Facebook :Travel @ Manager

จังหวัด “ภูเก็ต” เมืองที่เป็นเพียงเกาะเล็กๆ แต่เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ ทั้งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย หากได้มาเยือนเมืองภูเก็ตจะสะดุดตากับตึกเก่าที่ตั้งสง่าอยู่ในย่านการค้าของตัวเมือง ตึกเก่านี้เป็นอาคารที่ออกแบบสไตล์ ชิโน-โปรตุกีส ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมด้านใน และภายในตึกมีขนมพื้นเมืองให้นักท่องเที่ยวลิ้มรส พร้อมสัมผัสวิถีชีวิตชาวภูเก็ต นับว่าเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่นักท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด

ย่านเมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต ตั้งอยู่กลางเมืองภูเก็ต ซึ่งมีหลายเส้นทางให้ได้เดินเที่ยวชมกัน สามารถแบ่งออกเป็นถนนเส้นต่างๆ เป็น 6 เส้นย่อยๆ ดังนี้ 1.ถนนภูเก็ต ถนนรัษฎา และถนนระนอง 2.ถนนพังงา ถนนภูเก็ต และถนนมนตรี 3. ถนนถลาง 4.ถนนกระบี่ และถนนสตูล 5.ถนนดีบุก ถนนเยาวราช ตรอกสุ่นอุทิศ และซอยรมณี และเส้นสุดท้ายคือเส้นที่ 6.ถนนกระษัตรี

ปัจจุบันนี้ตัวเมืองภูเก็ตแม้ว่าจะมีอาคารสมัยใหม่เพิ่มขึ้นมา แต่คนภูเก็ตก็ยังคงอนุรักษ์ตึกเก่าสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ไว้เป็นอย่างดี ซึ่งตึกสไตล์ ชิโน-โปรตุกีส นี้ได้รับความนิยมก่อสร้างขึ้นมามากในยุคพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี ( คอซิมบี้ ณ ระนอง ) โดยผสมผสานรูปแบบการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมแบบยุโรปกับจีนได้อย่างลงตัว

ความน่าสนใจของอาคารสไตล์ ชิโน-โปรตุกีส เหล่านี้มีความโดดเด่นสวยงามประดับด้วยลวดลายที่ได้รับอิทธิพลจาก ยุคนีโอคลาสสิคและโรมันยุโรปแต่ขณะเดียวกันก็แฝงกลิ่นอายความเป็นจีนฮกเกี้ยนไว้ด้วย ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของตัวเมืองภูเก็ตเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้ระหว่างช่วงตึกจะมีช่องทางเดินด้านหน้าเป็นซุ้มโค้งเชื่อมกันตลอดแนวเรียกกันว่า “อาเขต” หรือ “หง่อคาขี่” เป็นแนวทางเดินสาธารณะ ที่ทั้งกันแดด กันฝน เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของภูเก็ตได้เป็นอย่างดี

หากว่าใครได้มีโอกาสมาเที่ยวจังหวัดภูเก็ต มาเดินชมย่านเมืองเก่า ขอแนะนำว่าให้เดินเข้าไปเยี่ยมชมภายในอาคารกันด้วย เพราะว่าผู้คนส่วนใหญ่มักจะชมเพียงอาคารด้านนอกเท่านั้น แต่ไม่ได้เข้าไปชมความสวยงาม และสิ่งแปลกใหม่ที่น่าสนใจด้านในบ้าน โดยมีบ้านที่น่าสนใจชวนให้เข้าไปเที่ยวชมด้านในอย่าง “บ้านคุณยายโป้เต่ง” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนกระบี่ ที่เปิดประตูตอนรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาชม และมาสัมผัสความเป็นอยู่ของคนชาวภูเก็ตแบบดั้งเดิมที่หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน

โดยลักษณะบ้านของคนภูเก็ตในย่านเมืองเก่าจะเป็นตึก 2 ชั้น ตัวบ้านมีลักษณะยาว เพราะสมัยก่อนมีการเก็บภาษีที่ดินตามหน้าความกว้างของบ้าน เมื่อเดินเข้าไปชมภายในบ้านจะพบกับโต๊ะบูชา บนโต๊ะบูชาจะมีพระประจำบ้าน ซึ่งแต่ละบ้านจะมีพระประจำบ้านที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบ้าน แล้วบริเวณกลางบ้านมีจะมีช่องแสง มีบ่อน้ำบาดาลตั้งอยู่ในตำแหน่งที่แสงลง ชาวภูเก็ตเรียกกันว่า“ฉิ่มแจ้” ฉิ่มแจ้เป็นลานซักล้าง ช่องแสงมีหน้าที่ถ่ายเทอากาศภายในบ้าน และในส่วนบริเวณท้ายบ้านยังเป็นที่ตั้งของห้องครัวไว้หุงหาอาหาร และอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ของแต่ละบ้านคือ “ศาลบรรพชน” คนภูเก็ตจะให้ความนับถือกับบรรพชนเป็นอย่างมาก ทุกบ้านจะมีรูปบรรพชน ถ้าไม่ตั้งไว้ท้ายบ้านก็จะไว้ข้างบ้านหรือบริเวณโต๊ะบูชาที่อยู่หน้าบ้าน


บ้านที่น่าสนใจให้ชมกันยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะที่ “I46 OLD TOWN” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนกระบี่ ในตึกนี้จะมีของที่ระลึกจำหน่าย มีขนมและเครื่องดื่มของคนภูเก็ตแท้ๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถซื้อและนั่งกินได้บริเวณ “ฉิ่มแจ้” ภายในตึก


สำหรับขนมที่ชวนให้ลิ้มลองนั้นมี 2 ประเภทได้แก่ ขนมสดและขนมแห้ง ซึ่งขนมสดประกอบไปด้วยขนมมอจี๋ ขนมชั้นภูเก็ต แปะถึ่งโก้ย เหนียวหีบ อังกู๊ โกสุ้ย ต๋าวป่าวอ๊ะโก้ย โก้ยตาล้าม ขนมเปียก และหยกมณี ทั้งนี้หากว่านักท่องเที่ยวอยากจะลองลิ้มขนมสดนั้นต้องมาเกิน 10 คนขึ้นไป และโทร. มาแจ้ง I46 OLD TOWN ไว้ล่วงหน้าก่อน เพื่อที่ว่าทางร้านจะได้จัดเตรียมขนมไว้รอรับ แต่หากมาไม่ถึง 10 คน ทางร้านก็ยังมีขนมแห้งให้ได้ลิ้มรสกัน ไม่ว่าจะเป็น ป่าวหล้าง ขนมเทียน เต้าส้อ อาโป๊ง ข้าวเหนียวนั่งห้าง และขนมหน้าแตก ทานคู่เครื่องดื่มชาหรือกาแฟพื้นเมืองที่เรียกว่า เฮงยินชา เซล้องอูเล้ง และโกปี้อูเล้ง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีบ้านอีกหลังที่ชวนให้ไปสัมผัสกันอีก นั่นคือ “บ้านเก้าสิบสอง” ตั้งอยู่บนถนนถลาง ที่นี่เปิดบริการเป็นร้านกาแฟ โดยทางร้านจะมีโชว์พิเศษให้ได้ชมกัน คือ มีการบรรเลงบทเพลงอันไพเราะจากเสียงของเครื่องดนตรีกู่เจิง ซึ่งดังมาจากบริเวณกลางบ้านทำให้เพิ่มความสุนทรีย์ในการรับประทานมากขึ้น โดยผู้เล่นเครื่องดนตรีกู่เจิงอันไพเราะนี้ เป็นผู้พิการด้านสายตา ที่มีชื่อว่า คุณแอนนี่ ผู้ซึ่งมีความสามารถเล่นกู่เจิงได้มากกว่า 30 เพลง หากเข้ามาชมที่บ้านหลังนี้สามารถเดินชมภายในบ้าน พร้อมกับได้ฟังเสียงกู่เจิงที่บรรเลงเข้ากับบรรยากาศ ทำให้รู้สึกถึงเสน่ห์ของย่านเก่าเมืองภูเก็ตเป็นอย่างมาก

นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของตึกเก่าสไตล์ชิโน-โปรตุกีสที่ชวนให้มาสัมผัสกัน ทว่าหากใครมีโอกาสมาเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต ก็ขอชวนให้มาสัมผัสกับเสน่ห์อันน่าหลงใหลของตึกเก่าสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ที่มีความสวยงามและมีคุณค่าอันชวนชม และยังมีขนมอร่อยๆ ที่ชวนชิมมากหลาย นอกจากนี้แล้วก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมายให้มาเที่ยวชมกัน อาทิ พิพิธภัณฑ์ไทยหัว สตรีทอาร์ต และศาลเจ้าแสงธรรมให้นักท่องเที่ยวได้มาสักการะขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง เรียกได้ว่าย่านเมืองเก่าภูเก็ต เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ของจังหวัดภูเก็ตที่ชวนให้มาสัมผัสกันเป็นอย่างยิ่ง
**********************************************************************
สำหรับผู้ที่สนใจมาเที่ยวย่านเมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต สามารถสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต โทร. 0-7621-1036, 0-7621-2213, บ้านเก้าสิบสอง โทร.08-8658-0002 หรือ Facebook : coffsburghphuket , I46 OLD TOWN โทร. 08-1895-4795 หรือ facebook : I46OldTown
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager
จังหวัด “ภูเก็ต” เมืองที่เป็นเพียงเกาะเล็กๆ แต่เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ ทั้งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย หากได้มาเยือนเมืองภูเก็ตจะสะดุดตากับตึกเก่าที่ตั้งสง่าอยู่ในย่านการค้าของตัวเมือง ตึกเก่านี้เป็นอาคารที่ออกแบบสไตล์ ชิโน-โปรตุกีส ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมด้านใน และภายในตึกมีขนมพื้นเมืองให้นักท่องเที่ยวลิ้มรส พร้อมสัมผัสวิถีชีวิตชาวภูเก็ต นับว่าเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่นักท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด
ย่านเมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต ตั้งอยู่กลางเมืองภูเก็ต ซึ่งมีหลายเส้นทางให้ได้เดินเที่ยวชมกัน สามารถแบ่งออกเป็นถนนเส้นต่างๆ เป็น 6 เส้นย่อยๆ ดังนี้ 1.ถนนภูเก็ต ถนนรัษฎา และถนนระนอง 2.ถนนพังงา ถนนภูเก็ต และถนนมนตรี 3. ถนนถลาง 4.ถนนกระบี่ และถนนสตูล 5.ถนนดีบุก ถนนเยาวราช ตรอกสุ่นอุทิศ และซอยรมณี และเส้นสุดท้ายคือเส้นที่ 6.ถนนกระษัตรี
ปัจจุบันนี้ตัวเมืองภูเก็ตแม้ว่าจะมีอาคารสมัยใหม่เพิ่มขึ้นมา แต่คนภูเก็ตก็ยังคงอนุรักษ์ตึกเก่าสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ไว้เป็นอย่างดี ซึ่งตึกสไตล์ ชิโน-โปรตุกีส นี้ได้รับความนิยมก่อสร้างขึ้นมามากในยุคพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี ( คอซิมบี้ ณ ระนอง ) โดยผสมผสานรูปแบบการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมแบบยุโรปกับจีนได้อย่างลงตัว
ความน่าสนใจของอาคารสไตล์ ชิโน-โปรตุกีส เหล่านี้มีความโดดเด่นสวยงามประดับด้วยลวดลายที่ได้รับอิทธิพลจาก ยุคนีโอคลาสสิคและโรมันยุโรปแต่ขณะเดียวกันก็แฝงกลิ่นอายความเป็นจีนฮกเกี้ยนไว้ด้วย ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของตัวเมืองภูเก็ตเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้ระหว่างช่วงตึกจะมีช่องทางเดินด้านหน้าเป็นซุ้มโค้งเชื่อมกันตลอดแนวเรียกกันว่า “อาเขต” หรือ “หง่อคาขี่” เป็นแนวทางเดินสาธารณะ ที่ทั้งกันแดด กันฝน เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของภูเก็ตได้เป็นอย่างดี
หากว่าใครได้มีโอกาสมาเที่ยวจังหวัดภูเก็ต มาเดินชมย่านเมืองเก่า ขอแนะนำว่าให้เดินเข้าไปเยี่ยมชมภายในอาคารกันด้วย เพราะว่าผู้คนส่วนใหญ่มักจะชมเพียงอาคารด้านนอกเท่านั้น แต่ไม่ได้เข้าไปชมความสวยงาม และสิ่งแปลกใหม่ที่น่าสนใจด้านในบ้าน โดยมีบ้านที่น่าสนใจชวนให้เข้าไปเที่ยวชมด้านในอย่าง “บ้านคุณยายโป้เต่ง” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนกระบี่ ที่เปิดประตูตอนรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาชม และมาสัมผัสความเป็นอยู่ของคนชาวภูเก็ตแบบดั้งเดิมที่หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน
โดยลักษณะบ้านของคนภูเก็ตในย่านเมืองเก่าจะเป็นตึก 2 ชั้น ตัวบ้านมีลักษณะยาว เพราะสมัยก่อนมีการเก็บภาษีที่ดินตามหน้าความกว้างของบ้าน เมื่อเดินเข้าไปชมภายในบ้านจะพบกับโต๊ะบูชา บนโต๊ะบูชาจะมีพระประจำบ้าน ซึ่งแต่ละบ้านจะมีพระประจำบ้านที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบ้าน แล้วบริเวณกลางบ้านมีจะมีช่องแสง มีบ่อน้ำบาดาลตั้งอยู่ในตำแหน่งที่แสงลง ชาวภูเก็ตเรียกกันว่า“ฉิ่มแจ้” ฉิ่มแจ้เป็นลานซักล้าง ช่องแสงมีหน้าที่ถ่ายเทอากาศภายในบ้าน และในส่วนบริเวณท้ายบ้านยังเป็นที่ตั้งของห้องครัวไว้หุงหาอาหาร และอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ของแต่ละบ้านคือ “ศาลบรรพชน” คนภูเก็ตจะให้ความนับถือกับบรรพชนเป็นอย่างมาก ทุกบ้านจะมีรูปบรรพชน ถ้าไม่ตั้งไว้ท้ายบ้านก็จะไว้ข้างบ้านหรือบริเวณโต๊ะบูชาที่อยู่หน้าบ้าน
บ้านที่น่าสนใจให้ชมกันยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะที่ “I46 OLD TOWN” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนกระบี่ ในตึกนี้จะมีของที่ระลึกจำหน่าย มีขนมและเครื่องดื่มของคนภูเก็ตแท้ๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถซื้อและนั่งกินได้บริเวณ “ฉิ่มแจ้” ภายในตึก
สำหรับขนมที่ชวนให้ลิ้มลองนั้นมี 2 ประเภทได้แก่ ขนมสดและขนมแห้ง ซึ่งขนมสดประกอบไปด้วยขนมมอจี๋ ขนมชั้นภูเก็ต แปะถึ่งโก้ย เหนียวหีบ อังกู๊ โกสุ้ย ต๋าวป่าวอ๊ะโก้ย โก้ยตาล้าม ขนมเปียก และหยกมณี ทั้งนี้หากว่านักท่องเที่ยวอยากจะลองลิ้มขนมสดนั้นต้องมาเกิน 10 คนขึ้นไป และโทร. มาแจ้ง I46 OLD TOWN ไว้ล่วงหน้าก่อน เพื่อที่ว่าทางร้านจะได้จัดเตรียมขนมไว้รอรับ แต่หากมาไม่ถึง 10 คน ทางร้านก็ยังมีขนมแห้งให้ได้ลิ้มรสกัน ไม่ว่าจะเป็น ป่าวหล้าง ขนมเทียน เต้าส้อ อาโป๊ง ข้าวเหนียวนั่งห้าง และขนมหน้าแตก ทานคู่เครื่องดื่มชาหรือกาแฟพื้นเมืองที่เรียกว่า เฮงยินชา เซล้องอูเล้ง และโกปี้อูเล้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีบ้านอีกหลังที่ชวนให้ไปสัมผัสกันอีก นั่นคือ “บ้านเก้าสิบสอง” ตั้งอยู่บนถนนถลาง ที่นี่เปิดบริการเป็นร้านกาแฟ โดยทางร้านจะมีโชว์พิเศษให้ได้ชมกัน คือ มีการบรรเลงบทเพลงอันไพเราะจากเสียงของเครื่องดนตรีกู่เจิง ซึ่งดังมาจากบริเวณกลางบ้านทำให้เพิ่มความสุนทรีย์ในการรับประทานมากขึ้น โดยผู้เล่นเครื่องดนตรีกู่เจิงอันไพเราะนี้ เป็นผู้พิการด้านสายตา ที่มีชื่อว่า คุณแอนนี่ ผู้ซึ่งมีความสามารถเล่นกู่เจิงได้มากกว่า 30 เพลง หากเข้ามาชมที่บ้านหลังนี้สามารถเดินชมภายในบ้าน พร้อมกับได้ฟังเสียงกู่เจิงที่บรรเลงเข้ากับบรรยากาศ ทำให้รู้สึกถึงเสน่ห์ของย่านเก่าเมืองภูเก็ตเป็นอย่างมาก
นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของตึกเก่าสไตล์ชิโน-โปรตุกีสที่ชวนให้มาสัมผัสกัน ทว่าหากใครมีโอกาสมาเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต ก็ขอชวนให้มาสัมผัสกับเสน่ห์อันน่าหลงใหลของตึกเก่าสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ที่มีความสวยงามและมีคุณค่าอันชวนชม และยังมีขนมอร่อยๆ ที่ชวนชิมมากหลาย นอกจากนี้แล้วก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมายให้มาเที่ยวชมกัน อาทิ พิพิธภัณฑ์ไทยหัว สตรีทอาร์ต และศาลเจ้าแสงธรรมให้นักท่องเที่ยวได้มาสักการะขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง เรียกได้ว่าย่านเมืองเก่าภูเก็ต เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ของจังหวัดภูเก็ตที่ชวนให้มาสัมผัสกันเป็นอย่างยิ่ง
**********************************************************************
สำหรับผู้ที่สนใจมาเที่ยวย่านเมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต สามารถสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต โทร. 0-7621-1036, 0-7621-2213, บ้านเก้าสิบสอง โทร.08-8658-0002 หรือ Facebook : coffsburghphuket , I46 OLD TOWN โทร. 08-1895-4795 หรือ facebook : I46OldTown
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager