xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำตกเสาหิน”สวยแปลกตาน่าทึ่ง หนึ่งเดียวในไทย อันซีนวิเชียรบุรี(ที่มีมากกว่าไก่ย่าง)/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)

Facebook Travel Unlimited / เที่ยวถึงไหนถึงกัน
น้ำตกเสาหิน อันซีนวิเชียรบุรีที่น่าทึ่ง
“วิเชียรบุรี”

เอ่ยชื่อนี้ หลายๆคนคงนึกถึง “ไก่ย่างวิเชียรบุรี” ไก่ย่างแบรนด์ไทยชื่อดังที่มีวางขายกัน(เกลื่อน)ไปทั่วประเทศ ทั้งไก่ย่างวิเชียรบุรีแท้และไก่ย่างวิเชียรบุรีเทียม แต่ถ้าหากอยากจะให้ชัวร์ก็ต้องมากินที่แหล่ง ใน อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์

นอกจากไก่ย่างแล้ว อำเภอวิเชียรบุรี ยังมีของดีไม่ธรรมดาที่หลายๆคนไม่รู้ นั่นก็คือ การเป็นหนึ่งในแหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญของบ้านเรา โดยเฉพาะการเป็น “ถิ่นภูเขาไฟ” หรือ แหล่งภูเขาไฟในอดีต ที่ส่งผลให้พื้นที่วิเชียรบุรีเป็นแหล่ง“ภูเขาเสาหิน”(เสาหินภูเขาไฟ)ที่เยอะที่สุดในเมืองไทย(อ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญของกรมทรัพยากรธรณี)
วิเชียรบุรีเป็นแหล่งเสาหินภูเขาไฟที่เยอะที่สุดในเมืองไทย(ในภาพคือเสาหินภูเขาไฟบนยอดเขาน้อย)
รวมถึงมีปรากฏการณ์ทางธรณีที่ชวนทึ่งอีกหลากหลาย โดยเฉพาะความมหัศจรรย์ของ “น้ำตกเสาหินอัคนี” ที่มีหนึ่งเดียวในเมืองไทย และมีไม่กี่แห่งบนโลกใบนี้

อุทยานธรณีเพชรบูรณ์

ผลจากการที่จังหวัดสตูลได้รับการคัดเลือกให้เป็น “อุทยานธรณีโลก”(อุทยานธรณีโลก สตูล : Satun UNESCO Global Geopark)แห่งแรกของเมืองไทย สร้างความตื่นตัวให้กับหลายจังหวัดหลายพื้นที่ หันมาสนใจศึกษาทางด้านธรณีวิทยาในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อนำไปสู่แหล่งศึกษาเรียนรู้เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน อีกทั้งยังสามารถยกระดับจากแหล่งธรณีท้องถิ่นสู่อุทยานธรณีระดับประเทศ ไปจนถึงขั้นยกระดับสู่การเป็นอุทยานธรณีโลกได้(ถ้ามีศักยภาพเพียงพอ)

สำหรับจังหวัด“เพชรบูรณ์”ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความตื่นตัวอย่างมากในเรื่องของการศึกษาด้านธรณีวิทยา เนื่องจากจังหวัดนี้มีความโดดเด่นในเรื่องของแหล่งธรณีวิทยาที่น่าสนใจอันหลากหลาย(ซึ่งหลายๆคนไม่รู้) ไม่ว่าจะเป็น การเป็นพื้นที่แนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกหรือแผ่นทวีป 2 แผ่น คือแผ่นอนุทวีปฉาน-ไทยและแผ่นอนุทวีปอินโดไชน่า, เป็นดินแดนแห่งภูเขาไฟ(หลายลูก)ในอดีต, เป็นแหล่งที่มีเสาหินภูเขาไฟ(อ.วิเชียรบุรี)มากที่สุดในเมืองไทย, เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์สำคัญ และเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองในอดีต รวมถึงมีความหลากหลายของชุมชนที่อยู่อาศัยกันอย่างผสมกลมกลืน
เพชรบูรณ์เป็นจังหวัดรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่น
ด้วยศักยภาพความโดดเด่นทางธรณีวิทยาเหล่านี้ ทางจังหวัดเพชรบูรณ์จึงได้เชิญ“กรมทรัพยากรธรณี” (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ให้มาเป็นที่ปรึกษาให้กับท้องถิ่นและชุมชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกันศึกษา สำรวจ ประเมินคุณค่า ตลอดจนรวบรวมแหล่งทางธรณีวิทยาต่างๆ(ปัจจุบันมีแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาอย่างเป็นทางการในเพชรบูรณ์ทั้งหมด 21 แห่งด้วยกัน) ก่อนที่จะเห็นพ้องต้องกันสนับสนุนให้มีการประกาศจัดตั้ง “อุทยานธรณีเพชรบูรณ์”(Phetchabun Geoparks) ขึ้นเมื่อต้นปี 2561ที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านทรัพยากรณี และแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้กับจังหวัดเพชรบูรณ์

แหล่งธรณีวิเชียรบุรี

สำหรับอำเภอวิเชียรบุรีถิ่นไก่ย่างอร่อย ถือเป็นหนึ่งในแหล่งธรณีวิทยาสำคัญของเมืองไทย

อำเภอนี้มีแหล่งเรียนรู้ทางธรณีที่สำคัญ(และผ่านการคัดเลือกให้บรรจุไว้ในอุทยานธรณีจังหวัดเพชรบูรณ์) อาทิ

-“สุสานหอยล้านปี”(บ้านโคกปรง ต.โคกปรง) เป็นชั้นหอยน้ำจืดที่มีลักษณะเหมือนหอยเจดีย์ ตายทับถมฝังตัวอัดแน่นอยู่ในชั้นหินอายุประมาณ 13 ล้านปี สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นบึงหรือทะเลสาบน้ำจืดมาก่อน
ชั้นหอยน้ำจืดที่ทับถมฝังแน่นในชั้นหินที่ สุสานหอยล้านปี
-“บ่อน้ำเดือด”(บ้านโคกปรง ต.โคกปรง) เป็นบ่อน้ำใต้ดินที่ผุดผ่านชั้นความร้อนใต้โลกขึ้นมาบนพื้นดิน เมื่อมีเสียงดังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงปรบมือ หรือเสียงตะโกนดังๆ จะมีฟองน้ำผุดจากบ่อขึ้นมาตามจังหวะ

-“แหล่งข้าวสารหิน”(วัดถ้ำเทพบันดาล ต.สามแยก) เป็นซากดึกดำบรรพ์ของ “ฟิวซูลินิต”(Fusulinids) สัตว์ทะเลเซลล์เดียว มีรูปร่างยาวคล้ายเม็ดข้าวสาร ชาวบ้านจึงเข้าใจผิดคิดว่าเม็ดข้าวสารกลายเป็นหิน จึงเรียกขานกันทั่วไปว่า “ข้าวสารหิน หรือ คตข้าวสาร

นอกจากนี้อำเภอวิเชียรบุรียังเป็นดินแดนแห่งอดีตภูเขาไฟ หรือ “ถิ่นภูเขาไฟ” ที่มีลักษณะเป็น(อดีต)ภูเขาไฟลูกเตี้ยๆ กระจายอยู่ในพื้นที่วิเชียรบุรี
ดร.สมบุญ โฆษิตานนท์
ดร.สมบุญ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศทรัพยากรธรณี อธิบายถึงการเกิดภูเขาไฟในพื้นที่วิเชียรบุรีว่า เกิดจากแผ่นดิน(เปลือกโลก)อินเดียขึ้นไปชน(อัด)กับแผ่นดินยูเรเซีย(ยุโรป+เอเชีย)มีจุดชนกันคือแนวหิมาลัย

เมื่อเปลือกโลกชนกันจนหมดแรงประมาณ 50 ล้านปีที่แล้ว แผ่นดินส่วนหนึ่งก็ค่อยๆถดถอยลงมาเรื่อยๆ เป็นขยักๆ ไล่ลงมาจากจีนตอนใต้สู่พม่า มาจนถึงที่วิเชียรบุรีที่อยู่ช่วงปลายทางเมื่อประมาณ 10 ล้านปีที่แล้ว

“การค่อยๆเขยิบถดถอยของแผ่นดินที่ชนกัน ทำให้เกิดภูเขาไฟขนาดเล็กขึ้นในพื้นที่วิเชียรบุรี มีลักษณะเป็นรอยปูดของภูเขาไฟขนาดเล็ก เหมือนการกวนอะไรสักอย่างในกระทะสุมไฟร้อนๆแล้วมีฟองเดือดปุดๆขึ้นมา” ดร.สมบุญให้ข้อมูล
แท่งเสาหินภูเขาไฟที่เผยตัวมาให้เห็น
ภูเขาไฟลูกเตี้ยๆเหล่านี้ เกิดจากแผ่นเปลือกโลกที่ดันเอาเสาหินภูเขาไฟ(อดีตของลาวา)ยกขึ้นมาเป็นภูเขา นานวันเข้าก็เกิดการผุพังกลายเป็นดินปกคลุม มีต้นไม้ขึ้นปกคลุม จนมองดูเหมือนภูเขาหินภูเขาดินทั่วๆไป ต่อมาในยุคปัจจุบันในส่วนของยอดเสาหินบางลูกได้ถูกลมฝนชะล้าง เผยให้เห็นส่วนยอดของภูเขาไฟที่มี“แท่งเสาหิน”อย่างเด่นชัดและมีเป็นจำนวนมาก

แท่งเสาหินภูเขาไฟเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นหินภูเขาไฟประเภทหินอัคนี ชนิดหินบะซอลต์(บะซอลต์เป็นประเภทหนึ่งของหินอัคนี) ที่เกิดจากการเย็นตัวของ “ลาวา”หินหนืดร้อนใต้ดิน(แมกมา)ที่ปะทุไหลออกมาสู่ผิวโลก***

เมื่อลาวาไหลออกมาเป็นปริมาณมากจนมีความหนานั้น ยามที่ผิวหน้าเกิดการเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วในขณะที่ด้านล่างยังมีความร้อนอยู่ก็จะเกิดแรงดึงบนผิว ทำให้แตกออกเป็นแท่งจากบนลงล่าง เกิดเป็น แท่งเสาหินหกเหลี่ยมเรียงตัวกันอย่างสวยงาม (อย่างเช่นที่ “ม่อนเสาหินพิศวง”- จ.แพร่ ภูพระอังคาร- จ.บุรีรัมย์)
บนยอดเขาน้อยมีแท่งเสาหินหกเหลี่ยมอยู่ทั่วไป
สำหรับแหล่งภูเขาแท่งเสาหินที่น่าสนใจในอำเภอวิเชียรบุรี ได้แก่ที่ภูปราสาท เขาหินเหล็กไฟ และที่“เขาน้อย”(ต.ท่าโรง) ที่เป็นภูเขาหินอัคนีลูกเตี้ยๆ ส่วนของตัวภูเขาด้านล่างถูกดินและซากพืชที่ผุพังย่อยสลายทับถม ขณะที่ในส่วนของยอดเขา นั้นเต็มไปด้วยแท่งเสาหินหกเหลี่ยมอยู่ทั่วไป มีทั้งที่เรียงตัวเป็นระเบียบ และเอียงล้มระเนระนาด

ภูเขาลักษณะนี้(แบบเขาน้อย) ในวิเชียรบุรี ไม่ใช่ตัวของภูเขาไฟ หากแต่เป็นภูเขาที่มีหินลาวาจากภูเขาไฟเย็นตัวลงจนเกิดเป็นแท่งเสาหิน(ตามที่ได้อธิบายมาข้างต้น) ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกทำให้เสาหินเหล่านี้ถูกดันขึ้นมาเป็นภูเขาในภายหลัง ลักษณะของเสาหินจึงไม่ได้ตั้งตรงอย่างที่ควรจะเป็น

น้ำตกเสาหิน อันซีนวิเชียรบุรี
น้ำตกซับพลู หรือ น้ำตกเสาหิน ในชั้นล่าง
ในอำเภอวิเชียรบุรี ยังมีแหล่งไฮไลท์ทางธรณีสำคัญ นั่นก็คือ “น้ำตกเสาหิน” หรือ “น้ำตกเสาหินอัคนี” หรือ “น้ำตกซับพลู”(บ้านซับเจริญ ต.ยางสาว) ที่เป็นน้ำตกลักษณะพิเศษ มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

น้ำตกเสาหินอัคนี เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีธารน้ำตกจากต้นน้ำบนยอดเขา ไหลผ่านแนวโตรกผาหินสุดอันซีน กับแนวแท่งเสาหินอัคนีหกเหลี่ยมต่างระดับที่มีอยู่เรียงรายทั่วบริเวณ ดูสวยงามแปลกตาและน่าทึ่งกระไรปานนั้น

นับเป็นน้ำตกที่ไหลผ่านเสาหินภูเขาไฟหรือหินอัคนี(บะซอลต์)หนึ่งเดียวในเมืองไทยที่มีการสำรวจพบในปัจจุบัน(อ้างอิงจากกรมทรัพยากรธรณี)
น้ำตกซับพลูเป็นน้ำตกที่ไหลผ่านเสาหินอัคนีหนึ่งเดียวในเมืองไทย
สำหรับแท่งหินเหล่านี้เกิดจากการหดตัวของหินไหลหรือลาวาที่แตกต่างกันขณะเย็นตัว ทำให้เกิดเป็นรอยแตกที่ผิวของหินไหลที่มีลักษณะเป็นแท่งหินหกเหลี่ยมเรียงราย

แท่งเสาหินน้ำตกซับพลูเมื่อแรกเกิด(มีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 8-11 ล้านปี)จะมีลักษณะเป็นเสาหินตั้งฉากกับทิศทางไหลของลาวาหรือตั้งในแนวดิ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านนานไป เกิดการขยับตัวและการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก จึงทำให้แท่งเสาหินเหล่านี้เกิดการเอียงตัวไปมาในแนวทิศทางที่ต่างกัน
สายน้ำตกซับพลูไหลผ่านแท่งเสาหิน จากต้นน้ำลงสู่ลำธารในเบื้องล่าง
ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แนวแท่งเสาหินที่น้ำตกซับพลูมีทิศทางการวางตัวที่แตกต่างกันออกไป ซึ่ง ดร.สมบุญ ได้อธิบาย น้ำตกที่นี่มีลักษณะพิเศษ เกิดจากการมีรอยแตกหรือรอยเลื่อนผ่ากลางแนวเสาหินช่วงที่เป็นน้ำตกพอดี ทำให้เสาหินที่บริเวณตัวน้ำตกวางทิศทางไม่เหมือนกัน

นับได้ว่าน้ำตกเสาหินอัคนีเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ธรรมชาติทางธรณีวิทยาอันน่าทึ่ง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอันซีนวิเชียรบุรีที่น่าสนใจไม่น้อย

และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของอำเภอวิเชียรบุรีที่มีดีมากกว่าไก่ย่าง หากแต่เป็นแง่งามและความน่าทึ่ง น่ามหัศจรรย์ทางธรณีวิทยา ที่นำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่น และการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ที่ชาวชุมชนมีส่วนร่วม

ไม่ใช่การท่องเที่ยวเชิงฉาบฉวยเหมือนบางหน่วยงานที่เน้นเพียงแค่ยอดตัวเลขเยอะๆ โดยไม่ใส่ใจในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวิถีวัฒนธรรม เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแต่อย่างใด
แท่งเสาหินเกิดจากการหดตัวของลาวาในขณะที่เย็นตัวลง
....................................................................................................

“น้ำตกเสาหิน” หรือ “น้ำตกเสาหินอัคนี” หรือ “น้ำตกซับพลู” ตั้งอยู่ที่บ้านซับเจริญ ต.ยางสาว อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์

การเดินทางสู่น้ำตกซับพลู จาก อ.วิเชียรบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 225 ถนนสายนครสวรรค์-ชัยภูมิ มุ่งหน้าไปทางจังหวัดชัยภูมิ

เมื่อเข้าเขตตำบลยางสาว ที่หลักกิโลเมตรที่ 155 ทางฝั่งซ้ายมือจะเป็นเส้นทางเข้าบ้านซับเจริญ เลี้ยวเข้าไปประมาณ 18 กิโลเมตร ก็จะถึงทางเดินเท้าสู่น้ำตกซับพลู ระยะทางประมาณ 200-300 เมตร เป็นเส้นทางเดินผ่านป่าชุมชนที่เดินไม่ยาก
เส้นทางจากวัดซับกะโซ่สู้น้ำตกเสาหิน
สำหรับถนนในท้ายของการเข้าถึงตัวน้ำตกซับพลู เป็นถนนลูกรัง ผ่านเนิน ผ่านท้องไร่ท้องนาของชาวบ้าน ไม่แนะนำให้รถเก๋ง รถตู้ วิ่งเข้าไป(โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน สภาพถนนจะเละ รถเก๋ง รถตู้ วิ่งเข้าไม่ได้) ให้จอดรถไว้ที่ลาน“วัดซับกะโซ่” (ต.ยางสาว) แล้วติดต่อใช้บริการรถกระบะนำเที่ยวของชุมชน ซึ่งคิดราคาไม่แพง 300 บาท/คัน นั่งได้คันละไม่เกิน 10 คน ไป-กลับ ระยะทางรวม 8 กม.(ไป 4 กม. กลับ 4 กม.) ผ่านถนนลูกรังขึ้นเนินลงเนินลดเลี้ยวเคี้ยวโค้งสมบุกสมบัน สนใจสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวชุมชนน้ำตกซับพลูได้ที่ ผู้ใหญ่สมควร กลิ่นชมพู โทร. 06-1823-6449

หมายเหตุ : ***แมกมา(Magma)คือหินหนืดร้อนใต้ดิน ส่วนลาวา(Lava)คือแมกมา(หินหนืดร้อน) ที่เดินทาง ไหล ประทุ ผ่านรอยแยกขึ้นมาบนผิวโลก
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น