xs
xsm
sm
md
lg

ชวนเที่ยว “สังขละบุรี” ยลเสน่ห์วิถีมอญแห่งดินแดนฝั่งตะวันตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager

สะพานมอญทอดยาว
“กาญจนบุรี” เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 129 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่มีธรรมชาติป่าเขาเขียวขจีอันงดงาม รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหลากหลายแห่ง

เมื่อมาถึงกาญจนบุรีแล้วจะต้องไม่พลาดไปเยือน “สังขละบุรี” ซึ่งเป็นอำเภอหน้าด่าน เมืองชายแดนที่ล้อมรอบด้วยขุนเขาและป่าไม้เขียวขจี ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่ผสมผสานชาติพันธุ์ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน ก็คือ ชาวไทย และชาวมอญ ซึ่งชาวมอญสังขละบุรีนี้ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากฝั่งพม่า ตั้งรกรากอยู่ที่สังขละบุรี กระทั่งมีการสร้างเขื่อน ชาวมอญจึงต้องย้ายจากเมืองสังขละเก่าที่ถูกน้ำในเขื่อนท่วม ขึ้นมาอยู่ยังเมืองสังขละจวบจนถึงปัจจุบัน

สะพานไม้ข้ามผ่านแม่น้ำซองกาเลีย
นักท่องเที่ยวที่มาสังขละบุรีจะได้มีโอกาสสัมผัสกับวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของหลายชนชาติ เช่น มอญและกระเหรี่ยง และจะได้เพลิดเพลินไปกับเส้นทางที่ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ และช่วงนี้กำลังชุ่มฉ่ำไปด้วยสายฝน เป็นช่วงฤดูที่มีทั้งความฉ่ำเย็นและมีสายหมอกอันน่าหลงใหลปกคลุมเมืองอันสงบงามแห่งนี้

เครื่องสำอางชุดมอญมิ้ง ในแคมเปญ Palette of Thailand
หากใครมีโอกาสมีชมบรรยากาศยามเย็นที่สังขละบุรี ที่พระอาทิตย์กำลังลาลับขอบฟ้า ก็จะได้เห็นความงดงามของแสงท้องฟ้าสีครามม่วงอมชมพู จึงเป็นที่มาของ “มอญมิ้ง” เป็นหนึ่งในสถานที่แห่งสีสันที่ถูกคัดเลือกให้อยู่ในแคมเปญ Palette of Thailand ภายใต้แนวคิด “ตลับสีเมืองไทย เฉดสีบันดาลใจให้คุณออกไปเดินทาง” ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับ โอเรียนทอล พริ้นเซส ที่ผสมผสานการท่องเที่ยวกับการแต่งหน้าแต่ละเฉดสีของเมืองไทย สร้างแรงบันดาลใจในการเดินทาง

สาวชาวมอญเดินข้ามสะพานไม้
สำหรับจุดไฮไลท์ที่น่าสนใจเมื่อได้มาเที่ยวที่นี่ก็คือ “สะพานอุตตมานุสรณ์” หรือที่เรารู้จักกันก็คือ “สะพานมอญ” ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2538 เพื่อให้ชาวบ้านใช้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำซองกาเลีย เดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างฝั่งไทยและฝั่งมอญ โดยมีหลวงพ่ออุตตมะเป็นผู้ดำเนินการสร้าง ซึ่งตัวสะพานมีความยาว 850 เมตร นับว่าเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

ตักบาตรยามเช้า
ความงดงามของสะพานที่ทอดยาวไปยังอีกฝั่ง ถือเป็นมนต์เสน่ห์ที่ชวนหลงใหลให้ได้มาสัมผัสกันสักครั้ง เมื่อใครได้มาเที่ยวแล้วก็มักจะแวะถ่ายรูปกับมุมสวยๆ ให้เห็นทั้งสะพานไม้ บ้านเรือน ป่าเขา และสายน้ำ ไหนๆ ก็ได้มาชมความงดงามของสะพานมอญแล้ว หากจะให้ได้บรรยากาศเพิ่มมากขึ้นไปอีก ขอแนะนำให้ซื้อหรือหาเช่าชุดมอญมาถ่ายรูปบนสะพานไม้ เพื่อเพิ่มความกลมกลืนให้เข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และสร้างความประทับใจจดจำไว้ในภาพถ่ายอีกด้วย

บริเวณสะพานไม้ในฝั่งมอญ เป็นจุดที่มีนักท่องเที่ยวมารอใส่บาตรกันเป็นจำนวนมาก และพ่อค้าแม่ค้าแถวนั้นก็จัดเตรียมชุดใส่บาตรอันประกอบด้วยขันใส่ข้าว ผลไม้ น้ำดื่ม และดอกไม้ไว้ให้ซื้อหาใส่บาตรพระด้วยเช่นกัน

เสน่ห์ของวิถีชาวมอญ

วัดวังก์วิเวการาม (หลังเก่า)
นอกจากสะพานมอญที่ถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของสังขละบุรีแล้ว ต้องไม่พลาดการนั่งเรือหรือนั่งแพไปชม “วัดเก่า” หรือ “วัดวังก์วิเวการาม” (หลังเก่า) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่เรียกว่า “สามประสบ” ซึ่งหมายถึงจุดที่แม่น้ำ 3 สาย ไหลมารวมกัน ได้แก่ แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำรันตี และแม่น้ำบีคลี่ แม่น้ำทั้งสามสายไหลรวมต่อกันไปเป็นแม่น้ำแควน้อย ที่ปัจจุบันถูกกั้นด้วยเขื่อนเขาแหลม โดยหลังจากการสร้างเขื่อนและปล่อยน้ำเข้าเขื่อนในปี 2527 ทำให้วัดเก่าจมอยู่ใต้น้ำ และหลวงพ่ออุตตมะได้ขึ้นมาสร้างวัดใหม่บนเนินเขาที่ตั้งปัจจุบัน

ภายในวัดวัดวังก์วิเวการาม (หลังเก่า)
ในช่วงหน้าน้ำ ซากวัดเก่าจะจมอยู่ใต้น้ำราวกับเป็นเมืองบาดาล ส่วนในช่วงที่น้ำในเขื่อนแห้ง นักท่องเที่ยวก็สามารถนั่งเรือไปชมและเดินขึ้นไปสำรวจรอบๆ บริเวณวัดเก่าได้เช่นเดียวกัน โดยสิ่งที่ยังหลงเหลือให้ชมก็คือโครงของหอระฆัง และตัวโบสถ์ที่ยังมีลวดลายซุ้มประตูหน้าต่างหลงเหลือ มีร่องรอยของช่องพระประดับผนังด้านในให้เห็น นอกจากนี้ยังมีเศียรพระ มีซากเจดีย์ ซากบันไดนาค ให้เห็นกันที่รอบนอกของตัวโบสถ์

วัดวังก์วิเวการาม
ส่วน “วัดวังก์วิเวการาม” ที่สร้างขึ้นในปัจจุบัน ถือเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ สร้างขึ้นโดยหลวงพ่ออุตตมะ พระเกจิชื่อดังที่ทั้งชาวไทย กระเหรี่ยง มอญ ให้ความเคารพนับถือเสมอมา โดยท่านได้ร่วมมือกับชาวบ้านสร้างวัดนี้ขึ้นตามแบบศิลปะพม่าในปีพ.ศ.2496

ภายในบริเวณวัดยังมีสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น พระพุทธรูปหินอ่อนสีขาวสวยงาม ที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อขาว และมีการโชว์ภาพถ่ายเล่าเรื่องราวของชาวมอญ รวมถึงภาพสะพานมอญในอดีตให้ได้ชมกันอย่างเพลิดเพลิน

ภายในวัดวังก์วิเวการาม
นอกจากนั้นยังมี “เจดีย์พุทธคยา” บนฝั่งมอญ เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ บนยอดเจดีย์ประดับด้วยฉัตรทองคำหนัก 400 บาท ซึ่งภายในนั้นประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่หลวงพ่ออุตตมะอัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เจดีย์องค์นี้จึงสร้างโดยจำลองแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา ลักษณะฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตัวเจดีย์สีทองอร่าม มีลวดลายปูนปั้น และพระพุทธรูปปางต่างๆ วางเรียงรายอยู่โดยรอบองค์เจดีย์ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่เป็นกระดูกนิ้วหัวแม่มือด้านขวา

บรรยากาศโดยรอบ
เจดีย์พุทธคยาองค์นี้ เป็นที่เคารพสักการะของชาวมอญสังขละเป็นอันมาก และยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาสักการะและชมความงามของเจดีย์ไม่ขาดสาย โดยพื้นที่ว่างด้านหน้าองค์เจดีย์ที่เป็นลานกว้าง เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมสำคัญทางศาสนา อาทิ งานรดน้ำต้นโพธิ์ในช่วงวันวิสาขบูชา รวมไปถึงเป็นลานกิจกรรมประเพณีของชาวมอญสังขละอีกด้วย

มีภาพสะพานไม้ในอดีตให้ชม
และใกล้กันยังเป็นแหล่งรวมร้านค้าที่ชาวมอญนำสินค้าท้องถิ่นเข้ามาขาย ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอ แป้งพม่า เครื่องไม้ ในราคาย่อมเยา ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อเป็นของฝาก ของที่ระลึก กลับไปฝากเพื่อนฝูงหรือคนในครอบครัวด้วย

วัดสมเด็จ (หลังเก่า)
ยังมีอีกหนึ่งวัดร้างในเขื่อนที่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยรู้จัก นั่นก็คือ “วัดสมเด็จหลังเก่า” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัดที่ต้องย้ายที่ตั้งเพราะการสร้างเขื่อนเขาแหลม แม้ว่าน้ำจะท่วมไม่ถึงตัววัดก็ตามแต่ก็ต้องย้ายเพื่อความสะดวกและปลอดภัย

วัดสมเด็จหลังเก่านี้ตั้งอยู่ทางฝั่งไทย เมื่อเรือแพจอดเทียบฝั่งจะต้องเดินเท้าขึ้นไปตามเนินอีกประมาณ 300 เมตร จึงจะถึงตัววัด สิ่งที่หลงเหลืออยู่ในบริเวณนี้คืออุโบสถหลังเล็กๆ ซึ่งเหลือเพียงผนังก่ออิฐถือปูนสี่ด้าน และพระประธานที่มีลักษณะคล้ายพระพุทธชินราช แต่ยังคงมองเห็นลวดลายปูนปั้นประดับหน้าบันและตามซุ้มประตูหน้าต่างงดงามไม่น้อย

ทางเดินไปยังวัดสมเด็จ

องค์พระประธานภายในวัด
บรรยากาศรอบๆ โบสถ์เก่าวัดสมเด็จนี้ร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้ เป็นป่าย่อมๆ เลยก็ว่าได้ เนื่องจากไม่ค่อยมีคนเข้ามาเท่าไรนัก ต้นไม้ต้นไทรต่างๆ จึงเลื้อยพันไปรอบโบสถ์อย่างอิสระ ให้อารมณ์วัดร้างลึกลับ แต่รู้สึกถึงความสงบนิ่งในจิตใจ

ศิลปะแบบโบราณที่ยังมีให้เห็น

รากไม้เลื้อยเข้ามาภายในอุโบสถ
หากใครได้มาท่องเที่ยวที่สังขละบุรีแล้ว จะต้องหลงใหลกับความงดงามของสถานที่ท่องเที่ยว บรรยากาศ รวมถึงความเป็นอันเรียบง่ายของผู้คนชาวมอญ จนอยากจะกลับไปเที่ยวอีกครั้งอย่างแน่นอน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น