xs
xsm
sm
md
lg

ปลีกวิเวกที่ "วัดอุโมงค์" วัดงาม มุมสงบแห่งเชียงใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บรรยากาศอันสงบร่มรื่นของวัดอุโมงค์
ในเมืองเชียงใหม่มีวัดเก่าแก่และงดงามหลายแห่ง เฉพาะภายในเวียงเชียงใหม่ก็มีมากมายนับไม่ถ้วน ยังไม่รวมถึงวัดในละแวกรอบนอกเมืองที่เก่าแก่และงดงามไม่แพ้กัน

“วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)” เป็นอีกหนึ่งวัดที่มีเอกลักษณ์งดงามไม่เหมือนใคร วัดตั้งอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ไม่ไกลจากบริเวณตีนดอยสุเทพ อยู่บริเวณหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และอยู่ไม่ห่างจากย่านฮิปของนักท่องเที่ยวอย่างนิมมานเหมินทร์มากนัก

บริเวณลานด้านหน้าทางเข้าอุโมงค์

รูปหล่อหลวงพ่อปัญญานันทะภิกขุหน้าอุโมงค์
ประวัติของวัดอุโมงค์ เริ่มต้นขึ้นในสมัยของปฐมกษัตริย์ของล้านนา คือ พระเจ้ามังรายมหาราช เมื่อพระองค์ได้สร้างเมืองเชียงใหม่แล้วหลังจากนั้นได้สร้างวัดขึ้นหลายแห่ง ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และทรงนิมนต์พระสงฆ์ลังกาจากเมืองสุโขทัยมาสั่งสอนพระพุทธศาสนา ในครั้งนั้นพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นใหม่บริเวณป่าไผ่ 11 กอ เพื่อเป็นที่พำนักของคณะสงฆ์ลังกาโดยเฉพาะ และสร้างโดยยึดรูปแบบของวัดเมืองลังกา อาทิ เจดีย์ทรงลังกา

เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยก็ได้ทำการฉลองวัด และทรงขนานนามว่า “วัดเวฬุกัฏฐาราม” (วัดไผ่ 11 กอ) และทรงนิมนต์คณะสงฆ์จากลังกาเข้าอยู่จำพรรษาเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม และเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

เข้าไปด้านในมีพระพุทธรูปให้สักการะ

สัมผัสได้ถึงความสงบ
จวบจนมาถึงรัชสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช พระองค์ได้บูรณะวัดเวฬุกัฏฐารามขึ้นใหม่ ทรงซ่อมแซมองค์เจดีย์ และยังได้ทรงสร้างอุโมงค์ถัดจากฐานพระเจดีย์ด้านเหนือขึ้น เป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่และสวยงาม มีทางเข้าออก 4 ช่อง แต่ละช่องเดินติดต่อกันได้ทั่วถึง ข้างฝาผนังด้านในอุโมงค์เจาะช่องสำหรับจุดประทีปให้เกิดความสว่างเป็นระยะ สะดวกแก่พระเดินจงกรมและภาวนาอยู่ด้านใน และในเพดานอุโมงค์ยังมีภาพเขียนสีน้ำมันอีกด้วย

อุโมงค์แห่งนี้พระเจ้ากือนาทรงสร้างขึ้นเพราะพระองค์ทรงศรัทธาเป็นพิเศษในพระมหาเถระจันทร์ พระสงฆ์ชาวล้านนาผู้แตกฉานในพระไตรปิฏกและมีปฏิภาณโต้ตอบปัญหาธรรมเป็นเยี่ยม พระมหาเถระจันทร์ชอบจาริกอยู่ตามป่าดงเพื่อหาที่สงบสงัดบำเพ็ญภาวนา ไม่มีที่อยู่ที่แน่นอน เวลาต้องการตัวโต้ตอบปัญหาหรือศึกษาข้อธรรมมักจะตามไม่ค่อยพบ 

พระเจ้ากือนามีพระราชประสงค์จะให้พระเถระจันทร์อยู่เป็นที่ สะดวกต่อการติดต่อและพบปะ จึงโปรดให้สร้างอุโมงค์แห่งนี้ขึ้นที่ฐานพระเจดีย์ใหญ่ในวัดเวฬุกัฏฐารามเพื่อเป็นที่อยู่ของพระมหาจันทร์ ต่อมาคนจึงเรียกกันว่า “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” มาตั้งแต่บัดนั้น

เหมาะสำหรับการนั่งสมาธิปลีกวิเวก

ภายในอุโมงค์เงียบสงบ
ปัจจุบัน วัดอุโมงค์กลายเป็นสถานปฏิบัติธรรม สถานที่ที่คนมาแสวงหาความสงบ รวมถึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามแปลกตาของเชียงใหม่ เมื่อมาเยือนที่วัดอุโมงค์จะได้พบกับความร่มรื่นและความเงียบสงบภายในวัด บริเวณอุโมงค์เป็นอาคารก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมที่ภายนอกมีมอสปกคลุมเป็นพรมสีเขียวด้วยความชื้น ยิ่งเพิ่มความสงบงามให้แก่สถานที่

บริเวณด้านหน้าทางเข้าอุโมงค์มีรูปหล่อหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุองค์สีทองตั้งอยู่ เนื่องจากมีช่วงที่วัดอุโมงค์ขาดการทำนุบำรุง ถูกปล่อยให้รกร้างทรุดโทรม เจ้าชื่น สิโรรส (บุตรของเจ้าอินทปัตย์ สิโรรส) ได้เข้ามาจัดการแผ้วถางบูรณะวัดนี้ และสร้างกุฏิหลังใหม่เพิ่ม ด้วยความที่ท่านมีศรัทธาในแนวทางของหลวงพ่อพุทธทาสแห่งสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ท่านจึงกราบอาราธนานิมนต์ท่านพุทธทาสให้มาเผยแผ่ธรรมะที่เชียงใหม่ เพราะท่านได้สร้างสวนพุทธธรรมและหอพุทธธรรมที่วัดอุโมงค์เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ท่านพุทธทาสยังมีภารกิจมากมายที่สวนโมกข์ จึงส่งพระภิกษุปัญญานันทะมาแทน ตั้งแต่นั้นมา หลวงพ่อปัญญาก็ได้มาบุกเบิกงานเผยแผร่พระพุทธศาสนาที่วัดอุโมงค์ เป็นที่มาของรูปหล่อหลวงพ่อปัญญาด้านหน้าอุโมงค์นั่นเอง

ร่องรอยของจิตรกรรมฝาผนัง

มีนักท่องเที่ยวมาเยือนวัดอุโมงค์ทุกๆ วัน
เมื่อเข้าไปภายในอุโมงค์จะพบกับความเงียบและความมืดสลัว มีดวงไฟตามทางเป็นระยะๆ บริเวณอุโมงค์ช่วงแรกมีพระพุทธรูปให้เรากราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคล จากนั้นเป็นทางเดินที่เชื่อมต่อกับอุโมงค์อื่นๆ เป็นระยะๆ

บางช่วงเรายังคงมองเห็นร่องรอยของจิตรกรรมฝาผนังอายุกว่า 500 ปี ที่ยังคงหลงเหลือบนเพดานโค้งในอุโมงค์บางส่วน แต่ก็ลบเลือนไปมาก จึงมีจากการสำรวจในโครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์ และได้พบหลักฐานของจิตรกรรมฝาผนังมากมาย เป็นเหตุให้กรมศิลปากรได้เข้ามาร่วมสำรวจ และอนุรักษ์จิตรกรรมแห่งนี้ ทำให้เรื่องราวและภาพของจิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์ได้ออกสู่สายตาประชาชนมากยิ่งขึ้น

นักท่องเที่ยวถ่ายภาพเก็บความประทับใจด้านหน้าทางเข้าอุโมงค์

มอสที่ปกคลุมไปทั่วพื้นผิว
ทุกวันนี้วัดอุโมงค์กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีทั้งพุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาเดินทางมากราบไหว้และปฏิบัติธรรม รวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติต่างศาสนาที่ต้องการมาชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ แต่เนื่องจากที่นี่เป็นศาสนสถาน จึงขอความร่วมมือจากผู้เข้าชมทุกท่านให้สำรวมและให้ความเคารพสถานที่ด้วย

ทางเดินขึ้นสู่ลานเจดีย์

เจดีย์ที่สร้างในสมัยพระเจ้ามังราย
“วัดอุโมงค์” ตั้งอยู่ที่ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ การเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ให้วิ่งมาตามถนนสุเทพ มุ่งหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยวัดอุโมงค์บริเวณตรงข้ามมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น