒิวิจารณ์” นายอำเภอเมืองกลาย ภายหลังได้ยกที่ดินและบ้านหลังนี้ให้แก่นายโกวิท ตรีสัตยพันธุ์ (หลาน) เมื่อปีพ.ศ. 2482 ซึ่งต่อมาได้ใช้บ้านและที่ดินเปิดเป็นโรงเรียนรัฐวุฒิวิทยาและเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนนครวิทยา และได้ปิดตัวลงเมื่อปี พ.ศ. 2529
อนุรักษ์ไว้เป็นบ้านโบราณของจังหวัด
และต่อมานายสำราญ ตรีสัตยพันธุ์ ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของตระกูลตรีสัตยพันธุ์ ได้ซื้อบ้านและที่ดินแปลงนี้มาดำเนินการบูรณะปรับปรุง ซ่อมแซม เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นบ้านโบราณของจังหวัด พร้อมกับเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้มาชมความงามของเรือนไทยโบราณหลังนี้ และเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสนใจอย่างแท้จริง
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนังตะลุง
มาปิดท้ายที่ “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนังตะลุง” ที่ตั้งอยู่ที่ ต.ในเมือง อ.เมือง โดยหนังตะลุงถือเป็นสุดยอดศิลป์แห่งการแสดงของภาคใต้ โดย อ.สุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติ ภายในพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงบ้าน อ.สุชาติ เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น สิ่งแรกที่เห็นแล้วตะลึงคือ ตัวหนังตะลุงที่เก่าแก่ มีอายุถึง 200 ปี ซึ่งตัวหนังนั้นเป็นหนังมุสลิม และตัวหนังตะลุงอีสาน นอกจากจะมีหนังตะลุงไทยแล้ว ที่นี่ยังได้เก็บหนังตะลุงจากประเทศอื่นๆ ไว้อีกด้วย
แหล่งรวบรวมตัวหนังตะลุงที่เก่าแก่
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น