xs
xsm
sm
md
lg

ปั่นลุยลาวใต้(2) : ต้องมนต์จำปา เพลินตา“วัดพู” มรดกโลกคลาสสิก/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)

Facebook Travel Unlimited / เที่ยวถึงไหนถึงกัน
ทางเดินผ่านเสานางเรียงทอดยาวขึ้นสู่ปราสาทประธานวัดพู
“...โอ้ดวงจำปา บุปผาเมืองลาว งามดังดวงดาว ซาวลาวปลื้มใจ เมื่อตกอยู่ใน แดนดินล้านช้าง”

เพลง “จำปาเมืองลาว”(หรือชื่อเดิม ดวงจำปา) : อุตมะ จุลมณี

ดวงจำปา หรือ “ดอกลั่นทม” ที่ตอนหลังคนไทยนิยมเรียก “ดอกลีลาวดี” ในบ้านเรา เป็นดอกไม้ประจำชาติลาว

ยามที่ผมไปเยือนสปป.ลาว คราวใด มักเป็นต้องได้เห็นดวงจำปาในหลากหลายลีลาอารมณ์ ที่สวยงามและจำภาพประทับใจได้ดีก็มี ซุ้มจำปาต้นใหญ่บนทางขึ้นยอด“พูสี”แห่งเมืองหลวงพระบาง กับซุ้มจำปาโบราณบนเส้นทางเดินขึ้นสู่ตัว“ปราสาทหินวัดพู” มรดกโลกคลาสสิก ซึ่งเป็นหนึ่งในไฮไลท์สำคัญในการปั่นจักรยานลุยลาวใต้ของผมในทริปนี้

ปากเซ-วัดพู
วิวเมืองปากเซริมแม่น้ำโขง
วันที่ 2 ยามเช้าตรู่ เมืองปากเซ

จากอดีตเมืองเล็กๆริมฝั่งน้ำที่ตั้งอยู่ระหว่างจุดบรรจบกันของแม่น้ำโขงและแม่น้ำเซโดน หลังฝรั่งเศสเข้ามายึดครองลาวในยุคล่าอาณานิยม ได้ทำการยกระดับเมืองปากเซให้ขึ้นมาเป็นเมืองเอก(อำเภอเมือง)ของแขวงจำปาสัก(จังหวัด) แทนที่เมืองเก่าจำปาสัก(อำเภอ)ที่เคยเป็นเมืองเอกประจำแขวงจำปาสักมาก่อน

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ปากเซได้พัฒนาเติบโตขึ้นมาเป็นเมืองใหญ่อันดับสาม แห่งสปป.ลาว และเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งลาวใต้ ทั้งด้านคมนาคม เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน
สะพานลาว-ญี่ปุ่น ทอดข้ามแม่น้ำโขงแห่งเมืองปากเซ
นอกจากนี้ปากเซยังเป็นเมืองชุมทางและเมืองพักสำคัญ ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมมาปักหลักพักค้างที่นี่ ก่อนจะเดินทางต่อ ไปเที่ยวยังสถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆของดินแดนลาวใต้ อย่างเช่น เมืองปากซอง ที่ราบสูงบอละเวน น้ำตกตาดเยือง ตาดฟาน น้ำตกคอนพะเพ็ง หลี่ผี และมรดกโลกปราสาทหินวัดพู จุดหมายปลายทางหลักของการเที่ยวในวันที่ 2 ของผม กับคณะ “Octo Cycling Trip” ที่ทางบริษัท“Octo Cycling” ได้เชิญชวนผู้รักการปั่นจักรยาน ให้มาปั่นจักรยานตะลุยลาวใต้ เปิดมุมมองใหม่ผ่านการปั่น 2 ล้อแบบสโลว์ไลฟ์ ในบรรยากาศที่แตกต่าง

ยามเช้า วันที่ 2 บนชั้นสูงของโรงแรมจำปาสักแกรนด์(ที่พักของเราในค่ำคืนแรก) ผมมองลงมาเห็น“สะพานลาว-ญี่ปุ่น” ทอดตัวโดดเด่นข้ามลำน้ำโขง ซึ่งเช้านี้เราต้องปั่นผ่านสะพานแห่งนี้มุ่งหน้าไปทางใต้ของเมืองปากเซสู่แหล่งมรดกโลกวัดพู มีระยะทางประมาณ 40 กม.(ตัวเมืองปากเซห่างวัดพู 47 กม.)
คณะนักปั่น Octo Cycling Trip ถ่ายรูปกับนักศึกษาลาว ก่อนออกสตาร์ทปั่นสู่วัดพู
หลังอิ่มหนำจากมื้อเช้า พวกเราเก็บสัมภาระใส่รถตู้(ประจำทริป)ที่มาวิ่งบริการบรรทุกสัมภาระและแจกน้ำท่า ผ้าเย็น ของกินเล่นในระหว่างหยุดพัก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะนักปั่น Octo Cycling Trip จากเมืองไทยก็ตั้งขบวนเตรียมออกสตาร์ทกันที่ลานจอดรถโรงแรมจำปาสักแกรนด์

ต่อจากนั้นก็ได้ฤกษ์ชัยให้คณะเราๆค่อยๆปั่นผ่านสะพานลาว-ญี่ปุ่น มุ่งหน้าสู่มรดกโลกวัดพูกันแบบสโลว์ไลฟ์ไม่รีบร้อน เน้นความปลอดภัยเป็นสำคัญ

ระหว่างทาง
ออกปั่นจากเมืองปากเซข้ามสะพานลาว-ญี่ปุ่น มุ่งหน้าสู่มรดกโลกวัดพู
จากสะพานลาว-ญี่ปุ่น เมื่อปั่นออกนอกตัวเมืองปากเซข้ามเข้าสู่เมืองโพนทองมาเรื่อยๆ สภาพตึกรามบ้านเรือนที่หนาแน่นในตัวเมืองใหญ่ก็ค่อยๆหายไป ทิวทัศน์สองข้างทางเปลี่ยนเป็นบรรยากาศของท้องไร่ท้องนา บ้านเรือนดั้งเดิมของชาวบ้าน และวิถีชนบท ที่หลายๆคนบอกว่าคล้ายกับภาพชนบทของไทยเมื่อประมาณสัก 10-20 ปีที่แล้ว

วันนี้ภาพวิถีชนบทแบบนี้ในต่างจังหวัดของเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปมากโข คนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ในบ้านเราต่างก็มีวิถีของความเป็นเมืองมากขึ้น(ด้วยความเจริญทางวัตถุที่ถั่งโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว รุนแรง) ถ้าอยากเจอภาพแบบนี้ต้องออกไปนอกเมืองตามป่าตามเขาไกลๆ หรือในที่ทุรกันดารจริงๆ ถึงจะได้เห็นภาพวิถีชนบทในแบบดั้งเดิม
พ่อ-ลูก ลากตาข่ายจับปลาในหนองน้ำริมทาง
วิถีชนบทดั้งเดิมหรือวิถีย้อนยุคแบบนี้ คนเมืองหลายๆคนนิยมเรียกกันว่า“บ้านนอก” ในความหมายที่ไม่ได้แสดงถึงการดูถูกเหยียดหยาม หากแต่มีความหมายถึงการถวิลหาวิถีไทยในอดีตอันสงบงามเรียบง่ายและจริงใจ ถึงขนาด “เป้ อารักษ์”(อารักษ์ อมรศุภศิริ) ได้นำไปแต่งเป็นเพลง“บ้านนอก” สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของคนเมืองจำนวนมากที่โหยหาบ้านนอก และ“อยากมีบ้านนอกเป็นของตัวเอง

นั่นจึงทำให้ในเส้นทางสายนี้ที่เต็มไปด้วยท้องไร่ท้องนาดูมีเสน่ห์ดึงดูดสำหรับพวกเราไม่น้อย ระหว่างทางที่เราปั่นนั้น ทุ่งนาบางแห่งเก็บเกี่ยวไปแล้ว บางแห่งยังไม่เก็บเกี่ยว และบางแห่งกำลังเก็บเกี่ยว ชาวนามารวมตัวกันเกี่ยวข้าวดูมีชีวิตชีวา หรือภาพการทำประมงพื้นบ้านจับปลาลากตาข่ายกันในหนองน้ำริมทางข้างถนนนั่นแหละ เมื่อไปขอพวกเขาถ่ายรูปด้วย นอกจากรอยยิ้มที่ส่งกลับมาแล้วก็ยังมีคำทักทาย “สะบายดี” ด้วยสำเนียงซื่อๆแต่จริงใจ เอื้อนเอ่ยคณะนักปั่นจากชาวไทยด้วยมิตรไมตรี
นักปั่นแวะถ่ายรูปกับเสน่ห์สีสันระหว่างทาง
อย่างไรก็ดีแม้บรรยากาศรอบข้างในสองข้างทางจะอวลไปด้วยวิถีชนบทย้อนยุคของบ้านเรา แต่สิ่งหนึ่งที่ลาวดูเหมือนจะล้ำเราไปก็คือสัญญาณเน็ตที่เร็วแรงกว่าบ้านเรา และแน่นอนว่าคนลาวหลายๆคน(โดยเฉพาะหนุ่ม-สาว)ก็เป็นโรคติดมือถือและเป็นโรคก้มหน้าเหมือนคนไทยจำนวนมาก และอีกหลายๆคนบนโลกใบนี้

อร่อยก่อนลุย

สำหรับสภาพถนนของวันนี้ จากปากเซสู่วัดพูเป็นทางราบเกือบทั้งหมด มีขึ้นเนินบ้างไม่มาก(ในบางช่วง) ขณะที่สภาพถนนวันนี้ เป็นถนนลาดยางเรียบดี ไม่มี ปะ ผุ มีหลุมมีบ่อ เป็นถนนพิการเหมือนช่วงการปั่นเมื่อวันวาน(วันแรก) โดยหลังปั่นผ่านด่าน“บ้านห้วยเพ็ก เมืองโพนทอง-บ้านพะพิน เมืองจำปาสัก” ได้ไม่นาน เบื้องหน้าจะมองเห็น“ภูมะโรง”ตั้งตระหง่าน
เส้นทางปั่นช่วงที่เห็นภูมะโรงตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่เบื้องหน้า
ภูมะโรง หรือ ภูงูใหญ่ หรือ ภูนาค เป็นภูเขาสูง มียอดเขาแหลมเป็นจะงอยตั้งเด่น ในวันที่ฟ้าเปิด จากอำเภอพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เมื่อมองมาทางทิศตะวันออกจะเห็นยอดเขาภูมะโรงตั้งโดดเด่นมียอดแหลมคล้ายเจดีย์

จากภูมะโรงเมื่อปั่นต่อไปเรื่อยๆถึงเส้นทางเลี้ยวในช่วงสุดท้ายก่อนถึงจุดตีตั๋วเข้าชมปราสาทหินวัดพู ถนนลาดยางเรียบเปลี่ยนสภาพเป็นถนนลูกรังสั้นๆให้ออกแรงปั่นกันหอหอมปากหอมคอ ก่อนที่จะถึงยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่นอกจากจะเป็นจุดพักเหนื่อยของเราแล้ว ยังเป็นสถานที่หม่ำมื้อเที่ยงรสอร่อยเด็ดกันที่ “ร้านแม่บุนกว้าง” อีกด้วย
กินอาหารเติมพลังบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยววัดพู
อาหารเที่ยงของวันนี้ แม้จะเป็นเมนูพื้นบ้านที่ดูธรรมดาๆ แต่เรื่องรสชาตินั้นอร่อยไม่ธรรมดาเอาเสียเลย เริ่มกันด้วย “ข้าวปุ้น”หรือขนมจีนน้ำยาป่าสูตรเด็ดเต็มไปด้วยสมุนไพรรสจัดจ้าน ต่อจากนั้นก็เป็นชุด ข้าวเหนียว ส้มตำรสแซบ ต้มไก่บ้านใส่ไข่มดแดง เนื้อ(วัว)ย่าง หมูย่าง และพิเศษกับ “เขียดย่าง” ตัวน้อยๆพอดีคำเคี้ยวกรุบกรอบ(สำหรับคนที่กล้ากิน)

ปิดท้ายด้วยของหวาน อย่าง ขนมครก และกล้วยปิ้งแบบลาวที่ผ่าครึ่งใส่ไส้มะพร้าวทอด รสอร่อยเด็ด ช่วยเติมและตุนพลังด้วยคติกองทัพเดินด้วยท้อง ก่อนจะออกตะลุยต่อสู่แหล่งท่องเที่ยวปราสาทหินวัดพู ที่วันนี้มีการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ ตรงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีห้องน้ำสะอาดสะอ้าน และเป็นสากล(ชักโครก)
อาหารพื้นบ้านจานเด็ดรสแซ่บ
ส่วนการขึ้นสู่ตัวปราสาทหินวัดพูจากเดิมที่ต้องเดินผ่านถนนลูกรังร้อนๆ วันนี้เขามีรถกอล์ฟไว้บริการวิ่งจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวสู่ทางขึ้นตัวปราสาทหินวัดพู เมื่อบริการดีขึ้น พื้นที่พัฒนาดีขึ้น ราคาค่าเข้าชมวัดพูก็เพิ่มสูงขึ้นอีกสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ปราสาทหินวัดพู

หลังอิ่มอร่อยจากมื้อเที่ยงและได้พักผ่อนพอหอมปากหอมคอให้ข้าวเรียงเม็ด ต่อจากนั้น “คอนสะหวัน ผิวอ่อน” หรือ “โทนี่ หลุยส์”ไกด์ลาวอารมณ์ดี พาพวกเรานั่งรถกอล์ฟระยะทางสั้นๆมาส่งยังทางเดินเท้าขึ้นสู่ตัวปราสาทหินวัดพู(หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์วัดพู)
หอท้าว  หนึ่งในปราสาทที่พักนักแสวงบุญ
ปราสาทหินวัดพู(ปราสาทวัดพู หรือวัดพู)เป็นศาสนสถานศิลปะแบบขอมสมัยพระนคร สร้างขึ้นมาก่อนนครวัด สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวๆพุทธศตวรรษที่ 12

สำหรับความเป็นมาของการสร้างวัดพูนั้น ต้องย้อนไปในยุคขอมโบราณในสมัยอาณาจักรเจนละ ก่อนยุคพระนครที่อาณาจักรขอมเรืองอำนาจถึงขีดสุด(และได้ทำการสร้างนครวัด-นครธม ที่ได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก)
ทางเดินขึ้นสู่พูเก้าผ่านซุ้มต้นจำปาโบราณที่ยืนต้นตระหง่าน
อาณาจักรเจนละยุคนั้นแบ่งเป็น เจนละน้ำ อยู่บริเวณประเทศกัมพูชาตอนกลางกับตอนล่างในปัจจุบัน
และเจนละบก มีพื้นที่ตั้งแต่อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ จำปาสัก ไล่ไปจนถึงประเทศกัมพูชา

เจนละบกยุคนั้น เมื่อราว 1,300 ปีก่อน นับถือศาสนาฮินดู ไศวนิกาย ที่บูชาพระศิวะเป็นเทพสูงสุด จึงได้สร้างปราสาทขอมแห่งนี้ขึ้นเป็นศาสนสถานสำคัญศูนย์กลางของอาณาจักร เพื่อบูชาพระศิวะโดยมีการสร้างศิวลึงค์ที่เปรียบดังตัวแทนขององค์ศิวเทพไว้ที่ใจกลางปราสาทประธาน(เดิมยังไม่ได้เป็นวัดพู)
รูปสลักหินนูนต่ำเทพ 3 องค์แห่งศาสนาฮินดู พระศิวะ(กลาง) พระพรหม(ซ้าย) พระวิษณุ(ขวา)ที่อยู่ด้านหลังองค์ปราสาทประธาน
ครั้นสิ้นยุคสมัยอาณาจักรเจนละ หมดยุคขอมเรืองอำนาจ เข้าสู่ยุคอาณาจักรล้านช้างที่มีชนชาติลาว(ในปัจจุบัน)มาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ ชาวลาวแม้นับถือศาสนาพุทธ แต่ก็ไม่ได้คิดที่จะทำลายปราสาทขอมของศาสนาฮินดูแห่งนี้ หากแต่ได้ปรับเปลี่ยนปราสาทขอมแห่งนี้ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา โดยเปลี่ยนศิวลึงค์ในปราสาทประธานเป็นองค์พระประธานแทน

หลังจากนั้นได้มีการเรียกขานสถานที่แห่งนี้ว่า“วัดพู”ตามชัยภูมิที่ตั้งที่มีความพิเศษแตกต่างจากศาสนสถานทั่วๆไป

ลึงค์บรรพต
ทางเดินผ่านเสานางเรียงขึ้นสู่พูเก้า ลึงค์บรรพตตามธรรมชาติ
มรดกโลกวัดพู นอกจากสะท้อนให้เห็นถึงอดีตอันรุ่งเรืองของอารยธรรมขอมโบราณ ที่กำเนิดขึ้นในดินแดนลาวใต้แล้ว วัดพูยังมีจุดเด่นสำคัญ คือตั้งอยู่บน “พูเก้า”(ภูเกล้า) ภูเขาที่ชาวลาวมองคล้ายผู้หญิงเกล้ามวยผม แต่ชาวฝรั่งมองคล้ายยอดปทุมถันของสตรี

เขาพูเก้ามีความเป็น“ลึงค์บรรพต”ตามธรรมชาติ คือภูเขาที่มีลักษณะคล้ายศิวลึงค์ ซึ่งชาวขอมโบราณเชื่อว่าเป็นที่สถิตของเทพ ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง

จากจุดเริ่มออกเดินเท้าสู่ตัวปราสาทวัดพูองค์ประธานบนภูเขาพูเก้าที่ตั้งตระหง่าน ช่วงแรกจะเดินผ่าน“บาราย” หรือสระน้ำ(ขุด)ขนาดใหญ่ ซึ่งโทนี่ หลุยส์ ให้ข้อมูลว่าบริเวณนี้เป็นสถานที่จัดงานประจำปีวัดพู ในวันเพ็ญ(15 ค่ำ) เดือนสามลาว(หรือราวเดือนกุมภาพันธ์) ของทุกปี
องค์พระประธานในปราสาทประธาน แสดงถึงการเปลี่ยนจากฮินดูมาเป็นพุทธ
“วัดพู ได้รับการประกาศ(จากยูเนสโก)ให้เป็นมรดกโลกแห่งที่ 2 ของลาว(มรดกโลกแห่งแรกของลาวคือ เมืองหลวงพระบาง ปี พ.ศ.2538) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2544 แต่ทางการลาวเปิดให้คนเข้าเที่ยวชมอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2545” โทนี่ หลุยส์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ต้องมนต์จำปา

จากบาราย เดินถัดไปจะพบกับปราสาทหลังใหญ่ 2 หลัง ที่ตั้งอยู่คู่กันสองข้างทาง ซ้าย-ขวา(ที่วันนี้ผ่านการบูรณะแล้ว) ปราสาทสองหลังนี้สันนิษฐานว่าเป็นที่พักผู้แสวงบุญที่มาสักการะวัดพู แบ่งเป็น หอชายหรือ“หอท้าว”อยู่ทางขวา และหอหญิงหรือ“หอนาง” อยู่ทางซ้าย
วิวทิวทัศน์เส้นทางเดินจากด้านล่างขึ้นสู่ปราสาทประธานบนพูเก้า
เมื่อเดินต่อไปจะพบกับทางเดิน “เสานางเรียง” ที่ตั้งเด่นเรียงรายสองข้างทาง ทอดยาวนำสายตาสู่บนขุนเขาพูเก้า

เมื่อเดินไปสุดเสานางเรียง ด้านขวามือจะมีรูปเคารพของ“พญากรมทา” ซึ่งชาวลาวเชื่อว่าท่านเป็นผู้เปลี่ยนศาสนสถานแห่งนี้จากปราสาทขอมฮินดูมาเป็นวัดในศาสนาพุทธ จึงมีเครื่องบายศรี ธูป เทียน จำนวนหนึ่งวางไว้ให้ผู้ที่จะเดินขึ้นเขาได้เคารพสักการะ และทำบุญ อธิษฐานขอพร
รูปเคารพพญากรมทา ที่อยู่ทางด้านขวาของทางเดินขึ้นพูเก้า
ต่อจากนั้นจะเป็นเส้นทางผ่านบันไดโบราณ ที่เป็นซากอิฐหินเก่าซึ่งชาวลาวหลายคนเปรียบดังเกล็ดพญานาค อันเป็นบันไดนาคเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับสรวงสวรรค์

แล้วบันได(เกล็ดพญานาค)ก็นำเดินขึ้นเขาผ่าน“บันไดซุ้มจำปา” ที่สองข้างทางมีต้นจำปา(ลั่นทม,ลีลาวดี) ต้นสูงใหญ่อายุนับร้อยปีที่มีรูปฟอร์ม ทรวดทรง องค์ประกอบของต้น กิ่ง ก้าน ใบ อันทรงเสน่ห์ โดยเฉพาะเมื่อยามออกดอกมากๆในช่วงหน้าแล้งจะส่งกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ
ทางเดินอิฐหินโบราณที่ชาวลาวหลายคนเปรียบดังเกล็กพญานาค
นับเป็นบันไดทางเดินซุ้มจำปาอันสวยงามคลาสสิก ที่ยืนต้นแบบโน้มตัวโค้งเข้าหากันอย่างสวยงาม เปรียบเสมือนว่าโค้งซุ้มจำปาที่นี่ กำลังแสดงการคารวะแก่ผู้คนที่จะขึ้นไปสู่แดนศักดิ์สิทธิ์ที่เบื้องบน

วัดพู มรดกโลกคลาสสิก

เมื่อเดินพ้นบันไดซุ้มจำปาขึ้นไปแบบชนิดเหนื่อยพอเหงื่อซึม ก็มาถึงตัวองค์ปราสาทประธาน ซึ่งเป็นปราสาทขนาดย่อม แต่มีความพิเศษตรงที่มีความเป็นพุทธและฮินดูอยู่ผสมผสานกันอย่างกลมกลืน
องค์ปราสาทประธาน
สำหรับความเป็นฮินดูนั้น ดูได้จากคติความเชื่อในการวางผัง การสร้างปราสาทและรูปสลักต่างๆ อาทิ รูปนางอัปสร รูปทวารบาล รูปพระศิวะ รูปพระนารายณ์ รูปหน้ากาล โดยเฉพาะรูปสลักพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณบนทับหลังชั้นในทางเข้าโบสถ์สมบูรณ์มาก ช่างโบราณสลักหินได้อย่างถึงอารมณ์ กว้านเนื้อหินเข้าไปจนลึก ทำให้รูปสลักลอยนูนเด่นขึ้นมาดูงดงามนัก
ลวดลายสลักหินที่ทับหลังด้านข้างองค์ปราสาทประธาน
ส่วนความเป็นพุทธ ดูได้จากตัวปราสาทที่มีการดัดแปลงให้เป็นโบสถ์ของวัด(ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น) ภายในปราสาทประดิษฐานองค์พระประธานและพระพุทธรูปองค์เล็กๆให้สักการบูชา

ของดีที่วัดพูยังไม่หมดเท่านี้ เพราะถ้าหากเดินไปที่ด้านหลังองค์ปราสาทประธาน จะพบกับรูปสลักหินนูนต่ำเทพ 3 องค์แห่งศาสนาฮินดู คือ พระศิวะ(กลาง) พระพรหม(ซ้าย) พระวิษณุ(ขวา) ส่วนถ้าเดินลึกต่อไปทางด้านขวา จะมีหินรูปช้าง และหินขุดรูปจระเข้ ที่เชื่อว่าใช้ในพิธีบูชายัญของคนโบราณเป็นสิ่งน่าสนใจให้ทัศนากัน
สายน้ำซึมผ่านหินที่ชาวลาวเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
ส่วนถ้าเดินไปทางด้านซ้ายยังแนวหน้าผาสูงเบื้องบน จะมีสิ่งพิเศษเป็นสายน้ำธรรมชาติไหลหยดติ๋งๆซึมผ่านชั้นหินลงมาจากยอดพูเก้า ซึ่งชาวลาวเชื่อกันว่านี่คือน้ำศักดิ์สิทธิ์(ด้วยเหตุผลของการเป็นลึงค์บรรพตตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น) หากใครได้ดื่มกิน ล้างหน้าล้างตา ก็จะช่วยเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต

เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละคน แต่หากใครที่เดินขึ้นมาเหนื่อยได้สายน้ำเย็นๆที่นี่ล้างหน้าตาเนื้อตัว มันช่วยให้ร่างกายสดชื่นได้มากโข

เมืองเก่าจำปาสัก
มุมมองทิวทัศน์เบื้องล่างจากบริเวณองค์ปราสาทประธาน
จากปราสาทองค์ประธานกลางขุนเขา ในช่วงขากลับ บนทางเดินลงในทางเก่า เมื่อมองย้อนสวนลงไปจากขาขึ้น จะเห็นวิวทิวทัศน์เบื้องล่างอันสวยงามของต้นไม้ ทุ่งนา เขียวขจี มีบันไดซุ้มต้นจำปานำสายตาลงสู่พื้นราบในเบื้องล่าง ที่ 2 ข้างมีปราสาทที่พัก หอท้าว-หอนาง ส่วนเลยถัดไปเป็นบารายใหญ่ใช้เพื่อการเกษตร

นอกจากนี้ยังเห็นถึงแนวคิดในการวางผังของคนโบราณ แนวแกนหลักของปราสาทเป็นแกนเดียวกับถนนที่มุงหน้าสู่เมืองเก่าจำปาสัก สถานที่พักของคณะเราในค่ำคืนที่สองนี้ โดยหลังลงจากปราสาทวัดพูแล้ว พวกเราออกแรงปั่นในช่วงสุดท้ายจากวัดพูมุ่งหน้าสู่เมืองเก่าจำปาสัก ในระยะทางประมาณ 10 กม.
ปั่นยามเย็นจากวัดพูสู่เมืองเก่าจำปาสัก
เส้นทางปั่นสายนี้ บางช่วงปั่นผ่านท้องทุ่งนา บางช่วงเลาะเลียบแม่น้ำโขง บางช่วงปั่นผ่านชุมชน นอกจากนี้ระหว่างทางพวกเราแวะไหว้ “พระเจ้าองค์ตื้อ” แห่งวัด(ร้าง)ศรีสุมัง หรือ“หลวงพ่อพระเจ้าใหญ่ศรีสุมัง” ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง

พระเจ้าองค์ตื้อ วัดศรีสุมัง เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ สร้างอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ 2 ต้น หันองค์พระออกสู่แม่น้ำโขง ใกล้ๆกันมีต้นจามจุรีใหญ่รูปฟอร์มสวยงามเป็นอีกหนึ่งจุดชวนถ่ายรูปอันสวยงาม
แวะสักการะพระเจ้าองค์ตื้อ วัดศรีสุมัง
หลังไหว้พระเจ้าองค์ตื้อเสริมสิริมงคลแล้ว ช่วงสุดท้ายพวกเราปั่นสบายๆมุ่งหน้าสู่“โรงแรมอินทิรา” ในเมืองเก่าจำปาสัก ที่พักของเราในคืนนี้ที่เป็นอาคารเก่าสไตล์โคโลเนียลที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสปกครองสปป.ลาว ในยุคล่าอาณานิคม

เมืองเก่าจำปาสัก เป็นเมืองริมแม่น้ำโขง ในอดีตเคยเป็นเมืองเอก(อำเภอเมือง)ของแขวงจำปาสัก(จังหวัดจำปาสัก) ก่อนที่ฝรั่งเศสจะย้ายเมืองเอกไปยังเมืองปากเซ
ปั่นผ่านสะพานริมโขงในช่วงท้ายๆก่อนเข้าสู่ที่พักเมืองเก่าจำปาสัก
วันนี้เมืองเก่าจำปาสักเป็นเมืองเล็กริมฝั่งโขงที่สงบเงียบ ที่มีนักท่องเที่ยวไปพักค้างไม่มาก(เนื่องจากมีความเป็นเมืองผ่านจากปากเซไปยังแหล่งท่องเที่ยวดังๆมากกว่า) นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาพักค้างที่นี่จะเป็นพวกแบ็คแพ็กเกอร์ที่นิยมเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ สัมผัสบรรยากาศสบายๆริมฝั่งโขง และวิถีอันเรียบง่ายสงบงามของคนลาว

บรรยากาศเมืองเล็กๆน่ารักแบบนี้ ทำให้ผมนึกถึงปาย เชียงคาน อัมพวา รวมถึงหลวงพระบาง วังเวียง ในอดีต ซึ่งวันนี้ด้วยกระแสธารการท่องเที่ยวที่ถั่งโถม ทำให้เมืองเหล่านั้นเปลี่ยนไปกลายเป็นท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ
บรรยากาศยามเย็นกับตึกเก่าสไตล์ฝรั่งเศสหน้า รร.อินทิรา
การได้มาเที่ยวพักค้างที่เมืองเก่าจำปาสัก มันจึงเปรียบเสมือนการย้อนไปสัมผัสกับบรรยากาศเมืองเล็กๆ น่ารักๆ ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร หากแต่ในความสงบงามเรียบง่ายนั้นกลับเต็มไปด้วยสิ่งอันทรงเสน่ห์แฝงเร้น ซึ่งหลังจากนี้ต่อไปทิศทางการเติบโตของจำปาสักจะเป็นเช่นไร ผมมิอาจรู้ได้

รู้แต่ว่าสำหรับเมืองเก่าจำปาสักในวันนี้ ผมมีคำพูดจากใจให้ว่า

จำปาสัก ฉันรักเธอ”...(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ยามเช้าริมฝั่งโขงในตัวเมืองเก่าจำปาสัก
Octo Cycling เป็นบริษัทที่มุ่งเชิญชวนผู้ชื่นชอบการปั่นจักรยานออกไปผจญโลกกว้างด้วยการปั่นจักรยานท่องเที่ยวสัมผัสกับสถานที่ต่างๆ ทั้งใน กทม. ในเมืองไทย อาเซียน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เอเชีย และยุโรป เป็นต้น ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2181-2088 หรือที่ www. Octocycling.com หรือ www.facebook.com/octocycling
******************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager
กำลังโหลดความคิดเห็น