xs
xsm
sm
md
lg

หลงรัก “บึงกาฬ” หลงเสน่ห์ 5 หมู่บ้านริมโขง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จุดเหนือสุดของภาคอีสาน อยู่ที่บ้านสะง้อ
พูดถึงเมืองท่องเที่ยวริมน้ำโขงในภาคอีสาน หลายคนอาจนึกถึงแค่เพียงเชียงคาน หนองคาย หรือนครพนม แต่วันนี้ “ตะลอนเที่ยว” มีโอกาสได้ไปเยือน “บึงกาฬ” เพื่อมาเยือนหมู่บ้านโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village) ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบึงกาฬได้เข้าไปร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวในหมู่บ้านทั้ง 5 แห่ง จึงได้รู้ว่าริมแม่น้ำโขงของบึงกาฬก็สวยสงบมีเสน่ห์ไม่น้อยไปกว่าที่อื่นๆ และยิ่งได้สัมผัสกับไมตรีจิตของคนบึงกาฬในชุมชนทั้ง 5 แห่งที่ได้ไปเยือนก็ยิ่งประทับใจ จนอยากมาชวนให้ไปเที่ยวพร้อมๆ กัน


“บ้านสะง้อ”


บ้านสะง้อ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ต.หอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ ที่นี่เป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำโขงที่มีบรรยากาศสงบสวยงามยิ่งนัก และหากเปิดแผนที่ประเทศไทยดูจะเห็นว่า จุดเหนือสุดของภาคอีสานนั้นอยู่ที่ จ.บึงกาฬ และพูดให้เฉพาะเจาะจงลงไปอีกก็คืออยู่ที่ “บ้านสะง้อ” นั่นเอง โดยอยู่ในระนาบเดียวกับน่าน แพร่ ลำปาง ฯลฯ บ้านสะง้อจึงดึงจุดเด่นอันนี้มาเป็นจุดชมวิวและจุดถ่ายรูป “เหนือที่สุดแดนอีสาน @สะง้อ” ในบริเวณที่เรียกว่าแก่งหมอบขาบ เป็นกิมมิคเล็กๆ ให้คนมาถ่ายรูปลงโซเชียลกัน พร้อมกับชมวิวน้ำโขงและภูเขาบริเวณเมืองปากซันของฝั่งลาว
การแสดงฟ้อนรำจากสาวๆ บ้านสะง้อ
ชาวบ้านสะง้อนั้นเป็นชาวไทพวนที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวางของฝั่งลาวตั้งแต่ช่วงสงครามปราบฮ่อเมื่อราว 140 ปีมาแล้ว เมื่อมาตั้งชุมชนอยู่ที่นี่ก็สร้างวัดขึ้นเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน นั่นคือ “วัดโพธิ์ชัยนิมิต” ซึ่งชาวบ้านมักใช้เป็นที่ชุมนุม พบปะ และทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ที่วัดมีต้นโพธิ์ใหญ่อายุกว่า 300 ปี ที่แผ่กิ่งก้านให้ความร่มเย็นอยู่ริมแม่น้ำบริเวณลานวัด อีกทั้งไม่ไกลกันก็ยังมี “วัดวิชัยอาราม” ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “พระธาตุนาเหนือ” พระธาตุเก่าแก่อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชุมชน แม้ปัจจุบันองค์พระธาตุจะหักพังไปตามกาลเวลา แต่ก็มีความพยายามที่จะบูรณะขึ้นใหม่โดยอาศัยคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน
สินค้าโอท็อปหลากชนิด
คุณป้ากำลังปั่นฝ้ายเตรียมนำไปย้อมโคลน
เมื่อมาเยือนบ้านสะง้อ นอกจากจะมาถ่ายรูปที่จุดชมวิว เดินเล่นชมบรรยากาศและพูดคุยกับคนในชุมชนที่ยิ้มแย้มแจ่มใสแล้ว ขอแนะนำให้มาชมของดีในชุมชนอย่าง “ผ้าหมักโคลนดารานาคี” รวมไปถึงผ้าทอฝ้ายพื้นเมืองของบ้านสะง้อซึ่งทอขึ้นเองในหมู่บ้าน การหมักโคลนนั้นทำให้ผ้านุ่มลื่นมือ แต่โคลนที่นำมาหมักนั้นไม่ธรรมดา เพราะเป็นโคลนจากร่องลำห้วยซึ่งไหลจากแม่น้ำโขงเข้ามา บริเวณนั้นเรียกว่าน้ำสุด เพราะน้ำไหลไปต่อไม่ได้แล้ว เมื่อก่อนนี้เป็นร่องที่พวกสัตว์อย่างวัวควายจะลงมากินน้ำและเดินผ่านไปมา เกิดการทับถมของตะกอนดินและสิ่งต่างๆ ที่สำคัญคือผู้เฒ่าผู้แก่เคยเล่าว่าบริเวณนี้เป็นจุดที่บั้งไฟพญานาคเคยขึ้นเยอะในสมัยก่อน จึงเป็นที่มาของชื่อ “ผ้าหมักโคลนดารานาคี” ที่เอาโคลนจากบ่ออื่นๆ มาย้อมก็ไม่ได้สีเดียวกับโคลนที่มาจากบ่อนี้
ผ้าหมักโคลนนุ่มนิ่ม ย้อมด้วยสีธรรมชาติ
ผืนผ้าที่หมักโคลนจนนิ่มนอกจากจะเป็นสีเทาสวยจากโคลนแล้ว ยังถูกนำไปย้อมด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ได้อีกหลากหลายสีสัน แล้วจึงนำมาทอเป็นผืน บ้างเป็นผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ บ้างถูกตัดเย็บเป็นเสื้อคลุม กระโปรง กางเกงแบบแฟชั่นทันสมัย น่าซื้อหาไปใช้เองหรือเป็นของฝากก็เหมาะมาก

สอบถามรายละเอียดได้ที่ ผู้ใหญ่บ้านพูนสุข สุขมา โทร.09 5168 2778
สัญลักษณ์ของบ้านห้วยเล็บมือ
“บ้านห้วยเล็บมือ”

มายัง อ.บุ่งคล้า กันบ้าง ที่บ้านห้วยเล็บมือ หมู่ 5 ต.หนองเดิ่น อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ ชุมชนริมน้ำโขงแสนสงบซึ่งมีความโดดเด่นตรงที่เป็นชุมชนสองศาสนา เนื่องจากเดิมชาวบ้านห้วยเล็บมือซึ่งเป็นชาวไทเทิง อาศัยอยู่บริเวณแขวงคำม่วน สปป.ลาว ได้อพยพหนีสงครามมา แต่บางส่วนถูกจับไปเป็นทาส ต่อมาในปี 2444 บาทหลวงชาวชาวฝรั่งเศสชื่อมาลาลิก เดอลาเล็ท ได้ไถ่ตัวผู้ที่ถูกจับให้เป็นอิสระและสอนศาสนาให้ คนเหล่านั้นจึงมีความศรัทธาในศาสนาคริสต์และก่อตั้งชุมชนบริเวณนี้เป็นหมู่บ้านคาทอลิกตั้งแต่แรกเริ่ม

ส่วนที่มาของชื่อหมู่บ้าน “ห้วยเล็บมือ” เล่าว่ามีชาวบ้านไปหาปลาที่ลำห้วยทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านและพบวัตถุที่มีลักษณะคล้ายเล็บมือผู้หญิง จึงตั้งชื่อลำห้วยนั้นว่าห้วยเล็บมือ และกลายมาเป็นชื่อหมู่บ้าน ทางหมู่บ้านจึงสร้างสัญลักษณ์เป็นรูปมือไว้ริมน้ำโขงบริเวณลานด้านหน้าโบสถ์
โบสถ์คาทอลิกที่บ้านห้วยเล็บมือ
บรรยากาศภายในโบสถ์
เราเข้าไปเยือนที่ “วัดแม่พระถวายพระกุมารในพระวิหาร” หรือโบสถ์คาทอลิกอันเป็นศูนย์กลางชุมชนบ้านห้วยเล็บมือ ที่นี่เป็นโบสถ์หลังเล็กๆ อายุกว่า 100 ปี ยังคงมีรูปแบบเดิมเมื่อแรกสร้าง แต่มีการต่อเติมบริเวณระเบียงด้านหน้าประตูเท่านั้น ภายในโบสถ์นอกจากจะมีรูปปั้นพระเยซูตรึงไม้กางเขนแล้ว บนกำแพงรอบด้านยังมีเหล็กดัดเป็นรูปพระมหาทรมานของพระเยซูทั้ง 14 ภาค

ด้วยความเป็นชุมชนคริสต์ ในหมู่บ้านจึงมีพิธีทางศาสนาต่างๆ ที่น่าสนใจและยินดีให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม อาทิ การแห่ดาวในช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่แต่ละบ้านจะทำดาวกระดาษและนำออกมาแห่ในวันคริสต์มาสอีฟช่วงหัวค่ำท่ามกลางอากาศเย็นๆ ริมน้ำโขงของเดือนธันวาคม ส่วนในเดือนเมษายนจะมีการระลึกถึงพระมหาทรมานของพระเยซู โดยจะจำลองการแบกไม้กางเขนขึ้นเขาที่ภูทอกน้อยอันเป็นภูเขาในละแวกหมู่บ้าน เป็นต้น
รูปปั้นพระแม่มารีบนภูทอกน้อย
พูดถึง “ภูทอกน้อย” แล้วต้องพาขึ้นไปชมบรรยากาศด้านบนเสียหน่อย ด้านบนภูเขาแม้ไม่สูงมากนักแต่ก็มองเห็นทิวทัศน์ของบ้านห้วยเล็บมือและวิวน้ำโขงมุมสูงได้อย่างสวยงาม และที่สำคัญบนภูเขายังมีสิ่งที่แสดงถึงความเป็น “ชุมชนสองศรัทธา” ได้ชัดเจนตรงที่มีทั้งพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ รวมถึงมีไม้กางเขนและรูปปั้นพระแม่มารีสำหรับชาวคริสต์ขึ้นมาสักการะอีกด้วย
ชมวิวมุมสูงของบ้านห้วยเล็บมือและทิวทัศน์แม่น้ำโขงบนภูทอกน้อย
กำลังคั่วชาสิรินธรวัลลี
มาถึงบ้านห้วยเล็บมือแล้วหากอยากได้ของฝากติดไม้ติดมือกลับไป ขอแนะนำเป็น “ชาสิรินธรวัลลี” ที่ทำจากใบของต้นสิรินธรวัลลี หรือต้นสามสิบประดง ไม้ป่าหายากที่พบครั้งแรกที่ภูทอกน้อย กรมป่าไม้ได้ขอพระราชทานชื่อ “สิรินธรวัลลี” มาจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สรรพคุณของเจ้าต้นนี้ก็คือแก้น้ำเหลืองเสีย แก้ลมพิษ ภูมิแพ้ต่างๆ ทั้งยังช่วยขับเลือดขับลม ทำให้นอนหลับสบายอีกด้วย

สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.09 4258 6036
ลมพัดแรงจากภูเขาขาดมายังบ้านบุ่งคล้าเหนือ
“บ้านบุ่งคล้าเหนือ”

อีกหนึ่งหมู่บ้านริมโขงที่บ้านบุ่งคล้าเหนือ หมู่ 3 ต.บุ่งคล้า อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ จากบ้านบุ่งคล้าเหนือมองไปทางฝั่งลาวจะเห็น “ภูงู” ซึ่งมีช่องเขาเรียกว่าภูเขาขาด ซึ่งช่องเขาที่ขาดนั้นมีแม่น้ำกระดิ่งไหลผ่ากลางลงสู่แม่น้ำโขง บริเวณนี้จึงเรียกว่า “ปากกระดิ่ง” อยู่ในพื้นที่ของแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว โดยเหนือปากกระดิ่งมีสะพานรถข้ามสีขาว นั่นคือ “สะพานโฮจิมินห์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 13 ของลาวที่เชื่อมต่อสู่ลาวใต้นั่นเอง

จุดบรรจบของแม่น้ำกระดิ่งและแม่น้ำโขงก่อให้เกิด “แม่น้ำสองสี” โดยสายน้ำสีเขียวไหลมาจากแม่น้ำกระดิ่ง มาเจอกับสายน้ำสีน้ำตาลของแม่น้ำโขง ในวันที่ลมสงบนิ่งจะสามารถมองเห็นแม่น้ำสองสีจากฝั่งไทยได้ชัดเจน โดยสามารถนั่งเรือเที่ยวจากบ้านบุ่งคล้าเหนือไปชมจุดบรรจบของแม่น้ำสองสีกันอย่างใกล้ชิดกลางลำน้ำโขงก็ได้
แม่น้ำสองสีบริเวณปากกระดิ่งมาบรรจบกับแม่น้ำโขง
ศาลปู่โต่ง
แต่หากมาในช่วงเดือน พ.ย-ม.ค. ก็จะหาวันที่ลมสงบยากหน่อย เพราะช่วงนี้ถือว่าเป็น "ฤดูลม” ของบ้านบุ่งคล้าเหนือและหมู่บ้านใกล้เคียง ด้วยความที่อยู่ตรงกับช่องเขา ลมที่พัดมาจากฝั่งทะเลเวียดนามมุ่งตรงสู่ช่องเขาเข้ามายังพื้นที่แถบนี้จนทำให้ต้องมีฤดูลมเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งฤดู

ที่บ้านบุ่งคล้าเหนือมี “ศาลปู่โต่ง” เป็นที่เคารพสักการะของผู้คนในแถบนี้ เล่ากันว่า “ปู่โต่ง” เป็นคนดีมีศีลธรรม เป็นที่เคารพของคนโดยทั่วไป วันหนึ่งปู่โต่งได้กินแกงปลาไหลเผือกใส่มะละกอแล้วเกิดกระหายน้ำมาก จึงได้ลงไปกินน้ำในแม่น้ำบริเวณปากกระดิ่ง จากนั้นร่างกายปู่โต่งครึ่งหนึ่งจึงกลายเป็นงูและระลึกได้ว่าตนนั้นเป็นพญานาคที่ถูกส่งมาเป็นนายด่านดูแลเมืองในแถบนี้ให้อยู่เย็นเป็นสุข ผู้คนในบริเวณนี้ทั้งสองฝั่งจึงเคารพบูชาปู่โต่งกันมายาวนาน ทางฝั่งลาวเองบริเวณปากกระดิ่งก็มีศาลปู่โต่งดั้งเดิมอยู่ด้วยเช่นกัน
ลานพญานาค
อีกทั้งยังมี “ลานพญานาค” บริเวณที่เรียกว่าหาดท่าสำราญ เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นพญานาคปู่ศรีสุทโธจำลองที่ชาวไทยและลาวเคารพนับถือกัน ส่วนหาดท่าสำราญนั้นจะเกิดในช่วงหน้าแล้งที่น้ำลด จะเกิดเป็นหาดทรายกว้างริมแม่น้ำโขงให้คนได้มาพักผ่อนเล่นน้ำคลายร้อน กินอาหารสังสรรค์กันริมแม่น้ำโขง

อีกหนึ่งเรื่องแปลกของบ้านบุ่งคล้าเหนือคือจะมีบั้งไฟพญานาคขึ้นช่วงวันปีใหม่แทนที่จะขึ้นช่วงวันออกพรรษา ชาวบ้านที่นี่สังเกตเห็นมา 5-6 ปีแล้วหลังจากที่ได้ไปสังสรรค์กันริมแม่น้ำโขงจนถึงเที่ยงคืนก็ได้เห็นบั้งไฟพญานาคผุดขึ้นมา ปีก่อนๆ ที่เคยเห็นเยอะที่สุดคือ 30 กว่าลูก ขึ้นหลังจากข้ามวันส่งท้ายปีเก่าไปไม่กี่นาที เรียกบั้งไฟเคานท์ดาวน์ก็ว่าได้
เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นคล้า
ก่อนกลับหากอยากหาของฝากติดไม้ติดมือสามารถเลือกซื้อเครื่องจักสานจากต้นคล้าหลากหลายรูปแบบ ทั้งกระติ๊บข้าวเหนียว กระจาด รวมไปถึงไม้กวาดจากดอกแขม และกล้วยฉาบกรุบกรอบกินเพลิน

สอบถามรายละเอียดได้ที่ ผู้ใหญ่บ้านมนตรี รักโคตร โทร.08 5926 4213
ทิวทัศน์งามๆ ที่บ้านหนองเดิ่นท่า
“บ้านหนองเดิ่นท่า”


บ้านหนองเดิ่นท่า
อยู่ที่หมู่ 1 ต.หนองเดิ่น อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ ชาวบ้านที่นี่มีเชื้อสายไทย้อ ซึ่งอพยพหนีภัยสงครามและความอดอยากมาจากเมืองมหาชัยทางฝั่งประเทศลาว มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองเดิ่นท่าริมแม่น้ำโขง

ที่หมู่บ้านมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่มาตั้งแต่สร้างหมู่บ้าน มีฤดูลมเป็นฤดูที่สี่เช่นกัน และในหน้าแล้งที่น้ำลดจะเกิดหาดทรายกว้างขาวสะอาดตาความยาวกว่า 2.5 ก.ม. ริมฝั่งแม่น้ำโขงเรียกว่า “หาดสีดา” เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในหมู่บ้าน โดยช่วงเดือน พ.ย. ไปจนถึงหน้าร้อนหาดสีดาจะสามารถลงไปเล่นน้ำได้ถึงกลางแม่น้ำโขงเลยทีเดียว ทั้งยังมีวิวทิวทัศน์ที่งดงามของแม่น้ำโขงและทิวเขาซับซ้อนของฝั่งลาวทำให้บรรยากาศของบ้านหนองเดิ่นท่าน่ารักน่าเที่ยวไม่น้อยเลย
ฟ้อนรำกันริมแม่น้ำโขงในบรรยากาศสบายๆ
ดอกหญ้าและน้ำโขงบริเวณหาดสีดา
ที่นี่เราได้มีโอกาสได้ลิ้มลองกับข้าวพื้นบ้านอาหารพื้นเมืองอย่างแกงหวายไก่บ้าน ปิ้งป่นบอนหวาน ยำหอยเชอรี่ ลาบปลาน้ำโขงที่แม่บ้านบ้านหนองเดิ่นท่าตั้งใจทำโชว์ฝีมือปลายจวักเต็มที่ ซึ่งแต่ละจานก็อร่อยถูกใจ มาเที่ยวแล้วต้องลองชิมอาหารถิ่นด้วยเพื่อให้ครบรสชาติ
กินอาหารพื้นถิ่นแซบลิ้นที่บ้านหนองเดิ่นท่า
ที่บ้านหนองเดิ่นท่าก็ทำผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นคล้าเช่นกัน
ส่วนใครอยากช้อปสินค้าโอท็อปก็มีกลุ่มจักสานจากต้นคล้าที่สานเครื่องใช้อย่างกระติบข้าวเหนียว กระบุง ตะกร้า ถาดและที่รองแก้วอันเล็กๆ น่ารัก รวมไปถึงกระเป๋ารูปทรงสวยงาม ก็ล้วนแล้วแต่ใช้ต้นคล้าที่มีมากในท้องถิ่นมาทำทั้งสิ้น

สอบถามรายละเอียดได้ที่ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสีพอน สิงห์พิมพ์ โทร.08 9691 5801
ชาวบ้านหนองคังคาต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างอบอุ่นด้วยพิธีบายศรีสู่ขวัญ
“บ้านหนองคังคา”


ปิดท้ายกันที่บ้านหนองคังคา หมู่ 4 ต.หนองเดิ่น อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ ซึ่งบรรพบุรุษของหมู่บ้านได้อพยพมาจากทุ่งเชียงคำฝั่งลาวเพื่อหนีภัยสงครามและเพื่อหาพื้นที่อุดมสมบูรณ์เพื่อทำมาหากิน

ที่นี่ชาวบ้านหนองคังคาได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างอบอุ่นด้วยการเตรียมชุดพื้นบ้านของชาวบุ่งคล้าให้เปลี่ยนใส่และถ่ายรูปกันสนุกสนาน ก่อนจะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่ผู้ที่มาเยือน โดยคนในชุมชนมาร่วมผูกข้อไม้ข้อมือด้วยรอยยิ้มและคำอวยพรต่างๆ รวมถึงมีการแสดงฟ้อนรำเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างสนุกสนาน
เด็กในชุมชนแสดงการฟ้อนรำให้ชม
กระติบข้าวเหนียวหลายขนาดสานจากต้นคล้า
สำหรับสินค้าโอท็อปของบ้านหนองคังคาที่สามารถซื้อติดไม้ติดมือกันไปได้ก็มีทั้งเครื่องจักสานจากต้นคล้า และผ้าขาวม้าที่เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ของคนไทยทุกภูมิภาค ผ้าขาวม้าเหล่านี้ยังถูกนำมาประยุกต์เป็นกระเป๋า พวงกุญแจ และของใช้กระจุกกระจิกต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อกลับไปด้วย
มีภูมิปัญญาการทำพิณอีสาน
อีกทั้งที่บ้านหนองคังคายังมีภูมิปัญญาการทำพิณอีสานอีกด้วย โดยจะใช้ไม้เนื้อแข็งทำพิณ โดยมี 2 รูปแบบคือพิณโปร่งและพิณทึบ ผู้ที่สนใจในเครื่องดนตรีอีสานสามารถมาเรียนรู้และฝึกดีดพิณที่บ้านหนองคังคานี้ได้

สอบถามรายละเอียดได้ที่ ผู้ใหญ่บ้านประมวล ทองขาว โทร.06 5305 6414


ทั้ง 5 หมู่บ้านที่นำเสนอมานี้ต่างก็มีความน่าสนใจของวิถีชุมชนไปคนละแบบ แต่ละแห่งแม้จะเพิ่งจะเริ่มต้นเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ชาวบ้านทุกคนต่างพร้อมรอต้อนรับผู้มาเยือนด้วยน้ำใจไมตรี ดังนั้นหากใครอยากท่องเที่ยวแบบสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน และยังได้ชมวิวแม่น้ำโขงสวยๆ ขอแนะนำ “บึงกาฬ” และหมู่บ้านทั้ง 5 แห่งนี้ในการเดินทางครั้งต่อไป

สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบึงกาฬ โทร. 0 4249 2459
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น