xs
xsm
sm
md
lg

พลิกป่าเขาหัวโล้น คืนแหล่งต้นน้ำ ฟื้นฟูป่าสีเขียวกลับคืนมา ที่จ.น่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

Facebook : Travel @ Manager
ภูเขาหัวโล้น จ.น่าน
หากนึกย้อนกลับไปสัก 40-50 ปีก่อน ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าไม้อันเขียวขจี ของภูเขาใหญ่น้อยที่อยู่สลับกันในจังหวัดน่าน คงมีให้เห็นจนชินตาเป็นป่าที่สวยงามงาม แต่เมื่อเวลาผ่านไปภูเขาเหล่านั้นก็เหลือไว้เพียงความทรงจำ จนกระทั่งกรมอุทยานฯ ได้ลงพื้นที่ทวงคืนผืนป่าให้กลับมาเขียวขจีดังเดิม

พื้นที่ป่าเขาของจังหวัดน่าน ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากเหลือเกิน จากภูเขาลูกสีเขียวมาเป็นภูเขาหัวโล้นที่แห้งแล้ง ภูเขาบางลูกแม้แต่เงาของต้นไม้เล็กๆ ยังไม่มีให้เห็น

เมืองเล็กๆ ของจังหวัดน่าน มีเนื้อที่ป่าและภูเขาคิดเป็นร้อยละ 85 ของพื้นที่ทั้งหมด ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพการเกษตร เกษตรบางรายเข้าบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อนำพื้นที่เหล่านั้นมา ทำไร่ ทำนา บ้างก็ปลูกข้าวโพด ปลูกพืชต่างๆ จึงทำให้เกิดปัญหาการเผาป่าเพื่อนำพื้นที่มาทำกิน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่ง ที่ทำให้ป่าไม้ในจังหวัดน่านลดลงไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากปัญหาป่าไม้ที่ถูกเผาทำลายไปเป็นจำนวนมากแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกด้วย
นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ
นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ภาพรวมของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด 73 ล้านไร่ จากการสำรวจมีพื้นที่ที่ถูกบุกรุกไปจำนวน 5.9 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของชุมชนดั้งเดิมที่ทำไร่หมุนเวียน โดยเฉลี่ยมีการถือครองส่วนใหญ่ประมาณ 70-80 ไร่ต่อครัวเรือน เมื่อเทียบกับ 73 ล้านไร่ คิดเป็น 10% ที่กรมอุทยานฯจะต้องแก้ไขในพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ไม่สูงมาก

“อันดับแรกเราก็จะเดินควบคุมพื้นที่ที่ถูกบุกรุกให้มีขอบเขตที่ชัดเจน ตรงนี้ก็ต้องทำงานร่วมกับชุมชนเราก็จะเดินหน้าล้อมรอบเขตร่วมกับชุมชม เราก็จะได้เขตควบคุมทั่วประเทศ หลังจากนั้นพอเราได้เขตควบคุมเราก็จะคุยตกลงกันว่าเราจะไม่มีการบุกรุกเพิ่ม จากนั้นจะมีการตรวจสอบว่าพื้นที่ในส่วนของ 5.9 ล้านไร่ มีใครถือครองอยู่จำนวนเท่าไหร่ หากเป็นพื้นที่ที่มีการบุกรุกหลังปี 57 ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 66/2557 ถ้าพบว่าเป็นนายทุนหลังปี 2557 จะทำการทวงคืนทั้งหมด” นายประกิตกล่าว

โดยกรมอุทยานฯ ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชุมชนในการพัฒนาที่ดิน เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าร่วมกับชุมชน ซึ่งในส่วนนี้ชุมชนจะมีความเข้าใจอยู่ระดับหนึ่งแล้วด้วยวิถีชีวิตของเขาเอง หากพื้นที่ไหนที่เป็นป่าต้นน้ำลำธารที่มีความสำคัญต่อชุมชน ทั้งที่อยู่ในพื้นที่นี้เอง หรือชุมชนที่อยู่ข้างล่าง พื้นที่ส่วนหนึ่งชาวบ้านจะคืนให้กับทางอุทยานฯ จากนั้นจะมาร่วมกันฟื้นฟู โดยจัดตั้งการสร้างเรือนเพาะชำชุมชนขึ้นมา

“เรามีเจ้าหน้าที่อยู่ในแต่ละจุดของชุมชน ที่จะต้องทำความเข้าใจและก็พูดถึงกับชุมชน ซึ่งตรงนี้เราก็จะมีโมเดลที่เราพิสูจน์แล้วว่าเขาสามารถอยู่ได้ในพื้นที่จำกัด มีตัวอย่างก็คือการปลูกไม้เจ็ดชั้นเรือนยอด การปลูกไม้ป่าที่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางอ้อมได้ ซึ่งตรงนี้ก็จะมีเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานอยู่เกือบครอบคลุมทุกชุมชน สามารถไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ แล้วก็มีการนำชุมชนที่เริ่มต้นใหม่ไปดูแล ดูตัวอย่างชุมชนที่ทำสำเร็จแล้ว เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการใช้ประโยชน์อย่างนี้สามารถทำให้เขาอยู่ได้” ผอ.สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กล่าว
เรือนเพาะชำชุมชน
ในปี 2561 กรมอุทยานฯ จะเดินหน้าสร้างเรือนเพาะชำชุมชนขึ้นในพื้นที่ 604 ชุมชน ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นให้ชุมชนเพาะชำกล้าไม้ โดยเจ้าหน้าที่ทางอุทยานฯ จะเป็นพี่เลี้ยงมอบองค์ความรู้ในเรื่องการเพาะชำให้ ทางชุมชนก็จะเลือกพันธุ์ไม้ที่เป็นไม้ป่าเศรษฐกิจที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางอ้อม เช่น ใบ ดอก ยอด หรือแม้แต่ไม้ใต้ดินที่เป็นไม้เศรษฐกิจก็จะนำมาเพาะอยู่ในเรือนเพาะชำแห่งนี้ เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ส่วนกล้าไม้เหล่านี้จะนำไปปลูกในพื้นที่ฟื้นฟู เป็นป่ากินได้ในลักษณะหลายชั้นเรือนยอด ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อเพิ่มความเขียวขจีให้กับพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน
ชาวบ้านกำลังเพาะกล้าไม้
เมื่อเดินทางเข้าไปยัง “หน่วยจัดการต้นน้ำน้ำพงษ์” ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นไร่ข้าวโพดบนสันดอยสูง และมีปัญหาเรื่องผลผลิตตกต่ำจากคุณภาพของดินที่เสื่อมสภาพ และปัญหาเรื่องสารเคมีจากการเกษตรไหลลงไปยังต้นน้ำ จึงเกิดการขอพื้นที่คืนจากชาวบ้าน และพื้นฟูสภาพ โดยการปลูกพืชแนวคิดป่า 7 ชั้น ที่ชาวบ้านสามารถมาเก็บกินผลผลิตได้ และก็จะได้ป่าไม้ที่ยั่งยืนกลับคืนมา

แนวคิดของการปลูกป่า 7 ชั้น ถือเป็นผลดีในเรื่องของระบบนิเวศน์ ต้นน้ำ การรักษาดินในเรื่องของการที่ดูดซับน้ำเวลามีฝนตกลงมาอีกด้วย
นายเหรียญ คำแคว่น เกษตรกรผู้เป็นต้นแนวคิด การสร้างป่าไว้ในบ้าน ในลุ่มน้ำน่าน
ด้านนายเหรียญ คำแคว่น เกษตรกรผู้เป็นต้นแนวคิด การสร้างป่าไว้ในบ้าน ในลุ่มน้ำน่าน จากเดิมที่เป็นคนหาตัดต๋าว และของป่าสารพัน จากในป่าธรรมชาติ ก็ได้แนวคิดถึงการที่ควรสร้างป่า สร้างของป่าที่เคยต้องเข้าไปในป่า ให้ป่าที่ต้องหามาอยู่ในเขตบ้านของตัวเอง แล้วเก็บผลผลิตจากพืชพันธุ์ที่ปลูกขึ้นมาเพื่อเลี้ยงชีพ
 การปลูกป่าขึ้นในเขตบ้าน
เวลาผ่านไปไม่นาน ปัจจุบันบ้าน นายเหรียญ กลายเป็นป่าผืนย่อยๆ ในเนื้อที่ไม่มาก แต่สามารถเก็บหาของป่าที่ปลูกได้ในบริเวณบ้านได้แทบทุกชนิด กระทั่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จฯ มาทอดพระเนตร ร่วมพูดคุยแนวคิดและชมป่าในบ้านที่สามารถสร้างขึ้นได้ ซึ่งเป็นการลดการบุกรุกพื้นที่ป่าและยังทำมาหากินกับป่าที่ตัวเองปลูกนั้นได้ และเป็นแนวคิดหนึ่งที่กรมอุทยานแห่งชาติพยายามที่จะให้เกษตรกร ปลูกป่าขึ้นในเขตบ้าน เป็นการสร้างป่าในเมือง เพื่อลดการใช้ประโยชน์จากป่าธรรมชาติแต่ใช้ประโยชน์จากป่าที่ราษฎรปลูกขึ้นเอง

อีกหนึ่งส่วนสำคัญอย่าง “โครงการพระราชดำริภูฟ้า” ซึ่งในอดีต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้กองทัพภาค 3 จัดตั้งโครงการพัฒนาราษฎรและพื้นที่ตะเข็บชายแดนเพื่อความมั่นคง จากสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น ป่าถูกหักร้างถางพงปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด ดินแห้ง ไฟป่า ดินเป็นฝุ่นผง จนกระทั่งมีโครงการพระราชดำริให้ปลูกป่าฟื้นคืนสภาพป่าต้นน้ำขึ้นมา
ดอยน้ำงาว
เวลาผ่านมา 20 ปีจวบจนถึงปัจจุบัน จากภูเขาที่เคยเป็นไร่ข้าวโพด เป็นภูเขาหัวโล้น กลับกลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ จนสามารถประกาศเป็นป่าอนุรักษ์ ของอุทยานแห่งชาติขุนน่าน และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูฟ้า ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าป่าสามารถปลูกให้ฟื้นคืนมาได้ ซึ่งเป็นตัวอย่างในการจัดการพื้นที่ป่าภายหลังการได้พื้นที่คืนมาแล้วจากราษฎร

ในส่วนของพื้นที่จัดการหน่วยต้นน้ำน้ำงาว พื้นที่ที่กรมอุทยานแห่งชาติ ฯได้มาจากจากขอคืนพื้นที่และชาวบ้านก็ให้พื้นที่กลับคืนมาโดยความสมัครใจ ด้วยทำเลที่ตั้งที่เป็นยอดดอยสูง มองได้เกือบ ครบ 360 องศา จึงเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามแห่งใหม่ของจังหวัดน่าน ที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดเตรียมพื้นที่กางเต็นท์ไว้รองรับนักท่องเที่ยว ดูพื้นที่ที่กรมอุทยานฯ ปลูกพืชคืนสภาพป่า ที่ส่วนหนึ่งจะเป็นนางพญาเสือโคร่ง เสี้ยว และพืชพื้นเมืองอื่นๆ
น้ำตกตาดหลวง
และยังมีอีกหนึ่งสถานที่ที่น่าสนใจอย่าง “น้ำตกตาดหลวง” ของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เป็นน้ำตกแห่งใหม่ที่ทางอุทยานฯ กำลังจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอีกไม่นานนี้
น้ำตกตาดหลวง
น้ำตกตาดหลวง
จากแหล่งพื้นที่เขาหัวโล้น กำลังจะกลายเป็นแหล่งต้นน้ำ พื้นที่ทำกินที่มีความยั่งยืน และจุดท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดน่าน ถือเป็นการสร้างรายได้ชดเชยให้กับชาวบ้านที่เสียสละพื้นที่ให้กลับมาเป็นผืนป่าของแผ่นดิน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager
กำลังโหลดความคิดเห็น