จากวิกฤตสัตว์น้ำลดลง เพราะการใช้ทรัพยากรเกินกำลังของชาวประมงพื้นบ้านในตำบลเกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล ทำให้ทรัพยากรทะเลเสื่อมโทรม ชุมชนขาดรายได้ประสบปัญหาหนี้สินรุนแรง
กระทั่งงานวิจัยเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ปรับวิธีคิดใช้การมีส่วนร่วมของชุมชน เน้นการพึ่งพาตนเอง เกิดแนวทางการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งโดยชุมชน ผนวกเข้ากับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน เห็นผลเป็นรูปธรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น
หมู่เกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เป็นเกาะเล็กๆ รายล้อมด้วยสภาพธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านหรือประมงชายฝั่ง
ปัจจุบันเปิดให้บริการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนมีบริการที่พักโฮมสเตย์ให้กับนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีชีวิตพื้นบ้านและวิถีชีวิตชาวประมง มีการจัดกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ดำน้ำดูปะการัง พายเรือคายัค ชมป่าชายเลนหรือเดินสำรวจธรรมชาติรอบเกาะ
นอกจากนี้ยังมีธนาคารปูม้าไข่ที่ชาวบ้านที่นี่ได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ดีหากย้อนกลับไปในอดีต ชุมชนแห่งนี้มีฐานะยากจนรายได้หลักส่วนใหญ่มาจากการทำประมงพื้นบ้านจับปลาจับปูตามชายฝั่งขาย แต่ต้องประสบปัญหาสัตว์น้ำมีปริมาณลดลง เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านมีการจับเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ เพราะมองว่าทรัพยากรชายฝั่งเป็นของสาธารณะ ชาวบ้านส่วนใหญ่ขาดจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ มีการใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมาย มีการจับสัตว์น้ำในฤดูวางไข่ และมีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนหรือที่ยังไม่ได้ขนาด กลายเป็นวิกฤตของการทำประมงชายฝั่ง
ขณะที่หน่วยงานรัฐและผู้เกี่ยวข้องไม่เห็นความสำคัญในสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ประกอบกับโครงสร้างชุมชนไม่เข้มแข็งและขาดองค์ความรู้เรื่องระบบการจัดการทรัพยากรประมงโดยชุมชน ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพและเกิดปัญหาหนี้สินรุนแรง
จากวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ชุมชนประมงพื้นบ้านในตำบลเกาะสาหร่ายหันกลับมาถามหาความต้องการที่แท้จริงของชุมชน และหันมาให้ความสำคัญกับแนวทางการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งของชุมชน นำมาสู่การจัดทำโครงการศึกษาวิจัยการพัฒนารูปแบบการัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง เพื่อการพึ่งพาตนเองของชาวประมงพื้นบ้านในตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ขึ้นในปีพ.ศ.2555
ที่ผ่านมา มี ผศ.ดร.ชัยรัตน์ จุสปาโล อาจารย์จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เป็นหัวหน้าโครงการฯ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสตูล สำนักงานประมงจังหวัดสตูล สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล และสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล เพื่อศึกษาศักยภาพการพึ่งพาตนเองในการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง ศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการจัดการ เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมความสามารถในการจัดการฯ และพัฒนารูปแบบการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง เน้นความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ซึ่งผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการเป็นที่มาของรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2558 ที่ผ่านมา
โดยใช้วิธีการศึกษาจากการสำรวจบริบทชุมชน การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม การประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับแกนนำชุมชน 6 หมู่บ้าน การประชุมระดมความเห็นจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์การบริหารส่วนตำบลและคนในชุมชน และระดมความรู้จากนักวิชาการรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การศึกษาดูงาน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการพัฒนาต้นแบบการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง และได้ทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากคนในชุมชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
ผศ.ดร.ชัยรัตน์ จุสปาโล หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า “โครงการวิจัยนี้เป็นการสร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อแก้วิกฤตปัญหาการประกอบอาชีพประมงชายฝั่งของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ ต.เกาะสาหร่าย ที่มีปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง มีการใช้ประโยชน์เกินกำลังการผลิต ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทำประมงผิดประเภท การจับสัตว์น้ำวัยอ่อน และชาวประมงที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็ละทิ้งภูมิปัญญาการทำประมงหันไปประกอบอาชีพอื่น จนก่อให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมา จึงต้องหาแนวทางการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งเพื่อการพึ่งพาตนเอง”
ผลการวิจัยจากการประเมินศักยภาพการพึ่งพาตนเองโดยใช้แบบประเมินศักยภาพท้องถิ่น พบว่า ศักยภาพการพึ่งพาตนเองในแต่ละหมู่บ้านค่อนข้างต่ำและมีความพร้อมแตกต่างกัน การมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ในการแก้ปัญหามีน้อย ประกอบกับมีปัญหาและอุปสรรคในการจัดการทรัพยากรหลายประการ ดังนั้น จึงต้องส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอาชีพประมงชายฝั่ง และให้ความรู้ในเรื่องการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล
โดยใช้หลักการจัดการร่วม เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภายนอก ร่วมกันสร้างองค์ความรู้เรื่องระบบการจัดการทรัพยากรประมง บูรณาการความรู้ที่ได้จากหน่วยงาน ผนวกกับภูมิปัญญา โดยโครงการได้พัฒนาหมู่บ้านต้นแบบในการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งเพื่อการพึ่งพาตนเองของชาวประมงพื้นบ้านขึ้นในหมู่ที่ 2 โดยมีหน่วยงานนอกร่วมสนับสนุน ร่วมกันพัฒนาและเป็นที่ปรึกษาให้กับชุมชน
มีการจัดทำแนวเขตอนุรักษ์ ปลูกป่าชายเลย 4 ชั้น จัดทำโรงแรมปลา ศาลาหมึก ธนาคารปลิง ธนาคารปูม้า และสหกรณ์หอยร้อยชนิด บ่อพักสัตว์ทะเลหายาก และปลูกปะการังให้เป็นที่อยู่ของปลาการ์ตูน เป็นกิจกรรมเชิงอนุรักษ์เพื่อเพิ่มผลผลิตทรัพยากรทางทะเล
ส่วนกิจกรรมเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การเลี้ยงปูม้านิ่ม โรงงานแปรรูปทรัพยากรสัตว์น้ำ แพชุมชน และจากกิจกรรมเหล่านี้เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านบากันใหญ่ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งแบบพึ่งพาตนเองโดยชุมชน ที่สำคัญกิจกรรมในบากันใหญ่โมเดลได้มีการนำไปบูรณาการกับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชน
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนภายในพื้นที่ เกิดเครือข่ายที่มีความเข้มแข็งในการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง เกิดการเรียนรู้ของคนในชุมชนในเรื่องจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง หน่วยงานพันธมิตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนงบประมาณและเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน รวมทั้งได้มีการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง ผนวกเข้ากับการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรประมง มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมเรียนรู้และทำกิจกรรมกว่า 10,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี จนสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นเงินกว่า 5ล้านบาท
ผศ.ดร.ชัยรัตน์ กล่าวว่า กระบวนการทำงานของโครงการวิจัยฯ ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากการปฏิบัติการ่วมกับกลไกพัฒนาพื้นที่ที่เกี่ยวข้องของทุกภาคส่วน ทั้งจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐและท้องถิ่น ภูมิปัญญาของชุมชน ในการหาสาเหตุและทางเลือกในการแก้ปัญหาและทดลองปฏิบัติการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จนสามารถช่วยให้คนในพื้นที่เกิดการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุ จนไปสู่การจัดการทรัพยากรประมงของชุมชน ตรงความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง นับว่าเป็นโครงการวิจัยที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ สามารถปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคนในชุมชน ส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ยกระดับการพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นและเห็นเป็นรูปธรรม
“จากเดิมที่ชาวบ้านตำบลเกาะสาหร่าย อาจละเลยหรือมองข้ามเรื่องการดูแลทรัพยากรประมงของตัวเอง แต่วันนี้ก็หันกลับมาร่วมมือกันมากขึ้น สัตว์น้ำเช่นปลาการ์ตูน ปู ปลา กุ้ง หอย ที่เคยหายไป ตอนนี้เริ่มกลับมาให้เห็นมากขึ้น ชาวบ้านเองนอกจากจะมีรายได้จากทรัพยากรประมงที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีรายได้จากการท่องเที่ยว ส่งผลให้ชาวบ้านกลับมามีความสุขและยิ้มได้อีกครั้ง” ผศ.ดร.ชัยรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ : บทความและภาพประกอบจากสกว.
....................................................................................................
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager