xs
xsm
sm
md
lg

“เหี้ย”...ก็มีดี สัตว์ที่รู้จักแล้ว(อาจ)จะรัก(กว่าบางคน)/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

เหี้ยสัตว์ที่มีดี และมีคุณประโยชน์มากกว่ามนุษย์บางคน
“เหี้ย” เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน

ในยุคปัจจุบันเรื่องราวของเหี้ยมักจะปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง

โดยเฉพาะยามเมื่อเหี้ยโผล่ที่ทำเนียบ สภา หรือยิ่งถ้ามันสมสู่กันที่ทำเนียบ สภา ก็มักจะได้ขึ้นเป็นภาพข่าวหน้าหนึ่งอยู่เสมอ

ล่าสุดเรื่องเหี้ยปรากฏเป็นข่าวขึ้นอีกครั้ง เมื่อทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) นับตัวเงินตัวทองหรือตัวเหี้ยในสวนลุมพินีใหม่ หลัง กทม.ระบุมีมากกว่า 400 ตัว แต่กรมอุทยานฯ ระบุว่า มีไม่ถึง 160 ตัว

นอกจากนี้ยังเสนอให้จัดนิทรรศการชมตัวเหี้ยเพื่อให้เยาวชนศึกษาความรู้แทน หลังจาก กทม.เสนอขอให้กรมอุทยานฯ ช่วยจับ เพราะสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนที่มาสวนลุม

เรื่องนี้คงต้องตามดูกันต่อไปเพราะทั้ง 2 หน่วยงานยังคงมีความเห็นพ้องและเห็นต่างกันในรายละเอียด
ภาพหายาก เหี้ยแสดงความรักต่อกัน
สำหรับสัตว์ตระกูลเหี้ยแม้คนไทยเราจะมองเป็นสัตว์อัปมงคล และนำมาเปรียบเปรยกับคนที่ทำสิ่งที่ไม่ดีว่า “เหี้ย”

แต่ทว่าหากมองให้ลึกลงไปถึงระบบนิเวศตามธรรมชาติ เหี้ยถือว่ามีคุณประโยชน์กว่ามนุษย์(เหี้ยๆ)หลายๆคนเสียอีก

รู้จักกับเหี้ย

“เหี้ย” เป็นคำไทยแท้แต่โบราณที่เอาไว้เรียกชื่อสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในอันดับ Squamata วงศ์ Varanidae ซึ่งคนไทยเรา(นับแต่โบราณ)ได้นำคำว่า "เหี้ย" มาใช้ด่าทอกันเอง หรือก็มีการเปลี่ยนชื่อให้เหี้ยเสียใหม่เพื่อให้เป็นสิริมงคลว่า “ตัวเงิน ตัวทอง” และอีกชื่อหนึ่งที่อาจจะไม่คุ้นเคย เพราะไม่ค่อยมีใครเรียกกันก็คือ “โคธา” หรืออีกชื่อหนึ่งที่มีคนพยายามตั้งชื่อให้ใหม่เป็น “วรนุส” (วอ-ระ-นุด) เพื่อให้ไพเราะขึ้น เพราะมีเสียงพ้องกับชื่อสกุลในภาษาอังกฤษ นั่นก็คือ Varanus(วารานัส)

เหี้ย เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่พบเจอได้ง่าย บ้างก็เห็นอาศัยอยู่ตามลำคลองใกล้บ้านเรือนคน บ้างก็เห็นอยู่ตามสวนสาธารณะต่างๆ ซึ่งพอผู้คนเห็นตัวเหี้ยก็จะพากันรู้สึกไม่ดีถึงชื่อเรียก และรูปร่างที่ใหญ่โตดูน่ากลัว แต่อันที่จริงแล้วเหี้ยเป็นสัตว์ที่ไม่น่ากลัว และกลับเป็นสัตว์ที่มีคุณมีค่า และน่ารักกว่าที่คิดและที่เห็น
อาจารย์สมโภชน์ ทับเจริญ(แฟ้มภาพ)
อาจารย์สมโภชน์ ทับเจริญ หนึ่งในนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องเหี้ย ได้เคยให้ข้อมูลกับ MGRTravel ว่า

“เหี้ย” หรือ “Water monitor” ชื่อวิทยาศาสตร์ “Varanus salvator” ชอบอาศัยอยู่ริมน้ำ ว่ายน้ำและดำน้ำเก่ง มีจมูกอยู่ปลายปากเวลาดำน้ำแล้วโผล่ขึ้นมาเพื่อรอเหยื่อหรือหนีศัตรู เหี้ยมีผิวหนังสีดำและมีลายดอกออกสีขาวเหลืองตามขวางของลำตัว และมีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กบ้างใหญ่บ้างสลับกันไปแล้วแต่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของร่างกาย มีตีนใหญ่และหนา มีเล็บแหลมสำหรับป่ายปีนต้นไม้ และตะปบเหยื่อ หางยาวไว้รักษาสมดุลขณะเคลื่อนที่และสะสมอาหาร ทางเดินอาหารเป็นแบบกระเพาะใหญ่ลำไส้สั้นเป็นสัตว์กินเนื้อ
เหี้ย ชอบอาศัยอยู่ริมน้ำ
เหี้ยตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย มีหัวเล็กแบนราบ ปากเรียวยาว อ้าปากได้กว้างมากสำหรับกลืนกินเหยื่อ โดยเฉพาะบริเวณลำคอที่สามารถพองขยายได้ใหญ่มาก ลิ้นมี 2 แฉก เรียวยาว มีหน้าที่รับอุณหภูมิและความชื้นเวลาเคลื่อนที่จะแลบลิ้นตลอดเวลาเพื่อตรวจสอบทิศทางในการเคลื่อนที่ และเหี้ยจะผสมพันธุ์ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน ออกไข่เพียงปีละหนึ่งครั้ง โดยขุดดินวางไข่และกลบไข่ไว้ เหี้ยจะออกไข่ครั้งละประมาณ 30-50 ฟอง แต่มีอัตราการรอดเพียง 5 % เท่านั้น และใช้เวลา 7 เดือนในการฟักออกมาเป็นตัว
ไข่เหี้ย
เมื่อถามถึงว่าเหี้ยมีลักษณะนิสัยอย่างไร นิสัยไม่ดีชอบลักกินขโมยกินเหมือนที่คนเรานำมาเปรียบเปรยหรือไม่ อ.สมโภชน์ ผู้คลุกคลีและเฝ้าสังเกตนิสัยเหี้ยเป็นประจำบอกให้ฟังว่า

“เหี้ยเป็นสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์สังคม มันไม่มีพี่ไม่มีน้อง มันไม่มีหัวหน้าหรือลูกน้อง มันอยู่ตัวเดียว แต่มันมีเพื่อนมีฝูง มันรักพวกพ้องมาก ไม่มีการกัดและไม่มีการทะเลาะ ยกเว้นช่วงเวลาผสมพันธุ์ แต่ก็ไม่มีการทำร้ายกันจนเลือดตกยางออก มันมีนิสัยดีมาก มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แถมยังมีนิสัยไม่อิจฉากัน

เวลากินอาหารในอ่างเดียวกันจะไม่มีการแย่งชิงอาหาร ที่เห็นบ้างก็คือ มีการกัดอาหารจากปากของอีกตัวหนึ่ง แต่ในที่สุดก็รู้ว่าที่มันกัดอาหารจากปากอีกตัวเพื่อช่วยกันฉีกอาหารออกให้มีชิ้นเล็กลงจะได้กินได้ ไม่ใช่แย่งชิงอาหารกันเหมือนสัตว์นักล่าทั่วไป นอกจากนี้การผสมพันธุ์ของพวกมัน แม้แต่รอยเล็บก็ไม่มี เพราะมันจะใช้การทุ่มกันจนอีกตัวหมดแรงเท่านั้น แล้วก็ขึ้นขี่หลังของอีกตัวว่าชนะแล้ว” อ.สมโภชน์ อธิบาย
เหี้ยกำลังกินอาหาร
วงศาคณาเหี้ย

เหี้ยที่เราพบเห็นกันนั้นมันไม่ใช่ตัวเหี้ยอย่างเดียว แต่มันเป็นสัตว์ตระกูลเดียวกัน อย่างเช่นที่อินโดนีเซีย มี"มังกรโคโมโด" เป็นสัตว์สำคัญประจำชาติ ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับเหี้ย

สำหรับที่บ้านเราสัตว์ตระกูลเหี้ย หรือสัตว์ในเครือ"วงศาคณาเหี้ย"นั้น มีอยู่ 6 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

1. เหี้ย เหี้ยดอก มังกรดอก ตัวเงินตัวทอง มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศาคณาเหี้ยเมืองไทย ตัวมีสีดำมีลายดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน พาดขวางลำตัว หางมีสีดำหรือลายปล้องดำสลับเหลืองอ่อน บางตัวมีจุดแดงเล็กๆที่หาง ชอบอาศัยตามที่ลุ่มใกล้แหล่งน้ำ พบทั่วทุกภาคในเมืองไทย

2.ตะกวด แลน พบทุกภาคทั่วไทย มีสีรวมๆทั้งตัวเป็นสีเหลืองอ่อน เหลืองหม่น สีน้ำตาลเป็นจุดเล็กๆ ส่วนหัวมักมีสีอ่อนกว่าตัว มีหางเรียวยาวเป็นพิเศษ ขึ้นต้นไม้เก่ง ชอบอยู่ตามป่าโปร่งมากกว่าป่าทึบ
สัตว์ในตระกูลเหี้ย พบได้ทั่วไปในหลายพื้นที่ของเมืองไทย
3.เห่าช้าง มีขนาดใหญ่เป็นที่สองรองจากเหี้ย ตัวและหางมีวีดำ มีลานสีจางๆ เป็นปื้น เป็นดอก เป็นปล้อง ตามลำตัว หัวมีสีเทาคล้ำ พบทางภาคใต้และภาคตะวันตก เมื่อจวนตัวจะพองคอขู่ฟ่อๆจึงถูกเรียกว่า "เห่าช้าง"

4.ตุ๊ดตู่ มีขนาดเล็กที่สุดในวงศาคณาเหี้ยไทย ลำตัวมีสีน้ำตาลเทามีลายเป็นปล้องเป็นวงแหวนสีอ่อน หัวมีสีเทาอ่อนหรือน้ำตาลอ่อน ข้างใต้คอมีสีอ่อนจนเกือบขาว ตุ๊ดตู่ พบไม่มากทางจังหวัดภาคใต้

5.แลนดอน มีสีคล้ายตะกวด แต่หัวมีสีเหลืองสดหรือสีส้มเรื่อๆ ชอบอยู่บนที่ดอนจึงถูกเรียกว่าแลนดอน พบตามจังหวัดชายแดนที่ติดกับพม่า
เหี้ยจะแลบลิ้นตลอด เพื่อตรวจสอบทิศทางการเคลื่อนที่
6.เหี้ยดำหรือมังกรดำ เป็นสัตว์ตระกูลเหี้ยชนิดใหม่ที่เพิ่งพบได้ไม่นาน มีรูปลักษณะคล้ายเหี้ย แต่ตัวเล็กกว่ามาก ลำตัวมีสีดำ(ด้าน)ทั้งตัว ท้องมีสีเทาเข้ม ลิ้นสีเทาม่วง พบทางภาคใต้ ชายทะเล และเกาะเล็กๆ

เรื่องเหี้ยๆในบ้านเรา

จากบรรดาวงศาคณาเหี้ยทั้งหก เหี้ยนับว่าถูกพบเห็นมากสุด มีคนรู้จักมากที่สุด ด้วยเหตุนี้บ้านเราจึงมีเรื่องราวเกี่ยวกับเหี้ยอยู่มากหลาย ไม่ว่าจะเป็น

ขนมไข่เหี้ย” ที่ตอนหลังถูกเรียกขานเสียใหม่เป็นขนม"ไข่หงส์"(และก็มีขนมที่ชื่อไข่หงส์ด้วยเหมือนกัน) ส่วนไข่เหี้ยจริงๆ คนที่เคยกินบอกว่าอร่อยนัก ในขณะที่เนื้อเหี้ย(แท้ๆ)นั้น คนเคยกินบอกว่าอร่อยไม่เบาแถมมีราคาสูงเอาเรื่อง มีรสชาติคล้ายไก่บ้านแต่แน่นกว่า โดยเฉพาะตรงส่วนโคนหางหรือที่เรียกว่า"บ้องตัน"นี่ สุดยอดทีเดียว
ขนมไข่เหี้ย ขนมไทยๆที่ปัจจุบันเริ่มหากินยาก
ชุมชนบางเหี้ย ที่มีทั้งวัดบางเหี้ย คลองบางเหี้ย สนับสนุนที่มาที่ไปของชื่อชุมชนนี้ บางเหี้ย เป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 250 ปี ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ที่มีเหี้ยอาศัยอยู่มาก เพราะป่าชายเลนขนาดใหญ่มีอาหารของเหี้ยพวกกุ้ง หอย ปู ปลา อุดมสมบูรณ์ บางเหี้ยปัจจุบันคือ ชุมชนคลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ แหล่งหอยแมลงภู่พื้นที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย

ฤาษีกินเหี้ย(โคธชาดก) ที่เป็นความเชื่อในศาสนาพุทธ กล่าวถึงชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้าที่เคยเสวยชาติเป็นเหี้ย และถูก"ฤาษี"ผู้แสดงตนว่าทรงศีล พยายามจะหลอกกินเนื้อเหี้ยที่มาฟังธรรมจากฤาษี แต่พระพุทธเจ้ารู้ทันจึงหลบหนีได้ นับเป็นชาดกสอนใจให้รู้ว่า คนประเภทมือถือสากปากคัมภีร์ ฤาษีทุศีลวิญญูชนจอมปลอม คนดีฉากหน้าชั่วช้าลับหลังนั้นมีอยู่เยอะในสังคม
เหี้ยนอนอาบแดด
นั่นเป็นตัวอย่างของเรื่องเกี่ยวกับเหี้ยที่อาจจะพอคุ้นๆสำหรับบางคน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่คุ้นสุดๆอยู่กับสังคมไทยมาช้านานเห็นจะไม่มีเรื่องใดเกินคำด่าทอว่า"(ไอ้)เหี้ย" เพราะคนไทยถือเหี้ยเป็นตัวซวย เป็นสัตว์อัปมงคล อันเนื่องมาจากรูปร่างหน้าตา พฤติกรรมการกินซากเน่า และนิสัยชอบลักขโมยกินไก่ กินไข่ ของชาวบ้าน

เหี้ยจึงถูกเกลียดชังทั้งๆที่ไม่ใช่ความผิดของมัน หากแต่มันคือธรรมชาติของสัตว์ประเภทนี้(คล้ายดังแร้งกินซากศพ หนูขโมยกินกัดแทะข้าวของในบ้าน) คนโบราณจึงหยิบยก"เหี้ย"มาเป็นคำด่าทอคนไม่ดี คนที่เกลียดชัง คนที่ไม่ชอบหน้า และด่าสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน ทำให้คำว่าเหี้ยกลายเป็นคำด่าคำหยาบคายไป(อีกคำด่าทอที่มาจากเหี้ยนั่นก็คือ "อีดอก" เนื่องเพราะลายบนตัวของเหี้ยนั้นเป็นลายดอก)
ลวดลายสวยงามบนหนังเหี้ย
แต่ก็เป็นคนโบราณอีกเช่นกันที่เห็นว่าน่าจะแก้เคล็ดความอัปมงคลของเหี้ย(ตามความเชื่อ) ในกรณีที่มันเข้าบ้านหรือยามพบเจอมัน ด้วยการเรียกขานชื่อเสียงเรียงนามของเหี้ยเสียใหม่ให้ดูสุภาพขึ้นว่า "ตัวเงินตัวทอง" ซึ่งชื่อนี้อยู่กับสังคมไทยมาช้านานเป็นที่รับรู้ไปทั่ว

อย่างไรก็ดีหากมองให้ลึกลงไปถึงระบบนิเวศตามธรรมชาติ เหี้ยถือว่าเป็นสัตว์ที่มีคุณประโยชน์ชนิดหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นสัตว์กำจัดซากแล้ว ที่ผ่านมายังมีการเปิดฟาร์มเหี้ยเพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์จากเหี้ยในเชิงเศรษฐกิจ โดยนำทุกส่วนของร่างกายเหี้ย มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น เนื้อ และเครื่องใน ทั้งในรูปแบบเครื่องใช้ และยารักษาโรค

โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากหนังเหี้ยนั้น มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เครื่องหนัง กระเป๋า เข็มขัด รองเท้า เป็นต้น

โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากหนังเหี้ยนั้น มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เครื่องหนัง กระเป๋า เข็มขัด รองเท้า เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์จากหนังเหี้ย
หนังของเหี้ย จะมีลายละเอียด มีความนุ่มและเหนียวของหนังมาก ทนทาน ราคาของหนังเหี้ยก็แพงกว่าหนังจระเข้ ซึ่งในหลายประเทศ อย่าง ยุโรป อิตาลี จีน ก็นิยมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังเหี้ยกันไม่น้อย

“ผมอยากให้มองอีกมุม เหี้ยมันไม่ใช่สัตว์อัปปรีจัญไร ถ้าตราบใดที่มีปู ย่า ตา ยาย สอนพ่อแม่ว่า เหี้ยเป็นสัตว์กาลกิณี พ่อแม่สอนลูกหลานว่าเป็นสัตว์กาลกิณี แต่ถ้าเกิดตราบใดก็ตามที่ ปู ย่า ตา ยายพาลูกพาหลานมาดู แล้วก็มองเห็นว่าเหี้ยมันเป็นสัตว์ที่น่ารัก ไม่เป็นอันตรายกับใคร แล้วถ้ายิ่งรู้นิสัยมันลึกๆ ลงไปแล้ว มันน่าจะเรียกคนแย่ๆ ว่าเหี้ยมากกว่าเหี้ยเสียอีก” อ.สมโภชน์กล่าวทิ้งท้าย
เหี้ยรักเหี้ย
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น