xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์“ปราสาทหินพนมรุ้ง” พระอาทิตย์ขึ้น-ตก ตรงช่องประตู...ดูภาพสลักหินงดงามวิจิตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้น-ตก ตรงช่องประตู มหัศจรรย์แห่งปราสาทหินพนมรุ้ง(ภาพ : ททท.)
“เมืองปราสาทสองยุค”

เป็นสโลแกนของจังหวัด “บุรีรัมย์” 1 ใน “12 เมืองต้องห้าม...พลาด” ซึ่งทาง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย”(ททท.) ได้นำเอาจุดเด่นของความเป็นเมืองแห่งปราสาทหินหรือปราสาทขอมโบราณ มาผสานรวมเข้ากับความโดดเด่นในเรื่องของ “เมืองท่องเที่ยวด้านกีฬา” (สปอร์ตทัวริซึ่ม) ที่มีทีมสโมสรฟุตบอล “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” หรือทีม “ปราสาทสายฟ้า” ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวบุรีรัมย์

เกิดเป็นบุรีรัมย์ “เมืองปราสาทสองยุค” ที่เป็นการเชื่อมต่อระหว่างเมืองปราสาทหินในยุคขอมโบราณ ข้ามกาลเวลามาสู่เมืองปราสาทสายฟ้าในยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว กลายเป็นแม่เหล็กชั้นดี ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเมืองปราสาทสองยุคกันไม่ได้ขาด
ปราสาทพนมรุ้ง สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู
สำหรับปราสาทหินที่ถือเป็นไฮไลท์อันดับหนึ่งของบุรีรัมย์นั้นก็คือ “ปราสาทหินพนมรุ้ง” (อ.เฉลิมพระเกียรติ) ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความสวยงามอลังการ และถูกยกให้เป็นหนึ่งในสุดยอดปราสาทหินของเมืองไทย

พระอาทิตย์ขึ้น-ตก ตรงช่องประตู มหัศจรรย์ปราสาทหินพนมรุ้ง

ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บน“เขาพนมรุ้ง”บริเวณปากปล่องภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ปราสาทแห่งนี้ก่อสร้างอย่างสวยงามอลังการตามคติจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15-18 เพื่อใช้เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย(นับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด)
ปัจจุบันปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้น-ตก ลอดช่องประตูตรงกัน แต่ละปีจะเกิดขึ้นเพียง 4 ครั้ง
นอกจากความงดงามอลังการแล้ว ทุกๆปีปราสาทหินพนมรุ้งยังมีสิ่งอันน่ามหัศจรรย์ปรากฏขึ้นนั่นก็คือ ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ลอดช่องผ่านประตูทั้ง 15 ช่อง เป็นแนวเดียวกันได้อย่างพอดี ซึ่งทาง ททท. ได้ยกให้ปรากฏการณ์นี้เป็นหนึ่งใน “อันซีนไทยแลนด์” (Unseen Thailand) อันลือลั่น

ปัจจุบันปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้น-ตก ลอดช่องประตูตรงกันทั้ง 15 ช่อง แต่ละปีจะเกิดขึ้นเพียง 4 ครั้งเท่านั้น คือ พระอาทิตย์ขึ้นลอดช่องประตู 2 ครั้ง ในช่วงวันที่ 3-5 เมษายน และ 9 -11 กันยายน พระอาทิตย์ตกลอดช่องประตู 2 ครั้ง ในช่วงวันที่ วันที่ 5-7 มีนาคม และ 6-8 ตุลาคม
การแสดงในงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง
เรื่องนี้มีข้อสันนิษฐานจากนักวิชาการว่า สถาปนิกขอมโบราณน่าจะเลือกสร้างปราสาทหินพนมรุ้ง โดยใช้แสงอาทิตย์ยามเช้ากำหนดทิศทางของปราสาทและแนวประตูทั้ง 15 ช่อง ซึ่งคาดว่าน่าจะตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดี

แต่ต่อมาการหมุนของโลกเบี่ยงเบนไปเรื่อยๆ วันที่พระอาทิตย์ขึ้นส่องลอดทะลุประตูทั้ง 15 ช่อง จึงเลื่อนขึ้นมาปรากฏในช่วงต้นเดือนเมษายน ซึ่งทางจังหวัดบุรีรัมย์ได้กำหนดจัดงาน“ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง”อย่างยิ่งใหญ่ในทุกๆปี ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โดยปีนี้(2561) มีการจัดงาน“ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ประจำปี พ.ศ. 2561ขึ้นในระหว่างวันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายนที่ผ่านมา
ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในทุกๆปี
งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งจัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งอันงดงามและทรงคุณค่า ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นของจังหวัดบุรีรัมย์ให้เป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไป และแสดงถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดบุรีรัมย์

ภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ พิธีบวงสรวงองค์พระศิวะและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาพนมรุ้ง ขบวนเทิดภักดีองค์ราชัน, ขบวนแห่เทพพาหนะประจำทั้ง 10 ทิศ,การแสดง แสง เสียง เรื่อง “เรืองศรัทธาศิวะนฤมิตร เรืองวิจิตรคุณค่าพนมรุ้ง”, การแสดงภายใต้แนวความคิด “เจิดแจรงแสงศรัทธา”, การแสดงแสงแห่งศรัทธาปราสาทหินพนมรุ้ง, และ ตลาดอารยธรรมวนัมรุงภายใต้แนวความคิด “เรืองตระการตลาดวนัมรุง” และจุดสักการะเทพพาหนะ เป็นต้น

ปราสาทหินพนมรุ้ง สุดยอดปราสาทงามของไทย
เส้นทางเดินผ่านเสานางเรียงสู่องค์ปราสาทประธาน
นอกจากปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้น-ตกตรงช่องประตูและงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งแล้ว สำหรับผู้ที่ไปเยือนปราสาทหินพนมรุ้งก็ไม่ควรพลาดการเที่ยวชมความงามของปราสาทหินแห่งนี้ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราสาทหินที่สวยที่สุดในเมืองไทย

ปราสาทหินพนมรุ้งนั้น มีเส้นทางเดินสู่ตัวปราสาทที่ถูกออกแบบลดหลั่นไปตามภูมิประเทศ มีเส้นทางที่มีเสานางเรียงตั้งอยู่เรียงราย ผ่านสะพานนาคซึ่งเป็นดังจุดเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ นำสู่องค์ “ปราสาทประธาน” ที่เปรียบดังยอดเขาพระสุเมรุ
ปราสาทหินพนมรุ้ง สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญคู่เมืองบุรีรัมย์
ปราสาทประธานสร้างด้วยหินทรายสีชมพูอันงดงามสมส่วน มีไฮไลท์คือองค์ปรางค์ประธาน ที่ภายในตัวเรือนธาตุมีห้องครรภคฤหะ ประดิษฐานศิวลึงค์รูปเคารพสำคัญของลัทธิไศวนิกาย ความพิเศษของของศิวลึงค์ที่นี่ก็คือ จะมีท่อ “โสมสูตร” หรือร่องรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จากพิธีกรรมเซ่นสังเวยองค์ศิวเทพต่อยาวออกมา

ส่วนอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นไฮไลท์สำคัญเคียงคู่กับตัวปราสาทก็คือ ลวดลายสลักหินหรือภาพจำหลักหิน ที่ถือเป็นงานในระดับมาสเตอร์พีช ฝีมือประณีตงดงาม นำโดยภาพ“ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” และภาพ“ศิวนาฏราช”ที่อยู่เคียงคู่กัน รวมถึงภาพลวดลายประกอบอื่นๆ และภาพอารมณ์ขันของช่างขอมโบราณที่ได้สลักแฝงไว้ตามแง่มุมต่างๆ
“ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” และภาพ “ศิวนาฏราช”อันงดงามแห่งปราสาทหินพนมรุ้ง
ปราสาทเมืองต่ำ

จากปราสาทหินพนมรุ้งออกไปไม่ไกล เป็นที่ตั้งของ “ปราสาทเมืองต่ำ” (อ.ประโคนชัย) ปราสาทหินขนาดกะทัดรัดแต่มีความงดงามคลาสสิกสมส่วน
ปราสาทเมืองต่ำ อีกหนึ่งเทวาลัยขอมอันงดงามแห่งบุรีรัมย์
ปราสาทเมืองต่ำ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 16 เพื่อถวายพระศิวะ ตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู ปราสาทแห่งนี้มีมีลักษณะพิเศษคือสร้างเป็นปรางค์อิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ 5 ยอด อันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล
บารายกับพญานาคแบบปาปวนอันโดดเด่นของปราสาทเมืองต่ำ
ปราสาทเมืองต่ำงดงามไปด้วยภาพจำหลักหินฝีมือประณีตละเอียดลออ อีกทั้งยังมี “บาราย” (สระน้ำ) ที่สร้างรายรอบตัวปราสาททั้ง 4 ด้าน เปรียบดังมหาสมุทรที่อยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ที่มุมขอบสระสร้างเป็นรูปพญานาค 5 หัว กำลังชูคอแผ่พังพาน ด้านบนหัวพญานาคเรียบเกลี้ยงไม่มีรัศมีหรือเครื่องประดับใดๆ จนถูกเรียกเป็น “พญานาคหัวโล้น” ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของศิลปะขอมแบบบาปวนที่ยังคงเอกลักษณ์ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้

เที่ยวบุรีรัมย์ เมืองต้องห้าม...พลาด
สนามฟุตบอลไอ-โมบาย สเตเดียมที่ชาวบุรีรัมย์ภาคภูมิใจ
นอกจากจะมีปราสาทหินมากมายแล้ว บุรีรัมย์ยังมี “ปราสาทสายฟ้า" ที่เป็นฉายาของทีมสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งมี “สนามฟุตบอลไอ-โมบาย สเตเดียม” หรือ “ธันเดอร์ คาสเซิล สเตเดียม” สนามเหย้าของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ดที่ได้มาตรฐานระดับโลก และสนามแข่งรถ “ช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต” สนามมอร์เตอร์สปอร์ตมาตรฐานโลก ที่สร้างบนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่

ขณะที่สถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆของจังหวัดบุรีรัมย์ที่ชวนให้ไปสัมผัสกันนั้นก็ยังมีอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น
“พระสุภัทรบพิตร” พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์
-“วนอุทยานเขากระโดง” (อ.เมือง) ซึ่งยังคงปรากฏร่องรอยของปากปล่องภูเขาไฟให้เห็นได้ชัดเจน นักท่องเที่ยวสามารถเดินบนสะพานแขวนเพื่อชมทัศนียภาพของปากปล่องภูเขาไฟที่มีลักษณะเป็นหลุมลึกได้ อีกทั้งบนยอดเขากระโดงยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระสุภัทรบพิตร” พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์ และมีมณฑปรอยพระพุทธบาทจำลองให้ผู้ที่ศรัทธาได้มากราบไหว้กัน
วัดเขาอังคาร วัดงามที่้ตั้งอยู่บนภูเขาไฟที่ดับแล้วในบุรีรัมย์
-“เขาอังคาร” (อ.เฉลิมพระเกียรติ) เป็นอีกหนึ่งภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วของบุรีรัมย์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ “วัดเขาอังคาร” ซึ่งมีการค้นพบโบราณสถานเก่าแก่และใบเสมาหินทรายสลักภาพบุคคล สถูป ดอกบัว และธรรมจักรสมัยทวารวดีหลายชิ้น วัดเขาอังคารเป็นวัดที่สวยงามแห่งหนึ่งในบุรีรัมย์ สร้างประยุกต์จากสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ หลายรูปแบบ ภายในวัดมีอุโบสถ 3 ยอดที่รายด้วยพระพุทธรูปจำนวน 109 องค์ และมีพระพุทธรูปนอนขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งอีกด้วย
ชมดอกไม้งามที่อุทยานไม้ดอก เพ ลา เพลิน จ.บุรีรัมย์
-“เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท แอนด์ แอดเวนเจอร์ แคมป์” (อ.คูเมือง) แหล่งเรียนรู้และศึกษานอกห้องเรียนแบบครบวงจรด้านพันธุ์ไม้นานาชนิด ความโดดเด่นอยู่ที่ “อุทยานไม้ดอก เพ ลา เพลิน” ซึ่งจะมีการจัดแสดงพันธุ์ไม้นานาชนิดในธีมต่างๆ ทั้งยังมีโรงเรือนพืชตามฤดูกาลที่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนดอกไม้สวยๆ มาให้ชมกันตลอดทั้งปี

และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของจังหวัดบุรีรัมย์ เมืองปราสาทสองยุค ที่นอกจากจะโดดเด่นด้วยรอยอดีตแห่งอารยธรรมขอมโบราณที่น่าสนใจแล้ว ยังมากไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวอันหลากหลายชวนให้ไปสัมผัสค้นหา
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทหินพนมรุ้ง
**************************************************

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในจังหวัดบุรีรัมย์ เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ (พื้นที่รับผิดชอบสุรินทร์ บุรีรัมย์ ) โทร.0 4451-4447-8
******************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น