xs
xsm
sm
md
lg

“สวัสดีปีหมู” ตามรอยหมูทั่วกรุงเทพฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
อนุสาวรีย์หมู หรืออนุสาวรีย์สหชาติ
ขอกล่าวคำว่า “สวัสดีปีหมู” แก่ทุกๆ ท่าน พร้อมทั้งขออวยพรให้ปีนี้เป็นปีหมูทองที่รุ่งเรืองทั้งเรื่องธุรกิจการงานและการใช้ชีวิตทุกๆ อย่าง แต่ไม่ขอให้อ้วนเหมือนหมูเพราะอันนี้ไม่ดีต่อสุขภาพแน่ๆ

เพื่อเป็นการเริ่มต้นปีหมูที่สมบูรณ์ เราจะขอพาไปตามรอย “หมู” ตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหมู มีความเป็นมาที่น่าสนใจ และเพื่อเป็นเคล็ดว่าต่อไปนี้อะไรๆ ในชีวิตจะได้เป็นเรื่องหมูๆ ไปตลอดปี
อนุสาวรีย์หมูในอดีตที่ยังไม่มีหลังคาคลุม ทาสีทองอร่าม
อนุสาวรีย์หมู-สะพานปีกุน

ที่ริมคลองคูเมืองเดิมใกล้กับวัดราชประดิษฐ์ เป็นที่ตั้งของ “อนุสาวรีย์หมู” มีหมูสีทองยืนเด่นเป็นสง่าอยู่บนเขามอหรือภูเขาจำลอง เป็นอนุสาวรีย์ที่มีอายุร้อยกว่าปีแล้วเพราะสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2456 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระชนมายุครบ 50 พรรษา

อนุสาวรีย์หมูเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “อนุสาวรีย์สหชาติ” ซึ่งหมายถึงผู้ที่เกิดปีเดียวกัน (ปีกุน) ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ พระยาพิพัฒน์โกษา(เซเลสติโน ซาเวียร์) และพระยาราชสงคราม(กร หงสกุล) ได้ร่วมกันจัดสร้างอนุสาวรีย์นี้ถวายเพื่อน้อมระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ โดยออกแบบอนุสาวรีย์เป็นรูปหมูหล่อด้วยโลหะ มีความหมายถึง “ปีกุน” ซึ่งตรงกับปีพระราชสมภพของพระองค์ รวมทั้งเป็นปีเกิดเดียวกันของผู้สร้างถวายทั้งหมดด้วย
มีผู้คนมากราบไหว้บูชา
ที่ฐานอนุสาวรีย์ยังมีศิลาจารึกคำถวายพระพรแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ และมีรายพระนามและรายนามของผู้ที่ร่วมลงทุนในการสร้างอนุสาวรีย์ถวาย ปัจจุบันอนุสาวรีย์หมูเหมือนจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปแล้วเพราะมีผู้คนมาจุดธูปไหว้ ถวายพวงมาลัย ผูกผ้าสามสี และขอพรกันที่นี่ โดยส่วนมากจะมาขอพรเพื่อคุ้มครองตัวเองให้ปลอดภัย ปีใหม่ปีหมูนี้ใครอยากจะลองไปขอพรบ้างก็ขอเชิญกันที่นี่
สะพานปีกุนทอดข้ามคลองคูเมืองเดิม
ส่วนสะพานสีขาวที่อยู่ติดกับอนุสาวรีย์หมูเป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิมระหว่างวัดราชบพิธฯ และวัดราชประดิษฐ์ฯ มีชื่อว่า “สะพานปีกุน” สะพานนี้สร้างขึ้นก่อนอนุสาวรีย์หมูสองปีด้วยกัน โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 6 ได้ทรงอุทิศพระราชทรัพย์ให้สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 4 รอบ แต่ไม่ได้พระราชทานชื่อไว้ และภายหลังเมื่อสร้างอนุสาวรีย์หมูขึ้นที่ใกล้เชิงสะพาน คนก็เลยเรียกชื่อสะพานนี้ว่า "สะพานหมู" หรือ “สะพานปีกุน” ตามไปด้วย
ซอยสุกร เดิมเคยเป็นโรงฆ่าหมู
ซอยสุกร

“ซอยสุกร” ซอยเล็กๆ ที่อยู่ติดกับวัดไตรมิตรฯ ย่านเยาวราชก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีความเกี่ยวพันกับ “หมู” นั่นเพราะในอดีตย่านนี้เคยเป็นโรงฆ่าหมูมาตั้งแต่สมัยสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อก่อนนี้การขนส่งหมูจากฟาร์มหมูจะมาทางรถไฟมาลงที่สถานีหัวลำโพง คนงานจะต้อนหมูเป็นฝูงใหญ่เดินมาเข้าคอกหมูที่บริเวณนี้เพื่อเตรียมส่งโรงฆ่าต่อไป

ดังนั้น ด้วยความที่อยู่ใกล้โรงฆ่าหมู คนในแถบนี้จึงได้ผลิตภัณฑ์จากหมูกันไปแบบสดๆ ทั้งเลือดหมู เครื่องในหมู เนื้อหมู จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ภายในซอยสุกรนี้มีร้านอาหารหลายร้านที่ทำจากหมู บางร้านเป็นร้านเก่าแก่สมัยที่ยังเป็นโรงฆ่าหมูและยังขายมาจนปัจจุบันอย่างร้านข้าวหมูแดงสีมรกต และหมูสะเต๊ะชองกี่ ที่ยังมีผู้คนแวะเวียนมาชิมของอร่อยกันอยู่เนืองๆ
ร้านหมูสะเต๊ะชองกี่และร้านข้าวหมูแดงสีมรกตที่ยังคงอยู่ในซอยสุกร
บรรยากาศในซอยสุกร 1
ปัจจุบันนี้ซอยสุกรไม่มีคอกหมูและไม่มีโรงฆ่าหมูอีกต่อไป กลายเป็นชุมชนตึกแถวธรรมดาๆ ที่เต็มไปด้วยร้านอะไหล่ยนต์ คงเหลือเพียงชื่อซอยสุกร 1 และซอยสุกร 2 เพื่อเป็นที่ระลึกถึงความเป็นไปในอดีตเท่านั้น
พระประธาน 28 พระองค์ในวัดหมู
วัดหมู

“วัดหมู” เป็นชื่อเล่นของ “วัดอัปสรสวรรค์” เป็นวัดเก่าแก่ในย่านภาษีเจริญฝั่งธนบุรีที่มีตำนานเล่าถึงการสร้างวัดว่า ผู้สร้างวัดแห่งนี้เป็นชาวจีนชื่ออู๋ มีอาชีพเลี้ยงหมูเป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อสร้างวัดแล้วหมูเหล่านั้นก็มาเดินเพ่นพ่านเต็มลานวัด ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดหมูกันมาตั้งแต่นั้น แม้ภายหลังไม่มีหมูมาเดินแล้วก็ยังเรียกกันว่าวัดหมูต่อมา
งดงามไม่เหมือนวัดใด
กาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าจอมน้อยซึ่งมีความสามารถในการแสดงละครเรื่องอิเหนา เป็นตัวสุหรานากงได้ดี จนได้รับฉายาว่าเจ้าจอมน้อยสุหรานากง เห็นว่าวัดหมูทรุดโทรมมาก จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สถาปนาวัดนี้ขึ้นใหม่ทั้งวัด และได้พระราชทานชื่อวัดใหม่ว่า “วัดอัปสรสวรรค์” เพื่อเป็นที่ระลึกแด่เจ้าจอมน้อย

สถาปัตย์กรรมส่วนใหญ่ในวัดอัปสรสวรรค์สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบจีนซึ่งเป็นแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3 หน้าบันไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันมีลายประดับปูนปั้นแบบจีน แต่มีความพิเศษหนึ่งเดียวอยู่ภายในพระอุโบสถนั่นคือมีพระประธานปางมารวิชัยมากถึง 28 องค์ด้วยกันเพื่อแทนพระพุทธเจ้าที่ได้เกิดขึ้นมาในชาติภาพต่างๆ รวมแล้ว 28 พระองค์ วางเรียงตั้งลดหลั่นกันลงมาเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมงดงามแปลกตา
บรรยากาศในวัดหมู
และด้วยความที่วัดแห่งนี้เป็นเพียงแห่งเดียวที่มีพระประธาน 28 พระองค์ ที่วัดนี้จึงมีบทสวดมนต์พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ซึ่งเป็นบทสวดมนต์เฉพาะของวัดอัปสรสวรรค์ ซึ่งจะใช้สวดทุกครั้งที่ทำวัตรเช้าเย็น และจะเพิ่มบทสวดนี้เป็นกรณีพิเศษด้วยในการสวดมนต์ในพิธีการต่างๆ
พระพุทธรูปกลางแจ้งที่วัดคอกหมู
วัดคอกหมู

อีกหนึ่งวัดที่เกี่ยวข้องกับหมูก็คือ "วัดคอกหมู" หรือ "วัดสิตาราม" ที่อยู่ในซอยดำรงรักษ์ ตรงข้ามกับวัดสระเกศฯ ชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าวัดคอกหมูก็ย่อมต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับหมูแน่นอน โดยเป็นคอกหมูที่อยู่คู่กับคอกวัว แขกเลี้ยงวัวอยู่แถวสี่แยกคอกวัว ส่วนคนจีนเลี้ยงหมูอยู่ที่แถววัดคอกหมูนี่เอง โดยบริเวณนี้เป็นชุมชนชาวจีนที่มาอาศัยอยู่ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์และทำอาชีพเลี้ยงหมูขาย ต่อมาในสมัยต้นรัชกาลที่ 2 เจ้ากรมยิ้มซึ่งเป็นชาวมอญ ได้ชักชวนชาวจีนที่เลี้ยงหมูบริเวณนี้มาร่วมกันสร้างวัด ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "วัดสิตาราม"

แน่นอนว่าในยุคนี้ไม่มีร่องรอยของบรรดาหมูให้เห็นแล้ว มีแต่เพียงสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดคือเป็นโบสถ์และวิหารหลังเก่าซึ่งเป็นศิลปะแบบจีนที่ไม่มีช่อฟ้าใบระกา อีกทั้งมีพระพุทธรูปสำคัญที่เคยเป็นพระประธานในโบสถ์หลังเก่าคือ “หลวงพ่อทองกายสิทธิ์” พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1 ศอก 1 คืบ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในอุโบสถหลังใหม่
มีพระพุทรูปแบบสุโขทัยหลายปลาง
และบริเวณด้านข้างโบสถ์ใหม่ก็ยังมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในปางต่างๆ อาทิ ปางลีลา ปางเลไลย์ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ปางมารวิชัย ซึ่งประดิษฐาaนอยู่กลางแจ้ง โดยพระพุทธรูปเหล่านี้สร้างจำลองรูปแบบมาจากพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มาศึกษาพุทธลักษณะของพระพุทธรูปกัน
พระปางลีลาและพระนอนที่สร้างจำลองพระพุทธรูปสุโขทัยในวัดคอกหมู
ป้ายสู่วัดสิตาราม หรือวัดคอกหมู
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น