xs
xsm
sm
md
lg

รักเลย หลงเลย “ภูค้อ”...ทะเลหมอกมีชีวิต ภาพอิมเพรสชั่นนิสม์กลางผืนไพร/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)

Facebook Travel Unlimited / เที่ยวถึงไหนถึงกัน
ทะเลหมอกมีชีวิต ภาพอิมเพรสชั่นนิสม์กลางผืนไพร แห่งภูค้อ จ.เลย
แต๊กๆๆๆๆๆ...

ภูบ่สูง แต่ว่าทางมันเสียว...แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับ“รถอีแต๊ก” ผู้ทรงสมรรถภาพในปฐพี เพราะสามารถลุยไปได้เกือบแทบทุกสภาพถนน ซึ่งตอนนี้มันกำลังพาผมกับเพื่อน ๆ นั่งหัวสั่นหัวคลอนกระดอนกระเด้ง ไต่ขึ้นไปบนเส้นทางลดเลี้ยวเคี้ยวโค้ง จากบ้านบุ่งมุ่งหน้าสู่ยอด“ภูค้อ” ที่มองเห็นเบื้องหน้าแบบใกล้ตา...แต่ไกลตีน

ภูบ่อสูง แต่ว่าวิวมันสวย...ภูค้อ เป็นแหล่งท่องเที่ยวน้องใหม่มาแรงของจังหวัดเลย ที่ไม่น่าเชื่อว่าบนภูบ่สูงแห่งนี้ นอกจากจะเป็นจุดชมวิวชั้นดีแล้ว ที่นี่ยังเป็นจุดชมทะเลหมอกอันงดงามอลังการ ควบคู่ไปกับบรรยากาศแค้มป์ปิ้งค้างแรมกลางป่าอันน่ารื่นรมย์ และน่าประทับใจกระไรปานนั้น
ชมทะเลหมอกยามเช้า ที่ จุดที่ 3 ภูค้อ
รู้จักภูค้อ

ภูค้อ ตั้งชื่อตาม“ต้นค้อ”(ชนิดเดียวกับต้นค้อที่เขาค้อ)ไม้ท้องถิ่นที่ในอดีตมีอยู่มากในสถานที่แห่งนี้

นอกจากนี้ชาวบ้านในพื้นที่ยังนิยมเรียกภูค้อในอีกชื่อหนึ่งว่า “ภูเป้ง” ตามชื่อของ “ต้นเป้ง” ปาล์มท้องถิ่นตระกูลอินทผลัม ที่ในอดีตก็มีขึ้นอยู่มากบนผืนป่าแห่งนี้เช่นกัน
ทะเลหมอกภูค้อ ความงดงามแห่งผืนพงไพร
ในอดีตภูค้อเคยมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมเนื่องจากการทำไร่เลื่อนลอย ทำให้ต่อมาจึงมีการประกาศให้ผืนป่าแห่งนี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ก่อนจะปรับเปลี่ยนเป็นป่าชุมชนดังในปัจจุบัน เพื่อให้ชาวบ้านร่วมกับภาครัฐช่วยกันดูแล(ตามข้อกำหนด กฎ กติกา ที่ตกลงร่วมกัน) โดยมีการกำหนดขอบเขตผืนป่าแห่งนี้ไว้อย่างชัดเจน เพื่อกันไม่ให้ใครมาแอบบุกรุกเพิ่มเติม(อีก)

นั่นก็ทำให้สภาพผืนป่าภูค้อที่เคยเสื่อมโทรม ค่อย ๆ พลิกฟื้นขึ้นมาเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ร่มรื่นเขียวครึ้ม
ป่าชุมชนภูค้อ
ปัจจุบันภูค้อ เป็นส่วนหนึ่งของป่าชุมชนบ้านบุ่ง บ้านโป่งกูด และบ้านห้วยนาสี ต.นาแห้ว อ.นาแห้ว จ.เลย ซึ่งหลาย ๆ คนนิยมเรียกรวมกันว่า “ป่าชุมชนภูค้อ”

ป่าชุมชนแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 7 พันไร่ นอกจากจะให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์พื้นฐาน คือ หาของป่าอาหารตามฤดูกาล อย่างเช่น เห็ด หน่อไม้ สมุนไพรแล้ว ยังมีการจัดสรรพื้นที่บางส่วนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง

บ้านบุ่ง-จุดที่ 3 ภูค้อ
ทิวทัศน์ระหว่างทาง จาก ต.นาแห้ว สู่ยอดภูค้อ
การขึ้นยอดภูค้อของผมกับคณะ(ในทริปนี้) พวกเราตั้งต้นกันที่“บ้านบุ่ง” ต.นาแห้ว อ.นาแห้ว

หลังนัดหมายจากกลุ่มชาวบ้านผู้ดำเนินการท่องเที่ยวชุมชนบนยอดภูค้อแล้ว พวกเราก็มาอาบน้ำอาบท่า(ในหมู่บ้าน)จัดเตรียมสัมภาระที่จะนำขึ้นไปค้างคืนบนยอดภูค้อในค่ำคืนนี้

ก่อนขึ้นภู มีเสียงกระซิบดัง ๆ จากชาวบ้านเตือนมาว่า บนนั้นหนาวเอาเรื่อง เพราะฉะนั้นพวกเครื่องกันหนาวต่าง ๆ ควรเตรียมไปให้พร้อม รวมไปถึงเครื่องดื่มกันหนาวที่ต่อให้จะหนาวแค่ไหน ผมก็บ่ยั่นหากได้พกมันติดตัวขึ้นไป
บ้านบุ่ง จุดตั้งต้นนั่ง่อีแต๊กขึ้นสู่ยอดภูค้อ
เมื่อจัดแจงเสื้อผ้า สัมภาระ เสบียงกรังต่าง ๆ พร้อมเสร็จสรรพ ชาวบ้านที่นี่ก็นำ “รถอีแต๊ก” คันเก่งมารับชาวคณะเรา ก่อนจะค่อย ๆ วิ่งแบบสโลว์ไลฟ์ไปแบบเนิบ ๆ แต่มั่นคง มุ่งหน้าสู่ยอดภูค้ออย่างไม่รอรี พร้อมกับส่งเสียงซาวนด์ประกอบ แต๊ก ๆ ๆ ๆ ไปตลอดทาง

ยอดภูค้อมีความสูงประมาณ 855 เมตร จากระดับน้ำทะเล (อ้างอิงข้อมูลจากชาวบ้านกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนที่นำคณะเราขึ้นไป) บนนั้นมีอยู่ 3 จุดหลัก ๆ ด้วยกัน นำโดย“จุดที่ 3 ภูค้อ” ซึ่งเป็นจุดหมายหลักที่พวกเราจะขึ้นไปปักหลักพักค้างกันในค่ำคืนนี้
ทออผ้า อีกหนึ่งภาพชีวิตของชาวบ้านบุ่ง
สำหรับเส้นทางจากบ้านบุ่งสู่ จุดที่ 3 บนยอดภูค้อนั้น มีระยะทางประมาณ 4.5 กม. ใช้เวลานั่งรถอีแต๊กประมาณ 45 นาที - 1 ชั่วโมง (กรณีที่มีแวะถ่ายรูประหว่างทางอาจนานกว่านั้น)

เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางที่ค่อนข้างสมบุกสมบันพอตัว โดยมีทางถนนลาดยางแค่เพียงช่วงแรก ๆ ส่วนที่เหลือเป็นทางลูกรังขึ้นเขาชัน แต่ว่าระหว่างทางนั้นก็มีวิวทิวทัศน์อันสวยงามของทิวเขากว้างไกลให้ชมกันอย่างเพลินตา เพลินใจ (แต่น่าเสียดายที่มันเป็นป่าเขาหัวโล้นเยอะไปหน่อย)
เส้นทางวิบาก นั่งอีแต๊กขึ้นยอดภูค้อ
นอกจากนี้ หลายต่อหลายครั้งบนเส้นทางสายนี้ ผู้ที่นั่งอีแต๊กขึ้นภูมาดูวิวในยามเช้าตรู่ มักประสบโชคดี ได้พบกับทะเลหมอกขาวโพลนสวยงามลอยละล่องอยู่เบื้องล่าง เปรียบปานประหนึ่งกำลังนั่งอีแต๊กวิ่งเหินอยู่เหนือบนยอดเมฆหมอกดูน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย

ทะเลหมอกมีชีวิต
ระเบียงชมวิว ณ จุดที่ 3 ภูค้อ
หลังนั่งอีแต๊ก พร้อมทำสปาก้นไปในตัว เราก็ขึ้นมาถึงยังจุดหมาย จุดชมวิว “จุดที่ 3 ภูค้อ” ที่วันนี้มีการปรับปรุงพื้นที่ชมวิว ดูทะเลหมอกยามเช้า ดูดาวยามค่ำคืน มีระเบียงชมวิวริมเขาที่เมื่อมองลงไปจะเห็นวิวทิวทัศน์ของ 2 ประเทศ ฝั่งไทย(ตต.)เป็น อ.นาแห้ว ด่านซ้าย จ.เลย ส่วนฝั่งลาว(ตอ.)เป็นเมืองแก่นท้าว แขวงไชยบุรี โดยมีแม่น้ำเหืองไหลเป็นแนวพรมแดนกั้นระหว่างประเทศเพื่อนบ้านทั้งสอง
นอนเต็นท์กลางป่าไพร
นอกจากนี้บนจุดที่ 3 ภูค้อ ยังเป็นสถานที่กางเต็นท์ ค้างแรม แคมป์ปิ้ง ท่ามกลางบรรยากาศแห่งป่าไพร กิน ดื่ม นอน ใต้แสงเงาจันทรา ดวงดาราดารดาษ ร่วมด้วยเสียง สายลม จั๊กจั่น หรีด เรไร สรรพสัตว์ยามราตรี ที่เป็นดังวงออร์เคสตร้าแห่งขุนเขาบรรเลงขับกล่อม ให้พวกเรามุดเต็นท์เข้านอนหลับฝันดี ทิ้งราตรีอันยาวไกลให้มันผ่านพ้นไปเพียงชั่วข้ามคืนหลับนิทราฝัน
ชมทะเลหมอกภูค้อ
เช้าวันใหม่...ปกติหากอยู่กรุงเทพฯ ผมเป็นคนตื่นสายถึงตื่นสายมาก แต่สำหรับเช้าวันนี้บนยอดภูค้อ ผมตื่นแต่เช้ามืด ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ได้ยินเสียงไก่ขันจากหมู่บ้านในหุบเขาเบื้องล่างแว่วมาแต่ไกล

ต่อจากนั้นผมมุดเต็นท์ออกมายืนบิดขี้เกียจ 2-3 ท่า พร้อมกับคว้ากล้องคู่ใจเดินไปยังระเบียงไม้ชมวิว ที่อยู่ห่างจากจุดกางเต็นท์ไปไม่กี่สิบเก้า
อรุณเบิกฟ้า เมื่อมองจากจุดที่ 3 ภูค้อ
สำหรับเช้าวันนี้ถือว่าฟ้าเป็นใจ เพราะเมื่อมองจากระเบียงชมวิวลงไปเบื้องล่าง เห็นทะเลหมอกเป็นสายยาวลอยอยู่ในร่องหุบเบื้องล่าง ท่ามกลางฉากหลังของขุนเขาน้อยใหญ่ พร้อมกับแสงสียามเช้าที่ค่อย ๆ เปลี่ยนโทนจากน้ำเงินเข้ม สู่ฟ้าอมม่วงกลายเป็นส้มแดงที่เรื่อเรืองขึ้นเรื่อย ๆ
ทะเลหมอกภูค้อ
ต่อจากนั้นดวงตะวันกลมแดงได้ค่อย ๆ ลอยพ้นเหลี่ยมเขาขึ้นมา ท่ามกลางทะเลหมอกอลังการกว้างไกล ที่ลอยไหลอยู่ท่ามกลางองค์ประกอบของขุนเขาน้อยใหญ่
ภาพเนินเขาและต้นไม้ที่แปรเปลี่ยนไปตามสายหมอกที่ลอยพลิ้ว
ขณะสิ่งที่เป็นมนต์เสน่ห์อันโดดเด่นของที่นี่ก็คือ ทะเลหมอกที่นี่ลอยสูงจากพื้นดินขึ้นมาไม่มาก(เนื่องจากมีแม่น้ำเหืองอยู่ไม่ไกล และผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์) ทำให้ตามเนินน้อยใหญ่ที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่เป็นจังหวะจะโคนในเบื้องล่าง มักจะถูกกระแสลมพัดปะทะวูบไหว หอบกระแสหมอกให้ลอยไหลเปลี่ยนรูปร่างไป-มา ทำให้เหล่าต้นไม้ เนินเขา บึงน้ำ เสาสัญญาณ หรือสิ่งที่เป็นวัตถุเบื้องล่าง บัดเดี๋ยวปรากกฎกายมาเห็น บัดเดี๋ยวก็หายกลืนเข้าไปในม่านหมอก ดูเหมือนมันมีชีวิต จนหลายคนยกให้เป็นดัง “ทะเลหมอกมีชีวิต
เดียวดายในม่านหมอก
นอกจากนี้บางครั้งในม่านหมอก ผมมองเห็นเป็นภาพเงาเลือนรางฟุ้งฝัน ดูประหนึ่งดังฝีแปรงที่เกิดจากการตวัดพู่กันของ “โคล้ด โมเน่ต์”* ที่บรรจงสร้างสรรค์เกิดเป็น“ภาพอิมเพรสชั่นนิสม์”กลางผืนไพรขึ้นมาดูสวยงามน่าประทับใจยิ่งนัก

นับได้ว่าการมาเที่ยว อ.นาแห้ว ของผมในทริปนี้นอกจะไม่แห้วกลับไปแล้ว เรายังได้สัมผัสกับบรรยากาศและภาพความความงดงามของทะเลหมอกภูค้อ ชนิดที่ทำให้ผมเกิดความรู้สึก...รักเลย หลงเลย “ภูค้อ” ดินแดนแห่งทะเลหมอกมีชีวิต กับภาพอิมเพรสชั่นนิสม์กลางผืนไพร ที่ชวนให้ต้องตาตรึงใจกระไรปานนั้น

.....................................................................................................
ระเบียงชมวิว จุดที่ 3 ภูค้อ
ภูค้อ เป็นส่วนหนึ่งของป่าชุมชนบ้านบุ่ง บ้านโป่งกูด และบ้านห้วยนาสี หรือ “ป่าชุมชนภูค้อ” ต.นาแห้ว อ.นาแห้ว จ.เลย

ยอดภูค้อ สูงประมาณ 855 เมตรจากระดับน้ำทะเล ห่างจากบ้านบุ่ง ประมาณ 4.5 กม. ห่างจากที่ทำการเทศบาลตำบลนาแห้วประมาณ 5 กม.

การเดินทางให้นักท่องเที่ยวนำรถมาจอดไว้ที่เทศบาลตำบลนาแห้ว หรือ บ้านบุ่ง ต่อจากนั้นให้ใช้บริการนั่งรถอีแต๊กชุมชนขึ้นสู่ยอดภูค้อ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกขึ้นไปเที่ยวยอดภูค้อได้ทั้งการนั่งอีแต๊กไป-กลับ ในคราวเดียว หรือขึ้นไปพักค้างแรม กางเต็นท์ ในบรรยากาศแคมป์ปิ้ง บนนั้น 1 คืน ซึ่งมีอยู่ 3 จุดหลักด้วยกัน โดยบริเวณ “จุดที่ 3 ภูค้อ)มีห้องส้วมให้เข้าสำหรับหนัก-เบา แต่ไม่มีห้องน้ำให้อาบน้ำ นักท่องเที่ยวต้องอาบน้ำที่หมู่บ้านบุ่งหรือที่เทศบาลข้างล่าง ก่อนขึ้นภูในช่วงเย็น และหลังจากภูในช่วงเช้า
กางเต็นท์นอนบริเวณจุดที่ 3 ภูค้อ
สำหรับสนนราคาค่าบริการในการเที่ยวภูค้อมีดังนี้ ค่าบริการรถอีแต๊ก ไป-กลับ คนละ 100 บาท นั่งได้ไม่เกิน 5 คน( หรือเหมาจ่ายคันละ 500 บาท/คัน, คนขับที่นอนค้างบนยอดภู(+ช่วยก่อไฟ ทำอาหาร กางเต็นท์) 100 บาท, เต็นท์เปล่า 100 บาท/หลัง, เต็นท์+เครื่องนอน 200 บาท/หลัง บริเวณจุดที่ 3 ภูค้อ จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวค้างบนยอดภูค้อ ไม่เกิน 30 คน/คืน โดยนักท่องเที่ยวสามารถเลือกพักค้างโฮมสเตย์ทีบ้านบุ่งหรือชุมชนอื่นที่อยู่ด้านล่างได้

บนภูค้อนักท่องเที่ยวสามารถนำอาหารขึ้นไปทำเองได้ แต่ขอแนะนำให้ใช้บริการอาหารจากชุมชน เพื่อความสะดวกและช่วยกระจายรายได้ โดยราคาค่าบริการอาหารนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณคน จำนวนเมนู และเมนูที่สั่ง
มื้อเช้าหนัก ๆ กับข้าวจี่สูตรบ้านบุ่ง
สำหรับเมนูพื้นบ้านที่เด่นของที่นี่ที่สามารถสั่งให้ไปทำบริการบนจุดค้างแรมได้นั้นก็อย่างเช่น หลามไก่ หลามไหล(ปลาไหล) ปลาย่าง ส้มตำ แจ่วดำ แจ่วสะทอน กุ้งหมกใบตอง อั่วปูหิน ส่วนตอนเช้าจะมีข้าวจี่และข้ามต้มร้อน ๆ ไว้บริการ

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ “กลุ่มวิสาหกิจส่งเสริมการท่องเที่ยวและโฮมสเตย์ป่าชุมชนยอดภูค้อ” ประธานกลุ่มฯ นายทรงศักดิ์ จันทร์สาลี (อดีตกำนัน ต.นาแห้ว) โทร. 08-9993-2285, นายสุรชัย จันทะคุณ ผู้ใหญ่บ้านห้วยนาสี โทร. 06-4693-9785

และสามารถสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวใน จ.เลย เชื่อมโยงกับภูค้อ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานเลย (รับผิดชอบพื้นที่ เลย,หนองบัวลำภู) โทร. .0-4281-2812 , 0-4281-1405
หมายเหตุ * โคล้ด โมเน่ต์(Claude Monet) เป็นหนึ่งในจิตรกรชาวฝรั่งเศสชื่อก้องโลก ผู้บุกเบิกภาพเขียนแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionis) ซึ่งเป็นการวาดภาพจากความประทับใจในสิ่งที่เห็นของตัวจิตรกรเอง โดยคำว่า “Impressionism” มาจากชื่อภาพ“Impression, Sunrise” (ความประทับใจของพระอาทิตย์ขึ้น) ซึ่งโมเน่ต์ได้เขียนขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1872-1873
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น