xs
xsm
sm
md
lg

กุ้งก้ามกรามถิ่นอีสาน...กับพรานล่ากุ้งแห่งเขื่อนลำปาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

Facebook : Travel @ Manager
พรานแมว (ซ้าย) พรามเมษ (ขวา) พร้อมกุ้งก้ามกรามในมือ
“กุ้งก้ามกราม” กุ้งแม่น้ำตัวโตๆ เนื้อแน่นนำมาเผาจิ้มน้ำจิ้มซีฟูดรสเด็ด เป็นของอร่อยของโปรดของหลายๆ คน โดยธรรมชาติแล้วกุ้งก้ามกรามจะอาศัยอยู่ในแม่น้ำลำคลอง แต่จะวางไข่ในน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม ดังนั้นแหล่งที่พบกุ้งก้ามกรามในธรรมชาติจึงอยู่ในแม่น้ำหรือคลองที่ไม่ไกลจากทะเลนัก เช่นในภาคกลาง อาทิ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา สมุทรสงคราม เป็นต้น

แต่หนึ่งในจังหวัดที่มีชื่อเสียงเรื่องกุ้งก้ามกรามกลับอยู่ในภาคอีสานคือที่ “กาฬสินธุ์” ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งก้ามกรามมานานนับสิบปี โดยเฉพาะในอำเภอยางตลาดนั้นมีเกษตรกรเลี้ยงกุ้งหลายแห่งด้วยกันจนสามารถรวมกลุ่มกันในรูปสหกรณ์ โดยนำลูกกุ้งจากฟาร์มเพาะเลี้ยงในภาคกลางมาเลี้ยงในบ่อและจำหน่ายเป็นกุ้งเนื้อเพื่อบริโภค หากได้กินกุ้งก้ามกรามในภาคอีสานก็เป็นอันรู้กันว่าแหล่งเลี้ยงอยู่ที่กาฬสินธุ์นี่เอง
พิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่บ้านท่าเรือภูสิงห์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา
ไม่เพียงกุ้งเลี้ยงเท่านั้น แต่ปัจจุบันที่กาฬสินธุ์ยังมีกุ้งก้ามกรามที่เจริญเติบโตในธรรมชาติอยู่ภายในเขื่อนลำปาว โดยมีการปล่อยพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกรามลงในเขื่อนให้ชาวบ้านได้จับกุ้งขาย เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้คนริมเขื่อนที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านได้ไม่น้อย

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่บ้านท่าเรือภูสิงห์ ตำบลภูสิงห์ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยนายสำรวย ชมพุฒ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านประมง สำนักงานประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า แต่เดิมการเลี้ยงกุ้งในกาฬสินธุ์มีมานานแล้ว ส่วนการปล่อยพันธุ์กุ้งลงในเขื่อนลำปาวมีมาอย่างต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยนำพันธุ์มาจากภาคกลาง ในปีนี้มีการปล่อยพันธุ์กุ้งทั้งหมด 10 จุดในเขื่อนลำปาว รวมแล้วกว่า 1,700,000 ตัวด้วยกัน
เขื่อนลำปาวในเขตบ้านท่าเรือภูสิงห์ มองเห็นสะพานพระเทพฯ ไกลๆ
“พันธุ์กุ้งที่นำมาปล่อยจัดซื้อมาจากภาคกลาง แถบจังหวัดสุพรรณบุรี แปดริ้ว ฉะเชิงเทรา เป็นลูกกุ้งที่คว่ำแล้วประมาณ 20 กว่าวัน กุ้งเหล่านี้ขยายพันธุ์ในน้ำจืดไม่ได้เพราะความเค็มไม่เหมาะสม ที่เห็นกุ้งตัวเมียบางตัวมีไข่เพราะพยายามปรับตัวแต่ก็ไม่สามารถผสมและวางไข่ได้ ทางศูนย์ประมงเองมีการวิจัยทดลองเพาะพันธุ์กุ้งอยู่แต่ปัจจุบันต้นทุนการเพาะเพื่อขยายพันธุ์มันสูง การเอาลูกกุ้งมาอนุบาลแล้วปล่อยให้ชาวบ้านจับมาขายจะคุ้มค่ากว่า”

“ไม่ใช่เฉพาะที่เขื่อนลำปาวเท่านั้น อย่างที่เขื่อนลำพะยัง อ่างเก็บน้ำห้วยจุมจัง ที่กาฬสินธุ์เราก็นำพันธุ์กุ้งไปปล่อย เขื่อนใหญ่ๆ อย่างเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธรก็ทำเช่นกัน ซึ่งก็ช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้านเพราะเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจของภาคอีสานสูง ถ้าเราปล่อยเป็นแสนรอดซัก 30 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว อย่างกุ้งเลี้ยงในฟาร์มอาจจะราคากิโลกรัมละ 250-350 บาท แต่ถ้าเป็นกุ้งในเขื่อนจะได้ราคาถึง 500-700 บาท เป็นการสร้างรายได้สร้างเศรษฐกิจให้คนในพื้นที่ได้มาก” นายสำรวยกล่าว
กุ้งก้ามกรามตัวเท่าขวดน้ำขนาด 600 ml.
สำหรับที่บ้านท่าเรือภูสิงห์ อำเภอสหัสขันธ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกรามนั้น นายวัชระ บุญยบุตร ปลัดเทศบาลตำบลภูสิงห์ เล่าว่า ที่นี่เป็นชุมชนเล็กๆ ริมเขื่อนลำปาว ชาวบ้านส่วนหนึ่งประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน บ้างเป็นอาชีพหลัก บ้างเป็นอาชีพเสริมเมื่อว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา

“ฤดูกาลจับกุ้งจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเมษายน หลังจากปล่อยพันธุ์กุ้งในช่วงหน้าฝนแล้วอีก 4-5 เดือนกุ้งก็โตให้จับได้ในช่วงหน้าหนาวที่เหมาะกับการจับกุ้งพอดี อย่างในช่วงปีใหม่เคยเห็นคนจับกุ้งได้วันละ 10-20 กิโล แต่ช่วงหน้าฝนอย่างนี้จะจับได้น้อย พอได้บ้างวันละ 2-3 ตัวเพราะเป็นช่วงฝนตกเยอะน้ำในเขื่อนจะขุ่น”

“เคยเห็นกุ้งตัวใหญ่ที่คนเคยจับได้ก็ประมาณขนาด 6-7 ขีด/ตัว ขนาด 2 ตัว/กิโลกรัม ก็เห็นบ่อย แต่ส่วนมากจะเป็น 3-4 ตัว/กิโลกรัม ราคาในช่วงนี้จะอยู่ที่ประมาณ 800-900 บาท/กิโลกรัม” วัชระ กล่าว
“พรานเมษ” เมษ จัตตุมรรค
แน่นอนว่าเรื่องการจับกุ้งคงต้องให้ “พรานล่ากุ้ง” เป็นคนเล่าให้เราฟัง โดย “พรานเมษ” เมษ จัตตุมรรค อายุ 44 ปี มีประสบการณ์ประมงในพื้นที่มากว่า 30 ปี เล่าว่า การหากุ้งจะเป็นเขตใครเขตมัน แต่ละคนก็จะหากันคนละพื้นที่ เขตของตนจะอยู่ทางท้ายเขื่อน ถ้าคนอื่นเข้ามาก็จะหาไม่เจอเพราะจะไม่รู้แหล่งที่อยู่ของมัน

“กุ้งก้ามกรามส่วนมากจะอยู่เป็นกลุ่ม กลุ่มละ 10 กว่าตัว เคยหาได้ครั้งหนึ่งมากสุด 70 ตัว ในบริเวณเดียว ช่วงล่าสุดเร็วๆ นี้ที่น้ำยังใสๆ ก็หาได้ที่เดียว 40 ตัว เวลาดำลงไปหากุ้งจะต้องใส่หน้ากากดำน้ำ เรียกว่าหน้ากากไทยประดิษฐ์ ตัวปั๊มอากาศทำจากคอมแอร์รถยนต์ต่อเป็นสายอากาศลงไปดำน้ำ ใช้เครื่องยนต์ปั๊มอากาศลงในถัง เวลาน้ำขุ่นมองไม่เห็นกุ้งก็จะใช้มือคลำเอา แต่ส่วนมากถ้าน้ำขุ่นๆ จะไม่ดำเลย และถ้าช่วงน้ำใสๆ ไม่ใช่จับได้เฉพาะกุ้ง แต่ยังจับปลาบู่ตัวโตๆ ตัวละ 2-3 โล หรือพวกปลาตองกราย พวกปลาจะใช้ปอม หรือวางทุ่นเอาอาหารล่อ แล้วใช้แหหว่านจับปลา แต่ที่สำคัญสุดก็คือกุ้ง ผมจับมาขายให้เขาเอาไปขายต่อได้กิโลละ 800-900 บาท”
“พรานแมว” วิโรจน์ เลขยัน
ด้าน “พรานแมว” วิโรจน์ เลขยัน อายุ 28 ปี ที่พื้นเพเดิมไม่ใช่คนที่นี่ แต่ก็มีประสบการณ์ในการจับกุ้งมากว่า 3 ปี เล่าให้ฟังว่า ปกติก็ทำอาชีพประมงในเขื่อน แรกๆ ก็จับปลา ต่อมาก็หัดจับกุ้งโดยออกเรือไปกับคนอื่นแล้วก็ดูวิธีที่เขาจับ จากนั้นก็เริ่มลงทุนหาซื้อเรือ ซื้อเครื่องปั๊มและอุปกรณ์ต่างๆ

“บางทีก็ไปหาแถวตอม่อสะพาน ตามตอไม้ โขดหิน ที่กุ้งมันจะเข้าไปนอนอยู่ในนั้น บางที่น้ำลึกประมาณ 3-4 วา ต้องใส่หน้ากากต่อสายอากาศลงไป บางช่วงที่จับได้เยอะๆ เคยจับได้ถึง 40 ตัว ได้มากที่สุดถึง 20 กิโล แต่มีบางวันก็จับไม่ได้เลย”

“บางครั้งจับได้ตัวเล็กๆ เท่านิ้วโป้งก็ปล่อยไปก่อน เพราะมันไม่ได้หนีหายไปไหน รอให้มันโตใหญ่แล้วค่อยจับ จุดที่หากุ้งแต่ละคนก็จะหาในเขตของเขา ถ้าเราไม่เคยมาก็จะไม่รู้เลยว่ามันอยู่ตรงไหน ถ้ามีหาข้ามเขตกันก็ไม่เคืองเพราะเขาก็จะหาไม่เจอ แหล่งที่หาก็ถือเป็นความลับไม่ได้บอกกัน“ พรานแมวเล่า

“ส่วนใหญ่ก็ใช้มือเปล่าจับ เพราะถ้าเป็นกุ้งเป็นก็จะราคาดีกว่า ถ้าใช้ปืนยิงก็จะเป็นกุ้งตายราคาไม่ดี บางคนก็ใช้แหเล็กๆ ประมาณ 1 ศอกคลุมจับ อย่างผมก็ใช้ไม้มาทำเป็นซุ้มวางลงในน้ำให้เขามาอยู่ บางทีกุ้งก็เข้า แต่บางทีก็ไม่เข้า หรือถ้าออกหากุ้งตอนกลางคืนก็ใช้ปอมหรือทุ่น โดยใช้เนื้อมะพร้าวเสียบกับตะปูแล้วห้อยกับเชือกยาวประมาณ 3 วา วางทิ้งไว้ ถ้ากุ้งมากินมันก็จะลากปอมให้แตกแถวออกมา เราก็จะรู้ตำแหน่งมันแล้วก็จะเอาแหหว่าน” พรานแมวกล่าวปิดท้าย
กุ้งเผากลิ่นหอมยั่วน้ำลาย
กุ้งเผาแห่งบ้านท่าเรือภูสิงห์พร้อมเสิร์ฟ
ที่บ้านท่าเรือภูสิงห์ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการจับกุ้งในธรรมชาติจากเขื่อนลำปาว แต่ก็มีความพยายามที่จะส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งบ่อด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 บ่อ เป็นบ่อสาธิตและเพิ่งเริ่มเลี้ยงกุ้งเป็นชุดแรกโดยใช้น้ำที่มาจากเขื่อนลำปาว ทั้งนี้มีความคาดหวังว่าในอนาคตเมื่อมีคนมาเที่ยวเขื่อนลำปาว มาเที่ยวบ้านท่าเรือภูสิงห์แล้วก็จะได้ชิมทั้งกุ้งที่จับในเขื่อน และกุ้งเลี้ยงในบ่อในพื้นที่ของภูสิงห์เอง

เรียกได้ว่ากุ้งก้ามกรามช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชาวกาฬสินธุ์เป็นอย่างมาก และชาวภาคอีสานเองก็ได้กินกุ้งตัวโตเนื้อแน่นหวานสดอร่อยไม่แพ้คนภาคอื่นๆ แถมยังมีความภาคภูมิใจอีกด้วยว่านี่คือกุ้งก้ามกรามถิ่นอีสาน เพื่อคนอีสาน เมื่อได้กินก็ยิ่งแซบอีหลีคูณสองเข้าไปอีกอย่างแน่นอน
บ่อสาธิตเลี้ยงกุ้งก้ามกรามที่เพิ่งเริ่มต้น
ผู้ที่สนใจเรื่องการจับกุ้งในเขื่อนลำปาวที่บ้านท่าเรือภูสิงห์ ต.ภูสิงห์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ วัชระ บุญยบุตร ปลัดเทศบาลตำบลภูสิงห์ โทร.09 5987 4698 หรือสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับที่เที่ยว ทีกิน ที่พักใน จ.กาฬสินธุ์ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานขอนแก่น (ดูแลพื้นที่ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม) โทร.0 4322 7714-5

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น