xs
xsm
sm
md
lg

“ตึกรังษีเกษม” ท่องอดีตเมืองน่าน ผ่านตึกเก่าสวยคลาสสิก/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)

Facebook Travel Unlimited / เที่ยวถึงไหนถึงกัน
บรรยากาศย้อนยุคในหอประวัติศาสตร์โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา หรือ “ตึกรังษีเกษม”
“มาเมืองน่านสิบครั้งไม่รู้จักน่าน แต่มาที่นี่แค่ครั้งเดียวก็รู้จักน่าน และรักน่าน”

ข้อความบอกเล่าคำกล่าวของนักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง ซึ่งได้กล่าวไว้หลังการเข้าเยี่ยมชม “หอประวัติศาสตร์โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา” (และได้มีการเขียนอ้างอิงไว้ในคำนำของหนังสือแนะนำสถานที่ดังกล่าว)

หอประวัติศาสตร์โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ“ตึกรังษีเกษม” วันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้น่าสนใจในจังหวัดน่าน ที่เป็นดังไทม์แมชชีนย้อนเวลาพาเราไปรู้จักกับอดีตของเมืองน่าน ผ่านอาคารเก่าแก่อันขรึมขลังสวยงามสุดคลาสสิก
ตึกรังษีเกษม สถาปัตยกรรมตะวันตกยุคแรกๆของเมืองน่าน
ย้อนรอยตึกรังษีเกษม

ตึกรังษีเกษมสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2458(ค.ศ.1915) โดยคณะมิชชันนารี นำโดย ดร. นพ.ซามูเอล ซี พีเพิลส์, ดร.ฮิวส์ เทเลอร์, ศาสนาจารย์ แมเรียน บี ปาล์เมอร์ และ นางสาว ลูซี่ สตาร์ลิง สร้างแล้วเสร็จในปี 2459

ตึกหลังนี้ดัดแปลงแบบมาจากอาคารเรียนตึกลินกัล์น(น่านลินกัล์นอะแคเดมี)ซึ่งเป็นโรงเรียนชายแห่งแรกของจังหวัดน่าน ส่วนตึกรังษีเกษมเป็นโรงเรียนหญิงแห่งแรกของจังหวัดน่าน ทั้งสองถือเป็นตึกแบบตะวันตกยุคแรกๆของน่าน
บรรยากาศในห้องโถงหลัก สังเกตที่เพดานจะมีซี่กากบาทช่วยป้องกันการคดของตง
เดิมโรงเรียนหญิงแห่งนี้มีชื่อว่า “เมริเอสมิทบราวส์” ต่อมาในปี 2451 จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช(พระโอรสองค์ที่ 4 ในรัชกาลที่ 4 พระอนุชาของรัชกาลที่ 5) ได้พระราชทานนามของโรงเรียนให้ใหม่ว่า “โรงเรียนรังษีเกษม” เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมชมกิจการของศูนย์มิชชั่นน่าน

โรงเรียนรังษีเกษมแรกเริ่มมีเพียงอาคารใหญ่หลังกลางเท่านั้น ต่อมาได้มีการสร้างอาคารฝั่งซ้ายขึ้นเพื่อใช้เป็นห้องพักมิชชันนารีและหอพักนักเรียน(2451-2452) และสร้างส่วนฝั่งขวาขึ้นใช้เป็นห้องเรียนเพิ่มเติมเพื่อให้พอเพียงต่อจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น
ตึกรังษีเกษม อดีตโรงเรียนหญิงแห่งแรกของน่าน ปัจจุบันคือหอประวัติศาสตร์โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา
ตึกรังษีเกษมเป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลที่มีการปรับแบบบางส่วนให้เข้ากับสภาพอากาศเมืองร้อนของไทย เป็นอาคารรูปตัวยู 2 ชั้น พื้นเพดานสร้างด้วยไม้ หลังคาเดิมเป็นกระเบื้องดินขอ แต่ได้เคยถูกพายุใหญ่พัดกระเบื้องดินขอพังเสียหาย ต่อมาในปี 2526 ได้มีการปรับเปลี่ยนหลังคาให้เป็นสังกะสีมาจนถึงปัจจุบัน

ตึกรังษีเกษมได้ยืนหยัดผ่านร้อนผ่านหนาวเคียงคู่เมืองน่านมาอย่างยาวนานกว่า 100 ปี ผ่านการบูรณะซ่อมแซม และปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยมาจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งทางโรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษาได้มีการนำตึกหลังนี้มาปรับปรุงเป็นหอประวัติศาสตร์โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา ในปี 2554
ทางเดินบนชั้นสอง
หอประวัติศาสตร์โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษาหรือตึกรังษีเกษม เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน ผ่านพยานวัตถุที่จัดแสดงอันหลากหลาย อาทิ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้โบราณเก่าแก่ของคนน่าน วัตถุเครื่องใช้ของมิชชันนารี วัตถุเครื่องใช้ของโรงเรียนรังษีเกษม โรงเรียนน่านลินกัล์นอะแคเดมี และโรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา

อีกทั้งยังมีผลงานภาพถ่ายในอดีตของเมืองน่านมากว่า 1,000 ภาพ ที่บอกเล่าเรื่องราวของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงงานในจังหวัดน่าน พระราชกรณียกิจของเจ้าผู้ครองนครน่าน พันธกิจของมิชชันนารีที่มีต่อคนเมืองน่าน ภาพของอาคาร สถานที่ เหตุการณ์สำคัญ ตลอดจนภาพวิถีชีวิตของคนเมืองน่านในอดีต
บันไดขึ้นชั้นสอง หนึ่งในมุมถ่ายรูปยอดนิยม
นอกจากนี้ด้วยมนต์ขลังความสวยงามคลาสสิกกอปรกับการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่อันทรงคุณค่าหลังนี้ไว้เป็นอย่างดีทำให้ตึกรังษีเกษม ได้รับรางวัลอาคาร“อนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2557” จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

ท่องอดีตเมืองน่าน ผ่านตึกรังษีเกษม
บันไดไม้เก่าแก่ คลาสสิก ที่ยังคงใช้งานได้ดี
หลังติดต่อนัดแนะมาล่วงหน้าว่าผมกับเพื่อนๆจะเข้าชมไปชมตึกรังษีเกษม เมื่อพวกเรามาถึงที่นี่ในช่วงบ่ายแก่ๆของวันแดดแรง เราก็ได้พบกับ คุณครู“หิรัญ อุทธวงค์” หรือ “ครูต้น” ยืนคอยท่ารอต้อนรับในชุดไทย“ราชปะแตน” ที่มันดูเข้ากันเป็นอย่างดีกับอาคารเก่าแก่คลาสสิกหลังนี้

และมันก็ยังเข้ากับกระแสการแต่งชุดไทย ซึ่งเป็นกระแส(ฮอต)แห่งยุคสมัยได้เป็นอย่างดี
ครูต้น - หิรัญ อุทธวงค์
งานนี้ครูต้นไม่พูดพล่ามทำเพลง เมื่อแนะนำตัวเสร็จก็พาพวกเราท่องอดีตไปรู้จักเรื่องราวต่างๆของเมืองน่าน เริ่มกันที่ห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้โบราณ นำโดยขวานหินโบราณ เครื่องปั้นดินเผา อาวุธ เครื่องดนตรี เครื่องมือทำมาหากินของคนท้องถิ่น เป็นต้น
ห้องภาพพระราชกรณียกิจ ในหลวง ร.๙
ต่อจากนั้นครูต้นก็นำอธิบายไล่เรียงไปตามห้องและส่วนจัดแสดงต่างๆได้อย่างถึงอรรถรส โดยส่วนจัดแสดงเด่นๆภายในตึกรังสีเกษมนั้นก็ได้แก่ ห้องจัดแสดงภาพที่แบ่งเห็นห้องต่างๆ อาทิ ห้องภาพพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ซึ่งเสด็จฯมาที่น่านมากถึง 23 ครั้ง นำโดยภาพการเสด็จเยือนน่านครั้งแรก ณ ที่ว่าการอำเภอเวียงสา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2501
ห้องภาพผู้พระราชทานนามโรงเรียนรังษีเกษม
ห้องภาพผู้พระราชทานนามโรงเรียนรังษีเกษม, ห้องเจ้าฟ้านครน่าน และวงศ์ญาติ, ห้องภาพพันธกิจชองมิชชันนารี, ห้องภาพอดีตการศึกษาแบบตะวันตกแห่งแรกของน่าน, ห้องจัดแสดงภาพถ่ายจากภาพยนตร์เรื่องช้าง ภาพยนตร์เชิงสารคดีเรื่องแรกของเมืองไทยที่ถ่ายทำที่จังหวัดน่าน

ห้องภาพการทำสัมปทานป่าไม้ในจังหวัดน่าน, ห้องภาพเหตุการณ์สำคัญของน่าน, ห้องภาพประเพณีต่างๆของน่าน, ห้องภาพอดีตสถานที่สำคัญของน่าน, ห้องพิธีศพ
ไม้กางเขนที่สร้างจากกระจกสี ที่ห้องคริสต์ศาสนาในจังหวัดน่าน
และ ห้องคริสต์ศาสนาในจังหวัดน่าน ที่มีไฮไลท์ไม่ควรพลาด คือไม้กางเขนที่สร้างจากกระจกสีที่ใช้ทำช่องแสงของอาคารไฮปาร์คอนุสรณ์คริสตจักรน่าน ซึ่งผลิตขึ้นตั้งแต่ปี 2449 นำเข้ามาโดยมิชชันนารีคณะเพรสไบทีเรียนอเมริกัน

นอกจากนี้ตึกรังษีเกษม ยังมีอีกหลายแง่มุมอันชวนแปลกตาน่าทึ่งให้สัมผัสกัน ไม่ว่าจะเป็น ตึกหลังนี้เป็นตึกเดียวในน่านที่มีปล่องไฟและเตาผิงไฟ, มีการสร้างบานหน้าต่างหลอกไว้ที่จั่วด้านหน้า ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์เหมือนกับหน้าต่างทั่วไป
กลอนกลไกพิเศษ เมื่อปิดจะล็อกทันที
ประตู หน้าต่าง ของที่นี่ทุกบานด้านบนจะเป็นรูปทรงโค้งครึ่งวงกลม, มีหน้าต่างมหัศจรรย์ที่มีกลอนกลไกพิเศษเมื่อปิดแล้วจะล็อกทันทีนับเป็นภูมิปัญญาอันน่าทึ่งของคนสมัยก่อน, ยังคงมี ลูกบิด-กลอน ประตู-หน้าต่าง ในรูปแบบโบราณดั้งเดิมที่มีลวดลายสวยงาม ยังคงเปิด-ปิด ได้ หลงเหลืออยู่ 2 ห้อง ของชั้นบน
ห้องเรียนที่มีกระดานดำทั้ง 2 ฝั่ง
ห้องเรียนที่นี่บนชั้นสอง มีกระดานดำทั้งสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นกระดานดำสำหรับครู ส่วนอีกฝั่งหนึ่งเป็นกระดานดำสำหรับนักเรียน, ผนังตึกที่นี่มีรูในหลายช่วงด้วยกัน ช่างทำไว้เพื่อระบายอากาศภาย, ฐานรากของตึกทำจากหิน ใช้แทนเสาเข็ม, มีบ่อน้ำฝนที่สร้างในปี 2459 ที่ฝังดินเอาไว้ และถูกค้นพบในปี 2559 หลังการรื้ออาคารสุขาที่สร้างประกอบทางฝั่งทิศใต้
พื้นระเบียงทางเดินชั้นสอง มีลักษณะลาดเอียง ทำไว้เพื่อระบายน้ำ
พื้นระเบียงทางเดินชั้นสอง มีลักษณะลาดเอียง ทำไว้เพื่อระบายน้ำให้ไหลออก, ส่วนของอาคารที่สร้างด้วยอิฐ ในอดีตเมื่อก่อสร้างต้องนำช่างก่ออิฐมาจากเชียงใหม่ เพราะช่างอิฐเมืองน่านยังไม่ชำนาญพอ
ประตู หน้าต่าง ของที่นี่ทุกบานด้านบนจะเป็นรูปทรงโค้งครึ่งวงกลม
มีโต๊ะไม้ที่ประกอบโดยไม่ใช้ตะปู แต่ใช้การเข้าลิ่ม เข้าเดือยแทน และสามารถถอดแยกออกมาได้ 3 ส่วน, โต๊ะนักเรียนที่นี่ออกแบบให้มีลักษณะพิเศษ สามารถนำมาจัดเรียงได้หลากหลายรูปแบบ, โต๊ะที่นี่ยืดได้ หดได้, บนเพดานชั้นหนึ่งมีซี่กากบาทช่วยป้องกันการคดงอของไม้ตง
ผนังตึกที่นี่มีรูในหลายช่วง เพื่อระบายอากาศ
ขณะที่อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นความโดดเด่นของตึกหลังนี้ก็คือที่สอดรับกับกระแสนิยมของยุคสมัยก็คือ ที่นี่มีหลากหลายมุมย้อนยุคกิ๊บเก๋ให้เลือกถ่ายภาพ ทั้งมุมบันได ประตู หน้าต่าง ลวดลายกำแพงเก่า ช่องประตู-หน้าต่าง ระเบียง และโต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ อันสวยงามคลาสสิก ที่มีคนนิยมมาถ่ายรูปกับบรรยากาศเก่าๆย้อนยุคที่ที่ตึกรังษีเกษมกันเป็นจำนวนมาก
ตึกรังษีเกษมมีหลากหลายมุมย้อนยุคกิ๊บเก๋ให้เลือกถ่ายภาพ
และนี่ก็คือเรื่องราวบางส่วนของหอประวัติศาสตร์โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษาหรือตึกรังษีเกษม ที่หากใครมีโอกาสมาเยือนน่าน “เมืองต้องห้าม...พลาด” ก็ไม่ควรพลาดการไปสัมผัสมนต์เสน่ห์อาคารเก่าแก่อันสวยงามสุดคลาสสิกแห่งนี้ด้วยประการทั้งปวง

เพราะนี่เป็นดังไทม์แมชชีนที่จะพาเราย้อนเวลาพาเราไปรู้จักกับอดีตของเมืองน่านได้อย่างน่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง
โต๊ะนักเรียนที่นี่สามารถนำมาจัดเรียงได้หลากหลายรูปแบบ
หอประวัติศาสตร์โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษาหรือตึกรังษีเกษม เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา ตั้งอยู่ที่ถนนสุมนเทวราช อ.เมือง จ.น่าน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30-15.00 น. ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร. 08-7178-2588, 06-1736-5421 หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อก่อนล่วงหน้า

และสามารถสอบถามข้อมูล รายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในจังหวัดน่านเชื่อมโยงกับดอยสวนยาหลวง ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ (พื้นที่รับผิดชอบแพร่ น่าน) โทร.0-5452-1127 ทุกวันในเวลาราชการ
******************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น