xs
xsm
sm
md
lg

5 เรื่องน่ารู้ คู่ “อุทยานธรณีโลก” สตูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถ้ำเล-สเตโกดอน ส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูล
17 เมษายน 2561 องค์การยูเนสโก(UNESCO) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ(ผ่านทาง www.unesco.org) ประกาศให้“อุทยานธรณีสตูล”(Satun Geopark) พื้นที่แหล่งธรณีวิทยาของจังหวัดสตูล เป็น“อุทยานธรณีโลก”(Satun UNESCO Global Geopark) ซึ่งถือเป็นข่าวดียิ่งสำหรับคนไทย

สำหรับความสำคัญและสิ่งน่าสนใจของอุทยานธรณีโลกสตูลนั้น จัดอยู่ในขั้นไม่ธรรมดา แถมหลายสิ่งยังเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ของธรรมชาติที่น่าทึ่งไม่น้อย

และนี่ก็คือการคัดสรร 5 สิ่งน่ารู้(ที่หลายคนอาจไม่รู้) ของอุทยานธรณีโลกสตูล ซึ่งจะมีอะไรบ้าง ขอเชิญทัศนากันได้

1.อุทยานธรณีโลกแห่งแรกของไทย : อุทยานธรณีสตูล ถือเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของเมืองไทย พื้นที่สำคัญทางธรณีวิทยาแห่งนี้ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark : เบื้องต้นยังเป็นอุทยานธรณีในระดับท้องถิ่น(จังหวัด, ภูมิภาค) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557(มีการดำเนินการจัดตั้งตามแนวทางของกรมทรัพยากรธรณีมาตั้งแต่ปี 2554) โดยมีนายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ เป็นผู้อำนวยการอุทยานธรณีสตูล
ณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีสตูล เมื่อเริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน(แฟ้มภาพ)
ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเสนอให้อุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก พร้อมทั้งมีการยกระดับอุทยานธรณีสตูลให้เป็นอุทยานธรณีระดับประเทศในเดือนพฤศจิกายน ปี 2559 ด้วยเช่นกัน

2.จากผืนทะเล 500 ล้านปี สู่ขุนคีรียิ่งใหญ่ ผูกพันวิถีชีวิต ผู้คน : อุทยานธรณีสตูล จัดตั้งขึ้นภายใต้แนวคิด(คอนเซ็ปต์) “จากผืนทะเล 500 ล้านปี สู่ขุนคีรียิ่งใหญ่ ผูกพันวิถีชีวิต ผู้คน” โดยนำความสำคัญและโดดเด่นทางธรณีวิทยาของสตูล ซึ่งเป็นบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อกว่า 500 ล้านปีก่อน ที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตยุคเก่า เชื่อมโยงเข้ากับผืนแผ่นดินที่ผูกพันกับวิชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในชุมชน
หาดหินงาม หมู่เกาะตะรุเตา ส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูล
3.พื้นที่ : อุทยานธรณีโลกสตูล ไม่ได้มีพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัด หากแต่มีพื้นที่ครอบคลุมใน 4 อำเภอของสตูล ได้แก่ อำเภอทุ่งหว้า มะนัง ละงู และบางส่วนของอำเภอเมือง(เฉพาะเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา) มีพื้นที่รวมทั้งหมด 2,597.21 ตารางกิโลเมตร

4.ฝ่าด่านหิน : สำหรับหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่เป็นดังด่านหินของการขอขึ้นเป็นอุทยานธรณีโลกของจังหวัดสตูลก็คือ ในพื้นที่ไม่ไกลกันนั้นมี“อุทยานธรณีโลก ลังกาวี”(Langkawi UNESCO Global Geopark) ประเทศมาเลเซีย ซึ่งที่ผ่านมายูเนสโกจะไม่ประกาศพื้นที่อุทยานธรณีโลกแห่งใหม่ห่างจากแหล่งที่มีพื้นที่อุทยานธรณีโลกอยู่แล้วเกิน(รัศมี) 200 กม.(เกาะลังกาวีอยู่ห่างเกาะตะรุเตา และฝั่งจังหวัดสตูลเพียงไม่กี่ กม.)

อย่างไรก็ดีทางคณะกรรมผู้ยื่นขอให้อุทยานธรณีสตูลเป็นอุทยานธรณีโลก(ภายใต้การนำของกรมทรัพยากรธรณี) ได้นำเสนอให้เห็นถึงความแตกต่างของอุทยานธรณีสตูล กับอุทยานธรณีลังกาวี โดยชี้ว่าอุทยานธรณีลังกาวีที่มาเลเซียเด่นในเรื่องของความเป็นเกาะแก่งและชั้นหิน แต่อุทยานธรณีของไทย เทือกเขาหินปูนบนแผ่นดินที่เด่นในเรื่องของฟอสซิล โดยเฉพาะฟอสซิลในมหายุคพาลีโอโซอิก ที่สตูลมีครบทั้ง 6 ยุคย่อย ซึ่งยังหาไม่พบพื้นที่ที่เป็นแหล่งเดียวแบบนี้ที่ไหนในโลก
ฟอสซิลไทรโลไบต์ แห่งมหายุคพาลีโอโซอิก
นอกจากนี้อุทยานธรณีสตูลยังมีความโดดเด่นในเรื่องของถ้ำ แหล่งน้ำ สายน้ำ ภูเขา ป่าไม้ เกาะ และการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่งผลให้ท้ายที่สุดแล้วอุทยานธรณีสตูล ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลก ในวันที่ 17 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดีและอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทย

5.อุทยานธรณีโลก เทียบได้กับมรดกโลก : หลังอุทยานธรณีสตูลได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลก ดร.ทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี หนึ่งในผู้มีส่วนสำคัญต่อการผลักดันให้อุทยานธรณีสตูลเป็นอุทยานธรณีโลก ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน(เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา) ว่า

ธรณีโลกเป็นโปรแกรมที่ UNESCO ให้การสนับสนุนรับรองและมีระดับความสำคัญเทียบได้กับมรดกโลก (World Heritage) ที่เป็นรู้จักกันดี ปัจจุบันมีอุทยานธรณีโลกจำนวนทั้งสิ้น 140 แหล่ง ใน 38 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 18 เม.ย.61) ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ประเทศไทยที่มีอุทยานธรณีโลก ได้แก่ มาเลเซีย 1 แห่ง อินโดนีเซีย 4 แห่ง และเวียดนาม 2 แห่ง
ฟอสซิลนอติลอยต์ขนาดใหญ่ แห่งมหายุคพาลีโอโซอิก
อุทยานธรณีสตูลเกิดขึ้นจากความต้องการของคนในพื้นที่จังหวัดสตูลที่มีแหล่งมรดกทางธรณีวิทยา ที่ทรงคุณค่าและมีความสำคัญหลายแห่ง เช่น ถ้ำเล-สเตโกดอน ถ้ำภูผาเพชร ถ้ำเจ็ดคต น้ำตกวังสายทอง ปราสาทหินพันยอด ฯลฯ โดยการสนับสนุนทางวิชาการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี จังหวัดสตูล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งชุมชนและองค์กรท้องถิ่นที่มีแหล่งมรดกทางธรณีเหล่านี้ได้รวมตัวกันพัฒนาเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์แหล่ง มีการพัฒนาการบริหารจัดการการศึกษาและการสื่อความหมายแหล่งการท่องเที่ยวและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่ ความร่วมมือกันระหว่างชุมชน/อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อุทยานแห่งชาติ ตะรุเตา อุทยานธรณีสตูลและมหาวิทยาลัยท้องถิ่นในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบริเวณ ปราสาทหินพันยอดในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อุทยานแห่งชาติตะรุเตาซึ่งเป็นการผสานกันอย่างลงตัว ทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยท้องถิ่น มีการปกป้องและเฝ้าระวังทรัพยากรทางทะเล และสร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

ความโดดเด่นของอุทยานธรณีสตูล เมื่อประมาณ 500 ล้านปีที่ผ่านมา พบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล ที่สามารถบ่งชี้อายุทางธรณีได้อย่างสมบูรณ์ คือพบฟอสซิลหลากหลายชนิดตลอดช่วงเวลา 500-250 ล้านปีก่อน ซึ่งเก่าแก่มากก่อนยุคไดโนเสาร์หรือจูแรสซิกประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นอุทยานธรณีระดับโลก
ถ้ำภูผาเพชร ส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูล
เมื่อ UNESCO ประกาศรับรองขึ้นทะเบียน และเข้าเป็นสมาชิกของเครือข่ายอุทยานธรณีโลกหรือ GGN (Global Geoparks Network) จะทำให้อุทยานธรณีสตูลเป็นที่รู้จักในระดับโลกมากยิ่งขึ้น จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมและศึกษากันมากขึ้น มีนักวิทยาศาสตร์จากในและต่างประเทศเข้ามาศึกษาแหล่งทางธรณีวิทยาเพิ่มขึ้น สร้างเศรษฐกิจในชุมชนการท่องเที่ยว สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและการศึกษา ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างสมาชิกเครือข่ายของอุทยานธรณีโลกซึ่งจะเป็นผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนแก่ชุมชนและท้องถิ่น

ทั้งนี้การท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานธรณีจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ตามแบบวิถีชุมชน ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเชิงธรณี หรือ Geotourism จะทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้และความเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวทางธรณีวิทยาที่แฝงอยู่ในสภาพภูมิประเทศและลักษณะทางธรณีวิทยาต่างๆซึ่งถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสได้จากแหล่งธรณีต่างๆในเขตอุทยานธรณี

สำหรับอุทยานธรณีระดับประเทศ เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลก UNESCO จะทำการตรวจประเมินซ้ำทุกๆ 4 ปีแต่ละครั้ง ก็จะมีความเข้มข้นในการตรวจประเมินสูงขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ โดยจะแสดงผลการตรวจประเมินเป็นระดับสีเขียว-ผ่านเหลือง-ปรับปรุงแดง-ถูกถอดออกจากทะเบียนของ UNESCO ดังนั้นหากอุทยานธรณีโลกแห่งใดมีการบริหารจัดการที่บกพร่องก็สามารถที่จะสามารถถูกถอดถอนจากการเป็นสมาชิกได้และต้องเว้นระยะเวลาอีก 2 ปีจึงจะสามารถสมัครใหม่ได้ ซึ่งเคยมีอุทยานธรณีบางประเทศเคยถูกถอนออกจากสมาชิกไปแล้ว...ดร.ทศพร ให้ข้อมูล
ดร.ทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี(ภาพจากแฟ้ม)
ดังนั้นการที่อุทยานธรณีสตูล ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลก จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งของคนไทย

นับเป็นข่าวดีสำหรับประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่บ้านเรามีอุทยานธรณีระดับโลกเป็นแห่งแรกในประเทศไทย หลังจากนี้ไปทั้งรัฐบาล หน่วยงานเกี่ยวข้อง ชุมชนในพื้นที่ ร่วมถึงคนไทยทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษาอุทยานธรณีโลกเอาไว้ให้ดีๆให้คงอยู่คู่กับโลกตลอดไป
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น