xs
xsm
sm
md
lg

8 เทรนด์ท่องเที่ยวปี 2019 เน้นแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และแนวคิด “Less is more”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager

Booking.com เผย 8 เทรนด์ท่องเที่ยวในปี 2019 ที่วิเคราะห์จากรีวิวกว่า 163 ล้านรายการของผู้เดินทางที่ได้เข้าพักจริง รวมถึงแบบสำรวจจากผู้เดินทาง 21,500 คนจาก 29 ประเทศ พบว่าการเดินทางของนักท่องเที่ยวนั้นมีแนวโน้มดังนี้

ทริปเพื่อการเรียนรู้

ในปี 2019 จะปรากฏเทรนด์การเดินทางประเภทใหม่และวิธีการที่จะช่วยเติมเต็มความต้องการส่วนตัวของผู้เดินทาง ดังจะเห็นได้ว่าผู้เดินทางมุ่งมั่นที่จะมองหาและทำให้ทริปเดินทางมีความหมายยิ่งขึ้น กว่าครึ่ง (56%) ยอมรับว่าการเดินทางได้สอนทักษะการใช้ชีวิตที่ประเมินค่าไม่ได้ให้กับพวกเขา โดยในปี 2019 จะมีผู้คนจำนวนเพิ่มขึ้นที่ต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในระหว่างออกเดินทางท่องเที่ยว รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของทริปไปทำงานอาสาสมัครและทริปเน้นเรียนรู้ทักษะในกลุ่มผู้เดินทางทุกช่วงวัย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเจเนอเรชั่น Z ที่จะหันมาเปรียบเทียบคุณค่าของปริญญาราคาแพงจากมหาวิทยาลัยกับประสบการณ์ชีวิตและการเรียนรู้ที่ได้จากการเดินทางซึ่งสามารถนำมาใช้ในชีวิตจริง ยิ่งเมื่อบทบาทของประสบการณ์ที่อยู่นอกห้องเรียนและโต๊ะทำงานในออฟฟิศได้กลายมาเป็นคุณสมบัติของพนักงานที่น่าสนใจในสายตาของบริษัทหลายๆ แห่ง

ทั้งนี้เมื่อกล่าวถึงบรรดาทริปที่มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้นประเภทที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ผู้เดินทางทั่วโลก 68% เลือกที่จะไปทริปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ตามด้วยทริปอาสาสมัคร (54%) และทริปทำงานระหว่างประเทศ (52%)

ความสะดวกสบายเป็นเรื่องสำคัญ

ในปี 2019 “ความสะดวกสบาย” จะกลายเป็นมาตรฐานสำคัญที่ใช้ในการตัดสินนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการเดินทาง โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผู้เดินทางล้วนได้ข่าวเกี่ยวกับกระแสด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ความเป็นจริงเสมือน (VR) และการรู้จำเสียงพูด (Speech Recognition) โดยในปีหน้านวัตกรรมที่จะประสบความสำเร็จนั้นก็คือนวัตกรรมที่สามารถให้บริการเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างราบรื่นเป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้จริงสำหรับผู้เดินทาง ลองจินตนาการถึงการเข้าห้องพักโดยใช้โทรศัพท์ของคุณแทนกุญแจ หรือจะเป็นคำแนะนำด้านการเดินทางสำหรับคุณโดยเฉพาะ หรือแม้แต่คอนเซียร์จหุ่นยนต์ที่สามารถสื่อสารในภาษาของคุณได้

ทว่านวัตกรรมที่ทำให้เราตื่นเต้นที่สุดนั้นกลับไม่ใช่สิ่งที่ล้ำหน้าเหนือจินตนาการหรือแปลกแหวกแนวที่สุด ดังจะเห็นได้ว่าผู้เดินทางรู้สึกสนใจเรื่องการติดตามสัมภาระผ่านแอปในแบบเรียลไทม์ (57%) และการสามารถวางแผนจัดการทุกอย่างเกี่ยวกับการจอง และความต้องการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทางผ่านแอปพลิเคชั่นเดียว (57%) มากกว่าที่จะสนใจระบบขนส่งอัตโนมัติแบบไร้คนขับในจุดหมายนั้นๆ (40%) เรียกได้ว่า นวัตกรรมที่มีความซับซ้อนจะช่วยขับเคลื่อนให้เทคโนโลยที่เรียบง่ายราบรื่นนี้สร้างความมั่นใจและความยืดหยุ่นในการเดินทางเหนือไปอีกระดับ

นอกจากนี้ในปี 2019 เรายังจะเห็นเทคโนโลยีต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับการค้นคว้าข้อมูลในช่วงก่อนทริป ผู้เดินทางทั่วโลกเกือบ 1 ใน 3 (31%) ชื่นชอบไอเดียของบริการ “ตัวแทนเสมือนจริงด้านการท่องเที่ยว” ที่บ้านของพวกเขา ซึ่งใช้ระบบตอบกลับด้วยเสียงเพื่อตอบข้อซักถามที่มีเกี่ยวกับการเดินทาง นอกจากนี้ผู้เดินทาง 1 ใน 5 ยังอยากเห็นเทคโนโลยีอย่างโลกเสมือนผสานโลกความเป็นจริง (Augmented Reality) เพื่อทำความคุ้นเคยกับจุดหมายก่อนที่จะถึงวันเดินทาง

เฝ้ามองอวกาศอันเวิ้งว้าง ขอบเขตที่ไม่คุ้นเคย

นาซ่าจะเริ่มก่อสร้างสถานีอวกาศ Lunar Space Station ในปี 2019 (เริ่มใช้งานในปี 2022) และเราจะเห็นการลงทุนเพิ่มขึ้นในส่วนของการเดินทางด้วยยานอวกาศ นับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไปเราจะพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดของจุดหมายที่เราสามารถไปเยือน และยิ่งเทคโนโลยีด้านอวกาศก้าวหน้าไปมากเพียงใด การท่องเที่ยวในห้วงอวกาศก็ดูไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดอีกต่อไป บริษัทด้านการท่องเที่ยวและบริษัทเกี่ยวกับสินค้าบริโภคอื่นๆ จะเริ่มลงทุนกับการทดสอบบนโลกเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการดำรงชีวิตในอวกาศและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการบุกเบิกขอบเขตใหม่ๆ นอกจากนี้ ผู้เดินทาง 1 ใน 10 (40%) ยืนยันว่ารู้สึกตื่นเต้นกับความเป็นไปได้ว่าจะมีการเดินทางท่องอวกาศในอนาคตและยังคิดที่จะลองสัมผัสประสบการณ์นี้ด้วยตนเอง (38%)

จนกว่าเราจะสามารถท่องอวกาศได้จริง เหล่าผู้กล้าเหล่านี้ยังมองการเดินทางไปยังจุดหมายที่ใกล้เข้ามาอีกนิด อย่างการสำรวจดินแดนบนโลกที่ยังไม่มีมนุษย์ย่างกรายเข้าไป ซึ่งผู้เดินทางส่วนใหญ่สนใจบริเวณใต้พิภพ โดยผู้เดินทาง 6 ใน 10 (60%) บอกว่าต้องการพักที่ที่พักใต้ทะเล ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2019 ก็มีแนวโน้มที่จะเห็นบ้านพักและโรงแรมประเภทใหม่ๆ ที่แปลกเหนือคำบรรยายปรากฏให้เห็น

เจาะลึกและเฉพาะคนยิ่งขึ้น

ในปี 2019 เราจะได้เห็นการพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านวิธีที่ข้อมูลด้านการเดินทางถูกนำไปใช้ คู่มือท่องเที่ยวแบบกว้างๆ และเนื้อหายาวเหยียดเห็นทีจะต้องหลีกทางให้กับคู่มือแบบกระชับ แต่มีความสอดคล้องและเหมาะสำหรับผู้เดินทางแต่ละท่านยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถแสดงในฟีดของผู้เดินทางได้อย่างราบรื่น โดย 1 ใน 3 ของผู้เดินทาง (34%) ต้องการให้มีบางคนหรือเครื่องมือบางอย่างช่วยค้นคว้าข้อมูลและแนะนำตัวเลือกด้านการเดินทางสำหรับพวกเขา ในขณะเดียวกัน 2 ใน 5 (41%) ต้องการให้ผู้ให้บริการด้านการเดินทางใช้เทคโนโลยี AI เพื่อให้คำแนะนำนั้นอิงจากประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ผ่านมาของพวกเขา ทั้งนี้ผู้เดินทางกว่าครึ่ง (52%) ตื่นเต้นกับนวัตกรรมด้านการเดินทางอย่างการทัวร์แบบดิจิตอลเพื่อสัมผัสประสบการณ์เฉพาะสำหรับพวกเขาอย่างแท้จริง

เมื่อสิ่งสำคัญในตอนนี้ได้เทไปที่คำแนะนำที่เหมาะสำหรับตัวบุคคลซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าได้รับความเพลิดเพลินจากทุกทริปให้มากที่สุด ผู้เดินทางจึงยิ่งคาดหวังให้ผู้ผลิตข้อมูลด้านการเดินทางที่อัดแน่นและเป็นมืออาชีพจะต้องหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นที่จะเผยแพร่ข้อมูลนี้ผ่าน AI และเมื่อก้าวเข้าสู่ปีหน้า เราก็จะยิ่งก้าวเข้าใกล้เป้าหมายที่ต้องการ

เดินทางอย่างมีความตระหนักรู้

สืบเนื่องจากความตื่นตัวที่เพิ่มขึ้นในเรื่องประเด็นต่างๆ ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม หรือสภาพการทำงาน ทำให้ในปี 2019 เราจะเห็นผู้เดินทางมีความตระหนักรู้ในเรื่องดังกล่าวได้อย่างชัดเจน โดยจะมีการตั้งคำถามมากขึ้นเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมในจุดหมายต่างๆ ก่อนที่ผู้เดินทางตัดสินใจเลือกว่าจะเดินทางไปที่ใด ในปัจจุบันผู้เดินทางเกือบครึ่ง (49%) รู้สึกว่าประเด็นทางด้านสังคมในจุดหมายที่พวกเขาสนใจนั้นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างแท้จริงในการเลือก โดยกว่าครึ่ง (58%) เลือกที่จะไม่ไปยังจุดหมายที่พวกเขารู้สึกว่าการเดินทางนั้นจะส่งผลกระทบกับผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่น

ถึงแม้ว่าผู้เดินทางจำนวนเพิ่มขึ้นต่างมองหาประสบการณ์ใหม่ ๆ และมีกลิ่นอายความเป็นท้องถิ่นอย่างแท้จริง แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็อยากมั่นใจว่าการเดินทางจะปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเพศใด เชื้อชาติไหน หรือมีรสนิยมทางเพศแบบใดก็ตาม แพลตฟอร์มอย่าง Destination Pride นั้นสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลายเพื่อจัดอันดับว่าจุดหมายที่ผู้เดินทางเลือกนั้นเป็นมิตรกับกลุ่ม LGBT+ มากน้อยเพียงใด ในขณะที่จุดหมายและองค์กรต่าง ๆ จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในการสนับสนุนกลู่มผู้หญิงที่ออกเดินทางแบบฉายเดี่ยว ทั้งนี้ข้อมูลจาก Booking.com เผยว่าผู้เดินทางเกือบ 1 ใน 5 (19%) วางแผนที่จะเข้าร่วมเทศกาล Pride ต่าง ๆ ในปี 2019 โดยมีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มผู้เดินทางอายุน้อย (ซึ่งมีจำนวนเกือบ 1 ใน 3 (30%) ของผู้เดินทางอายุ 18 - 34 ปี)

พลาสติกไม่ใช่เรื่องเจ๋ง

พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งจะยังคงเป็นประเด็นร้อนกันต่อไป แต่ในปี 2019 นั้นความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมจะแปรเปลี่ยนมาเป็นการลงมือทำมากขึ้น โดยผู้เดินทางยุคมิลเลนเนียลและกลุ่มเจเนอเรชั่น Z จะมองหาประสบการณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในจุดหมายที่เดินทางไป ในขณะที่ผู้ให้บริการที่พักเองก็มองหาช่องทางที่จะลดการใช้พลาสติกและเพิ่มใบรับรองในด้านการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ผู้เดินทางจากทั่วโลกส่วนใหญ่ (86%) ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขายินดีที่จะใช้เวลาทำกิจกรรมที่จะชดเชยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากทริปของตน โดยกว่า 1 ใน 3 (37%) เต็มใจที่จะเก็บขยะและพลาสติกจากชายหาดหรือสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

เพราะการตั้งคำถามอย่างเจาะลึกของผู้เดินทางเกี่ยวกับสิ่งที่จุดหมายและที่พักที่พวกเขาสนใจทำเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนร่วมกับความต้องการที่จะเดินทางอย่างมีจิตสำนึก ดังนั้นการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพเชิงอนุรักษ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นกว่าที่เคยเป็นมา จึงไม่แปลกที่จะได้เห็นบริษัทสตาร์ทอัพหน้าใหม่ด้านการเดินทาง ตลอดจนกิจการส่วนบุคคลที่จะช่วยกำหนดอนาคตใหม่ของจุดหมายต่าง ๆ บนโลกซึ่งจะเริ่มเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นในปีที่กำลังมาถึง โดยมีเทคโนโลยีที่น่าทึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหา

เก็บรักษาประสบการณ์

การเดินทางเพื่อสัมผัสประสบการณ์ถือเป็นหัวใจสำคัญของเทรนด์เดินทางหลักประจำปี 2018 แต่ในปี 2019 เทรนด์นี้จะก้าวไปอีกขั้น กล่าวคือเมื่อนึกถึงการเดินทาง “สิ่งที่ทำ” จะมีความสำคัญเทียบเท่า “การไปเยือน” หรือเผลอ ๆ อาจจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำ โดยผู้เดินทางเกือบ 2 ใน 3 (60%) ให้ความสำคัญกับประสบการณ์มากกว่าสิ่งของที่ได้มาเสียอีก ในปี 2019 เราจะเห็นผู้เดินทางเก็บเกี่ยวประสบการณ์มากมายทั้งที่แตกต่างและมีความเป็นท้องถิ่นอย่างแท้จริง นับตั้งแต่ที่ที่พวกเขากินและนอน ไปจนถึงสถานที่จับจ่ายซื้อของและดูกีฬาสุดโปรด โดยมุ่งไปที่การสร้างช่วงเวลาที่มีความสุขและความพึงพอใจไปอีกนานเมื่อหวนนึกถึง

เพราะเราทุกคนต่างเผชิญชีวิตประจำวันที่วุ่นวาย ดังนั้นประสบการณ์การเดินทางจึงช่วยแบ่งเบาภาระความเครียดจากชีวิตวัยผู้ใหญ่ ในปี 2019 ผู้เดินทาง 2 ใน 5 (42%) วางแผนที่จะไปเยือนจุดหมายที่ทำให้รู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ดังนั้นเราจะได้เห็นบรรดาที่พักให้ความสำคัญมากขึ้นกับองค์ประกอบและบรรยากาศที่สะท้อนถึงความเป็นเด็กและความสนุกสนาน เช่น สระลูกบอลและปราสาทเบาะกระโดดสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เดินทางกลุ่มมิลเลนเนียลและกลุ่มเจน Z ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ต้องการย้อนบรรยากาศวัยเยาว์อีกครั้ง

ทริปสั้นๆ แต่เจ๋งไม่แพ้ใคร(Less is more)

ผู้เดินทางทั่วโลกกว่าครึ่ง (53%) กล่าวว่าพวกเขาวางแผนทริปสุดสัปดาห์เพิ่มขึ้นในปี 2019 โดยมีการคาดการณ์ว่าปีดังกล่าวทริปเล็กๆ ซึ่งเหมาะสำหรับแต่ละบุคคลโดยเฉพาะและมีแผนการเดินทางอัดแน่นในระยะเวลาสั้นๆ จะมาแรง ซึ่งสะท้อนแนวคิด Less is more หรือ “เรียบง่ายแต่ได้มาก” เพราะผู้เดินทางต่างมองหาประสบการณ์พิเศษเฉพาะสำหรับบุคคลเสียมากกว่า

ด้วยนวัตกรรมที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องในด้านการเดินทาง ทั้งเส้นทางการบินที่เพิ่มขึ้น เที่ยวบินราคาประหยัด ไปจนถึงบริการเช่ารถยนต์ออนดีมานด์ที่สะดวกง่ายดายและสามารถแชร์กันได้ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับบริการขนส่งสาธารณะอย่างละเอียดแบบเรียลไทม์ซึ่งให้บริการกับผู้มาเยือนอย่างราบรื่นไม่ติดขัด ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทริประยะสั้นนั้นมีความหลากหลายและเหมาะกับตัวผู้เดินทางแต่ละคนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นแม้ทริปจะสั้นลงแต่ก็ตอบโจทย์ความต้องการส่วนตัวและทำให้อิ่มเอมใจได้มากกว่า นอกจากนี้ เรายังเห็นความต้องการซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่จะพักในที่พักประเภทแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ที่จะมอบความประทับใจแม้จะเป็นทริปสั้นๆ ก็ตามที

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager
กำลังโหลดความคิดเห็น