xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยว "อยุธยา-อุทัยธานี" ตามรอยเชื้อสายต้นราชวงศ์จักรี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
เจดีย์ทรงระฆัง ณ วัดดุสิดาราม
แม้ละครย้อนยุคเรื่องดังแสดงหลังข่าวจะจบไปนานแล้ว “ตะลอนเที่ยว” ก็อยากจะชวนมาชมวัดโบราณในสมัยอยุธยากันต่อสักหน่อย ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวในเส้นทางอยุธยา-อุทัยธานี เพื่อมาตามรอยเชื้อสายเจ้าพระยาโกษาปานถึงสมเด็จพระปฐมราชวงศ์จักรี ชมศิลปะสมัยอยุธยาที่ยังคงความงดงามให้ได้ไปสัมผัส

การเดินทางในทริปนี้จุดหมายปลายทางแรกอยู่ที่ “วัดดุสิดาราม” ตั้งอยู่ที่ ต.หันตรา อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2100 จากหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าได้กล่าวถึงพระอารามหลวงในกรุงศรีอยุธยามีระบุชื่อวัดดุสิต สันนิษฐานว่าหมายถึงวัดดุสิดาราม โดยชื่อของนั้นวัดมาจากสตรีผู้สูงศักดิ์ และเป็นแม่นมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตอนหลังได้เป็นท้าวสมศักดิ์มหาธาตรี แต่ก็ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าพระนางสืบเชื้อสายมาจากผู้ใด ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างวังและตำหนักที่ริมวัดดุสิดารามถวายแด่พระนมนาง จึงได้เรียกกันว่าเจ้าแม่วัดดุสิต
อุโบสถสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย
ตามประวัติเจ้าแม่วัดดุสิตมีบุตร 3 คน คนโตชื่อเหล็ก ต่อมาเป็นเจ้าพระยาโกษาเหล็ก คนที่สองเป็นหญิงชื่อแช่ม ต่อมาเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ คนที่สามชื่อปาน ต่อมาคือออกพระวิสูตรสุนทร หรือเจ้าพระยาโกษาปาน โบราณสถานสำคัญของวัดคือเจดีย์ประธานสูงใหญ่ ลักษณะเช่นเดียวกับเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลแต่เล็กกว่า เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง มีการบูรณะซ่อมแซมในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีบันไดทางขึ้นลง ล้อมด้วยเจดีย์บริวารทั้งสี่มุม ส่วนล่างของเจดีย์เป็นฐานรูปแปดเหลี่ยมลดหลั่นขึ้นไป ด้านบนเป็นองค์ระฆังทรงเรียว ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสอง ปล้องไฉนและปลียอด ด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปหินทราย
ศาลเจ้าแม่ดุสิต
อุโบสถของวัดนี้สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ฐานแอ่นคล้ายกับท้องเรือสำเภา ด้านหน้ามีพาไลและหลังคา มีประตูทางเข้าด้านหน้าสองข้าง ด้านข้างเจาะหน้าต่างข้างละบาน ผนังประดับกลีบบัว หลังคาเป็นกระเบื้องดินเผา ช่อฟ้าใบระกาทำด้วยไม้ หน้าบันเป็นไม้แกะสลักลายกระหนก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยา รอบพระอุโบสถเป็นที่ตั้งใบเสมาหินทรายสีขาวตั้งอยู่บนฐานบัวปูนปั้น
วัดบรมพุทธาราม
จากนั้นไปต่อกันที่ “วัดบรมพุทธาราม” ตั้งอยู่ที่ถนนศรีสรรเพชญ์ ต.ประตูไชย ปัจจุบันเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ในเขตรั้วสถาบันราชภัฏ พระนครศรีอยุธยา เดิมเป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของพระนครศรีอยุธยา มีประวัติว่า พระเพทราชา (พ.ศ. 2231 - 2246) โปรดให้สร้างขึ้นที่พระนิเวศน์เดิมของพระองค์ในบริเวณที่เรียกว่า ย่านป่าตอง ภายในเขตกำแพงเมือง ระหว่างประตูไชยกับคลองฉะไกรน้อย วัดบรมพุทธาราม มีชื่อเรียกกันเป็นสามัญว่า วัดกระเบื้องเคลือบ เหตุเพราะหลังคาอุโบสถมุงกระเบื้องเคลือบสีเหลืองแกมเขียว ต่างจากวัดอื่น ๆ ทั่วไปในสมัยนั้นที่มุงกระเบื้องดินเผากันเป็นพื้น
อุโบสถวัดบรมพุทธาราม
ปัจจุบัน วัดบรมพุทธารามอยู่ในสภาพที่ชำรุดหักพังไปตามกาลเวลา เพราะคงจะถูกทิ้งร้างไปเสียตั้งแต่ครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 แต่กระนั้นก็ยังเหลือเค้าความงามให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะอุโบสถที่ยังมีผนังเหลืออยู่เกือบเต็มทั้ง 4 ด้าน และมีร่องรอยจิตรกรรมที่ยังหลงเหลือให้เห็นที่บานแผละและประตูหน้าต่างอย่างเลือนลาง เช่น เป็นรูปลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายพันธุ์พฤกษา เป็นต้น
พรประธานภายในอุโบสถ
สิ่งสำคัญในวัดก็คือ อุโบสถ ขนาดไม่ใหญ่โตนักถ้าเทียบกับวัดสมัยอยุธยาตอนต้น หันหน้าไปทางทิศเหนือ มีมุขหน้าและมุขหลังก่อเป็นชาลายกพื้นขึ้นมา มีเสาเหลี่ยมย่อมุมรองรับหลังคามุข ปัจจุบันเหลืออยู่ด้านละ 1 ต้น ผนังด้านหน้าอุโบสถมีประตู 3 ประตู ไม่มีบันไดทางขึ้นไปสู่ประตูนี้จากด้านหน้า มีแต่บันไดด้านในลงไปยังพื้นอุโบสถ ซุ้มประตูเป็นปูนปั้นทรงปราสาท ส่วนประตูอีก 2 ประตูอยู่ทางด้านข้าง ทั้งสองข้างมีบันไดทางขึ้นอยู่หน้าประตู ซุ้มประตูด้านข้างนี้ เป็นปูนปั้นทรงบันแถลง มีลวดลายปูนปั้นประดับอยู่ตรงกลาง
เจดีย์ทรงปรางค์
ส่วนผนังด้านหลังอุโบสถมีแต่ประตูข้าง 2 ประตู ขนาดใกล้เคียงกับประตูด้านหน้าและตั้งอยู่ในแนวตรงกัน ผนังอุโบสถด้านข้างเจาะช่องหน้าต่างด้านละ 7 ช่อง ซุ้มหน้าต่างเป็นทรงบันแถลงเช่นเดียวกัน และอยู่ในระดับเดียวกันกับซุ้มประตูข้างกรอบประตูหน้าต่างก่อขอบซ้อน 2 ชั้นประดับลายปูนปั้น รับกันกับซุ้มซึ่งเป็นซุ้มสองชั้นซ้อนครอบกัน อย่างที่เรียกว่าซุ้มลดฐานรับกรอบหน้าต่างทำเป็นฐานสิงห์รับกันกับฐานอุโบสถ ภายในอุโบสถมีพระประธาน เป็นพระปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศเหนือประดิษฐานอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูน

ใกล้ๆกันจะมีเจดีย์อยู่ 2 องค์ องค์หนึ่งตั้งอยู่หน้าอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ ยอดหักล้มอยู่ข้างฐานด้านหน้าอุโบสถ อีกองค์หนึ่งตั้งอยู่ถัดออกไปด้านหน้า ส่วนบนพังทลายไปไม่มีซากไว้ให้เห็น คงเหลือแต่ฐาน แต่จากลักษณะของฐานสามารถสันนิษฐานได้ว่าสร้างในสมัยเดียวกับการสร้างวัดนี้ ส่วนวิหารตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เยื้องมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอุโบสถ คงเหลือผนังอยู่เพียงบางส่วน
สะพานป่าดินสอ
บริเวณภายในวัดมีสะพานป่าดินสอ เป็นสะพานอิฐ ขึ้นสะพานปูด้วยอิฐตะแคง ใต้สะพานก่ออิฐสันตั้งเป็นลักษณะซุ้มโค้งรูปกลีบบัว มี 3 ช่อง ช่องกลางจะมีขนาดสูงกว่าช่องที่ขนาบซ้าย-ขวา เพื่อให้เรือเล็กสามารถสัญจรไปมาได้สะดวก รูปแบบนี้สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นต้นมา

โดยสะพานนี้จะเป็นสะพานที่ข้ามคลองประตูฉะไกรน้อย ซึ่งเคยเป็นคลองใหญ่ในสมัยอยุธยา เป็นลักษณะคลองขุด ตั้งอยู่ถัดจากคลองประตูเทพหมี มาทางทิศตะวันตก โดยมีผังลำคลองไปตามแนวเหนือใต้ ขนานกับถนนมหารัถยา ทางด้านทิศเหนือเชื่อมกับบึงพระราม ทางด้านทิศใต้ทะลุออกแม่น้ำเจ้าพระยา คลองสายน้ำจะผ่านวัดสำคัญๆ และผ่านย่านการค้าสำคัญได้แก่ ป่าตอง ป่าดินสอ ป่าสมุด เป็นต้น ปัจจุบันได้กลายสภาพเป็นคูน้ำเหลือให้เห็นอยู่ส่วนหนึ่ง
วิหารวัดสุวรรณดาราราม
อีกหนึ่งวัดที่มีความสำคัญก็คือ “วัดสุวรรณดาราราม” เป็นวัดประจำตระกูลราชวงศ์จักรี เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อว่า “วัดทอง” ซึ่งเป็นวัดที่พระบรมมหาชนกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างไว้สมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัด ตัวโบสถ์จะตกท้องช้าง ทำให้คล้ายท้องเรือสำเภา
พระประธานจำลองภายในอุโบสถ
ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานจำลองขยายส่วนพระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปปิดทองปางมารวิชัย ด้านหลังพระประธานเขียนภาพจิตรกรรมไตรภูมิ ด้านหน้าพระประธานเขียนภาพมารวิชัย ผนังเหนือกรอบหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุม ผนังระหว่างกรอบหน้าต่างเขียนภาพทศชาติชาดก จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถแต่เดิมเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และได้รับการบูรณะเรื่อยมา
ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปยุทธหัตถี
ส่วนวิหาร เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพราะมีหน้าบันมีตราพระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเป็นตราประจำรัชกาล ลักษณะของตัวอาคารเลียนแบบจากอุโบสถ ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รวมถึงมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรรวมถึงเรื่องราวของพระปฐมราชวงศ์จักรี สืบเชื้อสายโกษาปาน เขียนขึ้นในคราวบูรณปฏิสังขรณ์สมัยรัชกาลที่ 7 จิตรกรรมผู้วาดคือ พระยาอนุศาสนจิตรกร (จันทร์ จิตรกร)
วัดสังกัสรัตนคีรี
จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดอุทัยธานี และเมื่อมาท่องเที่ยวที่จังหวัดนี้แล้วจะต้องไม่พลาดมาเยือนกันสถานที่สำคัญนั่นก็คือ“แม่น้ำสะแกกรัง” แม่น้ำที่เป็นดังเส้นเลือดสำคัญหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวอุทัยธานีมาช้านาน ในอดีตแม่น้ำสะแกกรังเคยเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ โดยเป็นทั้งเส้นทางสัญจรของชาวบ้าน และเป็นเส้นทางขนส่งสินค้านานาชนิด รวมถึงเป็นแหล่งทำการค้าขายที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภาคกลาง อันก่อให้เกิดเป็นชุมชน “เรือนแพ” ขึ้นในลำน้ำแห่งนี้ แม้ปัจจุบันการสัญจรทางน้ำจะลดบทบาทลงไปมาก แต่มรดกแห่งเรือนแพที่ตกทอดจากอดีตสู่ปัจจุบันในแม่น้ำสะแกกรังยังดำรงคงอยู่ ในฐานะชุมชนเรือนแพขนาดใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่ในบ้านเรา

เรือนแพสะแกกรังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเรือนแพที่นี่ต่างมีบ้านเลขที่ มีทะเบียนบ้าน ซื้อ-ขายได้ แต่ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้วิถีชาวแพแห่งสะแกกรังยังคงอยู่นั่นก็คือความสะอาดและความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำสะแกกรัง
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
บริเวณกลางเมืองมี “เขาสะแกกรัง” เป็นภูเขาที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง ก่อนจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บนยอดเขาสะแกกรังเป็นดินแดนที่ชาวอุทัยยกให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง และเป็นที่ตั้งส่วนหนึ่งของ “วัดสังกัสรัตนคีรี”

การเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาสะแกกรัง สามารถทำได้สองวิธีคือ เดินขึ้นบันได 449 ขั้น จากบริเวณลานวัดสังกัสรัตนคีรี หรือสามารถขับรถขึ้นสู่ยอดเขาได้เลย ซึ่งบริเวณลานจอดรถด้านบนนั้น หากเดินตรงไปจะเป็น “พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก” ซึ่งทรงเป็นพระชนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
วัดพิชัยปุรณาราม
จากนั้นเรามาเพิ่มเติมความเป็นสิริมงคลกับชีวิตกันที่ “วัดพิชัยปุรณาราม” ตั้งอยู่ที่ ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อวัดกร่าง หากพิจารณาจากรูปแบบศิลปกรรมที่ปรากฏในโบสถ์ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงสมัยอู่ทองหรืออโยธยาจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น ได้รับการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพิชัยปุรณาราม แต่ชาวบ้านนิยมเรียกโดยย่อว่าวัดพิชัย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.2418 ช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธชัยสิทธิ์
ที่วัดแห่งนี้ได้ผ่านการบูรณะมาหลายครั้งแล้ว วิหารของที่นี่เป็นวิหารลักษณะดั้งเดิมสมัยอยุธยา คือ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกลงสู่แม่น้ำ ด้านหน้ามีประตูเข้าออก 2 ช่อง ด้านข้างไม่มีช่องหน้าต่าง แต่จะเจาะเป็นช่องแสงแคบๆ ไว้
อุโบสถวัดพิชัยปุรณาราม
ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปั้น 7 องค์ มีพระประธานนามว่า “พระพุทธชัยสิทธิ์” เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ใต้ซุ้มพญานาค ด้านหน้าเป็นพระนั่งปางสมาธิอยู่ข้างละองค์ถัดมาเป็นพระยืนพนมมือ และนอกสุดเป็นพระนั่งปางมารวิชัยเกศโล้น ลดหลั่นตามลำดับชั้น มีซุ้มเรือนแก้วประดับรอบองค์คล้ายกับพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก
วัดหัวเมือง
สำหรับเสาหลักเมืองอุทัย ตามตำนานกล่าวไว้ว่า สมัยก่อนไม่มีใครสนใจเรื่องเสาหลักเมือง จนกระทั่งมีคนกรุงเทพฯ เดินทางมาที่วัดหัวเมือง อ.หนองฉาง แล้วเล่าว่ามีคนไปเข้าฝันว่าเสาหลักเมืองอุทัยเก่าอยู่ตรงไหน ให้จัดการตั้งเสาให้เรียบร้อย แล้วคนกรุงเทพฯ ก็เดินไปชี้จุดที่อยู่ของเสาที่รู้จากความฝัน อยู่บริเวณข้างวัดหัวเมืองทางทิศตะวันออก พบว่าเป็นเสาไม้แก่นไม้แต้ ซึ่งเดิมไม่มีผู้ใดสนใจ และนำไม้แก่นไปทำฟืนเหลืออยู่เพียงซีกเดียว จึงได้ทำพิธีย้ายเสาหลักเมืองมาไว้ข้างวัดหัวเมือง แล้วสร้างศาลาคลุมเสาหลักเมืองเอาไว้ ภายในวัดยังคงมีซากโบสถ์เก่าแบบอยุธยาเหลืออยู่ และเจดีย์โบราณขนาดเล็กหน้าโบสถ์เก่า
ซากโบสถ์เก่าแบบอยุธยา
เสาหลักเมืองอุทัยเก่า
ส่วนในตัวเมืองอุทัยธานีนั้นแต่เดิมไม่มีศาลหลักเมือง ต่อมาจึงได้มีการสร้างขึ้นที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดในปัจจุบัน ผู้คนที่มาสักการะศาลหลักเมืองที่นี่นอกจากจะได้รับความเป็นสิริมงคลแล้ว ก็ยังได้ชมความงดงามของแม่น้ำสะแกกรังที่อยู่ด้านหลังศาลหลักเมืองอีกด้วย
องค์พระประธานที่วัดแจ้ง
และวัดเก่าแก่ที่ยังคงสภาพอยู่จนถึงปัจจุบันนี้คือ “วัดแจ้ง” มีพระปรางค์ซึ่งเดิมสร้างเมื่อ พ.ศ. 2081 ต่อมาถูกพม่าทำลายยอดหัก จากนั้นก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมเรื่อยมา ภายในมีโบสถ์เก่าเป็นโบสถ์ขนาดเล็กประตูเดียวแบบอยุธยาตอนปลาย ลายปูนปั้นของพระปรางค์และหน้าบันโบสถ์เป็นฝีมือเดียวกัน ภาพจิตรกรรมภายในโบสถ์เขียนขึ้นเมื่อบูรณะ เป็นภาพพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ภาพจิตรกรรมภายในโบสถ์
ศูนย์ผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่ง
หลังจากชมศิปะที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยากันแล้ว จากนั้นก็มาเลือกซื้อของฝากเลื่องชื่อกันต่อ ถ้าใครอยากได้ผ้าทอสวยๆ กลับบ้าน ต้องมาที่นี่เลย “ศูนย์ผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่ง” ที่นี่รวบรวมผ้าทอสวยๆ ไว้ให้เลือกซื้อหามากมาย

โดยที่บ้านผาทั่ง มีการรวมกลุ่มกันขึ้นมา ใช้เวลาว่างหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตมาทอผ้าลายโบราณที่สืบทอดกันมาจากลาวครั่ง โดยมีนางทองลี้ ภูริพล เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งเอกลักษณ์ของการทอผ้าของที่นี่เป็นการทอด้วยกี่พื้นบ้าน และใช้วัสดุจากฝ้ายและสีธรรมชาติ รวมถึงลวดลายที่ยังคงอนุรักษ์แบบดั้งเดิม เช่น ลายกลับบัว ลายขอหลวงน้อย ลายขอหลวงใหญ่ เป็นต้น
การทอลวดลายบนผ้า
นอกจากนี้ยังมีผลงานที่ได้รับรางวัลนานาชาติ ได้แก่ “ชุดเครื่องนอนก่อนวิวาห์” ที่ได้รับรางวัลของยูเนสโก้เป็นเครื่องการันตีในคุณภาพและการรักษาประเพณีที่สืบทอดกันมาว่า ก่อนแต่งงานเจ้าสาวจะต้องทอผ้าด้วยมือทุกกระบวนการ แล้วนำมารวมเป็นชุดเครื่องนอน เพื่อนำไปให้แม่ของเจ้าบ่าวพิจารณารับเป็นสะใภ้ได้หรือไม่
การทอด้วยกี่พื้นบ้าน
ชุดเครื่องนอนก่อนวิวาห์
และหากมาที่ศูนย์แห่งนี้ก็สามารถมาเรียนรู้การทอผ้าแบบบ้านผาทั่ง ตั้งแต่การปลูกฝ้าย นำมาปั่นเป็นเส้นด้าย การย้อมสี และการทอลวดลายบนผ้า ซึ่งผ้าลายสวยๆ ก็มีจำหน่ายที่ศูนย์แห่งนี้ รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตจากผ้าฝ้ายทอมือด้วย
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น