xs
xsm
sm
md
lg

อิ่มบุญสุขใจ ไหว้พระ "4 วัดงามลำพูน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

Facebook :Travel @ Manager
วัดพระธาตุหริภุญชัย วัดสำคัญแห่งลำพูน
พรุ่งนี้ก็จะเป็น “วันวิสาขบูชา” อันเป็นวันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก โดยเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสสู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงยึดถือวันนี้เป็นวันสำคัญ และชาวโลกก็ยกย่องให้วันนี้เป็น “วันสำคัญสากล” อีกด้วย

สำหรับพวกเราชาวพุทธไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ถือศีลปฏิบัติธรรมและทำจิตใจให้ผ่องใสในวันวิสาขบูชานี้ และอีกหนึ่งกิจกรรมที่ชาวพุทธนิยมทำในวันนี้ก็คือการทำบุญตักบาตรและกราบไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคล ในวันนี้จึงขอแนะนำ “4 วัดงามแห่งเมืองลำพูน” จังหวัดล้านนาที่มีความเจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนามายาวนาน และมีวัดอันงดงามและสำคัญทางประวัติศาสตร์มาให้ได้รู้จักกัน
พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองลำพูน
วัดพระธาตุหริภุญชัย

“พระธาตุหริภุญชัย” เป็นหนึ่งในพระธาตุสำคัญแห่งดินแดนล้านนา เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์และเป็นดังศูนย์รวมจิตใจของชาวลำพูน นอกจากนี้ยังเป็นพระธาตุประจำปีของคนเกิดปีระกา(ไก่) ตามคติความเชื่อของชาวล้านนาอีกด้วย

พระธาตุหริภุญชัยสร้างใน พ.ศ. 1607 โดยพระเจ้าอาทิตยราชเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วย ธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง
พระสุวรรณเจดีย์
ลักษณะขององค์พระธาตุที่สร้างแรกเริ่มเดิมทีเป็นไปตามพุทธทำนายคือเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงปราสาท สูง 12 ศอก(6 เมตร) มีซุ้มทวาร เข้า-ออกทะลุกันได้ทั้งสี่ด้าน มีปราสาทศิลาแลงสี่เหลี่ยมอยู่มุมละองค์ ครั้นเมื่อพญามังราย เข้ามายึดเมืองหริภุญชัยไว้ในครอบครอง ทรงโปรดให้บูรณะองค์พระธาตุหริภุญชัย ปรับปรุงเป็นเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด และต่อมาในราวปี พ.ศ.1990 (บางข้อมูลระบุปี พ.ศ.1986) สมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งราชวงศ์มังรายโปรดให้บูรณะพระธาตุหริภุญชัยครั้งใหญ่ มีการปรับรูปทรงเป็นเจดีย์ดังรูปแบบที่เห็นในปัจจุบันคือเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาอันสวยงามสมส่วน หุ้มทองจังโกสีทองอร่าม งดงามจนเป็นต้นแบบและมีอิทธิพลต่อพระธาตุเจดีย์องค์อื่นๆ อีกหลายองค์ อาทิ พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน เป็นต้น
ซุ้มประตูโขงอันงดงาม
นอกจากจะมาสักการะพระธาตุหริภุญชัยแล้ว ภายในบริเวณวัดก็ยังมีสิ่งน่าสนใจให้สักการะและเที่ยวชมกันอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “พระเจ้าทองทิพย์” พระพุทธรูปปางมารวิชัยสีทองอร่าม มีพุทธลักษณะที่งดงามยิ่ง ประดิษฐานอยู่อุโบสถ “ซุ้มประตูโขงท่าสิงห์” ที่ตรงส่วนยอดสร้างเป็นทรงปราสาทซ้อนกันหลายชั้น ประดับลวดลายปูนปั้นฝีมือช่างชั้นครูอันสวยงามประณีต มี 2 สิงค์คู่ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชสูงประมาณ 3 เมตร สีน้ำตาลอมแดงยืนเด่นงามสง่า ขนาบ 2 ข้างซ้ายขวา “ปทุมวดีเจดีย์” หรือ “สุวรรณเจดีย์” เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมขนาดลดหลั่นกันไป 5 ชั้นเช่นเดียวกับเจดีย์เหลี่ยมหรือกู่กุดวัดจามเทวี ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมหริภุญชัยอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
วิหารวัดมหาวัน
วัดมหาวัน

“พระรอด” เป็นหนึ่งในพระเบญจภาคีเชื่อกันว่าหากผู้ใดมีไว้บูชาจะรอดพ้นแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง จึงมีคนไม่น้อยอยากได้พระรอดมาไว้บูชาคู่กาย ซึ่งจุดกำเนิดของพระรอดนั้นก็อยู่ที่ “วัดมหาวัน” จังหวัดลำพูนนี่เอง

“พระรอด” มีการขุดพบครั้งแรกราวต้นรัชกาลที่ 5 ที่วัดมหาวัน ใน อ.เมือง จ.ลำพูน เมื่อพระเจดีย์ในวัดมหาวันชำรุดและพังทลายลงบางส่วน จึงพบพระพิมพ์ภายในกรุเจดีย์เป็นจำนวนมาก ผู้พบในครั้งนั้นเรียกชื่อพระพิมพ์เหล่านั้นว่า “พระรอด” เพราะมีลักษณะคล้ายกับ “พระรอดหลวง” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโบราณคู่วัดมาแต่ดั้งเดิม
ภายในพระวิหารวัดมหาวัน
ส่วน “พระรอดหลวง” นั้นเป็นพระพุทธรูปที่อยู่คู่วัดมหาวันมาช้านาน ตำนานเล่าว่า เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จมาครองเมืองหริภุญชัยนั้น พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญมาด้วย 2 องค์ คือ พระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) และพระพุทธสิกขิ (พระศิลาดำ) พระองค์ทรงสร้างวัดมหาวันขึ้นและประดิษฐานพระศิลาดำไว้ที่นี่ ต่อมาหริภุญชัยเกิดสงครามกับขุนลัวะวิลังขะ พระฤๅษีจึงใช้พระศิลาดำเป็นต้นแบบสร้างพระเครื่องแจกจ่ายชาวเมืองเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการออกศึก พระเครื่องส่วนที่เหลือบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดมหาวัน ต่อมาเมื่อเจดีย์หักพังลง ชาวบ้านจึงนำพระเครื่องเหล่านี้ไปบูชาและพบอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ซึ่งก็หมายถึงพระรอดอันเป็นหนึ่งในพระเบญจภาคีนั่นเอง
พระรอดหลวง ต้นแบบพระรอด หนึ่งในพระเบญจภาคี
ปัจจุบันหากใครอยากมากราบพระรอดหลวง อันเป็นต้นแบบของพระรอดแล้วละก็ สามารถมาได้ที่วิหารวัดมหาวัน โดยพระรอดหลวงเป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก ประดิษฐานไว้เบื้องหน้าองค์พระประธานภายในวิหาร เราสามารถเข้ามากราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลกันได้
วัดสันป่ายางหลวง
วัดสันป่ายางหลวง

“วัดสันป่ายางหลวง” เป็นอีกหนึ่งวัดงามในเมืองลำพูนที่อยากแนะนำให้มาเยือน วัดนี้แต่เดิมเคยเป็นศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์มาก่อน ดังปรากฏหลักฐานบนหินทรายจำหลัก ต่อมามีพระเถระจากพม่า 3 รูป เดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในถิ่นนี้ ชาวบ้านเลื่อมใสเป็นอย่างมากจึงพร้อมใจกันเปลี่ยนเทวสถานเป็นวัดในพระพุทธศาสนา

แต่เดิมวัดนี้ชื่อว่า “วัดขอมลำโพง” เนื่องจากละแวกนั้นเป็นชุมชนชาวขอม วัดนี้ถือว่าเป็นวัดพระพุทธศาสนาแห่งแรกของดินแดนล้านนา จากนั้นมีการสร้างเจดีย์และอัญเชิญเอาพระอัฐิธาตุของพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าคือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะมาบรรจุไว้ ณ ที่เจดีย์ของวัดสันป่ายางหลวง
วัดสันป่ายางหลวง มีสถาปัตยกรรมงดงาม
ภายในวัดสันป่ายางหลวงมีวิหารอันงดงามคือ “วิหารพระโขงเขียว” ใช้วัสดุเสาไม้ตะเคียนทอง ไม้แดงจากประเทศลาว พม่า และไทย พระครูบาอินทรเป็นผู้ออกแบบก่อสร้างและออกแบบลวดลายพื้นเมืองผสมผสานระหว่างสมัยเก่ากับสมัยใหม่ เมื่อมองจากด้านหน้าจะมีหลังคา 5 ชั้น มีช่อฟ้า 5 ชั้น ตรงกลางหลังคามีเรือหงส์และฉัตร ด้านล่างมีรูปปั้นผางประทีปและรูปพรหมสี่หน้านั่งอยู่บนหลังคา ภายในพระวิหารมองขึ้นไปด้านบนจะเห็นมณฑปทรงล้านนาอันเป็นที่ประดิษฐานพระหยกเขียวอันมีนามว่า "พระพุทธอัญญรัตนมหานทีศรีหริภุญชัย" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิแกะสลักด้วยหินสีเขียวเนื้อละเอียดจากแม่น้ำโขง นับเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง ส่วนด้านล่างประดิษฐานพระพุทธเมตไตร พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่มีความสวยงามอย่างมาก
พระโขงเขียวองค์เล็กประดิษฐานด้านบน ส่วนด้านล่างคือพระพุทธเมตไตร
พระเจดีย์ในวัดสันป่ายางหลวง
องค์เจดีย์วัดพระยืน
วัดพระยืน

“วัดพระยืน” เป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของลำพูน สันนิษฐานว่าพระนางจามเทวีทรงสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 1213 (หลังครองราชย์ได้ 7 ปี) ซึ่งนับจนวันนี้มีอายุเก่าแก่มากถึงกว่า 1,300 ปี ส่วนชื่อของวัดพระยืน มาจากองค์พระพุทธรูปยืนเก่าแก่ที่ตามเอกสารของวัดระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1606 ในสมัยพระเจ้าธรรมมิกราช (กษัตริย์องค์ที่ 32 แห่งหริภุญชัย) พระยืนองค์นี้หล่อด้วยทองสำริด สูง 18 ศอก (9 เมตร) เดิมประดิษฐานอยู่ในปราสาทสถูป (หลังพระวิหาร) และต่อมาในปี พ.ศ. 1712 พระยากือนา ผู้ครองพิงนครเชียงใหม่และลำพูนได้สร้างพระพุทธรูปยืนเพิ่มเติมขึ้นอีก 3 องค์
เจดีย์ศิลปะแบบพม่า
เมื่อกาลเวลาผันผ่าน สถูปวัดพระยืนได้พุพังไปตามกาลเวลา จนกระทั่งใน พ.ศ.2447 พระครูศีลวิลาศ (พระคันธวงศ์เถระหรือครูบาวงศ์) เจ้าคณะจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยเจ้าหลวงอินทยงยศ เจ้าผู้ครองนครลำพูน ได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์สถูปเจดีย์ขึ้นมาใหม่ โดยสร้างก่อหุ้มคลุมองค์พระยืนทั้ง 4 ไว้ภายใน พร้อมกับสร้างพระพุทธรูปยืนองค์เล็กกว่าขึ้นมาประดับเจดีย์ทั้ง 4 ด้าน

เจดีย์วัดพระยืนมีลักษณะโดดเด่นตรงที่เป็นศิลปกรรมพม่า คล้ายกับเจดีย์วัดสัพพัญญูในเมืองพุกาม สร้างยกพื้นลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ มีบันไดเดินขึ้นสู่ลานประทักษิณชั้นบนที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว และมีเจดีย์บริวารองค์เล็กอยู่ทั้ง 4 มุม
นักท่องเที่ยวนิยมมาร่วมกิจกรรมปั้นพระที่วัดพระยืน
ผู้ที่มาเยือนวัดพระยืนมักจะมาร่วมกิจกรรมการปั้นพระดินสกุลลำพูน เช่น พระรอด พระคง พระลือ ในกรรมวิธีแบบโบราณด้วยมือของตัวเองเพื่อใส่ในฐานพระพุทธเมตตาศากยะมุนีศรีหริปุญไจยที่ทางวัดกำลังจัดสร้างขึ้น นับเป็นกิจกรรมที่ร่วมสร้างบุญและสร้างความรู้เกี่ยวกับพระดีพระดังเมืองลำพูนได้อีกด้วย

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น