xs
xsm
sm
md
lg

8 พระพุทธรูปคู่บ้านคู่ดินแดนล้านนา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
“พระสิงห์” แห่งวัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
เวลาเดินทางท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ นอกจากจะไปเยี่ยมเยือนถ่ายภาพจุดชมวิวไฮไลต์หรือแลนด์มาร์กของที่เที่ยวแต่ละแห่งแล้ว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เป็นพุทธศาสนิกชนก็มักจะหาโอกาสไปไหว้พระขอพรจากพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดที่ได้ไปเยือนเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองด้วย

ในวันนี้เราได้นำเอา 8 พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของ 8 จังหวัดล้านนาทางภาคเหนือมาฝากกัน เผื่อว่าใครจะเดินทางไปเที่ยวภาคเหนือในช่วงนี้จะได้แวะกราบและชมความงามทางพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปแต่ละองค์

“พระสิงห์” เชียงใหม่

เมื่อมาเยือนเชียงใหม่ หนึ่งในวัดสำคัญที่หลายๆ คนไม่พลาดมาเยือนก็คือ “วัดพระสิงห์” เพื่อมากราบไหว้พระสิงห์ หรือพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำ ตามตำนานเล่าว่าพระพุทธสิหิงค์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.700 โดยกษัตริย์ลังกา 3 พระองค์และพระอรหันต์ 20 รูป เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร สกุลช่างเชียงแสน ศิลปะล้านนา

สำหรับวัดพระสิงห์ เดิมชื่อว่าวัดลีเชียงพระ แต่หลังจาก พ.ศ.1943 เมื่อกษัตริย์เชียงรายได้อัญเชิญพระสิงห์มาจากกำแพงเพชร และนำมาถวายพญาแสนเมืองมากษัตริย์เชียงใหม่ พระองค์ได้อัญเชิญพระสิงห์ประดิษฐานไว้ที่วัดลีเชียงพระ ต่อมาคนเชียงใหม่จึงเรียกวัดนี้ว่าวัดพระสิงห์นับแต่นั้นมา

ปัจจุบันพระสิงห์ประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำของวัดพระสิงห์ ซึ่งเป็นวิหารล้านนาขนาดเล็กแต่งดงามไปด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่น่าชมอย่างยิ่ง และในเทศกาลสงกานต์ของทุกปีจะมีการอัญเชิญพระสิงห์ขึ้นบนบุษบกแห่รอบเมืองเชียงใหม่ให้ประชาชนสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นประจำทุกปี
“พระหยกเชียงราย” วัดพระแก้ว
“พระหยก” เชียงราย

สำหรับจังหวัดเชียงราย ขอยกให้ “พระหยกเชียงราย” เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง โดยพระหยกเชียงรายประดิษฐานอยู่ที่ “วัดพระแก้ว” ในอำเภอเมืองเชียงราย เดิมวัดนี้ชื่อว่าวัดป่าญะหรือวัดป่าเยียะ แต่หลังจากมีการค้นพบพระแก้วมรกตในองค์เจดีย์ร้างที่ถูกฟ้าฝ่าเมื่อ พ.ศ.1977 วัดนี้จึงถูกเรียกว่าวัดพระแก้วเรื่อยมาจนปัจจุบัน

ภายหลังพระแก้วมรกตถูกอัญเชิญจากวัดพระแก้วเชียงรายไปยังสถานที่ต่างๆ ก่อนมาประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วที่กรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นใน พ.ศ. 2533 เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระชนมายุครบ 90 พรรษา ชาวเชียงรายจึงได้ร่วมกันสร้างพระแก้วสีเขียวองค์ใหม่นามว่า “พระพุทธรัตนากรนวุติวัสสานุสรณ์” หรือ “พระหยกเชียงราย” ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์ และเพื่อให้วัดพระแก้วเชียงรายมีพระแก้วประดิษฐานอยู่สืบไป

พระหยกเชียงรายสร้างขึ้นด้วยหยกสีเขียว มีพุทธลักษณะงดงาม ประดับเครื่องทรงแบบพุกาม มีขนาดเล็กกว่ากระแก้วมรกตองค์จริง 2 นิ้ว นับเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียงรายที่มีผู้คนเดินทางไปกราบไหว้สักการะและชื่นชมความงามกันมิได้ขาด
พระแก้วดอนเต้าองค์จำลอง องค์จริงอยู่ด้านในรั้วเหล็ก
“พระแก้วดอนเต้า” ลำปาง

สำหรับจังหวัดลำปาง มีพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองคือ “พระแก้วดอนเต้า” สร้างจากหยกสีเขียวเข้ม เป็นศิลปะแบบเชียงแสนตอนปลาย พระพักตร์เป็นรูปทรงรีหรือรูปไข่ พระเกศเป็นต่อม พระกรรณยาวสยายปลายโค้งบานออก องค์พระประทับนั่งสมาธิราบมือประสานบนตัก องค์พระประดิษฐานอยู่ในกุฏิพระแก้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง ในอำเภอเกาะคา

พระพุทธรูปองค์นี้มีตำนานที่น่าสนใจเล่าขานกันว่า นางสุชาดาผู้มีจิตใจใฝ่ในธรรมได้นำเอาแตงโมไปถวายแด่พระเถระรูปหนึ่ง เมื่อผ่าแตงโมออกกลับพบว่ามีหินแก้วสีเขียวอยู่ข้างใน จึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรนำไปสร้างพระพุทธรูป ต่อมาพระอินทร์แปลงกายเป็นชีปะขาวมาช่วยแกะสลักพระพุทธรูปนั้นจนเสร็จ กลายเป็นพระแก้วดอนเต้า (บะเต้าเป็นภาษาเหนือหมายถึงแตงโม)

แต่ภายหลังมีผู้ใส่ร้ายว่านางสุชาดาและพระเถระมีความสัมพันธ์กัน เจ้าเมืองจึงสั่งประหารนางสุชาดา นางจึงอธิษฐานจิตว่าหากเป็นผู้บริสุทธิ์ขอให้เลือดพุ่งสู่ฟ้า เหตุการณ์เป็นดังคำอธิษฐานของนาง เมื่อพระมหาเถระพ้นจากความผิดจึงอัญเชิญพระแก้วไปประดิษฐานยังวัดพระธาตุลำปางหลวงตราบถึงปัจจุบัน สามารถไปกราบไหว้กันได้ที่กุฏิพระแก้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง
พระมหามุนีศรีหริภุญชัยแห่งลำพูน
“พระมหามุนีศรีหริภุญชัย” ลำพูน

ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย นอกจากจะเป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุประจำปีระกาแล้ว ก็ยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระมหามุนีศรีหริภุญชัย” หนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำพูนอีกด้วย

องค์พระมหามุนีศรีหริภุญชัยประดิษฐานอยู่ภายในวิหารหลวงด้านหน้าองค์พระธาตุ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ สีทองอร่ามดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา เป็นที่เคารพสักการะของคนลำพูนมาโดยตลอด และบริเวณด้านข้างองค์พระประธานมีองค์พระบริวาร 2 องค์อยู่ซ้าย-ขวาและพระพุทธรูปองค์เล็กขนาดต่างๆ อีกหลายองค์ รวมถึงมีรูปเคารพหุ่นขี้ผึ้งครูบาศรีวิชัยให้สักการะบูชากันด้วย
พระเจ้าพาราละแข่งแห่งเมืองแม่ฮ่องสอน
“พระเจ้าพาราละแข่ง” แม่ฮ่องสอน

ที่วัดหัวเวียง ในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นที่ประดิษฐานของ “พระเจ้าพาราละแข่ง” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแม่ฮ่องสอนองค์หนึ่งซึ่งงดงามยิ่งนัก องค์พระเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะพม่าที่สร้างจำลองมาจากพระมหามัยมุนีแห่งเมืองมัณฑะเลย์ การสร้างพระพุทธรูปได้หล่อขึ้นด้วยสำริดเป็น 9 ส่วน จากพม่าแล้วล่องมาตามแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำปาย มาประกอบขึ้นเป็นองค์พระพุทธรูปที่วัดพระนอน ในเมืองแม่ฮ่องสอน ก่อนจะอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดหัวเวียงดังปัจจุบัน

นอกจากองค์พระพุทธรูปจะงดงามแล้ว พระวิหารที่ประดิษฐานก็งดงามด้วยไม้สักทั้งหลัง มีลักษณะเป็นจองพาราหลายชั้น แกะสลักด้วยลวดลายสวยงามแบบศิลปะไทยใหญ่ หากใครมาเยือนแม่ฮ่องสอนก็ไม่ควรที่จะมาสักการะองค์พระและชมความสวยงามต่างๆ ภายในวัดด้วย
พระเจ้าตนหลวงแห่งพะเยา
“พระเจ้าตนหลวง” พะเยา

คนที่มาเยือนจังหวัดพะเยา นอกจากจะไปเที่ยวกว๊านพะเยาแล้วก็ต้องมากราบ “พระเจ้าตนหลวง” พระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองพะเยาซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงของ “วัดศรีโคมคำ”

พระเจ้าตนหลวงได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในล้านนา โดยมีขนาดหน้าตักกว้าง 14 เมตร สูง 17 เมตร ใช้เวลาสร้างถึง 33 ปี ปัจจุบันมีอายุเก่าแก่กว่า 527 ปี เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพะเยาและจังหวัดใกล้เคียง โดยทุกๆ ปีในวันวิสาขบูชา ทางวัดจะจัดงานนมัสการพระเจ้าตนหลวง เรียกว่างานประเพณี “นมัสการพระเจ้าองค์หลวงเดือนแปดเป็ง”

นอกจากจะมากราบพระเจ้าตนหลวงแล้ว ก็สามารถมาเดินชมพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมศิลปวัตถุน่าสนใจ อาทิ พระพุทธรูปเก่าแก่ พระพุทธรูปหินทราย เครื่องปั้นดินเผา ซากฟอสซิลไดโนเสาร์ที่หอวัฒนธรรมนิทัศน์ภายในวัดได้อีกด้วย
พระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนีแห่งเมืองแพร่ (ภาพ:ททท.แพร่)
“พระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี” แพร่

วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร ในอำเภอเมืองแพร่ เป็นวัดที่เกิดจากการรวม 2 วัด คือวัดพระบาท และวัดมิ่งเมืองเข้าด้วยกัน รวมเรียกเป็นวัดพระบาทมิ่งเมือง และเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระพุทธโกศัยสิริชัยมหาศากยมุนี” หรือที่คนนิยมเรียกว่า “พระพุทธโกศัย” พระคู่บ้านคู่เมืองแพร่

พระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนีเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสนผสมสุโขทัย มีพุทธลักษณะคล้ายองค์พระพุทธชินราชแห่งเมืองพิษณุโลก โดยใน พ.ศ. 2497 พระอุโบสถได้ถูกไฟไหม้ องค์พระพุทธโกศัยฯ ที่มีเนื้อเป็นปูนปั้นได้รับความเสียหาย จึงมีการบูรณะขึ้นมาใหม่เป็นเนื้อทองสัมฤทธิ์แทนองค์เดิม ในปี 2498

ใครที่มาอาศัยหรือย้ายมาทำงานในเมืองแพร่ถือเป็นธรรมเนียมที่จะต้องมานมัสการพระพุทธโกศัยฯ เสียก่อน อีกทั้งภายในวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ อาทิ รอยพระพุทธบาท 4 รอย พระธาตุมิ่งเมือง พระสิงห์หนึ่งเวียงโกศัย พระพุทธมิ่งขวัญเมือง พระพิฆเนศแกะจากไม้ขนุนมงคลอายุ 300 ปี และพิพิธภัณฑ์พระวิหารมิ่งเมืองอีกด้วย
พระเจ้าทองทิพย์แห่งเมืองน่าน
“พระเจ้าทองทิพย์” น่าน

น่านเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีพระพุทธรูปเก่าแก่และงดงามอยู่มากมาย โดยมี “พระเจ้าทองทิพย์” เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญที่ถือเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองน่านอีกด้วย โดยพระเจ้าทองทิพย์ประดิษฐานอยู่ที่ “วัดสวนตาล” ในตัวเมืองน่าน

วัดสวนตาลเป็นวัดเก่าแก่มีอายุกว่า 600 ปี สร้างขึ้นในสมัยพระนางปทุมมาวดีชายาของพญาภูเข็ง เจ้าผู้ครองนครน่าน ส่วนองค์พระเจ้าทองทิพย์สร้างโดยพญาติโลกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ และถือว่าเป็นพระพุทธรูปทองสำริดปางมารวิชัยสมาธิราบองค์ใหญ่ที่สุดในล้านนาที่มีพุทธลักษณะสง่างาม องค์พระเป็นสีทองสุกสว่างงามตาเป็นอย่างมาก

บริเวณด้านหน้าวัดสวนตาลยังมี “บ่อน้ำทิพย์” ที่เชื่อว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทางราชการเมืองน่านจะนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากบ่อน้ำทิพย์นี้ไปใช้ในงานพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วย

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น