xs
xsm
sm
md
lg

“ตักบาตรผัก-สังฆทานผัก” วิถีมังสวิรัติชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Facebook :Travel @ Manager
วัดพระบาทห้วยต้ม ศูนย์กลางจิตใจของชุมชนปกาเกอะญอ
บ้านห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และตากที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ใกล้วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ด้วยความตั้งใจที่อยากจะมาอยู่ใกล้ชิดกับหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาหรือครูบาวงศ์ (มรณภาพเมื่อปี 2543) พระเกจิที่เป็นดังศูนย์รวมจิตใจของชาวปกาเกอะญอที่บ้านห้วยต้ม

หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา เป็นชาวอำเภอลี้ จังหวัดลำพูนโดยกำเนิด เมื่อท่านบวชเป็นพระได้ธุดงค์ไปตามป่าเขา พบกับชาวเขาที่แต่ก่อนยังนับถือผี ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ท่านจึงได้ถือปฏิบัติกรรมฐานในสถานที่แห่งนั้นเพื่อหาโอกาสสอนพุทธธรรมให้กับพวกชาวเขา สอนอย่างมีเมตตาและค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะเรื่องของศีล 5 และการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ชาวเขาจึงเคารพนับถือและเชื่อฟังในคำสั่งสอนของครูบาวงศ์เป็นอย่างยิ่ง และเมื่อท่านมาพัฒนาวัดพระบาทห้วยต้ม ชาวปกาเกอะญอก็ได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยเป็นชุมชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นชุมชนใหญ่
ชาวบ้านเข้าไปยัง “วิหารเมืองแก้ว” ก่อนจะไปตักบาตร
สิ่งหนึ่งที่หลวงปู่ครูบาวงศ์ได้สั่งสอนและชาวบ้านยังคงยึดถือปฏิบัติตามกันสืบมาก็คือการสอนให้ชาวบ้านกินมังสวิรัต โดยหลวงปู่เคยสอนไว้ว่าถ้าเราเบียดเบียนสัตว์ สัตว์ก็จะมาเบียดเบียนเรา โรคภัยไข้เจ็บก็จะตามมาอีก ถ้ากินมังสวิรัติเราก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร ชาวบ้านห้วยต้มจึงกินมังสวิรัติกันทั้งหมู่บ้านและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

และนอกจากการกินมังสวิรัติจนเป็นวิถีชีวิตแล้ว การทำบุญตักบาตรก็ยังเป็นการ “ตักบาตรผัก” หรือทำบุญใส่บาตรด้วยอาหารมังสวิรัติเช่นเดียวกัน
วิหารพระเมืองแก้ว ประดิษฐานพระสรีระของหลวงปู่ครูบาวงศ์และพระพุทธรูปปางเปิดโลก
ชาวบ้านห้วยต้มจะทำบุญตักบาตรเป็นประจำทุกวัน แต่ในวันพระ ทั้งวันพระเล็กพระใหญ่ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะหยุดทำงานและพากันมาทำบุญที่วัดมากกว่าปกติ ดังนั้นหากใครอยากมาร่วมใส่บาตรพร้อมทั้งชมบรรยากาศของการตักบาตรผักอย่างคึกคักก็ควรมาในวันพระ อีกทั้งในวันพระช่วงสายๆ ก็จะมีการถวายสังฆทานผักอีกด้วย

ตั้งแต่เช้าตรู่ราว 6 โมงเช้า ชาวบ้านจะทยอยมาที่วัดพระบาทห้วยต้ม แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองคือชุดปกาเกอะญอที่ทอเองด้วยกี่เอว มีลวดลายและสีสันต่างกัน ตกแต่งด้วยพู่เพื่อความสวยงาม ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงหรือสาวๆ จะใส่ชุดยาวสีขาวตกแต่งด้วยพู่สีแดง ถ้าผู้หญิงแต่งงานแล้วจะใส่เสื้อทอกับผ้าถุง ส่วนผู้ชายจะใส่เสื้อสีแดงครึ่งท่อนกับกางเกง
ร่วมกันตักบาตรในศาลาใส่บาตร
อาหารที่นำมาจะปลอดเนื้อสัตว์
เมื่อมาถึงที่วัดส่วนใหญ่แล้วแทบทุกคนจะเข้าไปยัง “วิหารเมืองแก้ว” เพื่อเข้าไปกราบพระประธานและกราบสรีระสังขารของหลวงปู่ครูบาวงในโลงแก้วเพื่อเป็นแสดงความเคารพศรัทธาและระลึกถึงท่าน ก่อนจะมารวมตัวกันที่ศาลาใส่บาตรที่ตั้งอยู่ข้างกัน

ภายในศาลาใส่บาตร หลังจากวางข้าวของจับจองที่นั่งแล้วแต่ละคนจะกราบพระพุทธเพื่อขอขมาลาโทษต่อสิ่งไม่ดีที่ได้กระทำ จากนั้นจะถวายดอกไม้และอาหารทั้งคาวหวานที่เตรียมมาวางไว้ใส่ถาดเพื่อเตรียมถวายพระพุทธและพระสงฆ์ โดยปกติแล้วจะนำโดยผู้ชายที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้วางก่อน
ผู้ชายจะเริ่มใส่บาตรก่อน
ใส่บาตรด้วยข้าวสารหรือข้าวเหนียว
มองดูในถาดภัตตาหารจะเห็นแต่อาหารที่ทำจากเมนูผักล้วนๆ ไม่มีเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นผัดผัก แกงจืดผักและเห็ด น้ำพริก เห็ดทอด เป็นต้น นอกจากนั้นก็ยังมีขนมและผลไม้อีกด้วย

จากนั้นราว 07.00 น. พระสงฆ์จะลงมายังศาลาใส่บาตร นำโดยหลวงพ่อเจ้าอาวาสที่จะนั่งบนอาสนะหัวแถว พระสงฆ์จะสวดมนต์ จากนั้นก็ถึงเวลาใส่บาตรข้าวสวยและข้าวเหนียว โดยผู้ชายที่มีอาวุโสที่สุดจะเป็นผู้นำใส่บาตร ไล่ไปเรื่อยๆ จนถึงเด็กผู้ชาย จากนั้นจึงเริ่มเป็นผู้หญิงที่มีอาวุโสที่สุดไปจนถึงเด็กผู้หญิง ทุกคนต่อแถวใส่บาตรกันอย่างเป็นระเบียบ เริ่มจากบาตรของพระพุทธ บาตรหน้ารูปเหมือนหลวงปู่ครูบาวง และบาตรของหลวงพ่อเจ้าอาวาสและพระลูกวัดตามลำดับ ข้าวเหนียวหยิบเป็นก้อนใส่ในบาตร ส่วนข้าวสวยตักเป็นช้อนในกะละมัง เมื่อตักบาตรกันครบทุกคนแล้วจึงค่อยกรวดน้ำรับพร เป็นอันเสร็จพิธีตักบาตรในช่วงเช้า
ข้าวสวยจะตักใส่ไว้ในกาละมัง
ช่วงบ่ายจะเป็นการทำสังฆทานผัก
จากนั้นในตอนสายจึงจะมีการทำ “สังฆทานผัก” (เฉพาะในวันพระ) โดยชาวบ้านก็จะเริ่มนำ ผัก ผลไม้สดมาถวายที่วัด เริ่มจากการใส่ขันดอกไม้ธูปเทียนก่อน แล้วจึงตามด้วยผัก ผลไม้ ทั้งนี้สามารถนำน้ำและขนมมาถวายได้ มีการใส่ขันเงิน คือการนำเหรียญบาท ห้าบาท สิบบาท หรือธนบัตร ใส่ในบาตรหรือขันพาน และเมื่อได้เวลาอันสมควร ชาวบ้านนำโดยผู้ชายจะนําผัก ผลไม้ที่ชาวบ้านใส่ไว้ในภารชนะนํามาวางเรียงไว้หน้าพระสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์จะสวดมนต์และเทศนาธรรม ส่วนในช่วงเย็นจะมีการเวียนเทียนกันที่วัดพระบาทห้วยต้มและที่พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยด้วย
นำผักผลไม้มาถวายวัดในช่วงสาย
ที่วัดพระบาทห้วยต้มยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น “วิหารครอบรอยพระพุทธบาทห้วยต้ม” และ “พระเจดีย์ 84,000 พระธรรมขันธ์” โดยหลวงปู่ครูบาวงศ์ได้สร้างรอยพระบาทจำลองครอบของจริงไว้ และเจดีย์สีทองตั้งอยู่ด้านหลัง “วิหารพระเมืองแก้ว” ที่ประดิษฐานพระสรีระของหลวงปู่ครูบาวงศ์และพระพุทธรูปปางเปิดโลก “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย” ที่อยู่ห่างจากตัววัดไปประมาณ 1 ก.ม. เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่สีทองงามอร่าม หลวงปู่ครูบาวงศ์สร้างขึ้นเพราะเชื่อว่าสถานที่ตรงนี้มีการขุดค้นพบมูลและเขาของพระโคอุศุภราช (พระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า) ซึ่งกลายสภาพเป็นหิน ท่านก็เลยอธิษฐานสร้างครอบมูลและเขาของพระโคไว้

นอกจากนั้นยังมี “ศูนย์หัตถกรรมบ้านห้วยต้ม” ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอมือ ชุดปกาเกอะญอ ผ้าพันคอ เสื่อ ผ้าปูโต๊ะ เครื่องเงิน สร้อยคอ เครื่องประดับต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม และอุดหนุนเป็นที่ระลึกเมื่อได้มาเยี่ยมเยียนที่ชุมชนพระบาทห้วยต้ม

และยังสามารถไปเที่ยวชมความเป็นอยู่ของชาวปกาเกอะญอที่ “ชุมชนน้ำบ่อน้อย” ที่มีชาวบ้านชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่ 50 หลังคาเรือน ที่อยู่อาศัยกันอย่างเรียบง่ายตามแบบโบราณที่ไม่พึ่งไฟฟ้าและน้ำประปา บ้านมุงด้วยหญ้าคาและใบตองตึง ยกพื้นสูงเพราะยังคงใช้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นการทอผ้า จักสาน เก็บของ หรือทำกิจกรรมต่างๆ กันที่ใต้ถุนบ้าน นอกจากนั้นยังมีอาชีพทำนาและปลูกพืชผักด้วย
ระหว่างรอการใส่บาตร
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจการท่องเที่ยววิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอที่ชุมชนวัดพระบาทห้วยต้ม สามารถติดต่อกับทางกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนพระบาทห้วยต้ม นำโดยคุณวิมล สุขแดง ประธานกลุ่มได้ที่ โทร.06 5734 9427 หรือสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานลำปาง (ดูแลลำปาง ลำพูน) โทร.0-5422-2214-15

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น