xs
xsm
sm
md
lg

ระลึกถึงพ่อ...พระผู้ทรงฟื้นคืน “ปากพนัง” โครงการพระราชดำริเพื่อชาวไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Facebook :Travel @ Manager
พระบรมรูปของในหลวงรัชกาลที่ 9 ภายในพิพิธภัณฑ์
“โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ในอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอีกหนึ่งโครงการในพระราชดำริอันแสดงถึงพระอัจฉริยภาพในด้านการจัดการน้ำ และแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่มีต่อปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะประชาชนทางภาคใต้ แถบจังหวัดนครศรีธรรมราช

ลุ่มน้ำปากพนัง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีต้นน้ำอยู่ที่เทือกเขาบรรทัด ในเขตตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จ.นครศรีธรรมราช จากนั้นไหลผ่านอำเภอชะอวด อำเภอเชียรใหญ่ และมีคลองสาขาจากอำเภอหัวไทร ไหลมารวมกันที่บ้านปากแพรก จนกลายเป็นแม่น้ำปากพนัง และไหลลงสู่อ่าวนครศรีธรรมราช มีความยาว 156 ก.ม. มีพื้นที่ครอบคลุม 13 อำเภอของ 3 จังหวัด คือนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3,100 ตร.กม. หรือประมาณ 1,937,500 ไร่ โดยสองฝั่งแม่น้ำปากพนังมีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย ทั้งป่าต้นน้ำ ป่าพรุ ป่าชายเลน และพื้นที่ชายฝั่ง
ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ หรือเขื่อนปากพนัง
พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะทรงงานที่ลุ่มน้ำปากพนัง
แม่น้ำปากพนังเป็นแม่น้ำสายสำคัญทางด้านเกษตรกรรม โดยแต่เดิมบริเวณลุ่มน้ำปากพนังเป็นบริเวณที่ราบมีพื้นที่นากว่า 500,000 ไร่ มีโรงสีข้าวมากถึง 9 โรง ถือได้ว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้ก็ว่าได้ แต่เมื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจเข้ามา ทำให้พื้นที่ป่าต้นน้ำถูกทำลาย เกิดปัญหาน้ำเค็มรุกน้ำจืด ส่วนพื้นที่ใกล้ชายฝั่งชาวบ้านปรับเปลี่ยนจากนาข้าวมาเป็นนากุ้ง ทำให้เกิดน้ำเสียจากบ่อเลี้ยงกุ้งกระทบถึงนาข้าว ชาวบ้านทะเลาะขัดแย้งกันเอง ส่วนในพื้นที่ป่าพรุก็มีปัญหาน้ำเปรี้ยว จนพื้นที่บริเวณนี้เกิดปัญหา “4 น้ำ 3 รส” สร้างความเดือดร้อนให้ชาวในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นอย่างมาก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ และมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่อย่างต่อเนื่องยาวนานมาโดยลำดับถึง 13 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2521 จนเกิดมาเป็น “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยมี “โครงการประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ” (มีความหมายว่า “ประตูระบายน้ำที่ให้ประสบความสำเร็จในการแยกน้ำ”) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เขื่อนปากพนัง” เป็นส่วนสำคัญของโครงการ โดยพระองค์ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้หาทางทางพิจารณาแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิขึ้น รวมถึงประตูระบายน้ำอื่นๆ รวมถึงระบบระบายน้ำ ระบบกักเก็บน้ำ และระบบส่งน้ำอื่นๆ ป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มไม่ให้เข้าไปทำลายพื้นที่เกษตร อีกทั้งยังมีแหล่งเก็บกักน้ำจืดและลำน้ำสาขาไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการเพาะปลูก และยังช่วยบรรเทาเรื่องอุทกภัยได้ในที่สุด ชาวลุ่มน้ำปากพนังและพื้นที่ใกล้เคียงต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ยิ่งนัก
นักท่องเที่ยวเดินชมภายในพิพิธภัณฑ์
ประตูระบายน้ำเพื่อปวงชน
เรื่องราวความเป็นมาของเขื่อนปากพนังและโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ นั้นสามารถเข้าไปชมได้อย่างละเอียดที่ “พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ” ใน อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกิดจากโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวง ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในบริเวณสถานที่ดำเนินโครงการพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ประกอบด้วยห้องทรงงานส่วนพระองค์ ห้องประชุมและห้องนิทรรศการปากพนังในอดีต

ภายในห้องนิทรรศการจัดแสดงได้อย่างน่าสนใจผ่านสื่อมัลติมีเดีย โดยมีเรื่องราวความรู้มากมายเกี่ยวกับโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ จัดแสดงไว้ให้ได้ศึกษากัน ตั้งแต่พาไปย้อนอดีตสู่ลุ่มน้ำปากพนังที่เคยรุ่งโรจน์ทางด้านเกษตรกรรม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพื้นที่ภาคใต้ ก่อนที่จะประสบกับสภาพปัญหาน้ำต่างๆ และสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ในโครงการฯ จากนั้นก็จัดแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงที่มีต่อพื้นที่โครงการฯ และมีการนำเสนอแผนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ชาวบ้านสัญจรไปมาบริเวณประตูน้ำเขื่อนปากพนัง
ปล่องไฟโรงสีข้าวที่ปัจจุบันไม่ได้ใช่งานแล้ว
และสุดท้ายเป็นส่วนของการจัดแสดงผลสำเร็จหลังโครงการเสร็จสิ้น และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญในภาคใต้ และบริเวณใกล้ๆกับพิพิธภัณฑ์ฯ ยังมี "อนุสาวรีย์ปล่องโรงสีข้าวโบราณ" ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าให้ได้ชมกัน ซึ่งปล่องโรงสีข้าวโบราณนี้ ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งปากพนังที่แสดงให้เห็นว่าในอดีตปากพนังมีความอุดมสมบูรณ์ในฐานะอู่ข้าวอู่น้ำแห่งหนึ่งของเมืองไทย

นอกจากนั้นหากมีโอกาสได้ล่องเรือชมทิวทัศน์ของแม่น้ำปากพนัง ก็ยังพอมองเห็นปล่องโรงสีข้าวโบราณของจริงให้เห็น และนอกจากนั้นก็ยังได้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่แบบชาวปากพนังที่มีความผูกพันกับสายน้ำ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวปากพนังให้อยู่ดีกินดี มองเห็นเรือประมงของชาวบ้านมากมายจอดเรียงรายไปตามแนวแม่น้ำ ได้เห็นชาวบ้านแล่นเรือออกมาหาปลา บ้านเรือนบางหลังที่ปลูกอยู่ริมน้ำก็มีกระชังปลาและยออยู่หน้าบ้าน และยังได้เห็น “ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ” ประตูน้ำที่แบ่งแยกน้ำจืดน้ำเค็มได้สำเร็จ ได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่คู่กับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์พูนสุขของชาวปากพนังแล้ว ยิ่งทำให้มั่นใจว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานหนักเพื่อประชาชนของพระองค์มากเพียงใด
เรือข้ามไปมาสองฝั่งแม่น้ำปากพนัง
นานาอาหารทะเลขายที่ตลาด
นอกจากนั้น ที่ปากพนังยังมี “ตลาด 100 ปี เมืองปากพนัง” เป็นตลาดเล็กๆ แต่เก่าแก่และมีประวัติยาวนานมานับร้อยปี ตัวตลาดตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปากพนังทางทิศตะวันออก ทางเข้าตลาดจะอยู่บริเวณถนนชายน้ำ มีป้ายไม้เขียนว่า “ตลาด 100 ปี เมืองปากพนัง” อยู่หน้าตรอกเล็กๆ ที่นำเราเข้าไปสู่ตลาดด้านใน

บริเวณตรอกทางเข้าก็มีตั้งแต่ร้านขายของชำ ร้านขายยา ร้านขายสินค้าของฝาก รวมไปถึงร้านเล็กๆ ที่แม่ค้าหาบของมาขาย ซึ่งหากใครชอบกิน “ขนมลา” ขนมขึ้นชื่อของปากพนังก็สามารถซื้อหากันได้ที่นี่เลย และเมื่อเดินพ้นตรอกไปจนถึงริมแม่น้ำ ก็จะพบกับท่าเรือข้ามฟากที่มีคนข้ามฝั่งไปมาพลุกพล่านตลอดทั้งวัน มองไปยังฝั่งตรงข้ามเห็นเรือประมงจอดหลายลำ มองเห็นชุมชนริมน้ำมีเสน่ห์ดีไม่หยอก
ตากปลาเตรียมทำปลาแห้ง
บรรยากาศของตลาด 100 ปี ปากพนัง
และนอกจากท่าเรือข้ามฟากแล้ว บริเวณทางเดินริมน้ำก็ยังเต็มไปด้วยตลาดสดที่มีอาหารทะเลทั้งสดทั้งแห้งวางขายตั้งแต่สายๆ ไปจนถึงเย็น กุ้งหลายชนิด หอยแครงตัวโตเนื้อแดงน่ากิน ปูม้าปูทะเล ปลาชนิดต่างๆ มีให้เลือกหลากหลาย แม้เป็นตลาดสดเล็กๆ แต่ก็ดูมีชีวิตชีวาทั้งคนซื้อคนขาย อีกทั้งใกล้ๆ ทางเดินออกสู่ถนนก็ยังมีร้านขายอาหารแห้งประเภทปลาแห้ง ปลาเค็ม กะปิ มันกุ้ง ฯลฯ ให้เลือกซื้อเป็นของฝากได้อีกด้วย หรือหากมาในช่วงสายๆ นอกจากจะได้ซื้อของสดของแห้งแล้ว ก็ยังได้เห็นพ่อค้าแม่ค้าเอาปลามาวางตากแดดเตรียมทำปลาเค็มปลาแห้ง

ไม่ไกลจากตลาดร้อยปี เป็นที่ตั้งของ “วัดนันทาราม” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อผุด” พระคู่เมืองปากพนัง หลวงพ่อผุดเป็นพระพุทธรูปหินทรายแดง ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยา เหตุที่ได้ชื่อว่าหลวงพ่อผุดเนื่องจากเมื่อปี 2404 ได้มีฟ้าผ่าลงที่ต้นทองหลางภายในวัด ทำให้ได้พบพระพุทธรูปองค์นี้ผุดขึ้นจากดินบริเวณใต้ต้นทองหลางนั้น จึงเรียกว่าพระผุดต่อมานับปัจจุบัน หากมาเยือนตลาด 100 ปี เมืองปากพนังก็ไม่ควรพลาดที่จะแวะมาสักการะท่านสักครั้ง
กราบหลวงพ่อผุด ณ วัดนันทาราม
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager
กำลังโหลดความคิดเห็น