xs
xsm
sm
md
lg

นั่งรถไฟไป “ลพบุรี” เยือนราชธานีแห่งที่ 2 สมัยพระนารายณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Facebook :Travel @ Manager
พระปรางค์สามยอด
ช่วงนี้กระแสเที่ยวตามรอยละคร “บุพเพสันนิวาส” ก็ทำให้แหล่งท่องเที่ยวหลายๆ ที่คึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีหลายๆ ฉากปรากฏอยู่ในเรื่อง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใส่ชุดไทยเดินชมสถานที่ต่างๆ หลายจุด

แต่ต้องบอกเลยว่าในละครนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ที่อยุธยาเท่านั้น แต่ยังมีฉาก “เมืองละโว้” หรือ “ลพบุรี” ปรากฏอยู่ด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าเพื่อความอินเทรนด์ไปกับชาวบ้านชาวเมือง เราก็ต้องมาตามรอยละครดังกันที่ “ลพบุรี” แห่งนี้ด้วย
สถานีรถไฟลพบุรี
แต่ครั้นจะให้ขับรถมาเที่ยวก็ดูจะธรรมดาไป เลยขอเลือกการนั่งรถไฟฉึกฉักจากกรุงเทพฯ ตรงมาที่ลพบุรี ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ก็จะมาถึงสถานีรถไฟลพบุรี ที่มีรูปปั้นลิงสีทองเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นให้สังเกต

ใครที่ใช้บริการรถไฟ หรือรถสาธารณะอื่นๆ มาเที่ยวที่ตัวเมืองลพบุรี ถ้ามีกำลังวังชา ก็สามารถเดินเที่ยวได้เรื่อยๆ เพราะแต่ละจุดท่องเที่ยวนั้นอยู่ไม่ห่างจากกันมากนัก แต่ถ้ากลัวจะเหนื่อยเกินไป ก็มีรถรับจ้างให้ใช้สอยกันได้
วัดบันไดหิน
ลงจากรถไฟแล้ว ที่อยู่ติดกับสถานีก็คือ “วัดบันไดหิน” ที่ปัจจุบันเป็นวัดร้าง หลงเหลือเพียงผนังอุโบสถอยู่เกือบครบทั้งสี่ด้าน ลักษณะของประตูหน้าต่างเป็นแบบโค้งแหลม ด้านหลังมีเจดีย์ขนาดใหญ่ โดยสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
ใกล้กับวัดบันไดหินก็จะเป็น “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ” วัดหลวงขนาดใหญ่และเป็นศูนย์กลางความศักดิ์สิทธิ์ของเมือง ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่ได้มีการปฏิสังขรณ์ในหลายสมัย เช่น สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยุคกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุครัตนโกสินทร์ เป็นต้น

หากมองมาที่วัด จะเห็นความงามที่ยังหลงเหลืออยู่ของวิหารหลวงที่ตั้งอยู่ด้านหน้า สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และที่ด้านหลัง มีพระปรางค์ประธานองค์ใหญ่ที่สุดในลพบุรี เดิมคาดว่าจะสร้างตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ แต่มีการซ่อมแซมหลายสมัย จึงทำให้เห็นลวดลายต่างๆ ปะปนกันไป
ด้านในศาลพระกาฬ
และเมื่อมาถึงเมืองลพบุรี ก็พลาดไม่ได้ที่จะต้องไปเยือนหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองนี้ นั่นคือ “ศาลพระกาฬ” และ “พระปรางค์สามยอด”

“ศาลพระกาฬ” ตั้งอยู่ไม่ห่างจากสถานีรถไฟลพบุรีเช่นกัน โดยที่นี่เป็นเหมืองวงเวียนกลางเมือง เดินเข้าไปใกล้ๆ ก็จะได้เจอกับฝูงลิงเจ้าถิ่นที่กระจายตัวอยู่รอบๆ ใครมาที่ลพบุรีก็ต้องแวะมาสักการะเจ้าพ่อพระกาฬ สันนิษฐานว่าเป็นเทวรูปพระนารายณ์ทำด้วยศิลา มี 2 องค์ คือ องคเล็กเป็นแบบเทวรูปเก่าในประเทศไทย และองค์ใหญ่เป็นประติมากรรมแบบลพบุรี บริเวณทับหลังที่สร้างด้วยศิลาทรายสลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์วางติดกับผนังวิหารหลังเล็กชั้นบน
พระวิหารที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
จากศาลพระกาฬ ข้ามถนนมาก็จะเป็น “พระปรางค์สามยอด” ลักษณะเป็นพระปรางค์เรียงต่อกันสามองค์ มีฉนวนทางเดินเชื่อมต่อกัน โดยองค์พระปรางค์นี้เป็นศิลปะเขมรแบบบายน สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18 สร้างด้วยศิลาแลงและตกแต่งลวดลายปูนปั้นสวยงาม เดิมนั้นน่าจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานของขอมในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ต่อมาดัดแปลงเป็นเทวสถาน โดยมีฐานศิวลึงค์ปรากฏอยู่ด้านในองค์พระปรางค์

จนมาถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงได้มีการบูรณะให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา แล้วสร้างพระวิหารก่อด้วยอิฐ ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาผสมแบบยุโรปในส่วนของประตูและหน้าต่าง ภายในวิหารประดิษฐานพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยาตอนต้น ปัจจุบันยังคงประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง
ลิงเจ้าถิ่นที่อาศัยอยู่บริเวณพระปรางค์สามยอด
หากมาเดินชมบริเวณพระปรางค์สามยอด ก็จะเห็นฝูงลิงกระจายตัวอยู่รอบๆ ตามบ่อน้ำบ้าง ตามพื้นหญ้าบ้าง ตามองค์พระปรางค์บ้าง ลิงที่อาศัยอยู่ที่นี่ส่วนใหญ่จะเชื่อง คุ้นเคยกับผู้คน เลยมีนักท่องเที่ยวนิยมให้อาหารลิงจ๋อเหล่านี้ ทั้งบริเวณที่ศาลพระกาฬ และบริเวณพระปรางค์สามยอด

เดินดูบ้านเมืองในลพบุรีกันพอควรแล้ว เราก็มาถึงเป้าหมายหลักในการเดินทางมาที่นี่กันบ้าง ซึ่งก็คือการมาเดินตามรอยละครชื่อดังของยุคนี้
อ่างเก็บน้ำซับเหล็ก
ซึ่งละครบุพเพสันนิวาส ดำเนินเรื่องอยู่ในยุคกรุงรีอยุธยาเป็นราชธานี สมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยนอกจากจะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยาเป็นหลักแล้ว ก็ยังมีเนื้อเรื่องส่วนที่เชื่อมโยงมาถึงเมืองละโว้ หรือ ลพบุรีแห่งนี้ด้วย

เนื่องจากในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 โดยได้เสด็จมาประทับที่ลพบุรีทุกปี ครั้งละเป็นเวลานานหลายเดือน และในช่วงปลายรัชกาลก็เสด็จมาประทับที่ลพบุรีเกือบจะตลอดทั้งปี จนกระทั่งเสด็จสวรรคตที่นี่ด้วย
สิบสองท้องพระคลัง
เมื่อสร้างลพบุรีให้เป็นราชธานีแห่งที่สอง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงได้ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นที่นี่ด้วย เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชวังแห่งนี้ถูกทิ้งร้าง มาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการบูรณะพระราชวังเดิม และมีการสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ และมีการพระราชทานนามพระราชวังแห่งนี้ว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์”
ตึกพระเจ้าเหา
ปัจจุบัน พระนารายณ์ราชนิเวศน์ถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ โดยยังมีพระที่นั่ง และสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหลงเหลือให้ชมอยู่ พื้นที่ภายในพระราชวังแบ่งออกเป็นสามเขต เริ่มจาก “เขตพระราชฐานชั้นนอก” มี “อ่างเก็บน้ำซับเหล็ก” ที่เป็นระบบการจ่ายน้ำผ่านท่อดินเผาที่เชื่อมมาจากอ่างซับเหล็ก “สิบสองท้องพระคลัง” มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ผนังประตูและหน้าต่างเจาะเป็นช่อโค้งแหลม จำนวน 12 ห้อง เรียงกันเป็นแถวยาว 2 แถว แถวละ 6 ห้อง สันนิษฐานว่าใช้เป็นสถานที่เก็บของหรือทรัพย์สมบัติต่างๆ

“ตึกเลี้ยงรับรองแขกเมือง” ตั้งอยู่กลางอุทยาน ใกล้กับสิบสองท้องพระคลัง ล้อมรอบด้วยสระน้ำขนาดใหญ่ 3 สระ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้พระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตจากประเทศฝรั่งเศส ณ ตึกแห่งนี้ “ตึกพระเจ้าเหา” สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นหอพระประจำพระราชวัง และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายในตึก ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้อาจมีชื่อว่าพระเจ้าเหา จึงเป็นชื่อของตึกนี้ “โรงช้างหลวง” มีทั้งหมด 10 โรง
พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท
ต่อมาเป็น “เขตพระราชฐานชั้นกลาง” ด้านในประกอบด้วย “ทิมดาบ” เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ใช้เป็นที่ตั้งของทหารรักษาการเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับ “พระที่นั่งจันทรพิศาล” ตามบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวไว้ว่า เป็นหอประชุมขององคมนตรี สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2401 โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นใหม่บริเวณที่เดิมเป็นพระที่นั่งสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ใช้เป็นท้องพระโรงด้านหน้ามีมุขเด็จสำหรับออกให้ข้าราชการเฝ้า “พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท” สร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มียอดแหลมทรงมณฑป ศิลปกรรมแบบไทยผสมฝรั่งเศส
หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
และยังมี “หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ” ซึ่งประกอบด้วยอาคารทั้งหมด 4 หลัง ได้แก่ พระที่นั่งพิมานมงกุฎ พระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย พระที่นั่งไชยศาสตรากร และ พระที่นั่งอักษรศาสตราคม ปัจจุบัน ที่พระที่นั่งจันทรพิศาลและพระที่นั่งพิมานมงกุฎ จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ ใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์” โดยมีการจัดแสดงโบราณวัตถุตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุต่างๆ ที่พบในลพบุรี รวมถึงการจัดแสดงเป็นห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระที่นั่งสุทธาสวรรย์
ส่วน “เขตพระราชฐานชั้นใน” ประกอบด้วย “พระที่นั่งสุทธาสวรรย์” เป็นพระที่นั่ง2ชั้นก่ออิฐถือปูนมุงหลังคากระเบื้องเคลือบแบบจีน เป็นพระที่นั่งที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2231 โดยทางพิพิธภัณฑ์ไม่อนุญาตให้ขึ้นไปบนฐานของพระที่นั่งองค์นี้ “หมู่ตึกพระประเทียบ” ตั้งอยู่ด้านหลังพระที่นั่งพิมานมงกุฎ ใช้เป็นที่พักของข้าราชการฝ่ายใน สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สำหรับใครที่สนใจจะเข้าไปเดินชมด้านในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ สามารถไปชมกันได้ทุกวัน แต่ถ้าสนใจอยากจะใส่ชุดไทยไปเดินตามรอยละคร หากสะดวกก็สามารถแต่งตัวมาจากบ้านได้เลย หรือใครหาชุดไม่ได้ ที่นี่ก็มีบริการชุดไทยให้ยืมใส่ถ่ายภาพกันด้วย
บ้านหลวงรับราชทูต
อีกจุดที่อยู่ไม่ไกลจากพระนารายณ์ราชนิเวศน์ และมีความสำคัญอย่างมากในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็คือ “บ้านหลวงรับราชทูต” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “บ้านวิชาเยนทร์” ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อคราวรับราชทูตฝรั่งเศส โดยระหว่างที่ไม่มีคณะทูต ก็ได้โปรดให้ออกญาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เป็นผู้ดูแลหมู่ตึกนี้ จึงทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นบ้านของออกญาวิชาเยนทร์

ภายในพื้นที่หมู่ตึกนี้ มีทั้งโบสถ์ในศาสนาคริสต์ ผังโบสถ์เป็นแบบยุโรปแต่มีซุ้มประตุหน้าต่างเป็นซุ้มเรือนแก้ว มีบัวปลายเสาเป็นรูปกลีบบัวยาว ซึ่งเป็นศิลปะแบบไทย แล้วก็ยังมีที่พักอาศัย ห้องจัดเลี้ยง โรงครัว ฯลฯ

ที่บ้านหลวงรับราชทูตแห่งนี้ ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งสามารถแต่งชุดไทยมาถ่ายภาพกันได้อย่างสวยงาม และเป็นอีกหนึ่งฉากที่ปรากฎอยู่ในเนื้อเรื่องของละครบุพเพสันนิวาส ตอนที่แม่หญิงการะเกดเดินทางมายังเมืองละโว้ และได้แวะมาเยี่ยมเยียนแม่มะลิ (มารี กีมาร์) ที่บ้านหลังนี้

ความสนุกของการมาเที่ยวตามรอยละคร นอกจากจะมาแต่งชุดไทยถ่ายรูปสวยๆ ได้มาเที่ยวในที่ที่ไม่เคยมา ยังเป็นการกระตุ้นให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้แบบไม่น่าเบื่อด้วย
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น