xs
xsm
sm
md
lg

ล่องใต้ ปั่น 3 ทะเล(1) : สัมผัสเสน่ห์“ทะเลตรัง” อันซีนอุโมงค์ต้นสน-ยลตะวันลับฟ้าแสนงามที่ปากเมง/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)

Facebook Travel Unlimited / เที่ยวถึงไหนถึงกัน
คู่รักนักปั่น บันทึกภาพความทรงจำริมหาดปากเมง
ภาคใต้ ดินแดนด้ามขวานของไทย มีทะเลขนาบใน 2 ฟากฝั่ง

ฝั่งตะวันออกคือทะเลอ่าวไทย ส่วนฝั่งตะวันตกคือทะเลอันดามัน

ทะเลไทยทั้งสองฟากฝั่ง นอกจากจะงดงามเป็นดังสวรรค์ของคนรักทะเลแล้ว ยังมีชื่อเสียงโด่งดังเลื่องลือไกล ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้เดินทางมาสัมผัสในเสน่ห์มนต์ขลังกันอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ที่ภาคใต้ของเรายังมีทะเลสาบที่สำคัญอีก 2 แห่ง ได้แก่ “ทะเลน้อย” และ “ทะเลสาบสงขลา” ที่นอกจากจะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและแหล่งสรรพชีวิตสำคัญแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นของภาคใต้ที่มากไปด้วยเรื่องราวมากมายชวนให้ค้นหา
ปั่นเลาะเลียบทะเลตรัง(อันดามัน หนึ่งในเส้นทางปั่นสามทะเล)
ด้วยความโดดเด่นแห่งท้องทะเลใต้ ทางบริษัท “Octo Cycling” จึงได้จัดทริปพิเศษ “ปั่น 3 ทะเล” ในเส้นทางลัดเลาะเลียบ “อันดามัน ทะเลน้อย และอ่าวไทย” ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง “ตรัง-พัทลุง-สงขลา”(4 วัน 3 คืน) พาไปสัมผัสกับมนต์เสน่ห์แห่งทะเลใต้ในมุมมองที่แตกต่าง ควบคู่ไปกับการแวะกินอาหารอร่อย ๆ ในระหว่างทาง

นับเป็นกิจกรรม ปั่นสนุก กินอร่อย หรอยแรง แห่งแดนสะตอที่น่าสนใจไม่น้อยเลย

กันตัง ปั่นฟิน กินอร่อย
เส้นทางปั่นผ่านสวนยางจากสนามบินตรังสู่กันตัง
สำหรับเส้นทางปั่นในทริปนี้ เราออกตั้งต้นกันที่จังหวัดตรังเมืองคนช่างกิน โดยชาวคณะนักปั่นได้เดินทางเหินฟ้าจากกรุงเทพฯมาถึงยังจังหวัดตรัง(สนามบินตรัง)ในช่วงสายของวัน

ก่อนออกสตาร์ทปั่นจากสนามบินตรังสู่จุดหมายแรก พวกเราเติมพลังเบา ๆ กันด้วยติ่มซำชุดเล็กที่ทางสตาฟฟ์จัดเตรียมไว้ให้ นำโดย หมูย่างเมืองตรัง เค้กเมืองตรัง(เค้กมีรู) และขนมเปี๊ยะซอย 9 ของกินขึ้นชื่อของตรัง ร่วมด้วยของกินอื่น ๆ อีกพอหอมปากหอมคอ(แต่อิ่มใช่เล่น ) เพราะเรามีเป้าหมายจัดหนักกับมื้อเที่ยงที่ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

จากนั้นพวกเราวอร์มร่างกายและตรวจตราสภาพจักรยานคู่ใจกันอีกที ครั้นเมื่อคนพร้อม จักรยานพร้อม พวกเราชาวคณะก็ออกปั่นตามผู้นำเรียงเป็นแถวยาวสู่“อำเภอกันตัง” จุดหมายแรกและไฮไลท์แรกของเราในทริปนี้(เส้นทางสนามบินตรัง-กันตัง)
ท่าเรือกันตังมีประภาคารริมน้ำตั้งโดดเด่น
อ.กันตัง นอกจากจะเป็นเมืองท่าสำคัญในอดีตแห่งฝั่งทะเลอันดามันแล้ว ยังเป็นแหล่งปลูกยางพาราแห่งแรกของเมืองไทย โดยในปี พ.ศ. 2442 “พระสถลสถานพิทักษ์”(คออยู่เกียด ณ ระนอง) หลานของ“พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี”(คอซิมบี้ ณ ระนอง) ได้นำกล้ายางพาราจากประเทศอินโดนีเซียมาปลูกในเมืองไทยได้สำเร็จเป็นแห่งแรกที่อำเภอกันตัง (ตามดำริของพระยารัษฎาฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรังอยู่ในขณะนั้น)

ปัจจุบันยางพารารุ่นนั้นหลงเหลืออยู่เพียงต้นเดียว เป็นต้นยางพาราที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย ยืนต้นตระหง่านโดดเด่นอยู่ริมถนนตรังคภูมิ ต.กันตัง อ.กันตัง ซึ่งเป็นจุดสนใจแรกของผมกับชาวคณะ ก่อนจะไปแวะถ่ายรูปเช็คอินกันที่อนุสาวรีย์พะยูนและประภาคารกันตังบริเวณท่าเรือกันตัง
บรรยากาศร้านล่อคุ้ง
ต่อจากนั้นปั่นไปอีกนิดเดียวก็มาถึงยัง“ร้านล่อคุ้ง” ร้านอาหารชื่อดังของ อ.กันตัง ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของราดหน้าจานยักษ์ หรือ“ราดหน้าซุปเปอร์” เป็นราดหน้าทะเลที่จัดเสิร์ฟมาแบบจานใหญ่ยักษ์ อัดแน่นจัดเต็มไปด้วยกุ้งตัวโตสดใหม่เนื้อเด้ง หมึกเนื้อนุ่ม ลูกชิ้นปลาสูตรเฉพาะของทางร้าน และกระเพาะปลาเคี้ยวกรุบกรอบ ส่วนน้ำราดหน้าของที่นี่ก็อร่อยเข้มข้นไม่เหมือนใคร อร่อยกลมกล่อมแบบไม่ต้องปรุง
ราดหน้าซุปเปอร์ที่เสิร์ฟมาแบบจัดเต็ม
นอกจากราดหน้าที่ถือเป็นเมนูซิกเนเจอร์ต้องห้ามพลาดของที่นี่แล้ว ร้านล่อคุ้งยังมีเมนูอร่อย ๆ ชวนลิ้มลองอีกหลากหลาย อาทิ กุ้งสามรส ยำปูนิ่ม ฮกเกี้ยนทะเล เต้าหู้ฮ่องเต้ หอยจ๊อ ยำเกี๊ยวปลา เป็นต้น

นี่แหละคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมกับเพื่อน ๆ ต้องเก็บท้องในมื้อเช้าเพื่อมาจัดเต็มกับมื้อเที่ยง เพราะแต่ละอย่างอร่อยทั้งนั้น ส่วนเรื่องน้ำหนักเพิ่มนั้นขอไปเบิร์นออกตอนปั่นจักรยานแล้วกัน

ปั่นเที่ยวกันตัง
ปั่นซอกแซกผ่านสตรีทอาร์ตเมืองกันตัง
หลังใช้ร้านล่อคุ้งเป็นฐานที่มั่นเติมพลังมื้อเที่ยงกันแบบจัดหนักกันแล้ว ช่วงบ่ายพออาหารเริ่มย่อย เราก็ออกปั่นตะลุยกันตังผ่านมุมสตรีทอาร์ทเล็ก ๆ เก๋ ๆ ในตัวเมืองมุ่งหน้าสู่ “พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี” ที่ตั้งอยู่ในสวนร่มรื่นบริเวณด้านหลังของเทศบาลกันตัง

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี หรือ คอซิมบี้ ณ ระนอง ท่านเป็นผู้มีคุณงามความดีใหญ่หลวงต่อภาคใต้ของเราโดยเฉพาะที่จังหวัดตรัง

นอกจากพระยารัษฎาฯจะสร้างความเจริญต่าง ๆ ให้กับภาคใต้แล้ว ท่านยังได้พัฒนาและส่งเสริมกิจการการปลูกยางพาราในบ้านเราจนได้รับการยกย่องให้เป็น“บิดาแห่งยางพารา
แวะเที่ยวพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ
ด้วยคุณงามความดีของท่านที่มีมากมายหลายด้านโดยเฉพาะต่อเมืองตรัง ทางจังหวัดตรังจึงสร้างอนุสาวรีย์ “พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี(คอซิมบี้ ณ ระนอง)” ไว้ที่สวนสาธารณะใจกลางเมืองตรัง เพื่อเชิดชูเกียรติของท่าน

ขณะที่ในอำเภอกันตังก็ได้มีการปรับปรุงจวนเจ้าเมืองตรังหลังเก่า จัดทำเป็น “พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี” โดยยังคงไว้ซึ่งลักษณะเดิมเหมือนเมื่อครั้งที่พระยารัษฎาฯยังมีชีวิตอยู่
พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ ชั้นล่าง
พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ เป็นเรือนไม้ทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น ภายในมีรูปหุ่นขี้ผึ้งพระยารัษฎาฯขนาดเท่าตัวจริง นอกจากนี้ในพิพิธภัณฑ์ยังได้แบ่งเป็นห้องต่างๆ เช่น ห้องโถง ห้องทำงาน ห้องนอน และยังได้จัดแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของท่านอย่างครบถ้วน

อย่างไรก็ดี...เป็นที่น่าเสียดายว่าวันนี้พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯดูทรุดโทรมอยู่พอตัว ยังไงก็ขอฝากทางจังหวัดตรังและผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลปรับปรุงสภาพของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้ดีขึ้นกว่านี้หน่อยเถอะ เพื่อจะได้เป็นอีกหนึ่งสิ่งเชิดหน้าชูตาของจังหวัดตรัง
สถานีรถไฟกันตัง สถานีสุดท้ายแห่งอันดามัน
หลังเที่ยวชมของดี(ที่น่าเสียดาย)ภายในพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯกันจนสมควรแก่เวลาแล้ว พวกเราก็ออกปั่นต่อไปยัง“สถานีรถไฟกันตัง” ที่ถือเป็นแลนด์มาร์คและไฮไลท์สำคัญของ อ.กันตัง

สถานีรถไฟกันตัง เป็นสถานีรถไฟสถานีสุดท้ายบนเส้นทางรถไฟสายอันดามัน สถานีรถไฟแห่งนี้ถูกยกให้เป็นสถานีรถไฟที่สวยงามคลาสสิกติดอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ซึ่งมาพร้อมกับฉายา“กันตัง สถานีสุดท้ายแห่งอันดามัน
บรรยากาศสวยงามคลาสสิกของสถานีรถไฟกันตัง
สถานีรถไฟกันตัง เริ่มเปิดใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2456 ในสมัยที่กันตังยังเป็นเมืองท่าสำคัญ และเป็นจุดรับ-ส่งสินค้ากับต่างประเทศที่บริเวณท่าเรือกันตัง

ปัจจุบันแม้วันเวลาจะผ่านมากว่า 100 ปีแล้ว แต่สถานีรถไฟกันตังก็ยังคงตั้งตระหง่านโดดเด่นชวนมองอยู่ไม่เสื่อมคลาย โดยตัวสถานีเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทรงปั้นหยา ทาสีเหลืองมัสตาร์ดสลับน้ำตาล ตัวอาคารแบ่งเป็น 2 ส่วน ด้านหน้ามีมุขยื่นตกแต่งมุมเสาด้วยลวดลายไม้ฉลุอันสวยงาม ดูให้บรรยากาศคลาสสิกเป็นอย่างยิ่ง
ร้านกาแฟสถานีรัก
นอกจากนี้ที่บริเวณสถานีกันตังยังมีร้านกาแฟ “สถานีรัก” เป็นอีกหนึ่งจุดพักกายพักใจที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

สถานีรัก เป็นร้านที่มีบรรยากาศกิ๊บเก๋อวลไออดีตของสถานีกันตัง ร้านนี้นอกจากจะมีชา กาแฟ และเครื่องดื่มอีกหลากหลาย นำโดยเมนูไฮไลท์น้ำมะม่วงเบา และน้ำส้มมะปี๊ดน้ำผึ้งแล้ว ก็ยังมีจักรยานให้เช่าปั่นเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียง นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการท่องเที่ยวที่น่าสนใจไม่น้อยเลย

อุโมงค์ต้นยาง-อุโมงค์ต้นสน
ปั่นเที่ยวอุโมงค์ต้นยาง ตรงข้ามมัสยิดบ้านน้ำราบ
ช่วงบ่ายแก่ ๆ เราอำลากันตัง อำเภอเล็ก ๆ ที่น่ารัก ออกปั่นต่อสู่ “หาดปากเมง” ที่พักค้างในค่ำคืนแรกของเรา

เส้นทางจากกันตังสู่หาดปากเมง นอกจากจะเป็นเส้นทางที่สวยงามแล้ว ยังมีจุดให้แวะถ่ายรูปเช็คอินระหว่างทางกันหลายจุดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น เส้นทางปั่นผ่านหมู่บ้าน ผ่านทุ่งนา ผ่านสวนมะพร้าว ผ่านสวนยางที่หลายจุดมีลักษณะเป็นอุโมงค์ต้นยางอันงดงาม นำโดยอุโมงค์ต้นยางตรงข้ามมัสยิดบ้านน้ำราบ ต.บางสัก อ.กันตัง
กลุ่มแนวต้นสนโบราณริมทะเลในเส้นทางหาดฉางหลาง-หาดเจ้าไหม-หาดปากเมง
นอกจากนี้ก็ยังมีหนึ่งในไฮไลท์ประจำทริปนั่นก็คือ เส้นทางปั่นเลาะเลียบทะเลตรัง จาก“หาดฉางหลาง”สู่“หาดเจ้าไหม” ก่อนนำส่งต่อไปยัง“หาดปากเมง”จุดหมายหลักของเราในเย็นย่ำของวันแรกนี้

เส้นทางฉางหลาง-เจ้าไหม-ปากเมง มีระยะทางร่วม 10 กม. เป็นเส้นทางเลาะเลียบทะเลอันร่มรื่น โดยเส้นทางช่วงฉางหลาง-เจ้าไหมนั้น ระหว่างทางปกคลุมไปด้วยแมกไม้น้อยใหญ่ โดยเฉพาะ“ต้นสนใหญ่”จำนวนมาก หลายต้นเป็นสนโบราณมีอายุกว่า 100 ปี ยืนต้นสูงใหญ่แผ่สยายกิ่งใบร่มรื่นเขียวครึ้ม
อุโมงค์ต้นสน อันซีนริมทะเลตรัง
โดยบางช่วงบางตอนของที่นี่มีต้นสนสูงใหญ่ยืนต้นตระหง่านเรียงรายในสองข้างทาง พร้อมกับแผ่สยายกิ่งก้านใบปกคลุม จนมีลักษณะเป็นดัง“อุโมงค์ต้นสน”อันร่มรื่นสวยงามเป็นทางยาวนับกิโล ให้ผู้ผ่านทางนิยมแวะลงมาถ่ายรูปถนนอุโมงค์ต้นสนแห่งนี้กันเป็นจำนวนมาก นับเป็นอันซีนริมทะเลตรังที่ดูทรงเสน่ห์เป็นอย่างยิ่ง

แต่ยังไง...เวลาลงถ่ายรูปก็ขอให้จอดรถแนบชิดริมถนนให้ดี ไม่แหลมยื่นเจ้าไปกีดขวางการสัญจร อีกทั้งเวลาเดินหามุมถ่ายรูปก็ต้องระมัดระวังรถราที่วิ่งไป-มา อย่ามัวแต่ชื่นชมความสวยงามของอุโมงค์ต้นสนเพลินจนละเลยความปลอดภัยไป เพราะผลเสียที่ได้มันจะไม่คุ้มกัน

ตะวันลับฟ้า หน้าหาดปากเมง
ปั่นเลียบทะเลสู่หาดปากเมง มองเห็นเขาเมงตั้งตระหง่าน
จากช่วงถนนเขตแนวกลุ่มต้นสนใหญ่ เมื่อปั่นต่อไปผ่านหาดเจ้าไหมสู่หาดปากเมง ช่วงนี้จะเป็นถนนริมทะเลที่วิวเปิดโล่งสวยงาม ผมมองเห็น“เขาเมง” ตั้งตระหง่านอยู่ไม่ไกล นี่ถือเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการปั่นในวันแรก(วันแรกปั่นประมาณ 65 กม.)

ต่อจากนั้นเราปั่นเข้าที่พัก(ปากเมงรีสอร์ท)ในช่วงเย็นของวัน เพื่อไปเก็บของ อาบน้ำอาบท่า แล้วปั่นเบา ๆ ออกมาชมพระอาทิตย์ตกที่บริเวณหาดปากเมงแห่งท้องทะเลตรัง ที่เป็นส่วนหนึ่งของทะเลอันดามัน ทะเลแรกของเราในทริปนี้(3 ทะเล)
หาดปากเมง ประตูสู่ทะเลตรัง
ทะเลตรังเป็นทะเลที่ยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่มาก มีความสงบสวยงาม และมีเกาะท่องเที่ยวน้อยใหญ่ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่ง สามารถนั่งเรือไปไม่นาน ทำให้สามารถเที่ยวได้ทั้งแบบวันเดย์ทริป(One Day Trip)ได้อย่างสบาย

ทะเลตรังมี“หาดปากเมง” อ.สิเกา เป็นดัง“ประตูสู่ทะเลตรัง” เพราะที่นี่เป็นที่ตั้งของท่าเรือปากเมงที่จะพาออกทะเลตรังสู่เกาะท่องเที่ยวต่าง ๆ นำโดยไฮไลท์คือ ถ้ำมรกต(เกาะมุก) เกาะกระดาน ร่วมด้วย เกาะแหวน เกาะม้า เกาะเชือก เป็นต้น(มีทริป วันเดียวเที่ยว 4 เกาะ ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก)

สำหรับหาดปากเมงนั้น มีลักษณะชายหาดเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว ยาวประมาณ 5 กิโลเมตร มีสัญลักษณ์ประจำหาดคือ “เขาเมง” ที่ตั้งตระหง่าน ขณะที่บริเวณริมหาดนั้นมีร้านอาหารทะเลจำนวนหนึ่งให้เลือกลองลิ้มชิมรสชาติความอร่อยกัน
บรรยากาศยามเย็นริมหาดปากเมง
นอกจากนี้หาดปากเมงยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ลับฟ้าอันงดงาม ท่ามกลางองค์ประกอบของเขาเมง และ“เกาะปลิง” เกาะลูกเล็ก ๆ กลางทะเล โดยมีแนวขุนเขาทอดยาวเป็นฉากหลัง ซึ่งในบางวันหากโชคดี นอกจากจะได้เห็นพระอาทิตย์ลูกกลมโตตกทะเลหรือลับเหลี่ยม(แล้วแต่ฤดูกาล) เรายังได้เห็นภาพวิถีชีวิตชาวบ้านออกมาเดินหาหอยในทะเล นับเป็นเสน่ห์ของภาพชีวิตริมหาดปากเมง อีกหนึ่งทะเลงามแห่งท้องทะเลอันดามันที่ที่สำหรับผมแล้ว ไม่ว่าจะไปซ้ำกี่ทีก็ไม่มีเบื่อ
ภาพวิถีชีวิตชาวบ้านหาหอยที่หาดปากเมง
แถมล่าสุดการไปเที่ยวทะเลตรังซ้ำอีกครั้งผ่านรูปแบบของการปั่นจักรยาน มันเป็นอีกหนึ่งการเปิดมุมมองใหม่ให้รู้ว่า เมืองไทยก็ยังมีมุมสวย ๆ งาม ๆ มุมน่าสนใจ ที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์แอบแฝงซ่อนจากเส้นทางหลักอยู่อีกมากมาย ซึ่งมุมต่างเหล่านี้ล้วนต่างช่วยขับเน้นเรื่องราวระหว่างทางให้ชวนเพลิดเพลินและน่าตื่นตาตื่นใจมากยิ่งขึ้น

รวมถึงยังเป็นอีกหนึ่งบทบันทึกแห่งความทรงจำ ที่ทำให้ผมพบว่า ในหลายต่อหลายครั้งของการเดินทาง เรื่องราวระหว่างนั้นมีเสน่ห์สวยงามไม่ต่างไปจากจุดหมายปลายทางแต่อย่างใด...(อ่านต่อตอนหน้า)
บรรยากาศตะวันลับฟ้าบริเวณหาดปากเมง
....................................................................................................

Octo Cycling เป็นบริษัทที่มุ่งเชิญชวนผู้ชื่นชอบการปั่นจักรยานออกไปผจญโลกกว้างด้วยการปั่นจักรยานท่องเที่ยวสัมผัสกับสถานที่ต่างๆ ทั้งใน กทม. ในเมืองไทย อาเซียน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เอเชีย และยุโรป เป็นต้น ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2181-2088 หรือที่ www. Octocycling.com หรือ www.facebook.com/octocycling
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น