xs
xsm
sm
md
lg

“หน.วิเชียรและผองเพื่อน” พิทักษ์ป่า ผู้ยอมตายคาผืนไพร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Facebook : Travel @ Manager
การปฏิบัติงานของผู้พิทักษ์ป่า (ภาพจากเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ)
หากพูดถึง “ผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย” ผืนป่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ก็จะนึกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ที่มีความหลากหาลายทางชีวภาพและเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่อยู่คู่ผืนป่าก็คือ “ผู้พิทักษ์ป่า” ที่คอยเป็นหูเป็นตาคุ้มครองดูแลความสมบูรณ์เหล่านี้ไว้
ผืนป่าตะวันตก
สำหรับผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 11.7 ล้านไร่ ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งหมด 17 แห่ง อยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร และตาก โดยมี “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ” จ.กาญจนบุรี เป็นที่แรกของไทย

ย้อนกลับมาที่ “ผู้พิทักษ์ป่า” ที่ได้พูดถึงไปในตอนแรกนั้น ไม่ใช่สิ่งเร้นลับหรือหมายถึงเจ้าป่าเจ้าเขาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด แต่ในมุมที่กำลังจะกล่าวถึงนี่ก็คือ “เจ้าหน้าที่” ผู้ดูแลผืนป่านั่นเอง อย่างที่ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ” จ.กาญจนบุรี ก็จะมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นหน่วยย่อย 15 หน่วย เพื่อให้ผู้พิทักษ์ได้ดูแลผืนป่าได้ง่ายขึ้น
นายมานะ มณีนิล หรือพี่หนุ่ย
นายมานะ มณีนิล หรือพี่หนุ่ย อายุ 55 ปี หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าสลักพระ หนึ่งในผู้พิทักษ์ป่าที่อยู่กับคู่กับผืนป่านี้มาตั้งแต่ปี 2547 พี่หนุ่ยเล่าให้ฟังว่า “ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของผืนป่ามากมาย พอได้เห็นป่ามีความสมบูรณ์ มีน้ำ มีเสือโคร่งที่ถือเป็นผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซอาหารมาอยู่ ก็จะแสดงว่ามีสัตว์ป่าอีกมากมายที่นี่ ตัวเราจะรู้สึกภูมิใจและถือว่าเป็นความสำเร็จของการทำหน้าที่พิทักษ์ป่า”

พี่หนุ่ยยังบอกอีกว่า “การจะทำให้ป่ามีความสมบูรณ์นั้น จะเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่จะเดินเท้าลาดตระเวนทั่วผืนป่า ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไกลมีดาวเทียม มีโดรนบินสำรวจ แต่การเดินเท้าลาดตระเวนในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าก็ยังคงความสำคัญอยู่ อย่างเช่น ต้นไม้ถูกตัดไปหนึ่งต้น หรือมีผู้ลักลอบเข้ามา ดาวเทียมอาจไม่สามารถค้นพบความผิดปกตินี้ได้ แต่การเดินเท้าลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสามารถตรวจสอบร่องรอยการกระทำผิด และวางแผนดำเนินการสกัดกั้นความเสียหายได้”
ความยากลำบากของการเข้าป่า
โดยในการเดินลาดตระเวนนั้นแน่นอนว่าเส้นทางไม่ได้สวยหรูเหมือนการเดินป่าที่เราๆ เคยได้เดินกัน เพราะหนทางที่ “ผู้พิทักษ์ป่า” เหล่านี้ได้เจอ จะเต็มไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากอยู่ในป่าลึก ที่เป็นส่วนของป่าจริงๆ มีสัตว์ป่านานาชนิดตั้งแต่กวางตัวน้อยไปจนถึงเสือโคร่ง น้ำประปาและไฟฟ้าเข้าไม่ถึง

บางเส้นทางรถยนต์เข้าไม่ถึงจะต้องเดินเท้าเข้าไป หรือในช่วงหน้าฝนที่บางจุดทางอาจจะโดนน้ำท่วมจนรถยนต์ผ่านไม่ได้ ผู้พิทักษ์ป่าก็ต้องแบกสัมภาระเดินลุยน้ำที่สูงถึงระดับอกเข้าไป และจากการลาดตระเวนของเหล่าผู้พิทักษ์ป่ายังพบว่าที่ป่าสลักพระแห่งนี้ยังมีสัตว์ป่าสงวนอีกมากมาย อย่างเช่น แมวลายหินอ่อน เก้งหม้อ เลียงผา ละมั่ง เป็นต้น
ฝูงละมั่ง
หนึ่งในฝูงละมั่งที่พบกว่าร้อยตัวที่นี่ จะมีละมั่งสาวชื่อ “อั่งเปา” ที่เกิดจากการผสมเทียมในหลอดแก้วโดยองค์การสวนสัตว์ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือเป็นละมั่งที่เกิดจากการผสมเทียมตัวแรกของประเทศไทย และเป็นตัวที่สองของโลก โดยเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 54 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงเป็นผู้ปล่อยอั่งเปาและละมั่งตัวอื่นๆ จำนวนหนึ่งคืนสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันนี้อั่งเปาให้ลูกสู่ธรรมชาติไปแล้ว 4 ตัว ทุกตัวมีความสมบูรณ์แข็งแรงตามปกติดี
“อั่งเปา” (สวมปลอกคอ)
กิจกรรมผ่อนคลายของเหล่าผู้พิทักษ์ป่า
พี่หนุ่ยปิดท้ายว่า “ในช่วงที่ไม่มีงานออกลาดตระเวนพวกเราก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในป่าเป็นส่วนใหญ่ เลยจะมีกิจกรรมร้องเพลงและเล่นดนตรีผ่อนคลายกัน โดยจะต้องไม่เสียงดังรบกวนสัตว์ป่าเกินไป หรือบางทีก็จะมีนักเรียนนักศึกษาติดต่อมาทำกิจกรรมทำโป่งหรือศึกษาธรรมชาติบางเป็นครั้งคราว ก็ช่วยคลายเหงากันไปได้”
นายวิเชียร ชิณวงษ์ หรือ “หัวหน้าวิเชียร”
อีกหนึ่งผู้พิทักษ์ป่าที่มีส่วนช่วยในการดูแลผืนป่าตะวันตกก็คือ นายวิเชียร ชิณวงษ์ หรือที่เราคุ้นหูกันว่า “หัวหน้าวิเชียร” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ที่เล่าถึงการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าที่ทุ่งใหญ่ฯ ว่า “การใช้ชีวิตของผู้พิทักษ์ป่าที่ทุ่งใหญ่ฯ ก็ไม่ต่างจากที่สลักพระ โดยจะเน้นลาดตระเวนเหมือนกันเป็นหลัก ถือเป็นจุดมุ่งหมายของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สิ่งที่จะทำลายทรัพยากรไม่ได้เกิดจากตัวสัตว์ มันเกิดจากมนุษย์ เราต้องไปหยุดยั้งไม่ให้เกิดขึ้น ทั้งวิธีหยุดด้วยความกลัว โดยการบังคับใช้กฎหมาย จับกุม และการหยุดด้วยวิธีสร้างความศรัทธา การปลูกฝังจิตสำนึกคน การให้ความรู้ การเปลี่ยนจากผู้ทำลายป่า ให้เขากลับมาเป็นผู้รักษาป่า”

นอกจากนั้นยังเล่าถึงประสบการณ์ที่ประทับใจในการทำงานระหว่างที่ยังเป็นผู้พิทักษ์ที่ต้องออกลาดตระเวนว่า “ในสมัยที่ผมยังปฏิบัติงานที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา จ.ศรีสะเกษ ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่การลักลอบตัดไม้พยูงหนักมาก พวกเราประมาณ 10 คนต้องเข้าไปยังที่เกิดเหตุในช่วงกลางคืนกัน ระหว่างทางก็ต้องเดินเท้าผ่านเส้นทางป่าที่เป็นไม้พาดลำห้วย ระยะทางประมาณ 5 กม. ตอนนั้นในทีมเกิดหลงหายไป 2 คน ซึ่งจะไม่สามารถเปิดไฟหรือส่งเสียงตามหากันได้เพราะอาจตกเป็นเป้า หลังจากที่เสร็จภารกิจจึงเดินย้อนออกมาหาเพื่อจะตามหา พอจะข้ามลำห้วย ก็นั่งพักกันก่อน เราได้ยินเสียง คร่อก คร่อก คล้ายเสียงคนกรน เลยลองเรียกชื่อดู เรียกอยู่ประมาณ 2-3 ที จนสุดท้ายตะโกนเสียงดังขึ้น เขาเลยสะดุ้งตื่นถึงรู้ว่าเป็นทีมเราจริงๆ พวกเขาบอกว่าพลัดหลงกัน เลยรออยู่ตรงนี้แหละ เพราะถ้าเดินก็จะยิ่งหลง รอไปมาเลยหลับซะเลย ถือเป็นเหตุการณ์ที่ยังแซวกันอยู่ทุกวันนี้ แม้ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปประจำคนละที่ แต่พอมาเจอกันก็เป็นเรื่องที่น่าจดจำครับ”
จำลองการประกอบอาหารในป่า
และยังมีเหตุการณ์ที่ได้ไปล่อซื้อพวกที่มาติดสินบนเจ้าหน้าที่ตอนอยู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน หัวหน้าวิเชียรเล่าว่า “ได้จับผู้ต้องหาสามคนพร้อมของกลาง แล้วมีญาติเขาขอเข้ามาเยี่ยม โดยคนนี้จะมีท่าทางแปลกๆ จะพูดจาเหมือนเปิดช่องจะให้ทรัพย์สิน ให้เงินกับเจ้าหน้าที่ พวกเราเลยตกลงกันว่าจะซ้อนแผน โดยตกลงที่จะรับแล้วไปซุ่มอยู่ในจุดนัดรับสินบน พอถึงในเวลานัดหมายรถคันที่ได้เตรียมเงินมา ผมก็ให้เจ้าหน้าที่ไปที่รถเลย เจ้าหน้าที่เรามีชั้นเชิง ก็อัดวีดีโอไว้ด้วย เขาก็ชี้ลงที่ถุงพลาสติกข้างๆ ที่มีเงินอยู่ เจ้าหน้าที่เราก็บอก หยิบให้ดูหน่อยครับ เขาก็หยิบขึ้นแต่ให้เราไปหยิบเอาเอง แต่เราต้องการให้เขาส่งให้เรา แต่เขาไม่ยอม เจ้าหน้าที่เลยพูดขึ้นอีกว่า แบงค์กาโม่รึเปล่า พอเห็นว่าเป็นเงินจริงชัดเจน เราก็ให้กำลังที่สุ่มอยู่ในวัดเข้ามาทำการจับกุมเลย เหตุการณ์แบบนี้ถือเป็นการล่อซื้อซึ่งเกิดไม่บ่อย ซึ่งในพื้นที่ที่ผมปฏิบัติงานนี่เป็นการจับกุมล่อซื้อไม้สินบนเป็นเคสแรก ซึ่งพอรายงานไปก็ได้รับความชื่นชม นับเป็นอีกเหตุการณ์ที่ผมภูมิใจครับ”
เส้นทางการเดินลาดตระเวน (ภาพจากเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ)
หัวหน้าวิเชียรยังเล่าถึงการใช้ชีวิตอยู่ในป่าในช่วงที่ต้องออกลาดตระเวนว่า “การลาดตระเวนแต่ละครั้งจะใช้เวลา 3-5 วันกินนอนอยู่ในป่า ในเรื่องของอาหารการกินจะมีสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ให้การสนับสนุนเรื่องเสบียงอาหาร โดยส่วนใหญ่เป็นของแห้ง ข้าวสาร ปลาประป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ผู้พิทักษ์ป่าแต่ละคนจะต้องแบกเข้าไปเอง โดยต้องกะว่าในแต่ละมื้อเราจะกินข้าวขนาดไหน ด้านในจะไม่มีไฟฟ้าเวลาทำอาหาร จุดไฟต้องควบคุมไม่ให้มันลาม ก่อนออกจากแคมป์ก็ต้องดับไฟให้เรียบร้อย ส่วนขยะเช่นปลากระป๋องที่เปิดแล้วก็ต้องเอากลับมา ไม่ก็เผาไฟแล้วฝังกลบ แต่ถ้าอาหารที่เตรียมไว้ไม่พอจริงๆ ก็จะมีเก็บของป่าเก็บพวกหน่อไม้ ผักตามฤดูกาลมากินบ้าง แต่จะไม่มีการกินสัตว์ป่าไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ถือว่าเป็นศีลของป่าไม้ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะต้องไม่ยุ่งกับสัตว์ป่า แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ผมก็ต้องกินนะ แต่จะเป็นพวกสัตว์น้ำเช่น ปลา ก่อนจับก็ต้องยกมือขอเจ้าที่เจ้าทางก่อน บอกให้รู้ว่าจำเป็นเพื่อความอยู่รอด เพื่อรักษาชีวิต”

ส่วนในเรื่องของน้ำดื่มหัวหน้าวิเชียรเล่าให้ฟังว่า “การจะแบกน้ำดื่มสะอาดเข้าป่าไปให้พอกินตลอดการลาดตระเวนไม่มีทางเป็นไปได้แน่ ผู้พิทักษ์ป่าจึงต้องดื่มน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ขุ่นบ้าง ใสบ้าง ในบางจุดอาจจะต้องกินน้ำฝนที่ขังอยู่ในรอยเท้าสัตว์ ซึ่งอาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนหรือไม่สะอาดเท่าที่ควร ทำให้บางคนอาจจะติดโรคได้ ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พวกเราต้องเจอและเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”
มอบยารักษาโรคให้ผู้พิทักษ์ป่า
จากปัญหานี้ทาง บริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด จึงได้ทำโครงการ “45 ปีไบโอฟาร์มเพื่อชุมชน...เติมยา เติมความห่วงใย” เข้ามาดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้พิทักษ์ป่าและชุมชนโดยรอบทั้งผืนป่าตะวันตกและตะวันออก โดยมีการตรวจสุขภาพและแจกยารักษาโรคที่จำเป็นให้แก่ผู้พิทักษ์ป่า
ตู้ยาและยารักษาโรค
“ผู้พิทักษ์ป่า” ถือเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการดูแลรักษาผืนป่าให้สมบูรณ์ แต่เหนือสิ่งอื่นใดความร่วมมือร่วมใจของทุกคนย่อมเป็นกำลังหลักที่จะช่วยอนุรักษ์และไม่ทำลายป่าได้ดีที่สุด เพราะ “ผืนป่าเป็นของทุกคน”
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น