xs
xsm
sm
md
lg

"ขนมควยลิง" กินอร่อย รู้จัก "น้ำอ้อย" ที่มาของขนมหลากชนิดใน "ชุมชนขนมแปลกริมคลองหนองบัว"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
ชุมชนขนมแปลกริมคลองหนองบัว
"ชุมชนขนมแปลกริมคลองหนองบัว" อยู่ในตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ห่างจากตัวเมืองจันท์ราว 10 กิโลเมตรเท่านั้น ชุมชนแห่งนี้เดิมเป็นชุมชนชาวจีนเก่าแก่นับร้อยปีของจังหวัดจันทบุรี ตั้งอยู่ริมคลองหนองบัว อาชีพดั้งเดิมของชาวชุมชนก็คือการทำประมงน้ำตื้นและเจียระไนพลอย แต่หลังจากที่พลอยดิบในจันทบุรีลดน้อยลงก็ส่งผลให้ชุมชนเงียบเหงาตามไปด้วย ชาวชุมชนจึงปรึกษาหารือกัน และนึกถึงอีกหนึ่งฝีมือที่คนในชุมชนมี นั่นก็คือฝีมือในการทำขนมและอาหารที่ไม่เป็นรองใคร จึงเห็นพ้องต้องกันว่าจะนำมาคึกคักกลับมาสู่ชุมชนอีกครั้งด้วยการทำขนมขาย เพราะที่นี่มีขนมท้องถิ่นหลายอย่างที่หากินได้เฉพาะที่นี่
เดินเลือกซื้อขนมหลากชนิด
บรรยากาศในชุมชน
ด้วยขนมและอาหารที่แปลกใหม่และอร่อยสำหรับคนต่างถิ่น ทำให้ทุกวันนี้ชุมชนหนองบัวกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนนิยมเดินทางมาเยือน โดยจะมีขนมของกินวางขายหน้าบ้านสำหรับนักท่องเที่ยวในวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลาราว 09.00-17.00 น.

สำหรับขนมแปลกที่ว่านั้น แปลกที่สุดคงต้องยกให้ “ขนมควยลิง” ซึ่งใครที่เห็นหน้าตาขนมแล้วคงพอเดาได้ถึงที่มาของชื่อ ขนมควยลิงนี้ไม่ได้คิดค้นขึ้นมาใหม่ แต่เป็นขนมโบราณที่ชุมชนทำกินสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยขนมทำมาจากแป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นแท่งเล็กๆ รีๆ ต้มในน้ำเดือด แล้วนำขึ้นมาคลุกกับมะพร้าวขูดและน้ำตาล เคี้ยวหนึบหนับหวานมันอร่อยดี
หน้าตาของขนมควยลิง
ยายลิและป้าตุ่มกำลังปั้นแป้งทำขนมควยลิง
ส่วนที่มาของชื่อ “ขนมควยลิง” ก็เพราะที่ชุมชนหนองบัวแต่ก่อนมีลิงแสมอยู่เยอะ เวลาทำขนมเจ้าลิงพวกนี้ก็จะมานั่งเฝ้านั่งดูพร้อมโชว์ของดีกันสลอน คนทำขนมเห็นเจ้าลิงพวกนี้ทุกวันๆ เข้าเลยตั้งชื่อว่าขนมควยลิงเสียเลย ซึ่งในปัจจุบันบ้านที่ยังทำและขายขนมควยลิงก็คือ “บ้านยายลิและป้าตุ่ม” ยังนั่งปั้นแป้งต้มแป้งให้ชมกันเพลินๆ ใครมาเที่ยววันเสาร์อาทิตย์ก็แวะทักทายและแวะซื้อขนมกันได้ โดยที่ร้านก็ยังมี “ขนมติดคอ” ซึ่งเป็นแป้งข้าวเหนียวดำต้มกินกับถั่วป่นและน้ำตาลอ้อย หรือที่คนที่นี่นิยมเรียกว่า “น้ำอ้อย” นั่นเอง อีกทั้งยังมี “ขนมถั่วแปบ” ให้ซื้อไปชิมกันอร่อยๆ อีกด้วย
ขนมตังก๊วย ขนมจีนโบราณหากินยาก
ไม่เพียงขนมควยลิงอันเป็นไฮไลท์เด็ดเท่านั้น ที่นี่ยังมีอีกสารพัดขนม อาทิ “ขนมตังก๊วย” ขนมจีนโบราณที่ปกติหากินยากเพราะจะทำเวลามีงานเทศกาล แต่ที่นี่หาชิมได้ตลอด ทำจากแป้งข้าวเม่าผสมน้ำอ้อย มีไส้เป็นฟักเชื่อมผัดกับหัวหอม ขนมถ้วยแบบโบราณที่ใช้น้ำอ้อยทำได้รสหวานหอม และยังมีขนมโก๋ ตังเมน้ำอ้อย ขนมอี๋น้ำเยี่ยววัว ขนมจ้าง ขนมฟักทอง ของเชื่อมต่างๆ รวมไปถึงอาหารอย่างก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง อาหารทะเล และพวกของแห้งอย่างกะปิ กุ้งแห้ง ฯลฯ ก็มีวางขายให้เราได้เดินเลือกซื้ออย่างเพลิดเพลิน
ภาพวาดสวยๆ กลางชุมชนหนองบัว
ซื้อของก็ว่าเพลินแล้ว ได้เดินเล่นในชุมชนหนองบัวก็ยิ่งเพลินไปอีก เพราะที่นี่ยังคงหลงเหลือบ้านเก่าที่เป็นเรือนแถวไม้พอให้ได้เห็นบรรยากาศความคลาสสิกในยุคอดีตได้ และสำหรับคนชอบถ่ายภาพ ชอบเซลฟี่ ที่นี่ก็มีภาพวาดสตรีทอาร์ทหลายภาพให้ไปโพสต์ท่าถ่ายรูปกัน เป็นอีกหนึ่งสีสันที่ทำให้นักท่องเที่ยวจะจดจำความประทับใจในชุมชนหนองบัวนี้ไว้
ภาพสตรีทอาร์ตหลากหลาย
จอดมอเตอร์ไซค์แวะซื้อของสักครู่
ภาพสตรีทอาร์ทเหล่านี้จะอยู่กระจายๆ กันไปในชุมชน ทั้งบริเวณสี่แยกกลางชุมชน ในบริเวณท่าเรือ และตามตึกอาคารต่างๆ ลองมองหาดูดีๆ จะเจอภาพน่ารักๆ เยอะเลย
ภาพน่ารักๆ เข้ากับบรรยากาศของชุมชน
น้ำอ้อยที่ต้มจนเดือดและข้นเหนียวเรียกว่าตังเม
เมื่อเล่าถึงขนมต่างๆ ในชุมชน เราได้พูดถึง “น้ำอ้อย” อยู่หลายครั้ง โดยน้ำอ้อยที่ว่านั้นหมายถึง “น้ำตาลอ้อย” ซึ่งดูแล้วเป็นส่วนประกอบหลักของขนมหลายๆ อย่างที่ทำขึ้นที่นี่ นั่นก็เพราะว่าในย่านนี้มีโรงงานที่ทำน้ำอ้อยด้วยวิธีแบบดั้งเดิมกว่า 30 ปีขายอยู่นั่นเอง ซึ่งวันนี้โชคดีว่าเราได้เข้าไปชมการผลิตน้ำตาลอ้อยกันถึงโรงงานของ “เฮียโจ้” ผู้ผลิตน้ำตาลแห่งชุมชนหนองบัว

กระบวนการทำน้ำอ้อยที่นี่เริ่มตั้งแต่นำอ้อยมาหีบจนได้น้ำอ้อยไหลออกมาตามรางไปพักไว้ในบ่อเพื่อให้ตกตะกอน แล้วจึงนำน้ำอ้อยมาต้มที่เตา ซึ่งเป็นเตาใหญ่มี 5 เตา (หลุม) ด้วยกัน การต้มก็จะต้มเรียงกันไป ตั้งแต่เตาที่ 1 เรียกว่า “น้ำอ้อยเตาแรก” เมื่อเดือดแล้วจึงตักไปใส่เตาที่ 2 เรียกว่า “น้ำเยี่ยววัว” ซึ่งจะมีความข้นขึ้นมาอีกนิด (ที่เอาไปราดใส่ขนมแป้งต้ม เรียกว่าขนมอี๋น้ำเยี่ยววัวนั่นเอง) จากนั้นเมื่อเตาที่สองเดือดจะตักใส่เตาที่ 3 4 และ 5 ต่อ ซึ่งจะเรียกว่า “ตังเม” เป็นน้ำตาลที่ข้นเหนียวมากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นเมื่อตังเมในเตาที่ 5 ข้นได้ที่แล้วคนงานจะตักเทไปตามรางลงไปยังถาดด้านล่าง
นำมากวนและคราดจนป่นเป็นผง
และขั้นตอนต่อไปก็คือการกวนและกวาดโดยใช้คราดเพื่อให้น้ำอ้อยอันข้นเหนียวค่อยๆ คลายความร้อนและสลายตัวป่นเป็นผง ได้น้ำอ้อยสีน้ำตาลอ่อนๆ น่ากิน และคนในชุมชนก็จะนำเอาไปทำขนมนานาชนิด บ้างก็เอาไว้ใส่กาแฟ หรือปรุงก๋วยเตี๋ยว ที่นี่จะขายน้ำอ้อยเป็นลูก (ถุงใหญ่) ลูกละ 30 กิโลกรัม (ขายกิโลกรัมละ 35 บาท) ถ้าใครอยากแบ่งซื้อถุงเล็กๆ ไปกินเองที่บ้านก็ซื้อแบบที่แบ่งขายในตลาดชุมชนหนองบัวได้เลย
หน้าตาของ น้ำอ้อย
ไม้กวาดตรานางฟ้าชุมชนหนองบัว ใช้ทนจนลืม
นอกจากน้ำอ้อยของชุมชนหนองบัวแล้ว ขอพาไปชมของดีของที่นี่อีกอย่างหนึ่งก็คือ “ไม้กวาดหนองบัว” หรือไม้กวาดตรานางฟ้า ไม้กวาดจากดอกอ้อของที่นี่ส่งขายไปทั่วประเทศ และขึ้นชื่อว่าเป็นไม้กวาดที่ทนทานมาก เมื่อได้เห็นขั้นตอนวิธีการทำแล้วก็รู้ว่าทำไมจึงทนทาน เพราะ “พี่รัช” แห่งบ้านไม้กวาด บรรจงทำด้วยมือทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ด้ามไม้กวาดก็กลึงเองไสเอง ดอกอ้อก็ต้องคัดขนาดและคุณภาพ ค่อยๆ จับดอกอ้อที่ตากแห้งแล้วมัดรวมเป็นช่อๆ แล้วใช้หวายหรือเส้นพลาสติกมัดทีละเปลาะๆ จนออกมาเป็นไม้กวาดดอกอ้อที่แน่นหนา ไม่มีหลุด

ดังนั้นจึงทำให้ไม้กวาดตรานางฟ้าแห่งชุมชนหนองบัวนี้ใช้ดีใช้ทนจนลืมไปเลยว่าซื้อมากี่ปีแล้ว แถมพี่รัชยังโชว์ไม้กวาดที่บ้านให้ดูว่าใช้จนกุดแต่หวายที่มัดขนไม้กวาดติดกับด้ามก็ยังแน่นเปรี๊ยะไม่มีหลุดให้รำคาญใจ เป็นเหตุให้ไม้กวาดตรานางฟ้านี้มีคนออร์เดอร์เยอะจนทำไม่ค่อยจะทัน และขายดีตลอดๆ ถึงแม้ราคาจะค่อนข้างสูงกว่าไม้กวาดในท้องตลาดทั่วไปก็ตาม ถ้าใครสนใจก็เข้าไปตามดูในเพจเฟซบุคได้ที่ : ไม้กวาดหนองบัวตรานางฟ้า

เสาร์อาทิตย์นี้อยู่บ้านว่างๆ ไม่ได้ไปไหนก็ขับรถมาเที่ยวจันทบุรี มาเดินเล่นในชุมชนขนมแปลกริมคลองหนองบัว หาขนมควยลิงและขนมอีกสารพัดชนิดมาลองกิน ชิมความหวานหอมของน้ำอ้อย เดินเล่นชมชุมชนและเลือกซื้อของฝากกลับบ้านกันชิลๆ ได้เลย

สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในชุมชนขนมแปลกริมคลองหนองบัว และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดจันทบุรีได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง (ดูแลระยอง จันทบุรี) โทร. 0 3865 5420-1
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น