xs
xsm
sm
md
lg

“อุทยานธรณีโลก”สตูล สำคัญระดับ“มรดกโลก” ตรวจเข้มทุก 4 ปี คนไทยต้องดูแลรักษาให้ดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถ้ำภูผาเพชร ส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูล
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา UNESCO..ได้ประกาศอย่างเป็นทางการผ่านหน้าเว็บไซต์ www.unesco.org ประกาศให้พื้นที่แหล่งธรณีวิทยาของจังหวัดสตูล เป็นอุทยานธรณีโลก (Satun UNESCO Global Geopark) จึงนับเป็นข่าวดีสำหรับประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่บ้านเรามีอุทยานธรณีระดับโลกแห่งแรกในประเทศไทย และเป็นแหล่งที่ 5 ของอาเซียน

วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน 2561 เวลา 13.30 น. กรมทรัพยากรธรณี โดย นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี แถลงข่าวสื่อมวลชนว่า อุทยานธรณีโลกเป็นโปรแกรมที่ UNESCO ให้การสนับสนุนรับรองและมีระดับความสำคัญเทียบได้กับมรดกโลก (World Heritage) ที่เป็นรู้จักกันดี ปัจจุบันมีอุทยานธรณีโลกจำนวนทั้งสิ้น 140 แหล่ง ใน 38 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 18 เม.ย.61) ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ประเทศไทยที่มีอุทยานธรณีโลก ได้แก่ มาเลเซีย 1 แห่ง อินโดนีเซีย 4 แห่ง และเวียดนาม 2 แห่ง
ดร.ทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี(ภาพจากแฟ้ม)
อุทยานธรณีสตูลเกิดขึ้นจากความต้องการของคนในพื้นที่จังหวัดสตูลที่มีแหล่งมรดกทางธรณีวิทยา ที่ทรงคุณค่าและมีความสำคัญหลายแห่ง เช่น ถ้ำเล-สเตโกดอน ถ้ำภูผาเพชร ถ้ำเจ็ดคต น้ำตกวังสายทอง ปราสาทหินพันยอด ฯลฯ โดยการสนับสนุนทางวิชาการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี จังหวัดสตูล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งชุมชนและองค์กรท้องถิ่นที่มีแหล่งมรดกทางธรณีเหล่านี้ได้รวมตัวกันพัฒนาเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์แหล่ง มีการพัฒนาการบริหารจัดการการศึกษาและการสื่อความหมายแหล่งการท่องเที่ยวและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่ ความร่วมมือกันระหว่างชุมชน/อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อุทยานแห่งชาติ ตะรุเตา อุทยานธรณีสตูลและมหาวิทยาลัยท้องถิ่นในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบริเวณ ปราสาทหินพันยอดในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อุทยานแห่งชาติตะรุเตาซึ่งเป็นการผสานกันอย่างลงตัว ทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยท้องถิ่น มีการปกป้องและเฝ้าระวังทรัพยากรทางทะเล และสร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
ฟอสซิลฟันกรามของช้างสเตโกดอน หนึ่งในการค้นพบสำคัญที่สตูล
ความโดดเด่นของอุทยานธรณีสตูล เมื่อประมาณ 500 ล้านปีที่ผ่านมา พบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล ที่สามารถบ่งชี้อายุทางธรณีได้อย่างสมบูรณ์ คือพบฟอสซิลหลากหลายชนิดตลอดช่วงเวลา 500-250 ล้านปีก่อน ซึ่งเก่าแก่มากก่อนยุคไดโนเสาร์หรือจูแรสซิกประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นอุทยานธรณีระดับโลก

เมื่อ UNESCO ประกาศรับรองขึ้นทะเบียน และเข้าเป็นสมาชิกของเครือข่ายอุทยานธรณีโลกหรือ GGN (Global Geoparks Network) จะทำให้อุทยานธรณีสตูลเป็นที่รู้จักในระดับโลกมากยิ่งขึ้น จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมและศึกษากันมากขึ้น มีนักวิทยาศาสตร์จากในและต่างประเทศเข้ามาศึกษาแหล่งทางธรณีวิทยาเพิ่มขึ้น สร้างเศรษฐกิจในชุมชนการท่องเที่ยว สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและการศึกษา ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างสมาชิกเครือข่ายของอุทยานธรณีโลกซึ่งจะเป็นผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนแก่ชุมชนและท้องถิ่น
ภาพบรรยากาศการแถลงข่าวของกรมทรัพยากรธรณี(ภาพ กรมทรัพยากรธรณี)
ทั้งนี้การท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานธรณีจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ตามแบบวิถีชุมชน ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเชิงธรณี หรือ Geotourism จะทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้และความเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวทางธรณีวิทยาที่แฝงอยู่ในสภาพภูมิประเทศและลักษณะทางธรณีวิทยาต่างๆซึ่งถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสได้จากแหล่งธรณีต่างๆในเขตอุทยานธรณี

สำหรับอุทยานธรณีระดับประเทศ เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลก UNESCO จะทำการตรวจประเมินซ้ำทุกๆ 4 ปีแต่ละครั้ง ก็จะมีความเข้มข้นในการตรวจประเมินสูงขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ โดยจะแสดงผลการตรวจประเมินเป็นระดับสีเขียว-ผ่านเหลือง-ปรับปรุงแดง-ถูกถอดออกจากทะเบียนของ UNESCO ดังนั้นหากอุทยานธรณีโลกแห่งใดมีการบริหารจัดการที่บกพร่องก็สามารถที่จะสามารถถูกถอดถอนจากการเป็นสมาชิกได้และต้องเว้นระยะเวลาอีก ๒ ปีจึงจะสามารถสมัครใหม่ได้ ซึ่งเคยมีอุทยานธรณีบางประเทศเคยถูกถอนออกจากสมาชิกไปแล้ว

อุทยานธรณีสตูล มีเนื้อที่ครอบคลุมประมาณ 2,597 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอประกอบด้วย อำเภอมะนัง ละงู ทุ่งหว้า และบางส่วนของอำเภอเมือง
ฟอสซิลไทรโลไบต์ที่เขาน้อยเมื่อมองผ่านแว่นขยาย
อุทยานธรณีสตูลมีแหล่งที่มีคุณค่าด้านธรณีวิทยามากกว่า 30 แหล่ง จำพวกความหลากหลายของ ซากดึกดำบรรพ์สัตว์ทะเล ซึ่งพบอย่างต่อเนื่องและหลากหลายในชั้นหินทั้ง 6 ยุคของมหายุคพาลีโอโซอิก โดยเฉพาะไทรโลไบท์สายพันธุ์ใหม่ที่พบครั้งแรกในประเทศไทยถึง 4 สายพันธุ์ และหินแบคทีเรียโบราณสโตรมาโตไลต์ ลำดับชั้นหินแบบฉบับของโลก ภูมิประเทศหินปูนที่มีถ้ำและความสวยงามระดับโลก หมู่เกาะเภตราและตะรุเตา นอกจากนี้ยังมีโบราณสถาน วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวเล และความหลากหลายทางชีวภาพจำนวนมาก
เกาะไข่ หมู่เกาะตะรุเตา ส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูล
อุทยานธรณีสตูลจัดตั้งขึ้นโดยจังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 และมีนายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ เป็นผู้อำนวยการอุทยานธรณีสตูล โดยมีแผนบริหารจัดการแบบบูรณาการ มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันของหน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมให้การสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของอุทยานธรณี รวมทั้งได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์อุทยานธรณีสตูลโดยจัดงานสตูลฟอสซิลเฟสติวัลอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา (ผู้สนใจสามารถดูมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.satun-geopark.com)
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น