xs
xsm
sm
md
lg

“เกาะศาลเจ้า” เที่ยวชุมชนกลางคลองในบรรยากาศสุดชิลของกรุงเทพฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Facebook : Travel @ Manager
ชุมชนเกาะศาลเจ้าตั้งอยู่ระหว่างคลองบางระมาดและคลองบ้านไทร
แม้ความเจริญจะรุกคืบอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ชานเมืองกรุงเทพฯ ในย่านตลิ่งชันทุกวันนี้ก็ยังคงหลงเหลือความเป็นชุมชนสวนเกษตรริมคลอง ยังคงเห็นบรรยากาศของสวนผัก สวนกล้วยไม้ และวิถีชีวิตของบ้านเรือนและคนริมคลอง มีเรือไปรษณีย์ มีเรือเก็บขยะแวะเวียนเข้ามาสร้างความตื่นตาให้คนที่ไม่เคยเห็นได้อยู่

เหมือนอย่างที่วันนี้ฉันมาเยือน “ชุมชนเกาะศาลเจ้า” หรือบางคนอาจรู้จักกันในชื่อ “ชุมชนวัดจำปา” ซึ่งเป็นชุมชนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่หลังวัดจำปา สามารถขับรถเข้ามาจากถนนพุทธมณฑลสาย 1 มายังวัดและเดินเท้าต่อเข้ามายังชุมชนวัดจำปาได้ ความสำคัญของที่นี่นอกจากจะยังมีบรรยากาศของบ้านสวนริมคลองสุดชิลล์แล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตและงานช่างที่เรียกว่า “กลุ่มช่างวัดจำปา” ซึ่งมีฝีมือทั้งงานเขียน งานปั้น งานแทงหยวก งานบายศรี การทำน้ำอบน้ำปรุง และแป้งพวงอีกด้วย
ศาลเจ้าพ่อจุ้ย ศูนย์รวมจิตใจคนในชุมชน
โชคดีในวันที่มาเยือนชุมชนเกาะศาลเจ้าเป็นวันที่จัดงานประจำปีศาลเจ้าพ่อจุ้ย-เจ้าพ่อกุมกรรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวชุมชนเกาะศาลเจ้า ในวันนั้นทางชุมชนร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “เสน่ห์งานศิลป์ วิถีถิ่นเกาะศาลเจ้า” โดยมีนาวาตรีวรวิทย์ เตชะสุภากูร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาเป็นประธานเปิดงาน และได้พบกับพี่ดุ่ย หรือคุณทวีศักดิ์ หว่างจันทร์ ประธานชุมชนวัดจำปาผู้ที่เกิดและเติบโตที่นี่ จึงได้ร่วมงานทำบุญศาลเจ้าพ่อจุ้ย ได้ฟังความเป็นมาของชุมชนเกาะศาลเจ้า และได้เห็นกระบวนงานช่างของกลุ่มช่างวัดจำปาไปพร้อมๆ กันด้วย

ก่อนอื่นขอเล่าถึงที่มาของชุมชนเกาะศาลเจ้าเสียก่อน ที่นี่เป็นชุมชนในพื้นที่ย่านคลองบางระมาดที่เก่าแก่ที่สุด 1 ใน 8 ของกรุงเทพฯ มีความเป็นมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เหตุที่เรียกว่าเป็นเกาะเนื่องจากพื้นที่ถูกล้อมรอบด้วยคลองสายหลัก 2 สาย คือคลองบางระมาดและคลองบ้านไทร และมีคลองลัดวัดจำปาเชื่อมคลองทั้งสองสายเข้าด้วยกันทำให้พื้นที่ของชุมชนมีลักษณะเป็นเกาะ
รำถวายศาลในวัดจัดงานประจำปีศาลเจ้าพ่อจุ้ย
บริเวณนี้เคยขุดพบกระเบื้องเคลือบสีเขียวเก่าแก่ เมื่อกรมศิลปากรนำไปวิเคราะห์พบว่ามีอายุกว่า 500 ปี ตรงกับเนื้อหาใน “กำสรวลสมุทร” โคลงกลอนเก่าแก่ที่มีเนื้อหากล่าวถึงชุมชนบางระมาด เป็นหลักฐานว่าชุมชนแห่งนี้ปรากฏชื่อมายาวนานกว่า 500 ปีมาแล้ว

ส่วนศาลเจ้านั้นหมายถึงศาลเจ้าพ่อจุ้ยซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งท้องน้ำและการค้า โดยในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นแหล่งการค้าชุมชนและท่าเรือเก่า ในคลองเล็กๆ มีเรือวิ่งเป็นร้อยๆ ลำตลอดทั้งวัน บริเวณนี้เป็นย่านการเกษตร ปลูกผักผลไม้และดอกไม้ลงเรือไปขายที่ตลาดนัดสนามหลวง ปากคลองตลาด ตลาดศาลาน้ำร้อน และตลาดวัดศาลาสี่หน้า บริเวณศาลเจ้าพ่อจุ้ยจึงเป็นเหมือนศูนย์กลางความศรัทธา ศูนย์กลางย่านการค้าและศูนย์กลางชุมชนไปพร้อมๆ กัน
ทวีศักดิ์ หว่างจันทร์ ประธานชุมชนเกาะศาลเจ้า และผลงานการแทงหยวกและแกะสลักฟักทอง
บ้านสองบุตรีในชุมชนเกาะศาลเจ้า
ทุกวันนี้ความเป็นย่านการค้าแทบไม่หลงเหลือ แต่ที่ยังคงอยู่คือการสืบสานงานช่างแขนงต่างๆ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในครั้งนั้นมีผู้อพยพหนีระเบิดจากพระนครมาอยู่ตามสวนในฝั่งธนฯ หลายครอบครัว รวมไปถึงหลวงวัฒนศิลป์ (ต่วน ยุวพุกกะ) ช่างหลวงสังกัดกองช่างกระทรวงวัง ท่านเป็นบุคคลสำคัญที่ถ่ายทอดวิชาช่างตามแบบราชสำนักให้แก่คนในชุมชน โดยเฉพาะการแทงหยวกที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันโดยบ้านหว่างจันทร์ ซึ่งงานเครื่องสดแทงหยวกมีทั้งการแกะหยวกกล้วยและผักผลไม้ โดยการแทงลายเฉพาะของกลุ่มคือ ลายแข้งสิงห์เปลวและลายเฟื้องกระจัง

หากใครมาเยือนชุมชนเกาะศาลเจ้าต้องมาที่ “บ้านสองบุตรี” ก่อนเป็นแห่งแรก บ้านนี้เป็นเสมือนห้องรับแขกของชุมชน เป็นบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนของคุณทวีศักดิ์ที่สร้างให้กับลูกสาวสองคนเพื่อให้มีความรักในบ้านและชุมชน ภายในบ้านตกแต่งผ่านการเล่าเรื่องตามมุมห้องที่บ่งบอกเรื่องราวการใช้ชีวิตในอดีต เป็นลักษณะของพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต โดยคุณทวีศักดิ์เองในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ก็มักจะอยู่ที่บ้านหลังนี้เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้มาเยือน และขอบอกว่าเป็นบ้านที่น่าอยู่และร่มรื่นมากๆ อีกด้วย
บรรยากาศแสนร่มรื่นบนบ้านสองบุตรี
มุมน่านั่งถ่ายรูปบนบ้านสองบุตรี
สาธิตการทำแป้งพวง
นอกจากบ้านสองบุตรีแล้ว เราสามารถเดินข้ามสะพานข้ามคลองลึกเข้าไปในชุมชนเพื่อไปเยือน “บ้านเครื่องหอม” ที่สาธิตการทำแป้งพวงอันเป็นเครื่องหอมที่ได้จากแป้งที่อบร่ำกับสมุนไพรและน้ำอบน้ำปรุงต่างๆ และแป้งร่ำที่หยอดไว้เป็นพวงนั้นก็นำมาประยุกต์กับความรู้ด้านดอกไม้สดของคนในครอบครัวจึงเกิดเป็นงานเครื่องแขวนหอมกรุ่นและสวยงามจากแป้งพวง ทั้งพวงมาลัยและกรองดอกไม้
มาลัยกรองดอกไม้ทำจากแป้งพวงสวยงามนัก
บ้านโฮมสเตย์สว่างจันทร์ บ้านไม้สไตล์เก๋
ในชุมชนยังมีบ้านที่เปิดเป็นโฮมสเตย์ คือ “โฮมสเตย์บ้านสว่างจันทร์” ขอบอกว่าเป็นโฮมสเตย์บ้านไม้สไตล์ฮิปๆ ที่คนชอบบ้านไม้แบบมีสไตล์ต้องชอบ แต่ที่นี่เน้นเป็นบ้านพักวิถีชุมชนที่ผู้มาพักจะได้ใช้ชีวิตร่วมกับเจ้าของบ้าน และได้รับรู้วิถีชีวิตชาวชุมชนที่เรียบง่ายผ่านตัวเจ้าของบ้าน และได้ซึมซับบรรยากาศของชุมชนเกาะศาลเจ้าไปด้วย ใครอยากทราบรายละเอียดเรื่องราคาเข้าไปสอบถามได้ที่เฟซบุค : บ้านสว่างจันทร์ กันก่อน
ทางเดินริมคลองสะอาดตาในชุมชน
นอกจากนั้นแล้วในชุมชนก็ยังมีบ้านขนมหวาน บ้านจักสาน ซึ่งเป็นฐานเรียนรู้การทำขนมแบบไทยๆ และการทำงานฝีมือโดยใช้วัสดุที่หาได้จากธรรมชาติใกล้บ้าน และในวันหยุดเสาร์อาทิตย์คนในชุมชนก็จะเตรียมอาหารและของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ มาขายให้นักท่องเที่ยวอีกด้วย
ในวันเสาร์-อาทิตย์มาเที่ยวตลาดน้ำคลองลัดมะยมแล้วนั่งเรือต่อมายังเกาะศาลเจ้าได้
แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้หากอยากเห็นฐานกิจกรรมแบบครบๆ ก็คงจะต้องติดต่อมาล่วงหน้าจะดีที่สุด นอกจากนั้นหากมาในวันเสาร์อาทิตย์ก็สามารถท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับตลาดน้ำคลองลัดมะยมได้ โดยหากมาเที่ยวมากินของอร่อยมากมายมหาศาลที่ตลาดน้ำเรียบร้อยแล้วก็สามารถนั่งเรือหางยาวท่องเที่ยวจากตลาดน้ำคลองลัดมะยม (โซน 2) มาที่ชุมชนเกาะศาลเจ้าได้ในราคาคนละ 60 บาท โดยเรือจะพาล่องคลองบางระมาดแบบชิลๆ ได้ชมบรรยากาศบ้านเรือนริมน้ำสองข้างทาง ใช้เวลาราว 20 นาทีก็จะมาถึงชุมชนเกาะศาลเจ้า แต่เรือจะจอดให้เวลาเดินเที่ยวไม่มากนัก ดังนั้นหากอยากเดินชมเองแบบใช้เวลานานๆ ก็ขอแนะนำให้มาที่วัดจำปาแล้วเดินเข้ามาในชุมชนดีกว่า มาลองสัมผัสบรรยากาศชุมชนกลางคลองของกรุงเทพฯ ด้วยกัน
ของกินมหาศาลที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยม
“ชุมชนเกาะศาลเจ้า” ตั้งอยู่ใกล้กับวัดจำปา เขตตลิ่งชัน กทม. การเดินทางจากถนนบรมราชชนนีมุ่งหน้านครปฐม ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 1 จากนั้นเมื่อผ่านหมู่บ้านนันทวันให้เลี้ยวซ้ายเข้าซอย 22 เข้าซอยไปประมาณ 2 ก.ม. ก็จะถึงวัด แล้วเดินเท้าจากหลังวัดจำปาทะลุสวนมายังชุมชนเกาะศาลเจ้า ส่วนในวันเสาร์-อาทิตย์ สามารถนั่งเรือจากตลาดน้ำคลองลัดมะยม (โซน 2) มาที่ชุมชนได้ในราคาคนละ 60 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ชุมชนเกาะศาลเจ้า โทร. 08-7036-6322 หรือสอบถามได้ที่ ททท. สำนักงานกรุงเทพฯ โทร.0 2276 2720-1

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น