xs
xsm
sm
md
lg

อุ่นไอร้อน “น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน” ออนเซ็นแห่งลำปาง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
น้ำพุร้อนแจ้ซ้อนยามเช้าเมื่อแสงอาทิตย์สาดส่อง
พื้นที่ทางภาคเหนือเริ่มมีอากาศหนาวเย็น จึงอยากชวนไปเที่ยว “น้ำพุร้อน” เพื่อคลายความหนาว เพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายและจิตใจ โดยแหล่งน้ำพุร้อนเลื่องชื่อแห่งหนึ่งของเมืองไทย ต้องยกให้ "อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน" เป็นหนึ่งในนั้น

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ตั้งอยู่ในจังหวัดลำปาง ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ และอำเภอเมือง มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนที่ยังอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งท่องเที่ยวเด่นคือแหล่งน้ำพุร้อนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เรียกกันว่า "น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน" ที่มีพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ เป็นแหล่งน้ำพุร้อนที่มีสภาพการเกิดทางธรณีวิทยาที่น่าสนใจ โดยเกิดจากน้ำบนผิวดินที่ไหลซึมผ่านรอยแตกของระหว่างชั้นหินลงไปใต้ดิน ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้กับรอยเลื่อนแม่ทา ทำให้ใต้ดินมีอุณหภูมิสูงถึง 149 องศาเซลเซียส ความร้อนจะดันน้ำกลับขึ้นมาสู่ผิวดินเบื้องบนอีกครั้ง กลายเป็นแอ่งน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิราว 68-82 องศาเซลเซียส
ม่านหมอกสีทอง
ถ่ายรูปท่ามกลางไอหมอก
น้ำพุร้อนแจ้ซ้อนมีบ่อน้ำพุที่ผุดขึ้นมาเป็นบ่อเล็กๆ ถึง 9 บ่อ พื้นที่โดยรอบแวดล้อมไปด้วยโขดหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป มีไอน้ำลอยกรุ่นขึ้นจากบ่อปกคลุมรอบบริเวณราวกับสายหมอกพร้อมกับกลิ่นกำมะถันอ่อนๆ

ทางอุทยานฯ ได้ปรับแต่งภูมิทัศน์และสภาพพื้นที่ในบริเวณบ่อน้ำร้อนให้สวยงามและเดินได้ปลอดภัย โดยบ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อนจะมีบ่อและธารน้ำแร่ที่ไหลเรื่อยไปตามโขดหินน้อยใหญ่ที่มีอยู่กระจัดกระจาย พร้อมกับมีทางเดินลัดเลาะไปตามบ่อน้ำร้อนเหล่านั้น

ทิวทัศน์บริเวณนี้จะงดงามมากเป็นพิเศษในยามเช้า เพราะนอกจากจะมีไออุ่นและหมอกควันจากความร้อนของสายน้ำที่ก่อตัวอบอวลอยู่เหนือธารน้ำอุ่นเหล่านั้นแล้ว แสงแดดอุ่นยามเช้าก็ยังสาดแสงสีทองย้อมไอน้ำและหมอกควันเหล่านั้นให้กลายเป็นสีทองงดงามดังต้องมนต์สะกด บวกกับอากาศเย็นๆ ของหน้าหนาวแต่กลับอบอุ่นไปด้วยไออุ่นของน้ำพุร้อนจากพลังแห่งพื้นพิภพ เชื่อว่าคนที่ได้เห็นจะต้องประทับใจกับบรรยากาศของน้ำพุร้อนแจ้ซ้อนอย่างแน่นอน
โขดหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายบริเวณบ่อน้ำพุ
แบคทีเรียในธารน้ำพุร้อน
นอกจากนี้ในลำธารไหลที่น้ำไหลเอื่อย บางช่วงเราจะเห็นเป็นสีเขียวมรกตจากตะไคร่ที่ขึ้นเกาะจับ บางช่วงบางจุดจะดูแปลกตาน่ายลไปด้วยเส้นสายสีขาวเล็กๆ ยาวๆ ที่เคลื่อนตัวเป็นริ้วพลิ้วไหวไปตามสายน้ำ ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่ามันเป็นสาหร่ายสีขาว แต่อันที่จริงแล้วมันคือ แบคทีเรีย Chloroflexus aurantiacus ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 50 องศาเซลเซียส และสามารถอยู่ในสภาพไร้ออกซิเจนได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดีในธารน้ำแร่ร้อนแห่งนี้ก็มีสาหร่ายชนิดพิเศษที่ทนทานต่อความร้อน เรียกว่า thermophilic algae ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นกลุ่มแรกๆ ของโลกเลยทีเดียว
เซลฟี่ไปพร้อมต้มไข่
สำหรับกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถทำได้ที่บ่อน้ำพุร้อนแห่งนี้อย่างแรกก็คือการ “ต้มไข่” ด้วยความที่น้ำพุร้อนในบ่อหลักมีอุณหภูมิสูงถึงกว่า 80 องศาเซลเซียส ร้อนจนคนไม่สามารถลงแช่ได้ แต่สามารถแช่ไข่ได้ โดยในอุทยานฯ มีไข่ไก่และไข่นกกระทาเตรียมไว้ขายให้นักท่องเที่ยวได้นำไข่ไปแช่ โดยมีคำแนะนำว่าถ้าต้มไข่ไก่นาน 17 นาที จะได้ไข่ต้มที่ไข่แดงแข็ง ส่วนไข่ขาวเหลวเป็นวุ้นคล้ายไข่เต่า เรียกว่า “ไข่น้ำแร่” หรือไข่ออนเซนนั่นเอง กินร้อนๆ รสชาติเยี่ยม ไม่มีกลิ่นคาว จะกินเปล่าๆ หรือเติมซีอิ้วโรยพริกไทยเพิ่มรสชาติก็ยิ่งอร่อยมากขึ้น

ไข่ต้มน้ำแร่ของที่นี่ยังถูกนำไปสร้างสรรค์เป็นเมนูเด็ด “ยำไข่น้ำแร่แจ้ซ้อน” ที่เป็นเมนูสัญลักษณ์เลื่องชื่อของแจ้ซ้อน โดยผู้คิดค้นสูตรเมนูเด็ดนี้ก็คือ “หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี” ยอดนักชิมชื่อก้องของไทยนั่นเอง
ต้มนาน 17 นาทีจะได้ไข่น้ำแร่แสนอร่อย
บ่อแช่รวมกลางแจ้ง
แต่ถ้าใครอยากจะสัมผัสธรรมชาติของน้ำพุร้อนแจ้ซ้อนอย่างแท้จริงด้วยการลงไปแช่น้ำแร่ร้อน ไม่ว่าจะเพื่อบำบัดความเมื่อยล้าของร่างกาย หรืออยากทำให้ร่างกายสดชื่น ช่วยให้โลหิตไหลเวียนได้ดีขึ้น และยังช่วยรักษาโรคผิวหนัง อาทิ กลาก เกลื้อน ผื่นคัน ก็สามารถลงไปแช่ในแอ่งน้ำอุ่น เป็นบ่อแช่ตัวรวมกลางแจ้งบ่อใหญ่ที่เกิดจากการไหลมาบรรจบกันของน้ำพุร้อนและน้ำเย็นของลำน้ำแม่มอญที่ไหลมาจากน้ำตกแจ้ซ้อน ทำให้เกิดเป็นน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิพอเหมาะแก่การแช่อาบคือประมาณ 39-42 องศาเซลเซียส

แต่ถ้าใครไม่อยากแช่บ่อรวม ทางอุทยานฯ ก็ยังทำห้องแช่น้ำแร่ส่วนตัวโดยใช้น้ำแร่ที่ต่อตรงมาจากบ่อน้ำร้อน มีทั้งห้องอาบแบบแช่รวม (แยกชาย-หญิง) ทั้งห้องในร่ม กลางแจ้ง และห้องอาบน้ำแร่แบบเป็นหลังๆ กับอ่างอาบน้ำส่วนตัวให้นักท่องเที่ยวได้เลือกใช้บริการตามความต้องการอีกด้วย
แช่เท้าในลำธารน้ำอุ่น
บ่อแช่ส่วนตัวเป็นหลังๆ
แต่ก็อย่าลืมว่าการแช่น้ำแร่ร้อนนานเกินไปจะกลายเป็นผลเสียต่อร่างกายได้ เพราะอาจเกิดอาการเวียนหัว หน้ามืด เป็นลมได้ จึงควรแช่ในเวลาที่เหมาะสมคือ 10-15 นาที (ต่อการลง 1 ครั้ง) ตามที่ทางอุทยานฯ ได้ติดป้ายกำกับไว้ ซึ่งพลังจากธรรมชาติของน้ำแร่จะช่วยไปเติมให้เรามีพลังในการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น

ส่วนใครอยากจะนั่งชิลๆ แช่เท้าให้สบายผ่อนคลาย ก็มีบ่อแช่เท้าโดยเฉพาะอยู่ด้านล่างสุดที่เชื่อมต่อกับสายน้ำแม่มอญที่ไหลมาจากน้ำตกแจ้ซ้อน ตรงบริเวณนี้ทำที่นั่งไว้ให้ล้อมวงนั่งแช่เท้าพูดคุยกันในบรรยากาศอันร่มรื่นของต้นไม้และสายน้ำไหลริน บรรยากาศดีเป็นอย่างยิ่ง
ทิวทัศน์งามๆ แห่งอุทยานฯ แจ้ซ้อน
นอกจากน้ำพุร้อนแจ้ซ้อนแล้ว ภายในอุทยานฯ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นๆ อีก อาทิ น้ำตกแจ้ซ้อน ที่อยู่เหนือจากบ่อน้ำร้อนขึ้นไปประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นธารน้ำตกที่กำเนิดจากขุนห้วยแม่มอญไหลผ่านหุบเขาสูงชันทั้งสิ้น 6 ชั้น แต่ละชั้นมีความสวยงามแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถเดินเท้าไปได้ถึงชั้น 6 ชั้นที่สูงสุดของน้ำตกแห่งนี้

อีกทั้งยังมีน้ำตกแม่เปียก เป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง น้ำตกแม่มอญ เป็นน้ำตกที่ไหลอย่างรุนแรงจากชะง่อนผาสูงลงสู่หุบเหวด้านล่าง สวยงามแปลกตา แต่ค่อนข้างอันตรายไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ และยังมีถ้ำผางาม ถ้ำน้ำ ถ้ำหลวง

อีกทั้งในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี ที่อุทยานแห่งนี้จะเต็มไปด้วยดอกกระเสี้ยวบานสะพรั่งประดับผืนป่า และยังมีอีกหลายแห่งที่น่าสนใจ อีกทั้งยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับธรรมชาติอันสวยงามอีกด้วย


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น