xs
xsm
sm
md
lg

พม่าเที่ยวไทย...กระชับสัมพันธ์ไทย-พม่า ผ่านคาราวาน 2,500 ก.ม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

Facebook :Travel @ Manager
เจดีย์ชเวดากอง แหล่งท่องเที่ยวและศูนย์รวมจิตใจชาวพม่า
ภาพที่คนไทยนึกถึงชาวพม่ามาอาจเป็นภาพของภาคแรงงานที่เข้ามาทำงานในเมืองไทย ไม่ค่อยนึกถึงภาพของการเป็นนักท่องเที่ยวสักเท่าไรนัก ทั้งที่จริงๆ แล้วชาวพม่าที่มีกำลังซื้อสูงที่บินเข้ามาประเทศไทยเพื่อใช้จ่ายช้อปปิ้ง พักโรงแรมหรู เที่ยวทะเล หรือมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้นก็มีมาก

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท./TAT) มองเห็นโอกาสและช่องทางที่จะดึงนักท่องเที่ยวระดับบนชาวพม่าเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น ผ่านความร่วมมือระหว่างไทย-พม่า จากโครงการ MTM-TAT Heritage Trail Tourism Cross Border Rally (Myanmar-Thailand) ซึ่งเป็นคาราวานรถยนต์ออฟโรดที่มีเส้นทางการเดินทางเริ่มจากกรุงย่างกุ้ง-ทวาย-กาญจนบุรี-นครสวรรค์-พิษณุโลก-สุโขทัย-ตาก-เมียววดี-กรุงย่างกุ้ง ที่มีเส้นทางรวมแล้วกว่า 2,500 กิโลเมตร

โครงการนี้เป็นความร่วมมือในระดับชาติ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท. หรือ TAT) กองตลาดอาเซียน เอเชียใต้และแปซิฟิกใต้ ร่วมกับ Myanmar Tourism Marketing (MTM) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่ดำเนินการส่งเสริมด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของสหภาพเมียนมา และเป็นหน่วยงานภายใต้ Myanmar Tourism Federation (MTF) ซึ่งกำกับดูแลบริษัทนำเที่ยว โรงแรม มัคคุเทศก์ และภาคการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง โดยมีกระทรวงการโรงแรมและท่องเที่ยวของสหภาพเมียนมากำกับอีกชั้นหนึ่ง

ททท. กับ MTF ได้ลงบันทึกความตกลงในการจะดำเนินการประชาสัมพันธ์ของ 2 ประเทศร่วมกัน พร้อมทั้งจะให้คำปรึกษาในการดำเนินการจัดทำการส่งเสริมการขาย กิจกรรม และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างการภายใต้แนวคิด Two Country One Destination จึงเป็นที่มาของขบวนคาราวานนำนักท่องเที่ยวชาวพม่าขับรถออฟโรดจำนวน 24 คัน 75 คน มาท่องเที่ยวในเส้นทางเมียนมา-ไทย ในครั้งนี้ ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวพม่าที่ชื่นชอบการขับรถออฟโรดท่องเที่ยวนั้นได้รวมกลุ่มกันจัดแรลลี่ในชื่อ MHTTR หรือ Myanmar Heritage Trail Tourism Rally ท่องเที่ยวในเมียนมากันเป็นประจำทุกปีและจัดกันมาถึง 6 ครั้ง แต่สำหรับครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เป็นการจัดขบวนคาราวานข้ามแดนมายังประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
พิธีการปล่อยรถคาราวานที่ย่างกุ้ง
นายสันติ ชุดินธรา รองผู้ว่าการ ททท. ด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ กล่าวว่า “ในปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวเมียนมาที่เข้ามาในประเทศไทยรวมแล้วกว่า 300,000 คน แน่นอนว่าบางส่วนก็เข้ามาเป็นแรงงาน แต่กลุ่มที่เป็นข้าราชการ นักธุรกิจ กลุ่มนักท่องเที่ยวระดับบนที่มีกำลังซื้อสูงที่เข้ามาท่องเที่ยวและใช้จ่ายก็มีอยู่มาก โดยส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะเข้าประเทศมาทางเครื่องบิน มายังกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงเพื่อมาชอปปิ้ง มาท่องเที่ยวเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ซึ่งเรามองเห็นโอกาสและช่องทางที่จะดึงคนเหล่านี้เข้ามาให้มากขึ้น”

“เมื่อมีการพูดคุยกับทาง MTM จึงเห็นว่าเขาสนใจที่จะเข้ามาท่องเที่ยวทางรถยนต์ ทางเราก็ยินดีเพราะอยากให้เขาได้เห็นแหล่งท่องเที่ยวที่มากกว่ากรุงเทพ จึงวางแผนเส้นทางจากย่างกุ้งมายังเมืองทวาย แล้วเข้าประเทศไทยที่ด่านถาวรบ้านพุน้ำร้อน อ.บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี จากนั้นท่องเที่ยวในนครสวรรค์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และตาก ซึ่งบางจังหวัดก็เป็นเมืองรองที่เราอยากจะส่งเสริมการท่องเที่ยว จากนั้นข้ามด่านถาวรแม่สอดกลับไปเมียนมา ไปยังเมืองเมียววดี แล้วไปสิ้นสุดเส้นทางที่กรุงย่างกุ้ง” นายสันติ กล่าว
เส้นทางดินลูกรังจากทวายไปสู่ด่านถาวรพุน้ำร้อน
รถวิ่งออกจากด่านพุน้ำร้อน
การเดินทางของคาราวานโดยรถยนต์นี้ชาวเมียนมาจะต้องขอวีซ่า ต่างจากการเดินทางโดยเครื่องบินที่ไม่ต้องขอวีซ่า อีกทั้งยังต้องมีการขออนุญาตนำรถข้ามแดนและการประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคงและอีกหลายๆ หน่วยงาน แต่ในที่สุดทริป MTM-TAT Heritage Trail Tourism Cross Border Rally ก็ได้จัดขึ้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีเมื่อวันที่ 18-23 มิถุนายนที่ผ่านมา

คณะคาราวานออกเดินทางจากกรุงย่างกุ้งราว 05.00 น. ของวันที่ 18 มิ.ย. โดยมีนาย U Zaw Aye Muang ซึ่งเป็น Minister for Rakhine Nationality Affairs, Yangon Division Government เป็นผู้เปิดงานและปล่อยขบวนคาราวาน

จากย่างกุ้ง ขบวนคาราวานมุ่งหน้าผ่านเมืองพะโค (Bago) หรือเมืองหงสาวดีในอดีต จากนั้นผ่านเมืองไจโท (Kyaikto) อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุอินทร์แขวนที่คนไทยรู้จักกันดี แล้วมุ่งหน้าลงใต้ผ่านเมืองพะอัน (Hpa-an) เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยงซึ่งมีทิวทัศน์ของภูเขาที่งดงาม ที่เมืองพะอันจะมีทางแยกซ้ายวิ่งตรงไปสู่ด่านชายแดนแม่สอดระยะทางราว 150 กม. ซึ่งจะเป็นเส้นทางขากลับของขบวนคาราวาน แต่เรายังคงวิ่งตรงไปต่อและหยุดแวะพักกินข้าวกลางวันกันที่เมืองเมาะลำไย (Mawlamyine) หรือชื่อเดิมที่คุ้นหูสำหรับคนไทยก็คือเมืองมะละแหม่ง เมืองหลวงของรัฐมอญนั่นเอง
นักท่องเที่ยวในคณะคาราวานขณะชมบรรยากาศในสุสานทหารสัมพันธมิตร
สะพานข้ามแม่น้ำแคว
จากนั้นรถวิ่งยาวๆ มายังเมืองสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่จะเป็นจุดที่เราจะพักค้างคืนกันนั่นก็คือเมืองทวาย (Dawei) เมืองท่าปากแม่น้ำซึ่งอยู่ห่างจากทะเลอันดามันราว 30 ก.ม. เท่านั้น ทวายยังเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งผลิตอาหารตามธรรมชาติที่สําคัญ ทั้งทางด้านการเกษตรกรรมและการประมง

ด้วยความที่ทวายมีพื้นที่ติดทะเลเป็นแนวยาว จึงมีโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ขึ้น เป็นโครงการยักษ์ที่ไทยจะเข้าไปลงทุนในพม่า แต่หลังจากพูดคุยเจรจากันมาเนิ่นนานก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนนักเพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง อีกทั้งมีกระแสไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้เพราะเชื่อว่าจะทำลายวิถีชีวิตทั้งในด้านการเกษตรและการประมงของคนทวายไป

อย่างไรก็ตาม ทวายในวันนี้ยังคงเป็นเมืองที่สงบและสวยงาม บ้านเรือนเป็นสไตล์โคโลเนียลจากการที่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ผู้คนยังคงมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและเป็นมิตร ในเมืองทวายยังมีแหล่งท่องเที่ยวคือวัดสำคัญๆ หลายแห่ง หรือจะเลือกพักผ่อนหย่อนใจริมทะเลก็เพลินเพลินไม่น้อย แต่สำหรับขบวนคาราวานที่ใช้เวลาขับรถจากย่างกุ้งมายังทวายรวม 14 ชั่วโมงด้วยกันตอนนี้ต้องพักผ่อนเพื่อเตรียมตัวเดินทางต่อในวันพรุ่งนี้

ในเช้าวันรุ่งขึ้น คณะคาราวานออกเดินทางจากทวายมุ่งหน้ามายังด่านชายแดนฝั่งพม่าที่มีชื่อว่า ติกี (Hti Kee) หรือด่านถาวรบ้านพุน้ำร้อนทางฝั่งไทยใน อ.บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี ระยะทางในวันนี้ราว 170 ก.ม. เท่านั้น แต่สภาพถนนที่เป็นดินลูกรัง แตกต่างกับถนนราดยางจากย่างกุ้งมาทวาย ทำให้คณะคาราวานได้ใช้ศักยภาพรถออฟโรดของแต่ละคันกันอย่างเต็มที่ แม้จะไม่ลำบากนักเพราะถนนแห้งไม่มีฝนตกและสองข้างทางก็มีธรรมชาติของป่าเขาและแม่น้ำให้ได้ชม แต่ก็ต้องใช้เวลา 6-7 ชั่วโมงในการขับรถและแวะพักระหว่างทาง
ล่องเรือเพลิดเพลินในบึงบรเพ็ด
ไหว้พระพุทธชินราชและถวายสังฆทานกันที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองพิษณุโลก
สำหรับด่านถาวรพุน้ำร้อนถือเป็นด่านผ่านแดนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง คนไทยที่อยากข้ามไปเที่ยวทวายจากทางด่านนี้ก็สามารถใช้บัตรประชาชนทำบัตรผ่านแดนชั่วคราวเพื่อเข้าไปเที่ยวในทวายได้ แต่ไม่สามารถขับรถจากฝั่งไทยได้ ต้องใช้รถที่มีทะเบียนพม่าเท่านั้น ดังนั้นหากใครอยากไปเที่ยวทวายจากทางด่านนี้ก็สามารถติดต่อบริษัททัวร์จากทางฝั่งไทย หรือบริเวณหน้าด่านก็จะสะดวกที่สุด

ในที่สุดคณะคาราวานก็ได้ทำพิธีผ่านแดนกันที่ด่านถาวรบ้านพุน้ำร้อนโดยมีบุคคลสำคัญของจังหวัดกาญจนบุรีมารอต้อนรับอย่างอบอุ่น เป็นอันสิ้นสุดระยะทางราว 800 ก.ม. จากย่างกุ้งสู่ด่านพุน้ำร้อน จากนั้นในวันรุ่งขึ้นก็เริ่มต้นท่องเที่ยวกันในประเทศไทย

หลังจากพักผ่อนค้างคืนกันที่จังหวัดกาญจนบุรีกันแล้ว คณะคาราวานจากประเทศเมียนมาได้ไปเยี่ยมชม “สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก” สุสานขนาดใหญ่ที่บรรจุศพเชลยศึกที่เสียชีวิตระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะจากไทยไปยังพม่า และเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟสายมรณะที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานของเชลยศึกที่ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟในพิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไทย-พม่า อีกทั้งได้ไปชมสะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายมรณะอีกด้วย
พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ที่วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว
คณะคาราวานขับออกจากวัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว
จากนั้นเดินทางขึ้นเหนือผ่านสุพรรณบุรี ชัยนาท ตรงมายังนครสวรรค์ แวะพักกินอาหารกลางวันพร้อมทั้งนั่งเรือรับลมชมนกประจำถิ่นมากมายในบึงบรเพ็ด ก่อนมุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดพิษณุโลก

ที่จังหวัดพิษณุโลก คณะคาราวานได้เข้าสักการะพระพุทธชินราชแห่งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองพิษณุโลก พระคู่บ้านคู่เมืองและพระพุทธรูปที่ได้ชื่อว่างดงามที่สุดในเมืองไทย อีกทั้งยังได้ไปชมโรงหล่อพระบูรณะไทยจ่าทวี ไปชมขั้นตอนการทำพระพุทธรูปเพื่อบูชา
นายสันติ ชุดินธรา มอบประกาศนียบัตรให้แก่คณะคาราวานชาวพม่าผู้ผ่าน 2,500 ก.ม.
ถ่ายรูปหมู่หน้าวัดมหาธาตุอุทยาน ประวัติศาสตร์สุโขทัย
แล้วออกเดินทางต่อไปยังวัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ชมความสวยงามอลังการของเจดีย์พระธาตุผาซ่อนแก้วสิริราชย์ธรรมนฤมิตร และมากราบพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ขนาดใหญ่อันงดงามอลังการที่พระมหาวิหารพระพุทธเจ้าห้าพระองค์กัน

จากเขาค้อขับรถย้อนกลับมาเพื่อมุ่งหน้าไปยังจังหวัดสุโขทัยเพื่อร่วมงานเลี้ยงต้อนรับที่จัดโดย ททท. โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ ททท. จังหวัดสุโขทัย และผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว ก่อนที่ในวันรุ่งขึ้นจะออกไปเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย วัดศรีชุม และสรีดภงส์ หรือทำนบพระร่วง เขื่อนขนาดเล็กอันเป็นที่กักเก็บน้ำเก่าแก่ในสมัยสุโขทัย

คณะคาราวานมุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดตากเป็นจังหวัดสุดท้ายที่อำเภอแม่สอด ที่นี่นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อสินค้าจากไร่ปฐมเพชรที่นำเอาผลไม้สารพัดอย่างจากไร่และสินค้าขึ้นชื่ออย่างดอกกุหลาบอบแห้งในขวดแก้วมาจำหน่าย จากนั้นก็เดินทางกลับเข้าสู่ประเทศเมียนมาผ่านทางด่านถาวรแม่สอด ผ่านเมืองเมียววดีและเมืองพะอัน กลับเข้าสู่กรุงย่างกุ้ง เป็นอันจบเส้นทางคาราวานไทย-พม่า ระยะทางกว่า 2,500 ก.ม. อย่างสวยงาม
ฟังบรรยายในวัดมหาธาตุ
คณะคาราวานขณะชมสรีดภงส์หรือทำนบพระร่วง
ผู้เข้าร่วมทริปคาราวานจากพม่าในครั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโรงแรม บริษัททัวร์ และเจ้าของธุรกิจ รวมถึงนักท่องเที่ยวระดับบนที่มีกำลังซื้อ อีกทั้งยังมีบุคคลสำคัญอย่างนาย Myint Htwe ตำแหน่ง Deputy Director General (Directorate of Hotels and Tourism) และนาย Myo Thwin ตำแหน่ง Vice Chairman of MTM ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อวงการการท่องเที่ยวของพม่า คนเหล่านี้จะช่วยบอกต่อและมองหาช่องทางในการทำธุรกิจท่องเที่ยวระหว่างไทย-พม่าต่อไป

นอกจากนั้นแล้วก็ยังมี Miss Myanmar ปี 2013 และปี 2017 พร้อมทั้งนักร้องแรพเปอร์ชื่อดังอย่าง Kyaw Zin Latt (Nine One) เข้าร่วมทริปในฐานะบุคคลที่มีชื่อเสียง อีกทั้งมีสื่อมวลชนพม่าคอยเก็บภาพกิจกรรมและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในไทยตลอดเส้นทางอีกด้วย ก็เชื่อแน่ว่าสื่อมวลชนและเซเลบริตี้พม่าที่มีคนติดตามทางโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมากนี้จะช่วยถ่ายทอดภาพความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวไทย และสร้างการรับรู้ให้คนพม่าได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น

และถ้าในอนาคตจะมีคณะคาราวานจากพม่าเดินทางมาอีกทางประเทศไทยก็ยินดีอย่างยิ่ง เพราะการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้มีรายได้สูง และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามแดนต่อแดนในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงแต่พม่ามาไทยเท่านั้น แต่อาจเชื่อมโยงไปยังเวียดนาม-สปป.ลาว-ไทย เพิ่มมากขึ้นด้วย
มิสเมียนมา 2013 (ซ้ายมือ) และแกงค์สาวๆ ร่วมคณะคาราวาน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น