Facebook : Travel @ Manager
"มังกร" ถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวจีนที่เชื่อกันว่าเป็นตัวแทนของพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจบารมี ความสูงส่งและสง่างาม บางครั้งเราอาจพบมังกรในฐานะเทพเจ้าแห่งการปกป้องคุ้มครอง นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง โชคลาภวาสนา ในช่วงเทศกาลตรุษจีนหรือวันปีใหม่ของชาวจีนเราจึงเห็นภาพของมังกรซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคลนี้เต็มไปหมด
สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในเมืองไทยก็มีหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับมังกร ให้เราได้ไปตามรอยเพิ่มความเฮงเสริมมงคลในช่วงตรุษจีนนี้กัน
ถนนสายมังกร
“เยาวราช” หรือไชนาทาวน์แห่งเมืองไทย เป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนไทยเชื้อสายจีนที่ใหญ่ที่สุดในไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และ “ถนนเยาวราช” ซึ่งเป็นถนนสายหลักใจกลางย่านเยาวราชก็ได้ชื่อว่าเป็น “ถนนสายมังกร” เพราะมีความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าอีกทั้งยังมีความคึกคักมีชีวิตชีวาไม่ว่ายามกลางวันหรือกลางคืน
ถนนเยาวราชมีจุดเริ่มต้นจากซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บริเวณวงเวียนโอเดียนที่เปรียบได้กับ “หัวมังกร” อันสง่างาม “ท้องมังกร” อันอิ่มเต็มและอุดมสมบูรณ์อยู่บริเวณถนนช่วงกลางที่เต็มไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงตลาด และที่สำคัญคือร้านทอง ที่นับได้ว่าเป็นย่านที่มีร้านทองมากที่สุดในเมืองไทย แสดงให้เห็นถึงความเป็นย่านการค้าที่รุ่งเรือง โดยมีร้านทองที่เก่าแก่ที่สุดในย่านเยาวราชก็คือ “ห้างทองตั้ง โต๊ะ กัง” ตั้งอยู่ตรงปากซอยวานิช ถนนมังกร ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัย ร.5 และส่วนของ “หางมังกร” อยู่บริเวณปลายถนนบริเวณจุดตัดกับถนนจักรเพชร หรือบริเวณห้างเมอรี่คิง วังบูรพา(เก่า) นับเป็นมังกรตัวใหญ่ที่งามสง่ามากทีเดียว
วัดมังกร
นอกจากถนนสายมังกรแล้ว ก็ยังมี “วัดมังกร” ซึ่งเป็นวัดจีนเก่าแก่หลายแห่งที่น่าไปสักการะ เริ่มจาก “วัดมังกรกมลาวาส” หรือ "วัดเล่งเน่ยยี่" ซึ่งตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ย่านเยาวราช สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีสถาปัตยกรรมโดดเด่นด้วยการวางผังแบบวังหลวงแต้จิ๋วโบราณ วัดเล่งเน่ยยี่เปรียบได้กับ “ส่วนหัวของมังกร”
ส่วน "วัดเล่งฮกยี่" ในอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ถือเป็น "ส่วนท้องของมังกร" วัดเล่งฮกยี่สร้างขึ้นราว พ.ศ.2449 คำว่า “เล่ง” แปลว่ามังกร และ “ฮก” แปลว่าโชคลาภ วาสนา จึงมักมีคนเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดมังกรแห่งวาสนา ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมวัดเล่งฮกยี่ และทรงมีจิตศรัทธาพระราชทานเงินเพื่อบำรุงวัด พร้อมทั้งได้ชื่อไทยให้ว่า "วัดจีนประชาสโมสร"
"ส่วนหางของมังกร" อยู่ที่ "วัดเล่งฮัวยี่" หรือ "วัดมังกรบุปผาราม" อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ตัววัดสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนหลังคาซ้อน 3 ชั้น ยอดเป็นรูปเจดีย์ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธานพุทธเจ้า 3 พระองค์สีทองอร่ามงดงามยิ่งนัก
ปิดท้ายวัดมังกรด้วย “วัดเล่งเน่ยยี่ 2” หรือ “วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์” อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ที่นี่เป็นวัดจีนที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่ในหลวง ร.๙ เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เป็นวัดจีนขนาดใหญ่ที่งดงามอลังการ ถ้ามีโอกาสอยากให้ลองสักการะและเที่ยวชมกันสักครั้ง
ทะเลมังกร
ในทะเลไม่ได้มีแค่กุ้งหอยปูปลา แต่ในทะเลยังมีมังกร โดยเฉพาะทะเลสตูลและทะเลตรังที่มี “สันหลังมังกร” กลางทะเล อันเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของท้องทะเลยามที่น้ำลดจนได้ระดับ แนวสันทรายใต้น้ำในช่วงน้ำตื้นจะผุดโผล่ขึ้นมา เกิดเป็นสันทรายแนวยาวทอดโค้งกลางทะเล จนได้รับฉายาเรียกขานให้เป็นสันหลังมังกรเพื่อความเป็นสิริมงคล
สำหรับที่จังหวัดสตูลสามารถไปชมสันหลังมังกรได้ที่กลางทะเลในเขตอำเภอเมือง สามารถเดินทางมาจากท่าเรือบ้านบากันเคย ต.ตันหยงโป อ.เมืองสตูล ได้ในเวลาราว 20 นาที เมื่อน้ำลดได้ที่จะมองเห็นสันหลังมังกรหรือสันทรายกลางทะเลเชื่อมระหว่างเกาะหัวมันกับเกาะสาม เป็นเส้นทางเดินกลางทะเลที่มีความยาวกว่า 3 กม. เป็นทางคดโค้งไปมาราวกับมังกรกำลังพลิ้วกายแหวกว่ายกลางทะเล
ส่วนในทะเลตรังมีสันหลังมังกรอยู่ถึง 6 แห่ง ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น “มังกรเหลือง” บ้านหยงสตาร์ ต.ท่าข้าม อ.ปะเหลียน “มังกรเกล็ดทองคำ” บ้านทุ่งรวงทอง ต.ท่าข้าม อ.ปะเหลียน “มังกรหยก” (บริเวณเกาะสุกร) “มังกรทับทิมสยาม” บริเวณเกาะสุกร “มังกรนิล” อ.หาดสำราญ และ “มังกรเผือก” (เกาะมดตะนอย) ในแต่ละวันสันหลังมังกรก็จะเปลี่ยนรูปร่างไปตามการพัดพาของน้ำ เราสามารถลงไปเดินเล่นตามแนวสันทรายได้ ให้บรรยากาศเหมือนกับกำลังเดินอยู่กลางทะเลเลยทีเดียว
อีกหนึ่งมังกรกลางทะเลที่อยู่ใกล้กรุงคือ “สะดือมังกร” ที่หาดเตยงาม ภายในบริเวณอ่าวนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ฐานทัพเรือสัตหีบ ตำนานของสะดือมังกรเล่ากันว่า ในอดีตมีชาวไทยเชื้อสายจีนตระกูลหนึ่งได้เดินทางผ่านอ่าว เห็นว่าเป็นบริเวณที่มีฮวงจุ้ยดี มีลักษณะคล้ายรูปมังกรหมอบ หัวอยู่ทางด้านแหลมปู่เจ้า หางอยู่ทางด้านเขาสูง มีลักษณะภูมิประเทศที่เรียกว่าหน้ามีน้ำ หลังพิงเขา บริเวณกลางอ่าวมีกระแสน้ำวนคล้ายสะดือมังกร มีความเชื่อว่า เมื่อได้อาบหรือแช่ตัวในอ่าวนี้แล้วจะมีพลังพิเศษ และเป็นสิริมงคล คนจะนิยมมาแช่กันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9, วันที่ 9 เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน), วันตรุษจีน และวันพระใหญ่ เช่น วันมาฆบูชา หรือ วันวิสาขบูชา
พิพิธภัณฑ์มังกร
มังกรตัวใหญ่ที่สุดต้องยกให้ “อุทยานมังกรสวรรค์” ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ที่เด่นสะดุดตาด้วยมังกรขนาดยักษ์ที่กำลังเลื้อยไหลอยู่บนก้อนเมฆ พร้อมพ่นน้ำเป็นสายออกมาจากปาก ภายในตัวมังกรนี้เป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร” ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของอารยธรรมจีนที่ยาวนานถึง 5,000 ปี รวมถึงประวัติความเป็นมาของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทยโดยใช้สื่อจัดแสดงที่ทันสมัย
ในบริเวณใกล้เคียงกันยังเป็นที่ตั้งของ “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง” ซึ่งมีลักษณะเป็นวิหารรูปเก๋งจีน เป็นที่เคารพของทั้งชาวไทยและชาวจีนในเมืองสุพรรณและพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งยังมี “หมู่บ้านมังกรสวรรค์” ที่สร้างจำลองแบบมาจากเมืองลี่เจียงของประเทศจีน เป็นร้านค้า ร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึก สามารถขึ้นไปชมวิวบนหอคอยสูง 4 ชั้น สามารถชมวิวมุมสูงของอุทยานมังกรสวรรค์ได้อย่างสวยงามถนัดตา
ส่วนที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ก็มี “วังเทพธาโร” ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของครูจรูญ แก้วละเอียด ที่ได้ไปกว้านซื้อตอไม้เทพธาโร (ไม้จวงหอม) ไม้มงคลเนื้อไม้มีกลิ่นหอมซึ่งชาวบ้านได้ตัดทิ้งขุดทิ้งจนเหลือแต่ตอ มาสร้างสรรค์เป็นประติมากรรมมังกรอันสวยงาม มีไฮไลท์คือมังกรไม้ตัวยาวที่ส่วนลำตัวทำเป็นช่องทางให้เดินลอด “9 ช่องประตูท้องมังกร” โดยแต่ละช่องจะมีความเชื่อในด้านเสริมสิริมงคลแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น พลัง อำนาจ มั่งมี บารมี ยิ่งใหญ่ อีกทั้งยังมีมังกรพ่นน้ำตัวใหญ่ และมังกรตัวที่ 88 ความยาว 39 เมตรที่ครูจรูญได้สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เนื่องในวโรกาสครบรอบ 88 พรรษา เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ
มังกรมีชีวิต
สำหรับในปีนี้วันตรุษจีนตรงกับวันศุกร์ที่ 16 ก.พ. ในหลายพื้นที่มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งหากใครอยากไปชมมังกรตัวยาวที่เคลื่อนไหวได้ราวกับมีชีวิตก็ต้องไปชมการเชิดมังกรกันภายในงาน โดยเฉพาะงานตรุษจีนที่จัดใหญ่ อาทิ “เทศกาลตรุษจีนเยาวราช” 16-17 ก.พ. ณ ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ “งานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ปากน้ำโพ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปากน้ำโพ” 9-20 ก.พ. ณ หาดทรายริมน้ำต้นแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอเมืองนครสวรรค์ “งานเทศกาลตรุษจีนหาดใหญ่” 16-19 ก.พ. ณ บริเวณโรงเรียนศรีนครมูลนิธิ, ถนนธรรมนูญวิถี อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
และหากอยากชมมังกรตัวยาวที่สุดในไทย ต้องมาที่งาน “เซ็นทรัล ไชนีส นิวเยียร์ 2018” วันที่ 13-18 ก.พ. ณ เซ็นทรัลชิดลม โดยในวันตรุษจีน 16 ก.พ. จะมีการแสดงเชิดมังกรความยาว 149 เมตร ซึ่งยาวที่สุดในประเทศไทยจากคณะสิงโตมังกรทอง ลูกชัยมงคล ใครอยากมาชมเตรียมตัวได้เลย
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager
"มังกร" ถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวจีนที่เชื่อกันว่าเป็นตัวแทนของพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจบารมี ความสูงส่งและสง่างาม บางครั้งเราอาจพบมังกรในฐานะเทพเจ้าแห่งการปกป้องคุ้มครอง นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง โชคลาภวาสนา ในช่วงเทศกาลตรุษจีนหรือวันปีใหม่ของชาวจีนเราจึงเห็นภาพของมังกรซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคลนี้เต็มไปหมด
สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในเมืองไทยก็มีหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับมังกร ให้เราได้ไปตามรอยเพิ่มความเฮงเสริมมงคลในช่วงตรุษจีนนี้กัน
ถนนสายมังกร
“เยาวราช” หรือไชนาทาวน์แห่งเมืองไทย เป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนไทยเชื้อสายจีนที่ใหญ่ที่สุดในไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และ “ถนนเยาวราช” ซึ่งเป็นถนนสายหลักใจกลางย่านเยาวราชก็ได้ชื่อว่าเป็น “ถนนสายมังกร” เพราะมีความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าอีกทั้งยังมีความคึกคักมีชีวิตชีวาไม่ว่ายามกลางวันหรือกลางคืน
ถนนเยาวราชมีจุดเริ่มต้นจากซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บริเวณวงเวียนโอเดียนที่เปรียบได้กับ “หัวมังกร” อันสง่างาม “ท้องมังกร” อันอิ่มเต็มและอุดมสมบูรณ์อยู่บริเวณถนนช่วงกลางที่เต็มไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงตลาด และที่สำคัญคือร้านทอง ที่นับได้ว่าเป็นย่านที่มีร้านทองมากที่สุดในเมืองไทย แสดงให้เห็นถึงความเป็นย่านการค้าที่รุ่งเรือง โดยมีร้านทองที่เก่าแก่ที่สุดในย่านเยาวราชก็คือ “ห้างทองตั้ง โต๊ะ กัง” ตั้งอยู่ตรงปากซอยวานิช ถนนมังกร ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัย ร.5 และส่วนของ “หางมังกร” อยู่บริเวณปลายถนนบริเวณจุดตัดกับถนนจักรเพชร หรือบริเวณห้างเมอรี่คิง วังบูรพา(เก่า) นับเป็นมังกรตัวใหญ่ที่งามสง่ามากทีเดียว
วัดมังกร
นอกจากถนนสายมังกรแล้ว ก็ยังมี “วัดมังกร” ซึ่งเป็นวัดจีนเก่าแก่หลายแห่งที่น่าไปสักการะ เริ่มจาก “วัดมังกรกมลาวาส” หรือ "วัดเล่งเน่ยยี่" ซึ่งตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ย่านเยาวราช สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีสถาปัตยกรรมโดดเด่นด้วยการวางผังแบบวังหลวงแต้จิ๋วโบราณ วัดเล่งเน่ยยี่เปรียบได้กับ “ส่วนหัวของมังกร”
ส่วน "วัดเล่งฮกยี่" ในอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ถือเป็น "ส่วนท้องของมังกร" วัดเล่งฮกยี่สร้างขึ้นราว พ.ศ.2449 คำว่า “เล่ง” แปลว่ามังกร และ “ฮก” แปลว่าโชคลาภ วาสนา จึงมักมีคนเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดมังกรแห่งวาสนา ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมวัดเล่งฮกยี่ และทรงมีจิตศรัทธาพระราชทานเงินเพื่อบำรุงวัด พร้อมทั้งได้ชื่อไทยให้ว่า "วัดจีนประชาสโมสร"
"ส่วนหางของมังกร" อยู่ที่ "วัดเล่งฮัวยี่" หรือ "วัดมังกรบุปผาราม" อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ตัววัดสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนหลังคาซ้อน 3 ชั้น ยอดเป็นรูปเจดีย์ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธานพุทธเจ้า 3 พระองค์สีทองอร่ามงดงามยิ่งนัก
ปิดท้ายวัดมังกรด้วย “วัดเล่งเน่ยยี่ 2” หรือ “วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์” อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ที่นี่เป็นวัดจีนที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่ในหลวง ร.๙ เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เป็นวัดจีนขนาดใหญ่ที่งดงามอลังการ ถ้ามีโอกาสอยากให้ลองสักการะและเที่ยวชมกันสักครั้ง
ทะเลมังกร
ในทะเลไม่ได้มีแค่กุ้งหอยปูปลา แต่ในทะเลยังมีมังกร โดยเฉพาะทะเลสตูลและทะเลตรังที่มี “สันหลังมังกร” กลางทะเล อันเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของท้องทะเลยามที่น้ำลดจนได้ระดับ แนวสันทรายใต้น้ำในช่วงน้ำตื้นจะผุดโผล่ขึ้นมา เกิดเป็นสันทรายแนวยาวทอดโค้งกลางทะเล จนได้รับฉายาเรียกขานให้เป็นสันหลังมังกรเพื่อความเป็นสิริมงคล
สำหรับที่จังหวัดสตูลสามารถไปชมสันหลังมังกรได้ที่กลางทะเลในเขตอำเภอเมือง สามารถเดินทางมาจากท่าเรือบ้านบากันเคย ต.ตันหยงโป อ.เมืองสตูล ได้ในเวลาราว 20 นาที เมื่อน้ำลดได้ที่จะมองเห็นสันหลังมังกรหรือสันทรายกลางทะเลเชื่อมระหว่างเกาะหัวมันกับเกาะสาม เป็นเส้นทางเดินกลางทะเลที่มีความยาวกว่า 3 กม. เป็นทางคดโค้งไปมาราวกับมังกรกำลังพลิ้วกายแหวกว่ายกลางทะเล
ส่วนในทะเลตรังมีสันหลังมังกรอยู่ถึง 6 แห่ง ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น “มังกรเหลือง” บ้านหยงสตาร์ ต.ท่าข้าม อ.ปะเหลียน “มังกรเกล็ดทองคำ” บ้านทุ่งรวงทอง ต.ท่าข้าม อ.ปะเหลียน “มังกรหยก” (บริเวณเกาะสุกร) “มังกรทับทิมสยาม” บริเวณเกาะสุกร “มังกรนิล” อ.หาดสำราญ และ “มังกรเผือก” (เกาะมดตะนอย) ในแต่ละวันสันหลังมังกรก็จะเปลี่ยนรูปร่างไปตามการพัดพาของน้ำ เราสามารถลงไปเดินเล่นตามแนวสันทรายได้ ให้บรรยากาศเหมือนกับกำลังเดินอยู่กลางทะเลเลยทีเดียว
อีกหนึ่งมังกรกลางทะเลที่อยู่ใกล้กรุงคือ “สะดือมังกร” ที่หาดเตยงาม ภายในบริเวณอ่าวนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ฐานทัพเรือสัตหีบ ตำนานของสะดือมังกรเล่ากันว่า ในอดีตมีชาวไทยเชื้อสายจีนตระกูลหนึ่งได้เดินทางผ่านอ่าว เห็นว่าเป็นบริเวณที่มีฮวงจุ้ยดี มีลักษณะคล้ายรูปมังกรหมอบ หัวอยู่ทางด้านแหลมปู่เจ้า หางอยู่ทางด้านเขาสูง มีลักษณะภูมิประเทศที่เรียกว่าหน้ามีน้ำ หลังพิงเขา บริเวณกลางอ่าวมีกระแสน้ำวนคล้ายสะดือมังกร มีความเชื่อว่า เมื่อได้อาบหรือแช่ตัวในอ่าวนี้แล้วจะมีพลังพิเศษ และเป็นสิริมงคล คนจะนิยมมาแช่กันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9, วันที่ 9 เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน), วันตรุษจีน และวันพระใหญ่ เช่น วันมาฆบูชา หรือ วันวิสาขบูชา
พิพิธภัณฑ์มังกร
มังกรตัวใหญ่ที่สุดต้องยกให้ “อุทยานมังกรสวรรค์” ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ที่เด่นสะดุดตาด้วยมังกรขนาดยักษ์ที่กำลังเลื้อยไหลอยู่บนก้อนเมฆ พร้อมพ่นน้ำเป็นสายออกมาจากปาก ภายในตัวมังกรนี้เป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร” ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของอารยธรรมจีนที่ยาวนานถึง 5,000 ปี รวมถึงประวัติความเป็นมาของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทยโดยใช้สื่อจัดแสดงที่ทันสมัย
ในบริเวณใกล้เคียงกันยังเป็นที่ตั้งของ “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง” ซึ่งมีลักษณะเป็นวิหารรูปเก๋งจีน เป็นที่เคารพของทั้งชาวไทยและชาวจีนในเมืองสุพรรณและพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งยังมี “หมู่บ้านมังกรสวรรค์” ที่สร้างจำลองแบบมาจากเมืองลี่เจียงของประเทศจีน เป็นร้านค้า ร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึก สามารถขึ้นไปชมวิวบนหอคอยสูง 4 ชั้น สามารถชมวิวมุมสูงของอุทยานมังกรสวรรค์ได้อย่างสวยงามถนัดตา
ส่วนที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ก็มี “วังเทพธาโร” ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของครูจรูญ แก้วละเอียด ที่ได้ไปกว้านซื้อตอไม้เทพธาโร (ไม้จวงหอม) ไม้มงคลเนื้อไม้มีกลิ่นหอมซึ่งชาวบ้านได้ตัดทิ้งขุดทิ้งจนเหลือแต่ตอ มาสร้างสรรค์เป็นประติมากรรมมังกรอันสวยงาม มีไฮไลท์คือมังกรไม้ตัวยาวที่ส่วนลำตัวทำเป็นช่องทางให้เดินลอด “9 ช่องประตูท้องมังกร” โดยแต่ละช่องจะมีความเชื่อในด้านเสริมสิริมงคลแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น พลัง อำนาจ มั่งมี บารมี ยิ่งใหญ่ อีกทั้งยังมีมังกรพ่นน้ำตัวใหญ่ และมังกรตัวที่ 88 ความยาว 39 เมตรที่ครูจรูญได้สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เนื่องในวโรกาสครบรอบ 88 พรรษา เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ
มังกรมีชีวิต
สำหรับในปีนี้วันตรุษจีนตรงกับวันศุกร์ที่ 16 ก.พ. ในหลายพื้นที่มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งหากใครอยากไปชมมังกรตัวยาวที่เคลื่อนไหวได้ราวกับมีชีวิตก็ต้องไปชมการเชิดมังกรกันภายในงาน โดยเฉพาะงานตรุษจีนที่จัดใหญ่ อาทิ “เทศกาลตรุษจีนเยาวราช” 16-17 ก.พ. ณ ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ “งานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ปากน้ำโพ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปากน้ำโพ” 9-20 ก.พ. ณ หาดทรายริมน้ำต้นแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอเมืองนครสวรรค์ “งานเทศกาลตรุษจีนหาดใหญ่” 16-19 ก.พ. ณ บริเวณโรงเรียนศรีนครมูลนิธิ, ถนนธรรมนูญวิถี อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
และหากอยากชมมังกรตัวยาวที่สุดในไทย ต้องมาที่งาน “เซ็นทรัล ไชนีส นิวเยียร์ 2018” วันที่ 13-18 ก.พ. ณ เซ็นทรัลชิดลม โดยในวันตรุษจีน 16 ก.พ. จะมีการแสดงเชิดมังกรความยาว 149 เมตร ซึ่งยาวที่สุดในประเทศไทยจากคณะสิงโตมังกรทอง ลูกชัยมงคล ใครอยากมาชมเตรียมตัวได้เลย
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager