xs
xsm
sm
md
lg

เพลิดเพลินเดินเที่ยว “เจริญกรุง-บางรัก” ชมสถาปัตยสุดคลาสสิคกลางกรุงเทพฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
ศุลกสถาน แหล่งเรียนรู้ประวัติด่านศุลกากร
ย่านใจกลางเมืองอย่าง เจริญกรุง-บางรัก หนึ่งในถนนสายแรกแห่งสยามประเทศ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในยุครัตนโกสินทร์อันรุ่งโรจน์ หลังการเปิดประเทศจากสนธิสัญญาเบาริงห์ ทำให้ต่างชนชาติและศาสนาเข้ามาร่วมผลักดันให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง

ไม่นานนี้มีโอกาสร่วมเดินทางกับ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี ในกิจกรรม “รู้จักบางรัก... หลงรักเจริญกรุง” ไปเพลิดเพลินกับการเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ย่านบางรัก ชมสถานที่อันงดงาม ที่เป็นการผสานความเชื่อความศรัทธาจีน พุทธ มุสลิม นำความสมานสามัคคีอันเป็นเสน่ห์ของบางรัก รวมถึงสัมผัสเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่น่าสนใจ
ศาลเจ้าบางรัก” หรือ “ศาลเจ้าเจียวเองเบี้ยว”
เมื่อมาถึงย่านบางรักแล้ว สถานที่แรกที่มาเยือนก็คือ “ศาลเจ้าบางรัก” หรือ “ศาลเจ้าเจียวเองเบี้ยว” ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นศาลเจ้าแบบไหหลำ มีอายุเก่าแก่กว่า 150 ปี โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงนักเดินทางชาวจีน 108 คน ที่ล่องเรือสำเภามาค้าขายที่บางรัก แต่ไปถูกฆ่าตายที่เวียดนามเพราะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโจรสลัด ภายในอาคารศาลเจ้านั้นเป็นที่ประดิษฐานศาลเทพเจ้าของชาวจีน อาทิ เจ้าแม่ทับทิม, บู๊นท๋ากง, เจ้าแม่กวนอิม ให้ผู้ที่แวะเวียนมาได้สักการะขอพร อีกทั้งศาลเจ้าแห่งนี้ก็เป็นที่เคารพสักการะของชาวจีนที่ทำมาค้าขายอยู่ในย่านบางรักแห่งนี้ และเหล่านักเดินทางที่มาขอพรให้เดินทางโดยปลอดภัย
แท่นระลึกถึงนักเดินทางชาวจีน 108 คน
อุโบสถของวัดสวนพลู
จากนั้นเดินทางต่อไปยัง "วัดสวนพลู" ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับโรงแรมแชงกรีลา ชื่อของวัดสวนพลูก็คงพอจะบอกที่มาของวัดได้ว่าสร้างขึ้นบนที่ดินที่เคยเป็นสวนพลูของชาวจีนมาก่อน โดยได้สร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หรือเมื่อประมาณ พ.ศ.2340 ก่อนที่ย่านนี้จะกลายมาเป็นย่านธุรกิจการค้ามีผู้คนหนาแน่นอย่างในปัจจุบัน
พระประธานในท่าประทับนั่งปางมารวิชัย
อุโบสถของวัดสวนพลูนี้มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก ด้านนอกเป็นงานปูนปั้นประดับกระจก เครื่องบนของอุโบสถมีปูนปั้นเป็นรูปเทวดานางฟ้าประดับอยู่ดูสวยงามแปลกตา ภายในมีพระประธานในท่าประทับนั่งปางมารวิชัยอยู่บนบุษบกห้าชั้น ส่วนด้านล่างมีพระสาวกยืนอยู่ทั้งด้านซ้ายและขวา ผนังด้านแม้ไม่มีจิตรกรรมฝาผนังอย่างวัดอื่นๆ แต่ก็ตกแต่งด้วยไม้ทั้งสี่ด้านรวมไปถึงเพดาน ก็ทำให้ภายในอุโบสถดูโล่งโปร่งสบาย

คราวนี้ออกมาชมด้านนอกกันบ้าง ด้านข้างอุโบสถมีศาลาทรงไทยตั้งอยู่กลางสระน้ำ คือ "ศาลพระโพธิสัตว์กวนอิม" ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนแถบนี้

อีกด้านหนึ่งของพระอุโบสถ จะเห็นว่ายังมีวิหารอีกหนึ่งหลังตั้งอยู่อย่างสงบใต้ต้นไม้ นั่นก็คือ "วิหารพระพุทธไสยาสน์" โดยพระพุทธไสยาสน์และวิหารที่ประดิษฐานนั้น ได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2501 แต่ต่อมาก็ได้มีความชำรุดทรุดโทรมลงมาก อีกทั้งพื้นบริเวณภายในอาคารที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ก็ยังมีสภาพต่ำกว่าพื้นบริเวณภายนอก ทางวัดจึงได้ดำเนินการก่อสร้างวิหารพระพุทธไสยาสน์หลังใหม่ขึ้น อีกทั้งยังได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธไสยาสน์ไปด้วยพร้อมๆ กันจนเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2536
เรือนไม้สองชั้นแบบเรือนขนมปังขิง
ภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์นั้น ก็มีพระพุทธไสยาสน์ซึ่งได้รับการบูรณะแล้วเป็นสีทองสุกอร่ามอยู่ด้านในสุด และมีพระพุทธรูปปางต่างๆ เช่น ปางนาคปรก ปางอุ้มบาตร และพระสาวกประดิษฐานไว้ด้วยเช่นกัน และภายในวิหารนี้ก็ยังมีพระพุทธรูปสำคัญอย่าง "หลวงพ่อพระป่าเลไลย์" ซึ่งเล่ากันสืบต่อมาด้วยความเคารพศรัทธาว่า ท่านได้ก่อปาฏิหาริย์โดยการช่วยชาวบ้านที่ไปหลบภัยบริเวณรอบองค์ท่านให้พ้นจากลูกระเบิดที่ทิ้งมาจากเครื่องบินในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

อีกหนึ่งมุมที่มีความน่าสนใจก็คือ เรือนไม้สองชั้นทาด้วยสีเหลืองครีมคาดน้ำตาล นั่นคือ "หมู่กุฏิ" ของพระสงฆ์ ด้วยขนาดของวัดที่ไม่ใหญ่โตนัก ที่นี่จึงไม่มีการแบ่งส่วนของพุทธาวาสและสังฆาวาสอย่างชัดเจน หมู่กุฏินี้จึงตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับอุโบสถและวิหารต่างๆ นั่นเอง

หมู่กุฏิ มีลักษณะเป็นเรือนไม้สองชั้นแบบเรือนขนมปังขิง ฝาไม้ตีซ้อนเกล็ด และบริเวณชายคาก็ประดับด้วยไม้ฉลุที่แผงกันแดดเหนือทางเข้า ราวลูกกรงระเบียงชั้นบน และแผงกันแดดระหว่างเสาระเบียง อีกทั้งหมู่กุฏิที่วัดสวนพลูนี้ยังได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทยจากสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อปี พ.ศ.2545 อีกด้วย
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
ต่อจากนั้นไปชม “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” พิพิธภัณฑ์นี้เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของอาจารย์วราพร สุรวดี เจ้าของผืนดิน ผู้บริจาคทรัพย์สินทั้งหมดให้กรุงเทพมหานคร และอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้จวบกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ด้วยวัย 82 ปี โดยท่านได้มอบบ้านและทรัพย์สินต่างๆ ที่ได้รับมรดกจากนางสอาง สุรวดี (ตันบุญเล็ก) ผู้เป็นคุณแม่ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่คนรุ่นหลังจะได้ใช้ศึกษาเรื่องราวชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของชาวบางกอกที่มีฐานะปานกลางในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ประมาณปี พ.ศ. 2480 ถึง พ.ศ. 2500) โดยของที่นำมาจัดแสดงส่วนใหญ่เป็นของที่เคยใช้งานจริงของอาจารย์และครอบครัว
ข้าวของเครื่องใช้ในพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
ตัวอาคารศุลกสถาน
"ศุลกสถาน" แหล่งเรียนรู้ประวัติด่านศุลกากรที่ถือเป็นประตูสุดแดนพระนครใต้ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้สร้างขึ้น ที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตบางรัก เพื่อเรียกเก็บภาษีจากพ่อค้าวาณิชที่เดินทางเข้าออกประเทศ เพราะในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สยามเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดไปเป็นการค้าเสรี โดยเมื่อเรือสินค้าเข้ามาจากปากแม่น้ำก็ต้องผ่านจุดตั้งด่านเก็บภาษีสินค้าขาเข้าที่เรียกว่า "ภาษีร้อยชักสาม"
บรรยากาศโดยรอบ
สุสานมัสยิดฮารูณ
สถานที่สุดท้ายของกิจกรรมนี้อยู่ที่ “สุสานมัสยิดฮารูณ” มาสัมผัสสัจธรรมจากเรื่องราวของบุคคลสำคัญในสุสาน อาทิ ท่านต่วน สุวรรณศาสตร์ อดีตจุฬาราชมนตรี และเรื่องราวของพี่น้องมุสลิมที่ร่วมรบในสงครามป้องกันสยามประเทศ พร้อมกับชมมัสยิดฮารูณ ศูนย์รวมใจของชาวมุสลิมย่านบางรัก มาฟังเรื่องราวศาสนสถานกลางของชุมชนที่ยั่งยืนมากว่าร้อยปี เพื่อความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม
มัสยิดฮารูณ ศูนย์รวมใจของชาวมุสลิมย่านบางรัก
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น