xs
xsm
sm
md
lg

“แหวนกล” สวยซับซ้อน แหวนทำมือสุดคลาสสิกแห่งเมืองจันท์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
แหวนกลนามสกุล งานทำมือสุดคลาสสิกจากบ้านแหวนกล เมืองจันท์
"แหวน" คือเครื่องประดับของหญิงและชายที่ทุกคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว

แต่หากพูดถึง "แหวนกล" เชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่ไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยิน

แล้ว "แหวนกล" คืออะไร...

“แหวนกล” มีที่มาจากประเทศแถบตะวันออกกลางหรืออาหรับ ซึ่งเรียกแหวนเหล่านี้ว่า Puzzle Ring หรือ Turkish Wedding Ring เป็นแหวนที่ประกอบด้วยแหวนหลายวงเกาะเกี่ยวกันไว้ หากใครประกอบไม่เป็นหรือไม่รู้วิธี ก็ไม่สามารถทำให้เป็นวงเพื่อสวมใส่ได้ แหวนกลจึงได้ชื่อว่าเป็น "เครื่องประดับแห่งปัญญา" ไม่เพียงสวยงามอย่างเดียว แต่ต้องใช้สมองและสองมือประกอบขึ้นมาให้ได้ คล้ายกับการเล่นรูบิคอย่างไรอย่างนั้น
ชูเกียรติ เนียมทอง หรือช่างหรีด
ในเมืองไทยเองก็มีช่างทำแหวนกลเช่นกัน โดยมีเฉพาะในจังหวัดจันทบุรีเท่านั้น เพราะวิชาช่างนี้จะสืบทอดให้เฉพาะคนในครอบครัวหรือเครือญาติ แต่ก่อนมักเรียกว่า “แหวนปู แหวนปลา” เพราะแหวนกลของเมืองจันท์จะมีจุดเด่นแตกต่างจากที่อื่นที่มักจะทำหน้าแหวนเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ปู ปลา หรือรูปนักษัตรต่างๆ ขณะที่ของประเทศอื่นมักทำเป็นลวดลายเรียบๆ

แหวนกลเข้ามาที่จังหวัดจันทบุรีได้อย่างไรนั้น... ในเว็บไซต์สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี ระบุไว้ว่า นายหยี เจียระไน ชาวบ้านบางกะจะ เป็นผู้คิดประดิษฐ์แหวนปูเป็นคนแรก โดยนายหยีเคยยึดอาชีพเป็นช่างทองที่กรุงเทพฯ ได้เห็นแหวนกลของฝรั่งที่ทำเป็นห่วงวงคล้องไขว้กันไปมา แม้จะแยกออกได้ก็ยังติดกันเป็นพวง และสามารถประกอบเข้าใหม่ได้ ต่อมาเมื่อกลับสู่บ้านเกิดที่จันทบุรีจึงได้นำประสบการณ์และฝีมือทำทองที่ตนมีอยู่เดิมมาคิดประดิษฐ์เป็นแหวนปู ซึ่งเป็นแหวนกลอย่างแหวนฝรั่ง
สภาพแหวนกลเมื่อคลายออกมา
ต่อมามีผู้มาสืบทอดวิชาจากนายหยี คือนายสายัณห์ ภูมิภักดิ์ ซึ่งเรียนวิชาช่างทองจากปู่ที่ชื่อนายพิณ ภูมิภักดิ์ นายสายัณห์ได้คิดรูปแบบแหวนกลเพิ่มขึ้นได้อีกหลายอย่าง เช่น แหวนปลา ซึ่งก็มีหลายประเภทด้วยกัน ทั้งปลากระบอก ปลาเก๋า ปลากุเลา ปลากะพง ไปจนถึงพญานาค

ในวันนี้ที่ได้มาเยือน “จันทบุรี” อันเป็นแหล่งทำแหวนกลดั้งเดิมในเมืองไทย เป็นโอกาสดีที่เราได้มาพูดคุยกับช่างทำแหวนกลแห่งเมืองจันท์ “ชูเกียรติ เนียมทอง” หรือ "ช่างหรีด" ที่สืบทอดวิชาช่างทำแหวนกลมาโดยตรงจากนายสายัณห์ ภูมิภักดิ์ ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติกัน

“พื้นเพผมเป็นคนสุพรรณบุรี แต่ตอนที่เรียนอยู่ชั้น ม.1 พอปิดเทอมก็ได้มาเที่ยวบ้านญาติที่จันทบุรี ได้มาเห็นลุงทำทองทำแหวน ลุงก็ชักชวนมาทางเตี่ยว่าอยากจะชวนผมมาทำงาน ก็เลยตัดสินใจมาทำตามใจเตี่ย ก่อนจะเปิดเทอมก็ย้ายจากสุพรรณฯ มาอยู่จันท์ มาเพื่อเรียนรู้การทำทองและทำแหวนกล และอยู่ยาวมาถึงปัจจุบัน เกือบจะ 30 ปีแล้ว” ชูเกียรติเล่า และอธิบายถึงแหวนกลว่า
แหวนกลรูปสัตว์ ทั้งเต่า กุ้ง และรูปดอกไม้
“ลักษณะของแหวนกลจะมีก้าน (วง) ประกอบกันตั้งแต่ 2 ก้านขึ้นไป แต่ที่คนนิยมก็คือ 4 ก้าน หรือ 8 ก้าน และที่เคยทำมากที่สุดก็คือ 12 ก้าน ทำเป็นแหวนนามสกุลผมเอง การประกอบแหวนก็เหมือนกับเป็นการสานชิ้นงาน มันจะมีวิธีไขว้ของมัน คล้ายๆ กับรูบิก เมื่อประกอบเสร็จก็จะมีรูปสัตว์หรือรูปอื่นๆ อยู่ที่หน้าแหวน ถ้าคนไม่รู้วิธีก็จะไม่สามารถประกอบเป็นวงได้ ตรงนี้คือเสน่ห์ของแหวนกล”

“ถ้าลูกค้ามาสั่งทำแหวนผมก็จะสอนวิธีประกอบให้ แต่ส่วนมากออกไปหน้าปากซอยก็ลืมวิธีแล้ว หลายคนที่ซื้อไปแล้วจึงต้องกลับมาหาเพราะจำวิธีประกอบไม่ได้ ผมเลยพูดเล่นกับลูกค้าบ่อยๆ ว่าถ้าอยากมาเที่ยวเมืองจันท์เมื่อไหร่ก็ให้แกะแหวน เดี๋ยวก็ได้กลับมา” ชูเกียรติเล่าพร้อมหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
แหวนกลรูปเต่าตัวน้อยประดับด้วยอัญมณี
แหวนกลที่ทำขึ้นในรุ่นก่อนๆ มักจะทำเป็นรูปสัตว์ เช่น แหวนปู แหวนปลา แหวนนักษัตร และพัฒนามาให้หลากหลายมากขึ้น ทั้งเต่า กุ้ง แมงป่อง สิงโต กระต่าย และแม้กระทั่งหมีริลัคคุมะ! ฯลฯ อีกทั้งช่างจะมีลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ เช่นทำให้เต่ากระดิกหัวและหางได้ ลูกตาปูดิ้นได้ หัวริลัคคุมะส่ายได้ โดยที่บ้านแหวนกลจะใช้วัสดุทำแหวนสองอย่างคือทองและเงิน พร้อมทั้งเพิ่มความล้ำค่าและความงามด้วยการประดับพลอยจันท์และอัญมณีต่างๆ ให้สมชื่อเมืองแห่งอัญมณี

แต่ชูเกียรติไม่หยุดพัฒนางานออกแบบไว้เพียงเท่านั้น เขามองว่าถ้าไม่ทำเช่นนั้นงานมันจะนิ่งและตายไป โดยกล่าวว่า “ผมทำงานมา 30 กว่าปี มองว่างานมันต้องพัฒนารูปแบบไปเรื่อยๆ เพราะถ้าไม่พัฒนามันจะตายในที่สุด และมันไม่มีทางเลือกให้ลูกค้า เราจึงต้องคิดฉีกแนวออกมาจากงานเดิมๆ โดยที่เราไม่ได้ทิ้งรูปฟอร์มจากงานดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา”
แหวนกลรูปดอกไม้งามเลอค่า
การพัฒนาขั้นต่อมาของชูเกียรติก็คือการทำ “แหวนกลชื่อและนามสกุล” ที่เรียกได้ว่าเป็นคนแรกและคนเดียวในเมืองไทยที่ทำแหวนกลลักษณะนี้

“มีช่วงหนึ่งที่งานน้อยลง เราจึงมีเวลาที่จะนั่งคิดออกแบบทำงานใหม่ๆ และอยากจะหนีจากเงาของคุณลุงสายัณห์ อยากมีลายเซ็นของตัวเอง อยากมีผลงานที่ต่างไปจากของเดิมแบบชนิดที่ว่าก็อปปี้ได้ยาก เราเบื่องานก็อปปี้ในตลาดที่เขาจะแกะแบบแล้วใช้วิธีหล่อบล็อกขึ้น บางทีมีคนเอาแหวนมาให้ซ่อมก็จะรู้เลยว่านี่คือของก็อปปี้ แต่ถ้าเป็นงานของที่บ้าน ไม่ว่าจะเก่าขนาดไหนก็จะรู้และบอกได้ทันที มันเหมือนเป็นลายมือของเรา ยังไงเราก็จำลายมือของเราได้”
แหวนกลสามารถทำหน้าแหวนได้หลากหลายรูปแบบ
“สำหรับแหวนชื่อที่พัฒนาขึ้นส่วนมากจะทำเป็น 8 ก้าน ตอนแรกคิดว่าจะทำภาษาอังกฤษอย่างเดียว เพราะภาษาไทยมันจะซับซ้อนกว่ามาก แต่พอลองทำภาษาไทยปรากฏว่าทำได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีมากเพราะเท่ากับเราขยายงานของเราไปได้อีก เราสามารถทำชื่อนามสกุลของลูกค้าได้ตามต้องการ โดยต้องมาคุยกันว่าอยากได้แบบไหน ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ เอาตัวอักษรตัวไหนเด่น ตัวไหนรอง อยากให้จุดไหนเป็นจุดโฟกัสของชิ้นงาน แบบไหนจะสวยกว่ากัน ผมจะเสก็ตช์แบบคร่าวๆ ว่าโอเคหรือไม่ แล้วจึงเริ่มจากทำบอดี้ของแหวนก่อน แล้วก็ค่อยมาคิดว่าชิ้นส่วนตัวอักษรแต่ละชิ้นจะอยู่ตรงไหนบ้าง เพราะมันไม่ได้เป็นชิ้นเดียวแปะเข้าไปที่หน้าแหวน แต่ตัวอักษรจะกระจายอยู่ตามก้านต่างๆ ดังนั้นต้องดูตามความเหมาะสมที่มันจะแข็งแรงและมีความพอดี”

แม้จะออกแบบตามความชอบของลูกค้า แต่ความเป็นศิลปินของชูเกียรติยังมีอยู่เต็มเปี่ยม เพราะจะมองและออกแบบให้ชิ้นงานออกมาสวยงามและเหมาะสมกับผู้สวมใส่เป็นหลัก

“ส่วนมากจะคิดภาพตอนชิ้นงานสำเร็จไว้เลยว่าถ้าเอาตัวอักษรนี้ขึ้นนำหน้าแล้วจะสวยหรือไม่สวย ผมจะไม่ตามใจลูกค้ามากเพราะที่สำคัญคือเมื่อทำงานเสร็จออกมาแล้วมันต้องสวยก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าทำตามใจลูกค้าอย่างเดียวงานมันจะไม่ออกมาอย่างที่มันควรจะเป็น คือไม่ได้ส่งเสริมภาพลักษณ์ของชิ้นงาน ลูกค้ากับช่างบางทีมีมุมมองต่างกัน บางคนอาจอยากใส่นู่นใส่นี่ อยากมีพลอยเยอะๆ แต่บางทีมันไม่ได้ส่งชิ้นงานให้ดูดี”
ช่างหรีดขณะทำงาน
“ถ้ามีคนเอาแบบมาแล้วให้ผมทำตาม แบบนั้นผมไม่รับ เพราะอยากให้เป็นงานที่เราคิดร่วมกันกับลูกค้ามากกว่า และมันจะเป็นชิ้นงานเฉพาะของเขาเอง และเวลามีลูกค้ามาสั่งทำ เราไม่ใช่แค่ทำตามที่เขาบอก แต่เราต้องคิดด้วยว่าเวลาเขาเอาไปใช้ มันต้องใช้จริงได้ทุกชิ้น ไม่ใช่ทำนู่นนี่จนดูโอเวอร์แต่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ และงานเราก็จะถูกเก็บอยู่แค่ในกล่องในเก๊ะ เอามาใช้ได้แค่เวลาไปออกงานเท่านั้น ผลงานของเราก็จะไม่ได้อวด แต่ถ้าเขาได้ใช้ทุกวันๆ งานของเราจะได้อวดทุกวัน คนจะได้เห็นงานเราทุกวัน”

ในอนาคตชูเกียรติยังมีสิ่งที่อยากทำอีกหลายอย่าง อย่างแหวนฉลุลายก็เป็นงานที่ชอบ และยังอยากทำเครื่องประดับอื่นเช่นกำไลกล ส่วนแหวน 12 ก้านก็อยากจะต่อยอดทำสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองจันท์ต่อไป

เรียกได้ว่าแหวนของบ้านแหวนกลเป็นงานทำมือสุดคลาสสิกที่นอกจากจะมีมูลค่าแล้วยังมีคุณค่าต่อจิตใจ เป็นงานชิ้นเดียวที่ออกแบบมาเฉพาะผู้สวมใส่ เป็นของดีเมืองจันท์ที่หากใครชอบงานเครื่องประดับแฮนด์เมดแล้วละก็ขอแนะนำให้รีบหามาไว้ครอบครองสักวงสองวง

สอบถามรายละเอียดและการสั่งทำแหวนได้ที่ เพจเฟซบุค : บ้านแหวนกล เมืองจันท์ หรือโทร. 08 1791 3278 และนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับที่เที่ยว ที่กิน ที่พักในจังหวัดจันทบุรีได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานระยอง (ดูแลระยอง, จันทบุรี) โทร. 0 3865 5420-1
แหวนกลชื่อ (ภาพจากเพจเฟซบุค บ้านแหวนกล เมืองจันท์)
แหวนฉลุลายงามอ่อนช้อย (ภาพจากเพจเฟซบุค บ้านแหวนกล เมืองจันท์)
อีกหนึ่งงานฉลุลายแหวน (ภาพจากเพจเฟซบุค บ้านแหวนกล เมืองจันท์)
งดงามล้ำค่าน่าเป็นเจ้าของ (ภาพจากเพจเฟซบุค บ้านแหวนกล เมืองจันท์)


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น