การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว 88 ราย เข้าร่วมงานมหกรรมท่องเที่ยวนานาชาติ ITB 2019 ครั้งที่ 53 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ชูแนวคิด Open to the New Shades of Thailand เน้นจุดขายเป็นสินค้าและบริการของแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองของไทย 10 จังหวัด ที่มีศักยภาพและตรงกับพฤติกรรมความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวยุโรป ข้อมูลชี้กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงชาวเยอรมนีมีเกือบ 6 ล้านคน กว่า 90% ไม่เคยมาไทย
วันนี้ (6 มี.ค.) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดคูหาประเทศไทย ณ Hall 26B หมายเลข 221 ในงาน International Tourismus Borse 2019 (ITB 2019) ครั้งที่ 53 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 มีนาคม 2562 ณ Messe Berlin Exhibition Ground พร้อมกับ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
นายยุทธศักดิ์ ผู้ว่าฯ ททท. เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 6-10 มีนาคม ททท. ได้นำผู้ประกอบการท่องเที่ยว จำนวน 88 ราย เดินทางเข้าร่วมงาน ITB 2019 ซึ่งเป็นมหกรรมทางการท่องเที่ยวที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของโลก โดยแบ่งเป็น ผู้ประกอบการประเภทโรงแรมและรีสอร์ท 78 ราย บริษัทธุรกิจนำเที่ยว 7 ราย และ อื่น ๆ 3 ราย โดยผู้ประกอบการฯ จำนวน 18 รายเข้าร่วมงานเป็นครั้งแรก ในปีนี้ นอกจากนี้ นายวีระศักดิ์ รมว.ท่องเที่ยวยังจะเป็นประธานใน Networking lunch ร่วมกับผู้บริหาร ททท. ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว สื่อมวลชนต่างประเทศและสื่อมวลชนไทย เพื่อนำเสนอถึงการเดินทางท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ รวมถึงความพร้อม และการผนึกกำลังของหน่วยงานต่าง ๆ ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 8 มีนาคม
ในโอกาสนี้ ททท. ยังได้รับพระกรุณาธิคุณจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเข้าร่วมงาน เพื่อเยี่ยมชมคูหาประเทศไทยและพระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนไทยและต่างประเทศด้วย
“งานปีนี้เราไม่ได้มาแค่ทำการขาย แต่เราส่งสัญญาณด้วย เพราะตั้งแต่ปีที่แล้วผมได้รับสัญญาณสำคัญสองเรื่อง เรื่องหนึ่งคือ คำถามว่า ไทยเราจะทำอย่างไรกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างมหาศาล Mass Tourism และ Overtourism ในปีนี้เรามาแสดงให้เขาเห็นว่า ไม่ใช่แค่รัฐบาลที่เห็นเรื่องนี้ แต่ว่าภาคเอกชนและเครือข่ายก็เห็นด้วย ดังนั้นเราจึงมีกระบวนการชุมชนมาแสดงให้เขาเห็น และเราก็มีรายชื่อจังหวัดต่าง ๆ จังหวัดที่เป็นเมืองรองมาแสดงตัว ทำให้เขารู้ว่าวิธีการจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามายังประเทศไทย เรากำลังบอกเขาว่ามีที่ต่าง ๆ ให้ไปอีกมากมาย” รมว.ท่องเที่ยวกล่าว โดยแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองของไทย 10 จังหวัด ที่มีศักยภาพและตรงกับพฤติกรรมความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวยุโรป ประกอบด้วยเชียงราย แม่ฮ่องสอน สุโขทัย น่าน ตราด จันทบุรี ชุมพร ระนอง ตรัง และนครศรีธรรมราช
นายยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้ภายในคูหาประเทศไทยมีกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับผู้เข้าร่วมงาน เช่น การจัดงาน Thailand Mini Mart โดย ททท. เชิญบริษัทนำเที่ยวที่มีศักยภาพจากตลาดยุโรป (Buyer) เข้าร่วมงาน จำนวน 30 ราย เพื่อพบปะเจรจาธุรกิจท่องเที่ยวกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทย (Sellers) กิจกรรมสาธิตภายใต้แนวคิด “Open to the New Shades of Thailand” นำเสนอเอกลักษณ์อันโดดเด่นด้วยงานหัตถกรรมของชาวปกาเกอะญอ จากชุมชนห้วยตองก๊อ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งผู้เข้าร่วมงานสามารถร่วมกิจกรรมสาธิต การทำกำไล สร้อยคอและต่างหูด้วยลูกเดือย และลูกปัดสี และการปักชื่อบนย่ามผ้า ซึ่งทุกกิจกรรมใช้วัสดุจากธรรมชาติ ผสานภูมิปัญญาชาวบ้าน การแสดงทางวัฒนธรรม การจัดเคาน์เตอร์ให้บริการข้อมูลข่าวสารทางการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ททท. ยังสำรองพื้นที่ขนาด 12 ตารางเมตร ภายใน LGBT Travel Pavilion (Hall 21.b) เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT ซึ่งนับเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพที่มีกำลังซื้อสูง โดยดำเนินการเป็นปีที่ 2 ซึ่งได้ผลการตอบรับและประสบความสำเร็จในระดับดีมาก ในปีที่ผ่านมา
งาน ITB Berlin เป็นงานมหกรรมส่งเสริมการขายทางการท่องเที่ยวที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของโลก จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2509 ซึ่งปีนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 53 โดย ททท. เข้าร่วมงานในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 45 สำหรับ กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย กิจกรรมส่งเสริมการขายการท่องเที่ยว การเจรจาธุรกิจ การสัมมนาเชิงวิชาการในหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น ทิศทางการตลาด การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การพัฒนาด้านเทคโนโลยี ฯลฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 180 ประเทศ
สำหรับสถานการณ์ภาพรวมของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปที่เดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 6,765,326 คน อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.86 เมื่อเทียบกับปี 2560 ตลาดเยอรมันเป็นตลาดหลักอันดับ 3 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยมากที่สุดในภูมิภาคยุโรป รองจากรัสเซีย และ สหราชอาณาจักร
• เกือบ 6 ล้านคน เยอรมนีตลาดใหญ่ “นักท่องเที่ยวคุณภาพสูง” ของไทย
จากข้อมูลเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2562 ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุว่า ปัจจุบันรายได้จากการท่องเที่ยวนั้นคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 20 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เลยทีเดียว โดยนอกเหนือจากนักท่องเที่ยวจีนแล้ว นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปถือว่าเป็นท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญที่เดินทางมายังประเทศไทย โดยจากข้อมูลในปี 2560 พบว่ามีนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยมากถึง 6.3 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจากเยอรมนีราว 837,000 คน
ข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเชิงลึก ปี 2560 โดย ททท. พบว่า จุดหมายสำคัญในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวชาวยุโรปก็คือ กรุงเทพฯ (ร้อยละ 43.47) รองลงไปคือ ภูเก็ต (ร้อยละ 42.55) สุราษฎร์ธานี (ร้อยละ 21.22) เชียงใหม่ (ร้อยละ 17.46) ชลบุรี (ร้อยละ 14.80) โดยข้อมูลจากการสำรวจเห็นได้ชัดว่า นักท่องเที่ยวยุโรปนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวยัง กรุงเทพ สุราษฎร์ธานี และชลบุรีลดลง แต่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวยังภูเก็ตและเชียงใหม่เพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่ารวมในการซื้อสินค้าก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือ สูงถึง 35,366.09 ล้านบาท และมูลค่ารวมในการทำกิจกรรมก็สูงถึง 97,986.40 ล้านบาท
สำหรับนักท่องเที่ยวจากเยอรมนีแล้ว ประเทศไทยถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะไกล (Long-haul) ที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2557 จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี จาก 715,240 คนในปี 2557 เพิ่มเป็น 849,283 คน ในปี 2560 ด้วยจุดแข็งของปัจจัยด้านการท่องเที่ยวของไทยคือ แหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายและปลอดภัย วัฒนธรรมที่น่าดึงดูด โครงสร้างพื้นฐานที่ดี คุณภาพของการบริการที่ดี นอกจากนี้ยังมีเที่ยวบินประจำบินจากเยอรมนีมายังไทยมากถึง 225 เที่ยวต่อสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม เพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงพม่า ก็ถีบตัวขึ้นมาเป็นคู่แข่งในการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน และนักท่องเที่ยวจากภาคพื้นยุโรปภาคอื่น ๆ อย่างน่าจับตามองเช่นกัน โดยในช่วงปี 2559-2560 นักท่องเที่ยวจากเยอรมนีที่เดินทางไปท่องเที่ยวที่อินโดนีเซียเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 12.47 จาก 231,694 คน เป็น 260,586 คน และเวียดนามเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13.55 จาก 176,015 คน เป็น 199,872 คน ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันไทยเติบโตเพียงร้อยละ 1.36 เท่านั้น ส่วนจุดหมายอย่างพม่านั้นแม้ในช่วงหลังจะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ก็ประสบปัญหาด้านภาพลักษณ์จากแก้ไขปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงยา
เมื่อเจาะลึกลงไปถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงชาวเยอรมนี พบว่าจากประชากร 81.2 ล้านคน ชาวเยอรมนีที่มีรายได้มากกว่า 65,000 เหรียญสหรัฐฯ/ปี (หรือมากกว่า 2 ล้านบาท/ปี) มีจำนวนมากถึง 5.92 ล้านคน โดยในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 90 ไม่เคยเดินทางมายังประเทศไทย
จากข้อมูลเชิงลึกของ ททท. พบว่า นักท่องเที่ยวคุณภาพสูงชาวเยอรมนีเหล่านี้มีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับเส้นทางท่องเที่ยวระยะสั้นราว 2,165 เหรียญสหรัฐฯ/ครั้ง (ราว 67,000 บาท) และ ใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในเส้นทางท่องเที่ยวยะยะไกลสูงถึง 4,175 เหรียญสหรัฐฯ/ครั้ง (ราว 130,000 บาท) โดยปัจจัยสำคัญในการเลือกเป้าหมายท่องเที่ยวต่างประเทศของนักท่องเที่ยวเหล่านี้มี 3 ปัจจัยหลักคือ ความเป็นมิตรของคนท้องถิ่น วัฒนธรรมวิถีชีวิตท้องถิ่น และสภาพอากาศ
“ความเป็นมิตรของคนท้องถิ่นเป็นปัจจัยที่นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพสูงชาวเยอรมนีเห็นว่ามีความสำคัญต่อการเลือกจุดหมายท่องเที่ยวต่างประเทศมากที่สุด รองลงมาได้แก่ วัฒนธรรมวิถีท้องถิ่น สภาพอากาศที่เหมาะสมสำหรับการพักผ่อน ความคุ้มค่าเงิน/ความสามารถที่จะจ่าย และอาหาร/เครื่องดื่ม” ททท.ระบุ และชี้ด้วยว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ มากกว่าร้อยละ 79 เดินทางไปต่างประเทศอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง โดยประเทศที่เป็นจุดหมายยอดนิยมในการเดินทางระยะใกล้ ได้แก่ สเปน อิตาลี ออสเตรีย ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ส่วนจุดหมายยอดนิยมระยะไกลได้แก่ สหรัฐอเมริกา ไทย จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย (บาหลี) โดยจุดหมายระยะใกล้ใช้เวลาพำนักเฉลี่ย 8.18 คืน และจุดหมายละยะไกลใช้เวลาพำนักเฉลี่ย 14.14 คืน
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับแนวโน้มพฤติกรรมในการท่องเที่ยวของชาวเยอรมนีที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ ระยะเวลาในการวางแผนและตัดสินใจจองการเดินทางก่อนการท่องเที่ยวนั้นลดลงจากเดิม 6 เดือน เหลือเพียง 5-6 สัปดาห์ก่อนการเดินทางเท่งานั้น โดยพฤติกรรมในการจองตั๋วเครื่องบินและที่พักผ่านระบบออนไลน์ รวมไปถึงการจองนาทีสุดท้าย (Last minute booking) นั้นกำลังเติบโตอย่างสูง และคาดกันว่าในปีหน้า 2563 ช่องทางออนไลน์จะเป็นช่องทางหลักในการจองการเดินทางของชาวเยอรมนี
• “เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี” หวังกระจายแหล่งนักท่องเที่ยว
นายอนุชา ดำรงมณี กรรมการบริการปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงนคร ผู้ดูแลเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เปิดเผยว่ามาออกงาน ITB มาปีนี้เป็นครั้งที่่ 3 แล้ว โดยจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับท้องถิ่นให้สอดคล้องกับแผนงานและนโยบายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
"ไนท์ซาฟารีเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มายังเชียงใหม่ แต่ตอนนี้สัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวจีนสูงถึงร้อยละ 80 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดของไนท์ซาฟารี ขณะที่นักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 10 และคนไทยร้อยละ 10 คนจีนส่วนจะชอบดูเสือ และการแสดงของเสือในไนท์ซาฟารี โดยปัจจุบันไนท์ซาฟารีมีเสือและสิงโตทั้งหมดรวมแล้วสี่สิบกว่าตัว" นายอนุชาระบุ และกล่าวว่าเป้าหมายในปี 2562 หน่วยงานจะต้องเพิ่มรายได้จาก 220 ล้านบาทในปีที่แล้ว ให้เป็น 250 ล้านบาทให้ได้ ขณะที่เป้าหมายในการมาร่วมงาน ITB ปีนี้ก็เพื่อกระจายแหล่งที่มานักท่องเที่ยวให้มีความหลากหลายมากขึ้นจากที่ปัจจุบันพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นหลัก