“ช่อ”
ชื่อนี้กำลังดัง
ดังเนื่องจากการกระทำช่อ ๆ ของใครบางคน จนถึงขนาดมีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้นเป็นคติเตือนใจว่า #ทำดีได้ดี ทำช่อได้ช่อ
ช่อ ไม่ใช่มีเฉพาะชื่อคนเท่านั้น หากแต่ปรากฏเป็นชื่อของหลายสิ่งหลายอย่าง อาทิ ดอกไม้ อาหาร บทเพลง รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง “ผาช่อ” ที่ถือเป็นอีกหนึ่งประติมากรรมธรรมชาติอันน่าทึ่ง
ผาช่อ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วาง อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ถือเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาอันน่าทึ่งของบ้านเรา ลักษณะเดียวกับ แพะเมืองผี (แพร่) คอกเสือ-เสาดินนาน้อย (น่าน) ละลุ (สระแก้ว) เป็นต้น
ผาช่อ เกิดจากตะกอนที่สะสมบริเวณขอบแอ่งและเชิงเขาของแนวเทือกเขาถนนธงชัยกลาง ตั้งแต่ปลายยุคเทอร์เชียรี่ (ประมาณ 5 ล้านปีก่อน) โดยสันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นเส้นทางไหลของแม่น้ำมาก่อน(สังเกตได้จากก้อนกรวดก้อนหินที่มีลักษณะกลมมนคล้ายหินแม่น้ำที่กระจัดกระจายอยู่ตามเนื้อดิน)
ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสัณฐานธรณี บริเวณนี้ถูกดันตัวขึ้นกลายเป็นพื้นที่เนินเขาและที่ลาดชัน ซึ่งในข้อมูลของทางอุทยานฯ แม่วาง ระบุว่า เนื่องจากตะกอนในยุคเทอร์เชียรี่มีอายุไม่มากนัก จึงยังไม่เปลี่ยนสภาพเป็นหินแข็ง ขณะที่ชั้นตะกอนของหินกรวดและหินทรายที่วางตัวเป็นชั้นสลับกัน มีคุณสมบัติคงทนต่อการสึกกร่อนต่างกัน
ครั้นเมื่อถูกลมฝนน้ำกัดเซาะชะล้างหน้าดินกินเวลายาวนาน บริเวณนี้ก็ได้กลายเป็นหน้าผาดินและเสาดินที่มีรูปร่างแปลกตาที่ถูกขนานนามว่า “ผาช่อ” กับลักษณะของหน้าผาดินสูงประมาณ 30 เมตร ที่ตั้งตระหง่านเงื้อม
ผาช่อ แม้ดูแข็งแกร่ง ขรึมขลัง แต่ว่าก็เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งความงามจาก โดยเฉพาะกับริ้วรอยความงามจากเส้นสายลวดลาย(ดิน) อันเกิดจากการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ เกิดเป็นประติมากรรมธรรมชาติอันงดงามอลังการ
สำหรับชื่อผาช่อนั้นได้แต่ใดมา จากการสอบถามจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ พี่เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า ชื่อ ผาช่อ มาจากลักษณะของหน้าผาที่ดูเป็นช่อเป็นชั้น (ประมาณคล้ายดอกไม้ที่เป็นช่อ ๆ) ชาวบ้านที่นี่จึงเรียกขานผาดินอันสวยงามแห่งนี้ว่า “ผาช่อ”
ขณะที่อีกหนึ่งข้อมูลระบุว่าผาช่อเดิมชื่อ “ผาจ้อ” โดยในปี พ.ศ. 2544 นางดวงดาว เตชะวัฒนาบวร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วาง (ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ) ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่และพบหน้าผาแห่งนี้เข้า จึงเปลี่ยนชื่อเรียกจากผาจ้อให้เป็นภาษาไทยภาคกลางว่า “ผาช่อ”
ปัจจุบันทางอุทยานฯแม่วางได้มีการจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาช่อระยะทางประมาณ 900 เมตร พร้อมข้อมูลป้ายสื่อความหมายต่าง ๆ ให้ศึกษากันรวม 10 สถานี
เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาช่อ เป็นทางเดินเท้าไป-กลับย้อนทางเดิม โดยมีเส้นทางเดินวงรอบอยู่ช่วงหนึ่งหลังจากผาช่อจุดไฮไลท์แล้วมาบรรจบในเส้นทางเดิมใกล้ๆกับสถานีที่ 7 ใช้เวลาเดินเที่ยวชมประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นสำหรับพวกช่างภาพที่ถ่ายรูปกันอย่างละเลียดเก็บละเอียด หรือพวกที่ชอบเซลฟี่กันแบบเก็บแทบทุกจุดของพื้นที่
เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาช่ออยู่ทางด้านซ้ายของจุดชมวิว โดยจุดสตาร์ทเป็นทางเดินลงผ่านเส้นทางป่าโปร่งแล้วจากนั้นก็เป็นเส้นทางเดินไปตามทางน้ำเก่า ซึ่งระหว่างนี้จะผ่านป้ายสื่อความหมาย ไล่ไปจากหนึ่งไปถึงสิบ ได้แก่
1.มะม่วงหัวแมงวัน ไม้มีพิษ 2.เหมือดคน 3.ชะมวง พืชอาหารและยา 4.ปรงป่าพืชบำรุงดิน 5.แก้มขาว ใบต่างดอก 6.เถาว์มะหนัง 7.คำมอกหลวง 8.ปอเต่าให้ 9.เสาโรมัน และ 10.ผาช่อ
สำหรับจุดเด่น ๆ ในเส้นทางสายนี้ก็มี “หินแม่น้ำ” ที่อยู่ระหว่างสถานี 4 กับ 5 มีลักษณะเป็นเป็นชั้นดินตะกอนที่มีหินแม่น้ำกลมมนฝังตัวอยู่
หินแม่น้ำเหล่านี้เกิดจากการกร่อนทางน้ำ เป็นตะกอนที่ไหลไปตามการพัดพาของทางน้ำ เกิดการครูด ถู ไถ กลิ้ง บริเวณพื้นท้องน้ำและด้านข้างของทางน้ำ หรืออาจเคลื่อนที่ชนกันเอง ทำให้หินตะกอนมีขนาดเล็กลงและกลมมน (สันนิษฐานว่าเป็นเส้นทางเดิน (ไหล) ของแม่น้ำปิงมาก่อน)
หินแม่น้ำเหล่านี้ต้องใช้เวลาสร้างสรรค์มากกว่า 5 ล้านปี ถึงจะมีสภาพอย่างในปัจจุบัน ที่ในหลายช่วงหลายตอนจะมีลักษะเป็นก้อนหินเรียงตัวอยู่บนชั้นตะกอนอย่างสวยงามคล้ายมีคนมาจับเรียงไว้ แต่นี่เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ
ในจุดนี้หากใครถอดรองเท้าเดิน (เท้าเปล่า) บนก้อนหิน เท้าเราก็จะได้สัมผัสกับก้อนหินกลมมนน้อยใหญ่หลากหลาย เป็นดังการนวดเท้า การทำสปาธรรมชาติ ในบรรยากาศธรรมชาติที่น่าสนใจไม่น้อย
จากจุดก้อนหินแม่น้ำ เส้นทางจะพาเดินไปตามร่องน้ำเก่าผ่านสถานีต่างๆก่อนไปถึงยังจุดเดินขึ้นสู่ผาช่อ ณ “ม่อนลองแฮง” ที่ทางอุทยานฯทำเป็นบันไดเดินขึ้นไปบนทางที่สูงชันพอประมาณสู่เนินเบื้องบน เป็นการ “ลองแรง”ดังชื่อม่อน ก่อนจะถึงยังจุดชมวิวที่เมื่อมองลงไปจะเห็นลักษณะพิเศษทางธรณีวิทยาเกิดเป็นเสาดินตั้งตระหง่านอยู่หลายแท่ง ซึ่งทางอุทยานฯเรียกขานจุดนี้ว่า “เสาโรมัน”
เสาโรมันเป็นจุดสื่อความหมายสถานีที่ 9 มีลักษณะเป็นเสาดินสูงประมาณ 30 เมตร บนแท่งเสาดินมีลวดลายที่เกิดจากการทับถมกันเป็นชั้น ๆ ของตะกอนในช่วงปลายยุคเทอร์เชียรี่(ยุคที่แผ่นทวีปเคลื่อนที่เข้าสู่ตำแหน่งปัจจุบันแล้ว) ต่อมาเกิดการแปรสัณฐานของธรณีวิทยา บริเวณนี้ถูกยกตัวขึ้น แล้วถูกกัดเซาะโดยน้ำ โดยลม
ทั้งนี้ในข้อมูลได้สันนิษฐานว่า การกัดเซาะช่วงแรกๆในบริเวณนี้ อาจมีลักษณะเป็นหน้าผาเหมือนกับผาช่อ(ที่อยู่ใกล้ๆกัน) จนเมื่อกาลเวลาผ่านไป หน้าผาถูกชะล้าง กัดเซาะลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงเสาดินที่มีลวดลายอันเกิดการสร้างสรรค์ของธรรมชาติอันสวยงาม
จากจุดชมวิวเสาโรมัน ผมเดินต่อไปตามเส้นทางที่นำลงสู่เบื้องล่างเมื่อไปถึงยังบริเวณนี้ที่เป็นจุดไฮไลท์นั่นก็คือ “ผาช่อ” ที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรณีอันน่าทึ่งตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น
ผาช่อแม้จะเป็นผาดินขนาดใหญ่ แต่ด้วยความงามที่ธรรมชาติสรรค์สร้างออกมาอย่างลงตัว ทำให้ผาแห่งนี้ไม่ได้ดูรู้สึกว่าเทอะทะและหนักต่อผืนแผ่นดินที่รองรับแต่อย่างใด
อนึ่งในการเดินเที่ยวผาช่อนั้น นักท่องเที่ยวต้องเดินไปตามเส้นทางที่อุทยานฯกำหนด จัดทำไว้ให้ อย่าออกนอกเส้นทาง อีกทั้งยังห้ามไปสัมผัสกับหน้าผาดิน (ในจุดที่เป็นผาช่อ) เพราะผาช่อเป็นตะกอนที่เกาะตัวกันอย่างหลวม ๆ ซึ่งถูกปัจจัยทางธรรมชาติทำให้ผุกร่อนตามกาลเวลาอยู่แล้ว การเข้าไปสัมผัสจึงเป็นการเร่งให้เกิดความเสียหายเร็วขึ้น
ด้วยความงามอันโดดเด่นทางธรณีทำให้หลาย ๆ คนยกผาช่อให้เป็นดัง “แกรนด์แคนยอนเมืองไทย” อย่างไรก็ดีเรื่องนี้มีหลาย ๆ คนไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าผาช่อมีความงามในแบบผาช่อ จึงไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับแกรนด์แคนยอนเมืองไทยแต่อย่างใด
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของผาช่อ ที่ถือเป็นหนึ่งปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่าทึ่งและน่าไปท่องเที่ยวเรียนรู้ไม่น้อยเลย
....................................................................................................
นอกจากผาช่อแล้ว ภายในอุทยานแห่งชาติแม่วาง ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจอื่น ๆ อีก อาทิ จุดชมวิว (ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับเส้นทางเดินชมผาช่อ) ที่ในวันฟ้าเป็นใจสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์คาบเกี่ยวได้ถึง 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง
ขณะที่จุดน่าสนใจอื่น ๆ นั้นก็มี กิ่วเสือเต้น(เป็นประติมากรรมธรรมชาติคล้ายผาแต้ม) ดอยผาตั้ง น้ำตกขุนป๊วย น้ำตกตาดหมอก น้ำตกปลาดุกแดง น้ำตกแม่วาง ล่องแพแม่แจ่ม เป็นต้น
ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติแม่วาง โทร. 08-1881-4729, 06-3523-9518
....................................................................................................
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager