xs
xsm
sm
md
lg

อิ่มบุญ อุ่นใจ ไหว้พระที่ “อินทร์บุรี” เยือนถิ่นเก่าเมืองสิงห์บุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
วัดไทร
ถ้าหากให้จัดทริปตระเวนไหว้พระใกล้ๆ กรุง เชื่อว่าหลายคนคงเลือกที่อยุธยาเป็นอันดับต้นๆ เนื่องด้วยระยะทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก และยังมีวัดเก่าแก่ให้แวะไปทำบุญมากมาย แต่ถ้าหากว่าไปบ่อยแล้ว อยากลองหาที่ใหม่ๆ บ้าง เราขอเสนอ “สิงห์บุรี” ให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะที่นี่ก็มีวัดศักดิ์สิทธิ์ไม่น้อย และนั่งรถต่อจากอยุธยามาอีกหน่อยก็ถึงแล้ว

“สิงห์บุรี” เป็นอีกเมืองเก่าแก่ในย่านภาคกลาง มีร่องรอยการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และเป็นที่รู้จักกันดีในช่วงกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยเฉพาะในคราวศึกบางระจัน ซึ่งนอกจากสิงห์บุรีและบางระจัน ก็มี “อินทร์บุรี” ที่เป็นหนึ่งในเมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญในช่วงเดียวกัน
โบสถ์ที่มีต้นไทรปกคลุม
สักการะหลวงพ่อวัดไทร
สำหรับ “อินทร์บุรี” นั้น ปัจจุบันเป็นอำเภอหนี่งในจังหวัดสิงห์บุรี แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีก็พบว่าเคยมีชุมชนโบราณอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยมีการพบโบราณวัตถุหลายชนิดที่แหล่งโบราณคดีบ้านคูเมือง (ต.ห้วยชัน อ.อินทร์บุรี) และเมืองอินทร์บุรีก็ถือเป็นชายแดนทางเหนือของอาณาจักรอยุธยาในช่วงต้น ซึ่งวัดเก่าแก่ที่ยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ก็มีบางส่วนที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ดังเช่นที่ “วัดไทร” (ต.ชีน้ำร้าย อ.อินทร์บุรี) ซึ่งเดิมชื่อว่า “วัดทะยาน” สันนิษฐานว่า “ทะยาน” เป็นการกร่อนมาจากคำว่า “ท้ายย่าน” มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าเคยมีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาพบวัดร้างแห่งนี้ เห็นว่าบริเวณโดยรอบมีต้นไทรขึ้นอยู่หนาแน่น จึงบอกให้ชาวบ้านเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไทร
รากไทรช่วยค้ำยันกำแพงโบสถ์
ความพิเศษของวัดนี้ก็คือ บริเวณโบสถ์จะมีรากต้นไทรยึดกำแพงโบสถ์ไว้โดยรอบ ส่วนอื่นๆ ของวัดอย่างพวกศาลาก็น่าจะพังทลายลงน้ำไปแล้ว ตัวโบสถ์เป็นโบสถ์เก่าที่ชาวบ้านเรียกว่าโบสถ์มหาอุด คือเป็นโบสถ์ที่มีประตูเข้าออกทางเดียว ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อขาว” หรือ “หลวงพ่อทะยาน” แต่ปัจจุบันเรียกกันว่า “หลวงพ่อวัดไทร” ผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่นเล่าวว่า แต่แรกนั้นองค์พระประธานปั้นปูนหุ้มทอง ต่อมาโดนสุมไฟหลอมเอาทองออกไปเหลือแต่ปูนด้านใน เศียรขององค์พระก็ถูกตัดออกไป ต่อมาชาวบ้านช่วยกันเรี่ยไรเงินมาบูรณะต่อเศียรพระพุทธรูป

โบสถ์ที่เห็นในปัจจุบันนี้สามารถตั้งอยู่ได้ด้วยรากของต้นไทรที่พยุงไว้โดยรอบ หากเดินดูรอบๆ ก็จะเห็นว่ามีต้นไทรอยู่ที่มุมของโบสถ์ มีรากเลื้อยคลุมโบสถ์ไว้ทั้งสี่ด้าน ในอดีตเคยมีคนจะเข้ามาบูรณะหลังคาโบสถ์ แต่เมื่อลงมือทำก็มีฟ้าผ่า และมีคนฝันว่าองค์พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์นั้นบอกไม่ให้สร้างหรือดัดแปลงใดๆ ตัวโบสถ์จึงมีลักษณะอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
วิหารเก่าวัดม่วง
ใน อ.อินทร์บุรี มีวิหารเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ ตั้งอยู่ใน “วัดม่วง” (ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี) ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ คาดว่าน่าจะสร้างตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ และเหตุที่ชื่อวัดม่วงก็เนื่องจากในสมัยก่อนบริเวณนี้มีต้นมะม่วงขึ้นอยู่มาก

วิหารเก่าของวัดม่วงเป็นอาคารปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หน้าบันประดับด้วยภาชนะเครื่องถ้วยต่างๆ วิหารแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีพุทธลักษณะงดงาม ผนังภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่น ฝีมือช่างพื้นบ้าน ซึ่งคาดว่าน่าจะเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ตลอดจนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมโบราณ จัดว่าเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามที่สุดในสิงห์บุรี
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ว่ากันว่าสวยที่สุดในสิงห์บุรี
จิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างพื้นบ้าน
ภายในวัดม่วงยังมีเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ที่เล่ากันว่าเป็นที่บรรจุอาวุธ วัตถุมงคล ของมีค่าต่างๆ ชาวบ้านเชื่อว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นการล้างบาป และยังมีอุโบสถ หอสวดมนต์ นอกจากนี้ ที่วัดแห่งนี้ยังเคยเป็นที่ประทับพักเสวยพระกระยาหารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอินทร์บุรี
อีกจุดหนึ่งในอินทร์บุรีที่ชวนให้ไปชมกันก็คือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี” ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ “วัดโบสถ์” (ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี) เดิมนั้นเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดโบสถ์ ก่อตั้งโดยอดีตเจ้าอาวาส (พระเทพสุทธิโมลี) ได้รวบรวมจัดเก็บรักษาโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่มีคุณค่า ในปี พ.ศ.2496 ได้รับการจัดตั้งเป็นสาขาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประจำอำเภออินทร์บุรี และเนื่องจากอาคารไม้หลังเก่าไม่เพียงพอสำหรับสำหรับจัดเก็บรักษาโบราณวัตถุที่มีจำนวนมากขึ้น จึงได้ก่อสร้างอาคาร ตึกเพิ่ม ดุริยางคกูร เพิ่มอีก 1 หลัง และปรับปรุงศาลาการเปรียญหลังเดิมเป็นอาคารจัดแสดง
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
ต่อมา พ.ศ.2514 อดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ เมื่อครั้งมีสมศักดิ์เป็นพระราชเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี ได้ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนกรมศิลปากรในการดำเนินงานปรับปรุงการจัดแสดงให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และได้เปลี่ยนจากสาขาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี เป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี ในปี พ.ศ.2516

ภายในพิพิธภัณฑ์มีการรวบรวมโบราณวัตถุ และข้าวของเครื่องใช้ในสมัยก่อนต่างๆ มากมาย โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 6 เรื่อง ได้แก่ “ทรัพย์ในดินสิงห์บุรี” ที่จัดแสดงสภาพภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยาของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดสิงห์บุรี ทำให้เราเข้าใจพื้นที่ในจังหวัดสิงห์บุรีได้ดีมากขึ้น
โบราณวัตถุคินพบที่เมืองโบราณบ้านคูเมือง
ประติมากรรมจากแผล่งเตาแม่น้ำน้อย
“แหล่งโบราณคดีบ้านคูเมือง” ที่ตั้งอยู่ในเขต อ.อินทร์บุรี เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ในส่วนนี้จะมีหลักฐานสำคัญทางโบราณคดีสมัยทวารวดีค้นพบที่บ้านคูเมือง เช่น ธรรมจักรศิลา พระพุทธรูปปางแสดงธรรม แท่นหินบด สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ชิ้นส่วนศาสนสถาน จัดแสดงอยู่ให้ได้เดินชม พร้อมกับมีข้อมูลแหล่งค้นพบบอกไว้ด้วย

“แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย” เป็นเตาเผาผลิตเครื่องปั้นดินเผาสมัยอยุธยา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-24 ตั้งอยู่ที่วัดพระปรางค์ ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งกรมศิลปากรได้ขุดแต่งแล้วเป็นเตาเผาขนาดใหญ่ 3 เนิน ปัจจุบันได้สร้างหลังคาคลุมเตาไว้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเตาเผาแห่งนี้มี 2 ประเภท คือ ภาชนะใช้สอย เช่น ไห กาน้ำ เครื่องมือประกอบสถาปัตยกรรม เช่น กระเบื้อง เชิงชาย มกร และท่อประปาที่ใช้ในสมัยอยุธยา
อัฐบริขารและเครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา
“อัฐบริขารและเครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา” จัดแสดงศิลปวัตถุสำคัญหลายประเภท ได้แก่ อัฐบริขาร ตาลปัตร พัดยศ พัดรอง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และเครื่องประกอบสมณศักดิ์ของพระราชาคณะ ซึ่งยังเก็บรักษาอยู่ในสภาพดี

“ภูมิปัญญาไทยภาคกลาง” จัดแสดงภูมิปัญญาไทยพื้นถิ่น สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น เตาเชิงกราน หม้อดินเผา กระจ่า กระบวย ฯลฯ เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา เช่น ไถ คราด เครื่องประกอบอาชีพเสริม เช่น อุปกรณ์ปั้นหมอดินเผา เครื่องทอผ้า เครื่องหีบอ้อย เครื่องมือประมง ชะนาง สุ่ม ตุ้ม ข้อง กระซัง พาหนะในการเดินทาง เช่น เกวียน ระแทะ เป็นต้น

เดินชมพิพิธภัณฑ์เสร็จแล้ว อย่าลืมแวะไปไหว้พระในวัดโบสถ์กันด้วย ซึ่งที่วัดแห่งนี้ก็เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน
แวะสักการะหลวงพ่อพระนอนจักรสีห์ก่อนกลับบ้าน
เที่ยวกันมาหลายที่แล้ว หากยังมีเวลาเหลือ ก็สามารถแวะไปชมแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ กันได้ต่อ อย่างเช่นที่เมืองโบราณบ้านคูเมือง โบราณสถานเตาเผาแม่น้ำน้อย เสร็จแล้วอย่าลืมแวะเข้าตัวเมืองสิงห์บุรี ไปสักการะ “หลวงพ่อพระนอนจักรสีห์” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสิงห์บุรี ที่วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร ปิดท้ายวันด้วยความเป็นสิริมงคลก่อนจะกลับบ้านไปอย่างสุขใจ
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager



กำลังโหลดความคิดเห็น