xs
xsm
sm
md
lg

7+7 เรื่องน่ารู้ “น้องมาเรียม-พะยูน” ขวัญใจชาวเน็ตผู้น่ารัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

ภาพน้องมาเรียมหลับในอ้อมกอดพี่เลี้ยง (ภาพจาก เฟซบุ๊ก Shin Sirachai Arunrugstichai)
ปัจจุบันขวัญใจชาวเน็ตในบ้านเรา ไม่ได้มีเฉพาะแค่ซุปตาร์ ดารา คนดัง คนเด่น คนดี เท่านั้น หากแต่มีค่อนข้างหลากหลาย ทั้ง คนขี้ฉ้อ เด็กเลี้ยงแกะ ไอ้ตี๋โม้ยึดม้า ร่างทรง คนปากจัด (ไอ้หน้า...) วิญญูชนจอมปลอม อันธพาลตลาดล่าง นักการเมืองสร้างภาพ ปีศาจในคราบนักเลือกตั้ง ฯลฯ รวมไปถึง “สัตว์” หลายๆตัวที่มีพฤติกรรมน่ารักกว่าคนบางคน อย่างล่าสุด กับน้อง “มาเรียม” ลูกพะยูนผู้แสนน่ารัก ที่วันนี้คนจำนวนมากที่เป็น FC ต่างเอาใจช่วยให้น้องมาเรียมอยู่รอดปลอดภัย และสามารถแหวกว่ายกลับคืนสู่ทะเลใหญ่ได้ในเร็ววัน

เรื่องราวของน้องมาเรียมนอกจากจะเผยให้เห็นถึงเรื่องดี ๆ ของการอนุรักษ์ เรื่องราวอันน่าประทับใจระหว่างคนกับสัตว์แล้ว ยังทำให้คนหันมาสนใจเรื่องราวของพะยูนกันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

และนี่ก็คือ 7 เรื่องราวน่าสนใจของพะยูน และ 7 เรื่องน่าสนใจของน้องมาเรียม ที่จะทำให้เราได้รู้จักกับพะยูนและน้องมาเรียมดียิ่งขึ้น

7 เรื่องน่ารู้ของพะยูน

1.พะยูนไม่ใช่ปลา : หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าพะยูนเป็นปลาพร้อมยังนิยมเรียกขานกันว่า “ปลาพะยูน” แต่อันที่จริงพะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในทะเล และเป็นสัตว์อายุยืน (ถ้าไม่เสียชีวิตจากน้ำมือมนุษย์เสียก่อน) โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70 ปี มีน้ำหนัก 230-300 กิโลกรัม มีขนาดประมาณ 2.5-3 เมตร

2.พะยูนเป็นสัตว์สงวน : พะยูนเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส (CITES) ได้จัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ลำดับ 86 ของบัญชีไซเตส ถือเป็นสัตว์ที่ห้ามค้าขายโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย และเพาะพันธุ์เท่านั้น
พะยูนใช้ปากดุนพื้นทรายหาอาหารจนเป็นที่มาของชื่อหมูน้ำ หรือ หมูดุด (ภาพ : วิกิพีเดีย)
3.พะยูนกินหญ้าทะเล : พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลเพียงชนิดเดียวที่กินพืชเป็นอาหาร โดยอาหารของพวกมันคือ “หญ้าทะเล” บริเวณชายฝั่ง พวกมันจะออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงกลางวัน เมื่อน้ำขึ้นพะยูนจะรวมกลุ่มกันเข้าไปกินหญ้าทะเล

พะยูนมีวิธีการกินหญ้าทะเลดูคล้าย ๆ กับหมู คือจะใช้ครีบอกและปากดุนพื้นทรายไถไปเรื่อย ๆ จนบางครั้งเห็นเป็นรอยทางยาวตามชายหาด ครั้นเมื่อน้ำลงมันจะแหวกว่ายกลับไปหลบอยู่บริเวณร่องน้ำใกล้เคียง รอเวลาน้ำขึ้นเพื่อที่จะออกไปหากินอีกครั้ง ซึ่งการหากินในแต่ละวันใช้เวลานานถึงประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว

4.พะยูนมีหลายชื่อเรียกขาน : พะยูนเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายแมวน้ำขนาดใหญ่ ตัวอ้วนกลมดูอุ้ยอ้ายน่ารักเวลาว่ายน้ำ ด้วยรูปร่าง ความเชื่อ และพฤติกรรมการหากินของมัน ทำให้พะยูนมีชื่อเรียกท้องถิ่น (ของบ้านเราที่ค่อนข้างหลากหลาย) ไม่ว่าจะเป็น “หมูน้ำ” หรือ “หมูดุด” ที่นิยมเรียกกันทางฝั่งตะวันออกของบ้านเราโดยเฉพาะในจังหวัดจันทบุรี เนื่องจากพฤติกรรมการหากินที่ดูคล้ายหมูของมัน, “วัวทะเล” ซึ่งเรียกตามรูปร่างที่ดูคล้ายวัว, “ดุหยง” เป็นภาษามลายู หมายถึง หญิงสาว หรือผู้หญิงแห่งท้องทะเล และ “ดูกอง” เป็นชื่อเรียกขานตามสกุลของมัน ซึ่งปัจจุบันเมืองไทยพบพะยูนหลงเหลืออยู่เพียงสกุลเดียวคือ “ดูกอง” (Dugong)
รูปปั้นหมูดุดที่มีให้ดูต่างหน้าหลังหายไปจากทะเลอ่าวคุ้งกระเบน
5.พะยูนกับความเชื่อ : ในยุคกลางนักเดินเรือโบราณเชื่อว่าพะยูนคือนางเงือก เพราะยามที่แม่พะยูนให้นมลูกมักจะกอดอยู่กับอกและตั้งฉากกับท้องทะเล ทำให้มองเห็นไกลดูคล้ายผู้หญิงให้นมลูก

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า เนื้อ กระดูก และเขี้ยวพะยูน หรือที่ในตลาดมือเรียกกันว่า “งาช้างน้ำ” มีคุณสมบัติทางเมตตามหานิยม รวมถึงเชื่อกันว่าน้ำตาพะยูนและเขี้ยวพะยูนสามารถนำไปทำเสน่ห์ค้ลายกับน้ำมันพราย ทำให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของพะยูนมีการซื้อขายกันในราคาที่แพงมาก และเป็นชนวนเหตุให้ในอดีตมีการล่าพะยูนจนปัจจุบันตกอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง

6.พะยูนสัญลักษณ์จังหวัดตรัง : ตรังนอกจากจะมีภาพจำของเมืองคนช่างกิน เมืองหมูย่าง ยางพาราต้นแรก ดอกศรีตรัง (ต้นไม้ประจำจังหวัด) รวมไปถึงนายหัวชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัยและประธานสภา 2 สมัยแล้ว พะยูนก็ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของจังหวัดตรัง (สัตว์ประจำจังหวัด) เนื่องจากตรังเป็นแหล่งที่มีพะยูนอาศัยอยู่มากที่สุดในบ้านเรา (อ่านข้อมูลด้านล่าง) โดยในปี พ.ศ. 2539 มีการนำพะยูนไปเป็นสัตว์นำโชคในกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 29 หรือ “พะยูนเกมส์” นอกจากนี้ก็ยังมีรูปปั้นพะยูนอยู่ทั่วไปในเมืองตรัง รวมถึงมีการสร้างสรรค์พะยูนให้เป็นของที่ระลึกต่าง ๆ ด้วย
อนุสาวรีย์พะยูน ที่หาดปากเมง จ.ตรัง
7.พะยูนสัตว์น่าห่วง : ปัจจุบันสถานการณ์ของพะยูนทั่วโลกมีจำนวนลดลงมากจนเกือบสูญพันธุ์ เนื่องจากการไล่ล่าและการทำลายแหล่งอาหารแหล่งอยู่อาศัยของพะยูน โดยแหล่งใหญ่ที่พะยูนอาศัยอยู่คือชายฝั่งออสเตรเลียที่สำรวจพบว่ามีจำนวนพะยูนอยู่หลายหมื่นตัว

ขณะที่ในบ้านเรามีการพบเจอพะยูนทางฝั่งอันดามัน ไล่ไปตั้งแต่ทะเลระนองไปจนถึงสตูล โดยพบมากที่สุดบริเวณในทะเลตรังบริเวณหาดเจ้าไหม เกาะลิบง เกาะมุก เนื่องจากเป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ และชาวบ้านในแถบนี้ก็ได้จับมือกับภาครัฐร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์พะยูนไว้ ซึ่งปัจจุบันมีรายงานว่าบ้านเรามีพะยูนหลงเหลืออยู่ประมาณ 200-250 ตัว

สำหรับในส่วนฝั่งอ่าวไทยในอดีตเคยพบเจอพะยูนแถบทะเลระยอง และจันทบุรี โดยเฉพาะที่อ่าวคุ้งกระเบนนั้นเคยมีบันทึกว่ามีการจับพะยูนตัวสุดท้ายได้ในปี 2515 ก่อนที่ปัจจุบันจะเหลือเพียงตำนานพะยูนแห่งอ่าวคุ้งกระเบนสร้างเป็นรูปปั้นอนุสรณ์เตือนใจไว้ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่าวคุ้งกระเบนให้ผู้มาเยือนได้ชมต่างหน้า ที่ชวนให้หดหู่ไม่น้อย

7 เรื่องน่ารู้ของน้องมาเรียม
ภาพน้องมาเรียมเมื่อครั้งมาเกยตื้นที่อ่าวทึง (ภาพจาก : อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา- หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่)
1.ก่อนเป็นมาเรียมขวัญใจชาวเน็ต : เมื่อ 26 เม.ย. 62 ที่ผ่านมา มีการพบเจอลูกพะยูนน้อย มาเกยตื้นตัวเดี่ยวโดด ๆ ที่อ่าวทึง ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ เมื่อมีการตรวจสอบทราบว่าเป็นพะยูนเพศเมีย อายุประมาณ 4-5 เดือน แม้ชาวบ้านที่กระบี่จะนำลูกพะยูนน้อยตัวนี้ไปปล่อยคืนทะเล แต่ก็เห็นมันกลับมาว่ายเวียนป้วนเปี้ยนที่เดิมอีก จึงคาดว่าคงผลัดหลงจากแม่มาอยู่ที่บริเวณทะเลแถบนี้

2.พะยูนน้อยกับทางที่ต้องเลือก : เมื่อพะยูนน้อยผลัดหลงกับแม่ จากประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เห็นว่าหากปล่อยมันไปตามธรรมชาติคงจะไม่รอดแน่ ทางเจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจนำพะยูนน้อยมาอนุบาล ซึ่งมี 2 แนวทางให้เลือก หนึ่งนั้นเลี้ยงอนุบาลในบ่อ และมันจะต้องอาศัยอยู่ในบ่อตลอดไปจนตาย เพราะไม่สามารถออกทะเลใหญ่ได้ กับอีกแนวทางหนึ่งคือเลี้ยงดูในสภาพธรรมชาติ ท่ามกลางการเฝ้าดูแลประคบประหงมของเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยงานนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เลือกใช้แนวทางที่สองในการวิธีอนุบาลเจ้าพะยูนน้อยตัวนี้

3.ย้ายสำมะโนครัว : ทางเจ้าหน้าที่จึงได้นำลูกพะยูนตัวนี้ไปอนุบาล บริเวณบ้านแหลมจูโหย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เนื่องจากเป็นแหล่งหญ้าทะเลอาหารของพะยูน และเป็นแหล่งอยู่อาศัยของพะยูนมากที่สุดในเมืองไทย

4.ชีวิตใหม่ในชื่อมาเรียม : หลังเจ้าหน้าที่ย้ายพะยูนน้อยมาอยู่ที่เกาะลิบงก็ได้ตั้งชื่อให้ลูกพะยูนตัวนี้ว่า “มาเรียม” ที่แปลว่า “หญิงสาวที่มีความสง่างามแห่งท้องทะเล

5.ลูกพะยูน-แม่เป็นคน : ในการอนุบาลน้องมาเรียมก่อนปล่อยคืนสู่ทะเลใหญ่นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ลูกพะยูนตัวนี้จะต้องมีคนมาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชม. คอยป้อนนมทุกวัน (1-2 ลิตร/วัน) พร้อมพาฝึกว่ายน้ำออกกำลังกาย รวมถึงต้องช่วยนำน้องกลับลงน้ำยามเมื่อว่ายน้ำมาเกยตื้นที่ชายหาด (น้องชอบว่ายน้ำมาเกยตื้นที่ชายหาด เนื่องจากไม่มีแม่ว่ายนำทาง)

นั่นจึงทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งต้องเสียสละตัว (อย่างมาก) เพื่อมาคอยดูแลน้องมาเรียม ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ฯลิบง สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มพิทักษ์ดุหยง รวมถึงอาสาสมัครต่าง ๆ ต่างพากันอุทิศตนมาเป็น “แม่” ของน้องมาเรียม ทั้งแม่นม แม่บุญธรรม และ พี่เลี้ยง นับเป็นลูกพะยูนตัวแรกในเมืองไทย ที่มีแม่เป็นคนคอยดูแลเลี้ยงจริงในทะเล ซึ่งต้องขอคารวะในหัวใจของเหล่าบรรดาผู้เสียสละเหล่านี้
เจ้าหน้าที่ผู้เสียสละผู้ทำหน้าที่แม่คอยป้อนนมน้องมาเรียม (ภาพจาก : อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา- หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่)
6. แม่จ๋า...หนูคิดถึงแม่ : นอกจากแม่ที่เป็นมนุษย์แล้ว น้องมาเรียมยังต้องหาสิ่งยึดเหนี่ยวใจ ที่ก็มีทั้ง แม่ส้ม แม่หิน แม่ไม้ ซึ่งคุณหมอ “นันทริกา ชันซื่อ” ได้โพสต์เรื่องราวของแม่ สิ่งยึดเหนี่ยวของน้องมาเรียมเอาไว้ได้อย่างน่าสะทกสะท้อนใจ จนทำให้หลายคนอ่านแล้วถึงกับน้ำตาคลอหน่อย

โดย รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุคของตตัวเองในชื่อ Nantarika Chansue ว่า

...รักษาสัตว์มา 30 ปี เห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย มามากพอควร.... แต่เรื่องราวของเจ้าพะยูนกำพร้า "มาเรียม" สามารถทำให้ทำให้เราสะท้อนใจได้

มาเรียมอายุเพียง 4-5 เดือน เมื่อสำรวจฟันก็เพิ่งเริ่มขึ้นไม่กี่ซี่ ยังไม่พ้นเหงือกพอที่จะกินหญ้าถนัด จึงต้องกินนมเป็นหลัก ใช้สูตรของนมพะยูนจากต่างประเทศโดยใช้นมผงที่มาจากแพะและผสมวิตามินกับสารอาหารที่จำเป็น กินวันละประมาณ 2 ลิตร ทุก 1-2 ชั่วโมง เป็นงานที่เหนื่อยพอควรสำหรับคนดูแล

สิ่งยึดเหนี่ยวของมาเรียมที่รูปร่างใกล้เคียงแม่ที่สุด คือ เรือแคนูสีส้ม พวกเราเรียกว่า "แม่ส้ม"ทุกครั้งที่เธอต้องการความรักความอบอุ่น เธอจะว่ายไปอยู่ใต้เรือ นอนหงายเอาแขนกอดเรือบ้าง ว่ายตามไปข้างๆเหมือนว่ายไปกับแม่บ้าง หรือเอาตัวว่ายถูไปมาเหมือนจะบอกว่า "แม่จ๋า... หนูคิดถึงแม่"

ตอนหมอป้อนนม ท่าที่มาเรียมชอบมากที่สุดคือเอามือโอบที่ครีบหน้าข้างหนึ่งไว้กับตัวเรา เหมือนเวลาที่แม่โอบเขาเวลากินนม ... ดูดนมแล้วเพลินหลับเหมือนเด็กๆ ...

ที่น่าสงสารมากคือตอนกลางคืนที่เธอต้องอยู่คนเดียวมืดๆ เธอก็มักไปซุกหินบ้าง (หินแม่) ท่อนไม้ (ไม้แม่)บ้าง ถ้าเผลอน้ำลงก็เกยตื้น เพราะไม่มีแม่มาพาไปยังที่น้ำลึกพอ... โชคดีที่มีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวังอยู่ 24 ชม จึงช่วยได้ทัน

อยากจะบอกมาเรียมว่า... คงไม่มีโอกาสได้เจอแม่อีกแล้ว ไม่รู้ว่าแม่ยังมีชีวิตอยู่แค่พลัดหลงกันหรือแม่ติดเครื่องมือประมงเหมือนพะยูนอีกหลายตัวที่เสียชีวิตไป หรือเจ็บป่วยล้มตายไป ในทะเลกระบี่ แต่ทุกคนที่ตรังกำลังพยายามเต็มที่ที่จะทำให้เธออยู่รอด สามารถเติบโตต่อไปในโลกนี้ได้.....

ขอบคุณและชื่นชมกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ทุ่มเทเพื่อช่วยเหลือ อนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากร่วมกับทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬา รวมทั้งสถาบันและชุมชนต่างๆ มาช่วยกันดูแลค่ะ
น้องมาเรียมกับแม่ส้มและพี่เลี้ยง (ภาพจาก : ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
7.ปรากฏการณ์น้องมาเรียม : วันนี้เรื่องราวชีวิตน้องมาเรียมนั้น โด่งดังไปทั่วฟ้าเมืองไทย น้องถือเป็นขวัญใจชาวเน็ตมาแรง มีแฟนคลับจำนวนมากมาดูความน่ารักของน้องไม่ว่าจะเป็นว่ายน้ำ กินนม เกยตื้น หรือหลับปุ๋ยในอ้อมอกของมนุษย์

นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวดี ๆ ที่มีคนเอาใจช่วยมากมายให้น้องมาเรียมมีสุขภาพแข็งแรง (เจ้าหน้าที่คาดว่าต้องใช้เวลาอนุบาลไม่ต่ำกว่า 6 เดือน) ด้วยความหวังว่าอีกไม่นานลูกพะยูนน้อยตัวนี้จะได้มีโอกาสกลับสู่ท้องทะเลใหญ่ไปแหวกว่ายร่วมกับบรรดาฝูงพี่ ป้า น้า อา เหล่าพะยูนเหล่านี้ หรือหากโชคดีอาจมีโอกาสได้พบหน้ากับแม่หรือครอบครัวของน้อง (แม้โอกาสจะเป็นไปได้น้อยมากก็ตามที)

ขอให้โชคดีนะน้องมาเรียมพวกเราเอาใจช่วย และขอส่งกำลังใจให้กับผู้ที่เสียสละช่วยกันดูแลน้องมาเรียมทุกคน

เพราะชีวิตทุกชีวิตล้วนมีค่าไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ก็ตาม
น้องมาเรียมเล่นน้ำเริงร่า (ภาพจาก : ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น