บนถนนเส้นทางหัวหิน-ป่าละอู หลังจากขับรถขึ้นจนสุดภูเขา จะมีศาลตายายซ้ายมือ แล้วทางจึงจะลงภูเขาอีกครั้ง ไกลออกไปคือแนวเขาตะนาวศรีอันยิ่งใหญ่ ทำให้ที่ราบระหว่างภูเขากลายเป็นที่อยู่อาศัยของทั้งคน ใน ต.ห้วยสัตว์ใหญ่และ ต.ป่าเด็ง และสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพันธุ์และสัตว์ป่า โดยเฉพาะ “ช้าง” เพราะนับจากลงสันเขาศาลตายายที่เป็นส่วนหางของเขาหุบเต่าลงไปจนถึงบ้านห้วยสัตว์ใหญ่ คือดินแดนที่เราจะพบช้างป่าได้แทบทุกวัน
เมื่อเราลงจากหุบเขา จะถึงด่านตรวจของ ตชด. และเลยมาอีกราว 4 กม. ก็จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยาน ที่ กจ. 7 (หุบเขาเต่า) ที่หน่วยพิทักษ์ป่าแห่งนี้ จะมีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คอยทำหน้าที่ไล่ไม่ให้ช้างออกมาเดินบนถนน อันอาจเกิดอันตรายกับการเดินทางสัญจรของประชาชนได้ เพราะถนนเส้นนี้ไม่ใช่เข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นเส้นทางสัญจรของชุมชนสองตำบล การปิดเส้นทางสายนี้จึงเป็นไปไม่ได้ การถ้อยทีถ้อยอาศัย เรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างช้าง กับคน จึงเป็นเรื่องที่คนในสองตำบลและเจ้าหน้าที่ ต้องทำความเข้าใจในพฤติกรรมช้างร่วมกัน
นายวุฒิพงษ์ ศรีช่วย ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่รับผิดชอบการดูแลสัตว์ป่าในย่านนี้ให้ข้อมูลว่า “...ช้างในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีประมาณ 200 ตัว ซึ่งถือว่าหนาแน่นมาก แล้วช้างของแก่งกระจานก็ไม่ลงปนกับช้างกุยบุรี เขาจะลงมาใต้สุดก็คือย่านป่าเด็ง ห้วยสัตว์ใหญ่ และขึ้นไปไกลสุดก็จะแค่บางกลอย จะไม่ขึ้นไปทางเหนือถึงจะโปรง ลิ้นช้าง ย่านที่ช้างแก่งกระจานอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นก็คือย่านเขาหุบเต่านี่เอง ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานพยายามที่จะไม่ให้ช้างออกมาบนถนน เพราะถนนเส้นทางนี้ประชาชนสัญจรเป็นปกติ จึงต้องมีชุดคอยเฝ้าระวัง ตลอด 24 ชม. คอยรับแจ้งเหตุช้างป่าออกมาบนถนน พอออกมาเจ้าหน้าที่เราก็จะไปไล่เพราะผู้สัญจรบางคันเขามาจากที่อื่น เป็นรถนักท่องเที่ยวบ้าง(ด้านในมีน้ำตกป่าละอู) เขาอาจจะไม่คุ้นเคย ถ้าเป็นชาวบ้านในนี้เขาจะรู้ เขาไม่ทำอันตรายช้าง อะลุ้มอล่วยกัน ถ้าเขาเจอช้างออกมาเขามักจะมาจอดบอกเจ้าหน้าที่ตรงป้อมของหน่วยเรา ชุดเรานอกจากมีเข้าหน้าที่อุทยานฯแล้ว ยังมีทหาร มาตรวจร่วมด้วย อุทยานฯแก่งกระจาน จะจัดชุดเฝ้าระวังมีทั้งชุดเฝ้าระวังบนถนน มีศูนย์อยู่ที่หน่วยฯเขาหุบเต่า และเฝ้าระวังชุมชน จะอยู่ที่ห้วยสัตว์ใหญ่ ทั้งสองชุดทำงานกัน 24 ชม.”
...ครั้นถามว่าแล้วทำไมช้างถึงมักออกมาตามถนน ผู้ช่วยวุฒิพงษ์บอกว่า
“...ช้างมันเคยได้กิน คือแรกเลยก็พ่อค้าสับปะรดนี่แหละที่พอเอาออกไปขายบางทีขายไม่หมด เก็บไว้ก็เน่า ขายก็ไม่ได้ราคา ก็กลับอามาให้ช้างกินดีกว่า บ่อยเข้า ช้างก็ออกมาอยู่ริมๆถนนรอกิน อุทยานฯแก่งกระจาน ทำเสริมให้ทุกอย่าง ปลูกพืชอาหาร ทำโป่งเทียม แหล่งน้ำ ไม่ให้เขาขาดแคลนแต่ด้วยความที่มีจำนวนมาก เขาก็ไม่พอ โชคดีที่ช้างแก่งกระจานไม่ก้าวร้าว...”
ดาวเด่นของเส้นทางสายนี้คือ “บุญช่วย” บุญช่วยเป็นช้างหนุ่ม วัย 30 ปี เป็นช้างรูปหล่อ รูปร่างสูงใหญ่ เชื่อง และรู้ความ ฟังภาษาคนรู้เรื่อง บุญช่วยจึงคุ้นเคยกับชาวบ้านทั้งสองตำบลและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นอย่างดี
แทบทุกเย็น ตั้งแต่บ่ายสามโมง บุญช่วยจะออกมาหากินใกล้ๆถนนไม่ห่างจากที่ทำการหน่วยพิทักษ์ป่าเขาหุบเต่ามากนัก เจ้าหน้าที่บอกว่า เป็นย่านของเขา ราวบ่าย 4 โมงเย็น คณะสื่อมวลชนเรานั่งรถสายตรวจชุดไล่ช้าง ออกไปตามถนน ห่างหน่วยพิทักษ์ไม่ถึงหนึ่งกิโลก็เจอช้างหนึ่งตัวอยู่ริมถนน ครั้นพอเห็นรถเจ้าหน้าที่ที่มีไฟวาบบนหลังคาช้างตัวนี้ก็หลบเข้าป่าไป เจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าหลบเข้าป่าแบบนี้ไม่ใช่บุญช่วย ถ้าเป็นบุญช่วยจะไม่หลบ
ครั้นพอวนรถกลับอีกรอบ เจ้าหน้าที่บอกให้หยุดพร้อมชี้มือให้ดูต้นไม้ข้างทางที่สั่นไหว
“ช่วย” เสียงเจ้าหน้าที่ร้องเรียก ต้นไม้ยังสั่นไหวเหมือนเดิม เจ้าหน้าที่ลงจากรถไปยืนเรียกบนพื้นถนน ห่างต้นไม้ที่โยกไหวไม่ถึง 5 เมตร ตอนนั้นเรายังไม่เห็นตัว เห็นแต่ต้นไม้ที่สั่นไหวอยู่
“ไอ้ช่วยแน่นอน “ เจ้าหน้าที่ยืนยัน
“รู้ได้ยังไง ไม่เห็นตัวสักหน่อย” “ถ้าเป็นช้างอื่นมันเดินหนีแล้ว นี่ไอ้ช่วยมันไม่หนี”
“ช่วย ออกมาให้เขาถ่ายรูปหน่อยดุ๊ นักข่าวเขามาเยี่ยม เอ็งอย่าให้เขาเสียเที่ยวนะ”
แต่บุญช่วยก็ยังไม่ออกมา ระหว่างนั้นก็ได้ยินเสียงไม้หักโผงผางทั้งสองฝั่งถนน เจ้าหน้าที่บอกมีช้างออกทั้งสองฝั่งเลย ไม่เฉพาะบุญช่วยเท่านั้น
ฝนเริ่มปรอยลงมา คณะเราจึงต้องกลับมารอกันที่หน่วยพิทักษ์ เขาหุบเต่าตามเดิม
“ไม่ต้องกลัวหรอก ช่วยมันออกมาทุกวัน มามันก็จะวนอยู่ย่านนี้แหละ ถ้าออกทางนั้น(ชี้ไปทางด้านศาลตายาย) เดี๋ยวมันก็เดินมาทางหน่วยเรา มันมากินน้ำฝนในถังที่รองจากหลังคาเป็นประจำ น้ำห้วยมันก็ไม่กิน “ พี่สงัด แจ่มแจ้ง เจ้าหน้าที่เจ้าของเสียงไล่บุญช่วยจากในคลิป หนึ่งในหลายคนที่บุญช่วยคุ้นเคย เล่าให้ฟังว่า
“... ผมอยู่ยามแจ้งเหตุช้าง นอนดูทีวีในป้อมนี่ มันเดินมาเงียบๆ บนถนนเอางวงมาลูบหัวผม ผมตกใจตื่นเห็นเป็นไอ้ช่วย เลยต่อว่ามันว่า ตกใจหมดไอ้ช่วย จะไปกินน้ำก็ไปไป แล้วอย่าออกไปบนถนนนะ บุญช่วยมันก็เดินเข้าไปกินน้ำในหน่วย..” เรื่องเล่าของบุญช่วยทำเอาเรายิ้มในพฤติกรรมของเขา
“...ในบรรดาช้างแก่งกระจาน มีอยู่ 5-6 ตัวที่มักออกมาบนถนน บุญช่วย บุญมี ทองเหม็น ไอ้ตัวนี้เหม็นสมชื่อ ตัวมันเหม็นเหมือนคนตายเลย แต่ทั้งหมดนี่บุญช่วยดูฉลาดที่สุด มันจะมาหากินริมๆ ถนนนี่แหละ มันฟังเสียงรถ ถ้ารถเสียงหนักๆมา มันจะออกมาขวางทางเลยไถเขา บางทีสับปะรด แตงโม กล้วย อ้อย มันก็เอานิดหน่อย แล้วมันก็ปล่อยไป คนเขาก็รู้ก็ยอมให้มันเอาไปกินบ้าง ไอ้ตัวอื่นไม่กล้านะ มีบุญช่วยนี่แหละทำบ่อย”
“...บางทีมันฉลาด เราไล่ มันก็ไปหลบในป่า แล้วมันไปลากกิ่งไม้มาขวางทาง แล้วไปแอบข้างทาง พอรถมาถึงต้องจอด มันก็จะออกมาขอแบ่งไปกิน มันหลอกเจ้าหน้าที่ด้วย”
“.....มีครั้งหนึ่ง ไอ้ช่วยกะบุญมีมันทะเลาะกัน มันมาวิ่งไล่-หลบกันหลังป้อมผมนี่ เหมือนเด็กวิ่งไล่จับกันเลย ไอ้ช่วยตัวเล็กกว่ามันหลบหลังป้อม เรากลับมาจากไปตรวจก็มาเห็นมันแล้วจากไกลๆ ช้างมันมาอยู่ที่หน่วย พอไอ้ช่วยมันเห็นเจ้าหน้าที่มา เหมือนมันได้พวกมันไล่กวดบุญมีเข้าป่าเลย ไอ้ช่วยนี่มันฉลาด”
“....ที่นี่ช้างมันไปเที่ยวตลาดนัดด้วยนะ ตรงป่าเด็งนี่ วันมีตลาดนัด ช้างมันมากันทั้งโขลงเลย พ่อค้า แม่ค้าอะไร หนีกันหมด แต่มันไม่ทำอะไร มันเดินผ่านตลาดนัดเฉยๆ”
คณะเรารอจนเริ่มโพล้เพล้ ก็เห็นรถบางคันกระพริบไฟ แสดงว่ามีช้างออกแล้ว รถที่แจ้งเหตุก็มาจอดคุยกับเจ้าหน้าที่ บอกว่าเจอช้าง เพียงครู่เดียว เราก็เห็นช้างตัวใหญ่เดินหลุดโค้งมาบนถนน เห็นตัวอย่างชัดเจน
“...ไอ้ช่วย” เสียงเจ้าหน้าที่บอก รถคันที่มาแจ้งเหตุหันหัวรถไปทางบุญช่วยแล้วเปิดไฟสูงให้เราเห็นบุญช่วยอย่างถนัดตา บุญช่วยเดินมาพอใกล้ถึงป้อม ห่างไปราว 20 เมตร ก็วกขึ้นด้านบนหน่วย อ้อมห้องน้ำไปหยุดหน้าถังน้ำขนาดใหญ่
....มันมากินน้ำฝน....
“...ช่วย อยู่ให้เขาถ่ายรูปนานๆ เขารอเอ็งตั้งนานแล้ว”.....เสียงเจ้าหน้าที่ตะโกนบอกบุญช่วย แล้วก็เหมือนรู้ความ บุญช่วยจะอ้อยอิ่ง เอางวงดูดน้ำแล้วค่อยๆใส่ปาก ให้บรรดาสื่อมวลชนทั้งถ่ายวีดีโอ ทั้งไลฟ์สด ถ่ายคลิป ถ่ายภาพนิ่ง กันจนเพลิน บุญช่วยถึงเดินออกมาหลบหลังต้นไม้ ให้ถ่ายรูปอยู่อีกนาน
“....ไอ้ช่วย เอ็งยืนหลบต้นไม่ซะมิดเลยนะ” ทำเอาหัวเราะกันครืน กับพฤติกรรมบุญช่วย จนเราหนำใจหลายคนเริ่มเก็บอุปกรณ์ บุญช่วยจึงเดินหายเข้าไปในป่า
...แล้วบุญช่วยก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง ไม่ทำให้จ้าหน้าที่แก่งกระจานเสียชื่อ
“.....เท่าที่ผ่านมาที่ผมมาอยู่ บุญช่วยไม่เคยทำร้ายใคร มีแต่ว่ามาพังบ้านเจ้าหน้าที่เราเมื่อเร็วๆนี้ เพราะเอากล้วยไปไว้ในบ้าน มันได้กลิ่นเลยพังเข้าไป ผมกำลังจะให้เจ้าหน้าที่ไปซ่อมแซมอยู่” หัวหน้ามานะ เพิ่มพูน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกล่าว
หัวหน้ามานะ เพิ่มพูน ฝากทิ้งท้ายว่า “...ที่จะต้องขอความร่วมมือคือ เมื่อใช้เส้นทางนี้ขอให้งดทิ้งเศษอาหาร หรืออย่าให้อาหารสัตว์ป่าในบริเวณสองข้างทาง เพื่อควบคุมพฤติกรรมสัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างป่า ไม่ให้มารออาหารในเขตการจราจร ซึ่งอาจเป็นอันตรายทั้งคนที่สัญจรและตัวสัตว์ป่าเองด้วย รวมทั้งอย่าขับรถเร็ว ขอให้ทำตามกฎของอุทยาน ที่ทำป้ายเตือนไว้ตลอดเส้นทางอย่างเคร่งครัด”
สำหรับนักท่องเที่ยว ถ้าอยากเห็นบุญช่วยและผองเพื่อน สามารถมาแจ้งความจำนงค์ที่หน่วยฯเขาหุบเต่า แล้วฟังการแนะนำจากเจ้าหน้าที่ ช้างจะออกราว 15.00 น.เรื่อยไปจนกลางคืน ในทุกๆวัน
กรณีของบุญช่วย และช้างป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทำให้เราเห็นการจัดการบริหารให้ช้างอยู่ร่วมกับคนได้ มีความยืดหยุ่นทั้งสองฝ่าย ไม่เข้มงวดกับช้างจนเกินไปจนช้างเครียด ในขณะเดียวกันก็ต้องมีกฎกติกาสำหรับชุมชนที่อยู่ร่วมกับช้างด้วยว่าคนก็ต้องยืดหยุ่นกับช้างอย่างไร หนักนิดเบาหน่อย ก็อยู่กันไป ช้างก็กินแค่อิ่ม ไม่เคยสะสม เมื่อคนเข้าใจช้าง ช้างรู้จักคน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติก็เกิดขึ้นได้
ไปแก่งกระจานหรือนึกถึงปัญหาช้างกับคน ขอให้นึกถึง “บุญช่วย ช้างป่าผู้น่ารัก...” แล้วรอยยิ้มจะเกิดขึ้นในใจคุณ....
....................................................................................................
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager