“วีระศักดิ์” ชูศักยภาพ ‘จันทบุรี’ ขึ้นแท่น ‘ต้นแบบเมืองรอง’ ครบเครื่องเรื่องวิถีถิ่น และแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ หลังอัตราการเติบโตทั้งจำนวนและรายได้ใกล้เคียงกับเมืองหลัก พร้อมโปรโมทชุมชนริมน้ำจันทบูร และชุมชนญวณ เปี่ยมเสน่ห์มัดใจนักท่องเที่ยว
กล่าวได้ว่า เป็นรัฐมนตรีที่บุกเบิกการท่องเที่ยวเมืองรองจนเกิดเป็นกระแสซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะ สำหรับ “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทั่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “รัฐมนตรีเมืองรอง” ในฐานะที่มีส่วนอย่างสำคัญต่อการผลักดันให้ “เมืองรอง 55 จังหวัด” ที่แต่เดิมอาจจะเป็นเพียงแค่ทางผ่าน ให้กลายเป็นจุดหมายการท่องเที่ยว
โดยวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลเรื่องการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนในประเทศ ในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กำหนดนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อใช้กลไกการท่องเที่ยวเข้าไปช่วยกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ยกระดับฐานรากให้เข้มแข็งจากการกระจายรายได้สู่ชุมชน หวังลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ดังนั้น เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในเป้าประสงค์ที่ตรงกันทุกภาคส่วน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้จัดกิจกรรมสัมมนาและอบรมเชิงปฏิบัติการ การท่องเที่ยวเมืองรอง และการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน เชิญชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งสื่อมวลชน มาร่วมรับฟังข้อมูล พร้อมลงพื้นที่สัมผัสแหล่งท่องเที่ยวในเมืองรอง เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อม
โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดสรรงบประมาณ วางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ส่งเสริมทั้งฝั่งดีมานด์และฝั่งซัพพลาย ซึ่งส่วนของดีมานด์ ดำเนินการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางไปยังเมืองรองต่างๆ อย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายคือลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในเมืองหลัก และผลักดันให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวอย่างลึกซึ้งถึงระดับชุมชน ผ่านกิจกรรมการตลาดและประชาสัมพันธ์ต่างๆ เช่น โครงการ ‘Amazing Thailand Go Local’ โดย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ผลักดันให้รัฐบาลออกมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดประชุมสัมมนาใน 55 เมืองรอง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
สำหรับฝั่งซัพพลายได้เตรียมความพร้อม ด้วยการลงพื้นที่ทำวิจัยตลาดและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมีเครือข่ายและองค์กรเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนที่เกี่ยวข้องจัดอบรม มอบองค์ความรู้ด้านการตลาดแก่คนในชุมชน พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในท้องถิ่น สามารถนำไปต่อยอดและสร้างอัตลักษณ์แก่สินค้าท่องเที่ยวต่อไป
“สิ่งที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต้องเดินหน้าคือการขยายผลของนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรองเพื่อให้เกิดความร่วมมือระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชนอย่างต่อเนื่องในปีนี้ถึงปีต่อๆ ไป เน้นการพัฒนาจากภายในชุมชนเป็นหลัก หากชุมชนไหนอยากพัฒนาการท่องเที่ยว เราก็พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ และบูรณาการความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้องและดำเนินแผนไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนซึ่งถือเป็นหน่วยเล็กแต่สำคัญที่สุดของเป้าหมายการพัฒนาครั้งนี้”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวต่อไปว่า จันทบุรีเป็นเมืองรองที่มีศักยภาพ ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวจังหวัดนี้มีการเติบโตชัดเจน ทั้งจำนวนและรายได้ที่ใกล้เคียงกับเมืองหลัก จากสถิติช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2559) จันทบุรีมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงขึ้นต่อเนื่อง จาก 1.55 ล้านคนในปี 2555 เพิ่มเป็น 1.94 ล้านคน ในปี 2559 เกิดรายได้จากการท่องเที่ยว เพิ่มจาก 4,218 ล้านบาทในปี 2555 เป็น 5.700 ล้านบาท ในปี 2559 ส่วนปี 2560 ข้อมูลเบื้องต้นระหว่างเดือนมกราคม – ธันวาคม จังหวัดจันทบุรีมีนักท่องเที่ยวรวม 2.01 ล้านคน มีรายได้รวม 6,182 ล้านบาท
“จันทบุรีเป็นเมืองรองที่มีศักยภาพ มีความโดดเด่นเรื่องอาหารถิ่น เชื้อชาติ วิถีชีวิต ชุมชนที่หลากหลาย และที่ขาดไม่ได้เลยคือเรื่องผลไม้ จนต้องยกให้เป็นเมืองผลไม้คุณภาพ นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งทะเล ภูเขา น้ำตก รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ โบราณสถาน และเรื่องราวน่าสนใจทรงคุณค่ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการสืบทอดมาช้านาน โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเชื่อมโยงจากเมืองหลักในภาคตะวันออกอย่างระยอง หรือตรงมาที่จันทบุรีก็ได้เช่นกัน”
ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกนั้น วีระศักด์ โควสุรัตน์ ให้ความเห็นว่า จันทบุรี เป็นเมืองที่มีศักยภาพพร้อมทั้งในส่วนของกิจกรรมการท่องเที่ยว และความสะดวกเรื่องการคมนาคม เพราะทุกองค์ประกอบของแหล่งท่องเที่ยวในจันทบุรี ล้วนมีชุมชนเป็นตัวตั้ง
“ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้โปรโมทชุมชนริมน้ำจันทบูรซึ่งถือว่าเป็นชุมชนต้นแบบของจังหวัด เน้นการพัฒนาต่อยอดจากความเป็นจริง บนพื้นฐานความพร้อม ความต้องการพัฒนาด้านท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ และเป้าหมายการรักษาอัตลักษณ์ของตัวชุมชนเองซึ่งมีเสน่ห์เป็นต้นทุน เพราะตั้งอยู่ริมน้ำ ตามหลักการเติบโตจากภายในสู่ภายนอก ก่อให้เกิดความยั่งยืน
“แต่สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการสร้างธรรมนูญหรือกฎสูงสุดแห่งการอยู่ร่วมกันของชุมชน ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตามครับ เชื่อว่าจากความสำเร็จของชุมชนริมน้ำจันทบูร จะดึงดูดให้ชุมชนอื่นๆ ในจันทบุรีมีความสนใจ และหันมาทำท่องเที่ยวโดยชุมชนมากขึ้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวทิ้งท้าย
#เมืองรองฟอรั่ม2018 #GoLocalChanthaburi