xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสำรับ “7 เมนูเด็ด” ตำรับ “บุพเพสันนิวาส”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Facebook :Travel @ Manager
หมูสร่ง
นอกจากกระแสการแต่งกายชุดไทยแบบย้อนยุค และการท่องเที่ยวตามรอยละคร “บุพเพสันนิวาส” แล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ต้องถือว่าฮอตฮิตไม่แพ้กันก็คือ เมนูอาหารต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในละคร ทำให้หลายๆ คนอยากลองลิ้มชิมรสชาติกันบ้าง จนมีการแชร์ต่อๆ กันไปในวงกว้าง บางเมนูถึงขั้นขาดตลาดกันไปหลายวันเลยทีเดียว

เราเลยรวบรวม “7 เมนูเด็ด” ที่เห็นในละครบุพเพสันนิวาส แล้วออเจ้าทั้งหลายอยากลองชิม มาให้ชมกันเป็นขวัญตา

หมูสร่ง (หมูโสร่ง)
เมนูนี้ต้องถือว่าโด่งดังกันขึ้นมาชั่วข้ามคืน จากแต่เดิมที่เป็นอาหารวางของโบราณ หากินได้ยาก แต่พอปรากฏขึ้นในละครเพียงไม่กี่นาที ก็มีหลายคนที่ต้องมาเสิร์ชหากันเลยว่า “หมูสร่ง” หน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่

“หมูสร่ง” เป็นของว่างแบบฉบับชาววัง มีส่วนประกอบหลักก็คือเนื้อหมู และเส้นหมี่ซั่ว โดยมีการศึกษากันมาว่า หมูสร่งนั้นปรากฏขึ้นในประเทศไทยจากเรือการค้าของโปรตุเกสและจีน แต่เนื่องจากในสมัยก่อนนั้น คนไทยไม่ได้นิยมกินหมูกันมากมายเหมือนในปัจจุบัน จึงเปลี่ยนจากเนื้อหมูมาเป็นเนื้อไก่ที่หาได้ง่ายมากกว่า ดัดแปลงอาหารชนิดนี้ให้เข้ากับวิธีชีวิตแบบไทยๆ กลายเป็นไก่สร่งแทน

แต่สำหรับเมนูหมูสร่ง อันถือว่าเป็นเมนูโปรดของคุณพี่นั้น มีส่วนผสมก็คือ หมูบด ที่นำไปหมักคลุกเคล้ากับรากผักชี กระเทียม พริกไทย และเครื่องปรุงต่างๆ เพิ่มรสชาติและความหอมชวนกิน ก่อนจะนำมาห่อพันด้วยเส้นหมี่ซั่วให้รอบๆ ให้มีลักษณะคล้ายกับลูกตะกร้อหรือก้อนไหมพรม แล้วจึงนำไปทอดในน้ำมันร้อนๆ จะได้หมูสร่งที่กรอบข้างนอก นุ่มข้างใน

หมูสร่งกลับมาโด่งดังอีกครั้งจนถึงขั้นเส้นหมี่ซั่วขาดตลาด บ้างก็อยากลองลงมือทำด้วยตัวเอง บ้างก็อยากหามาลองชิม จนมีหลายๆ ร้านที่ประดิษฐ์ประดอยเมนูนี้ออกมาขายตอบสนองความอยากชิมของออเจ้าทั้งหลาย
หมูกระทะ
หมูกระทะ
เมนูนี้ไม่ได้ปรากฏให้เห็นหน้าตาอยู่ในละคร มีแค่ฉากที่แม่หญิงการะเกดไปสั่งทำกระทะสำหรับหมูกระทะกับจีนฮงที่ตลาดเท่านั้น แต่ถึงอย่างไร ก็ทำให้ “หมูกระทะ” กลายเป็นเมนูที่มีคนพูดถึงกันอีกครั้ง

หมูกระทะแบบไทยๆ เรานี้มีหลักๆ อยู่สองแบบคือ แบบอลาคาร์ท สั่งเป็นจานๆ หรือสั่งเป็นเซ็ต และอีปแบบคือแบบบุฟเฟ่ต์ ซึ่งน่าจะได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจากมีของกินให้เลือกหลากหลาย นอกจากจะเป็นพวกเนื้อสัตว์กับผักแล้ว ก็ยังมีของกินเล่น ขนม ผลไม้ และอาหารคาวอย่างอื่นๆ ให้เลือกด้วย

หมูกระทะแบบไทย อาจจะถูกดัดแปลงมาจากปิ้งย่างแบบญี่ปุ่นหรือเกาหลี แต่ถูกปรับมาให้เข้ากับความชอบของคนไทย วัตถุดิบส่วนใหญ่ก็เน้นที่เนื้อหมู นำมาหมักตามสูตรต่างๆ อาจจะมีเครื่องใน เนื้อไก่ เนื้อวัว ซีฟู้ด ลูกชิ้นต่างๆ ที่นำมาเสริมทัพให้กับประเภทเนื้อสัตว์ จากนั้นก็มีผักหลากหลายชนิด มีพวกเส้นต่างๆ น้ำจิ้มส่วนใหญ่แล้วก็จะเน้นที่น้ำจิ้มซีฟู้ดกับน้ำจิ้มสุกี้เป็นหลัก หรือบางร้านอาจจะมีน้ำจิ้มสูตรเฉพาะของตัวเองด้วย

ที่สำคัญก็คือ เตาหมูกระทะ ที่ต้องถือว่าเป็นเอกลักษณ์มากๆ ลักษณะตรงกลางจะนูนขึ้นมา มีการเจาะรูรอบๆ ส่วนขอบนอกจะทำเป็นร่องสำหรับใส่น้ำซุป เวลานำเนื้อสัตว์ลงปื้งบนเตา น้ำหมักต่างๆ จะไหลลงสู่น้ำซุป ทำให้ได้รสชาติกลมกล่อมมากขึ้น

การกินหมูกระทะแบบไทยๆ ก็สามารถหาซื้อเตาหมูกระทะได้ตามตลาดหรือห้างสรรพสินค้า แล้วก็เลือกสรรเนื้อสัตว์และผักมาตามชอบ ถ้าขี้เกียจทำเอง ก็เดินไปเลือกกินที่ร้านโปรดได้ หรือหากขี้เกียจกว่านั้น ก็สั่งหมูกระทะเดลิเวอรี่มานั่งกินกันที่บ้านได้สบายๆ
กุ้งแม่น้ำเผา
กุ้งเผา
เป็นเมนูที่เห็นแล้วต้องน้ำลายสอทุกที ในละครจะเห็นแม่หญิงการะเกดไปตกกุ้งที่แม่น้ำตรงหน้าบ้าน นำมาย่าง แล้วทำน้ำจิ้มซีฟู้ดสุดแซ่บกินคู่กัน ซึ่งพอฉากนี้ออนแอร์ปุ๊บ ก็มีนักกินทั้งหลายพุ่งตัวออกไปหาร้านกุ้งเผากันในทันที

พูดถึงกุ้งเผาแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงที่อยุธยา ที่มีกุ้งแม่น้ำเผาให้เลือกกินอยู่หลายสิบร้าน กุ้งแม่น้ำเผาส่วนใหญ่ก็จะเป็นกุ้งแม่น้ำตัวโต ราคาอยู่ในช่วงปลายหลักร้อยหรือหลักพันบาทต่อกิโลกรัม นำกุ้งมาผ่ากลางตัว แล้วย่างให้พอสุก จะได้กุ้งแม่น้ำเผาเนื้อนุ่มแน่นหวานเด้ง และมันกุ้งสีสวยๆ หอมมัน ที่ขาดไม่ได้ก็คือน้ำจิ้มซีฟู้ดที่กินแล้วเข้ากันสุดๆ

แต่ถ้าไม่ชอบมันกุ้งเยิ้มๆ หรือกุ้งตัวใหญ่ ลองชิมกุ้งแม่น้ำตัวขนาดย่อมลงมาหน่อย นำไปย่างให้พอสุกเช่นกัน เนื้อกุ้งหวานเด้งไม่แพ้แบบตัวใหญ่ เพียงแต่ต้องมานั่งแกะเปลือกกันเอง ซึ่งจะเลือกแบบตัวใหญ่หรือเล็กก็ได้ตามความชอบของแต่ละคน
กุ้งเผาแบบไซส์เล็ก
มะม่วงน้ำปลาหวาน
มะม่วงน้ำปลาหวาน
เมนูสุดแซ่บนี้ แม่หญิงการะเกดชักชวนแม่หญิงจันทร์วาดมาปรุงให้คนได้ชิมกันทั้งเรือน ดูละครแล้วก็เปรี้ยวปาก เลยเกิดเหตุการณ์มะม่วงน้ำปลาหวานขาดตลาดเช่นกัน

มะม่วงที่นำมากินกับน้ำปลาหวาน ส่วนใหญ่จะเลือกใช้มะม่วงดิบที่ออกรสเปรี้ยวนิดๆ กินแล้วเข้ากับน้ำปลาหวานรสหวานๆ เค็มๆ ซึ่งตัวน้ำปลาหวานนั้นส่วนผสมหลักก็คือน้ำตาลและน้ำปลา เคี่ยวรวมกัน ใส่หอมแดง พริกขี้หนูหรือพริกแห้ง และกุ้งแห้งป่น บางสูตรอาจจะเปลี่ยนมาใส่กะปิแทนน้ำปลา ก็จะได้รสชาติและความหอมที่แตกต่างกัน
หลนเต้าเจี้ยว
หลนเต้าเจี้ยว
เป็นเมนูแรกที่แม่หญิงลงมือปรุงในครัวไฟ “หลนเต้าเจี้ยว” เป็นจำพวกเครื่องจิ้ม รสชาติกลมกล่อมหอมกะทิ ส่วนผสมก็คือ กะทิสด เต้าเจี้ยวขาว (ซื้อได้ตามตลาด เป็นแบบชั่งกิโลขาย) ใส่หมูสับหรือกุ้งสับ (หรือใส่ทั้งสองอย่าง) หอมแดง พริกชี้ฟ้า ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ เกลือ และน้ำมะขามเปียก

หลนเต้าเจี้ยว จะได้รสเค็มจากเต้าเจี้ยวอยู่แล้ว (เหตุที่ใช้เต้าเจี้ยวขาวเนื่องจากสีสันที่สวยงามกว่า และรสชาติเค็มน้อยกว่า หากใช้เต้าเจี้ยวแบบขวดๆ ที่มีขาย รสชาติจะเค็ม และสีของหลนเต้าเจี้ยวจะคล้ำมากกว่า) ปรุงความหวานจากน้ำตาล และตัดรสเปรี้ยวอีกนิดด้วยน้ำมะขามเปียก จะได้หลนเต้าเจี้ยวหอมๆ กินคู่กับผักสดหลากหลายชนิด
ฟักทองแกงบวด
ฟักทองแกงบวด
ของหวานเมนูนี้ถูกเสิร์ฟมาเป็นของว่างในเรือนท่านออกญาโหราธิบดี ส่วนผสมก็คือกะทิสด ฟักทอง น้ำตาล และเกลือ ซึ่งเพียงส่วนผสมง่ายๆ ก็สามารถปรุงออกมาให้เป็นขนมแสนอร่อยได้แล้ว

คำว่า “แกงบวด” หมายถึงของหวานที่ใช้ผลไม้ต่างๆ มาแกง เช่น เผือก มัน ฟักทอง นำมาต้มกับกะทิและน้ำตาล ฟักทองแกงบวดนั้นต้องเลือกฟักทองที่เนื้อเหนียวหนึบ นำมาต้มกับกะทิ ระวังอย่าให้เละจนเกินไป แล้วค่อยปรุงรสด้วยน้ำตาล (ใช้น้ำตาลทราย น้ำตาลมะพร้าว พรือน้ำตาลโตนด ก็ได้ตามชอบ) ตัดเกลือลงไปนิดหน่อยให้พอมีรสเค็มปะแล่ม
ขนมไทยตระกูลทอง
ขนมไทยตระกูลทอง
ทั้งทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ฯลฯ นั้นมีที่มาจากท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์ (ในละครคือ แม่มะลิ) ขนมไทยโบราณมักจะมีส่วนผสมของแป้ง น้ำตาล มะพร้าวและกะทิเป็นหลัก แต่ขนมที่มารี กีมาร์ทำนั้นใช้ไข่แดงกับน้ำตาลเป็นหลัก ทำให้รสชาติหอมหวานและมีสีเหลืองทองงดงาม จนกลายมาเป็นชื่อของขนมตระกูลทองทั้งหลาย

วิธีทำก็คล้ายกันคือใช้ไข่แดงจากไข่เป็ดลงไปต้มในน้ำเชื่อมเดือดๆ ถ้าเป็นฝอยทองก็โรยในน้ำเชื่อมเดือดๆ ให้เป็นเส้น ถ้าเป็นทองหยอดก็ตักไข่แดงหยอดลงไปในน้ำเชื่อมให้เป็นลูกกลมๆ หรือถ้าเป็นทองหยิบก็ตักไข่แดงต้มในน้ำเชื่อมให้เป็นเป็นแผ่น แล้วนำมาหยิบเป็นจีบใส่ถ้วยตะไลให้คงรูป
แม่หญิงการะเกดและแม่มะลิลงมือทำขนม (ภาพ : ละครออนไลน์)
ไม่เพียงอร่อยถูกใจ แต่ชื่อที่ตั้งมายังมีคำว่า “ทอง” อันมีความหมายเป็นมงคล ดังนั้นในงานบุญต่างๆ คนไทยจึงมักเตรียมทำขนมเหล่านี้ถวายพระและให้แขกเหรื่อได้ชิม ขนมเหล่านี้จึงเป็นที่นิยมสืบทอดกันต่อมาจนปัจจุบัน และขนมที่คนไทยในสมัยนั้นเคยเรียกว่าเป็น “ขนมฝรั่ง” แต่ทุกวันนี้ ขนมที่มีต้นกำเนิดจากฝรั่งเหล่านั้นกลับถูกเรียกว่าเป็น “ขนมไทย” และใช้ในงานมงคลของไทยมาจนถึงทุกวันนี้

ชมกันเต็มอิ่มไปแล้วถึง 7 เมนู แต่ถ้าใครอยากลองลิ้มด้วยปากตัวเอง ก็ออกไปหาได้ตามร้านอาหาร หรือจะลงมือปรุงสำรับเองก็ไม่ขัดศรัทธาเจ้าค่ะ
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น