xs
xsm
sm
md
lg

กราบพระบรมราชสรีรางคารในหลวง ร.๙ และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ “วัดบวรฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

Facebook : Travel @ Manager
พระอุโบสถ
“วัดบวรนิเวศวิหาร” เป็น 1 ใน 2 วัดซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ (อีกหนึ่งวัดคือวัดราชบพิธ) โดยได้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารไว้บริเวณฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศ

ภายในวัดช่วงนี้จึงคลาคล่ำไปด้วยประชาชนจำนวนมากซึ่งต่างตั้งใจเดินทางมากราบสักการะพระบรมราชสรีรางคารของในหลวง ร.๙ และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียโอกาส จึงอยากขอแนะนำสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ภายในวัดบวรฯ เพื่อให้ผู้ที่มาเยือนได้เยี่ยมชมพร้อมทั้งสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลไปในคราวเดียว

วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดสำคัญที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ หรือวังหน้าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แต่ในสมัยของพระองค์ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ต่อมารัชกาลที่ ๓ ได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ามงกุฏ (สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔) ซึ่งผนวชเป็นพระภิกษุอยู่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เสด็จมาครองเมื่อ พ.ศ.2375
พระพุทธชินสีห์ และพระสุวรรณเขต
ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมสำคัญหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ “พระอุโบสถ” ที่สร้างขึ้นตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ ภายนอกบุผนังด้วยหินอ่อนทั้งหมด เสาด้านหน้าเป็นเสาเหลี่ยมมีบัวหัวเสาลวดลายแบบตะวันตก ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามด้วยฝีมือของขรัวอินโข่ง

ภายในพระอุโบสถของวัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน 2 องค์ด้วยกัน องค์แรกคือพระสุวรรณเขต หรือหลวงพ่อโต หรือหลวงพ่อเพชร เป็นพระประธานองค์ใหญ่ตั้งอยู่ด้านในสุด โดยเป็นพระประธานองค์แรกของพระอุโบสถนี้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระพุทธรูปโลหะลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยา หน้าตักกว้าง 9 ศอก 21 นิ้ว

และในภายหลัง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย หน้าตักกว้าง 5 ศอก 4 นิ้ว ซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารด้านทิศเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก มาประดิษฐานที่มุขหลังของพระอุโบสถจัตุรมุข วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ.2374 (พระพุทธชินสีห์เป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระธรรมราชาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย โปรดให้สร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันกับพระพุทธชินราช และพระศรีศาสดา)

ก่อนจะอัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ด้านหน้าพระพุทธสุวรรณเขต ใน พ.ศ.2380 แล้วได้ติดทองกะไหล่พระรัศมี ฝังพระเนตร และฝังเพชรที่พระอุณาโลมใหม่ พร้อมทั้งปิดทององค์พระพุทธรูป

บริเวณฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์นอกจากจะเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของในหลวง ร.๙ ดังที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ด้วยเช่นกัน
พระเจดีย์สีทอง
และด้านหลังพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์สีทองขนาดใหญ่ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ต่อรัชกาลที่ ๔ องค์พระเจดีย์มีสัณฐานกลม มีคูหาภายในเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์กาไหล่ทองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บริเวณระเบียงรอบพระเจดีย์มีซุ้มเก๋งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญที่มักมีผู้คนมาสักการะอยู่เสมอนั่นคือ “พระไพรีพินาศ” พระพุทธรูปศิลาปางประทานพรขนาดย่อม พระพุทธรูปองค์นี้มีผู้นำมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวชอยู่ พระองค์ได้ถวายพระนามว่า “พระไพรีพินาศ” เนื่องด้วยเมื่อได้พระพุทธรูปองค์นี้มาเสี้ยนศัตรูทั้งหลายต่างก็สิ้นไป
บนระเบียงรอบพระเจดีย์ มีซุ้มเก๋งประดิษฐานพระไพรีพินาศ
วิหารเก๋งและเจดีย์สีทองสุกปลั่ง
ถัดมาจากองค์เจดีย์เป็นที่ตั้งของวิหารเก๋งที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ โดยพระองค์มีพระราชประสงค์ให้เป็นที่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ภายในวิหารเก๋งปกติจะไม่เปิดให้เข้าชม แต่ วิหารเก๋งมีมุขโถงยื่นออกมาจากตัวอาคาร 2 ข้าง ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มุขทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธปฏิมาทีฆายุมหมงคล หรือหลวงพ่อดำ ส่วนมุขทางทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธชินสีห์จำลอง ซึ่งสร้างหล่อไว้ตั้งแต่เมื่อปีที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ครบ 84 พรรษา และบริเวณใต้ฐานพระจะเป็นที่บรรจุพระสรีรางคารของท่านไว้
ใต้ฐานพระพุทธชินสีห์องค์จำลอง บรรจุพระสรีรางคารของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
วิหารเก๋ง (ขวา) และวิหารพระศาสดา (ซ้าย)
และที่อยู่บนฐานไพทีเดียวกันกับวิหารเก๋งก็คือวิหารพระศาสดา เป็นพระวิหารซึ่งมีระเบียงรอบ ภายในแบ่งออกเป็น 2 ห้อง ห้องด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระศาสดา พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้าง จังหวัดนนทบุรี ให้อัญเชิญพระศาสดาจากเมืองพิษณุโลกมาไว้ที่วัด จากนั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) ได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดประดู่ฉิมพลี
พระศาสดา
และเมื่อรัชกาลที่ ๔ ทรงทราบพระองค์มีพระราชดำริว่า พระศาสดานั้นสร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ซึ่งประดิษฐานไว้อยู่ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศ พระศาสดาก็ควรประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรฯ เช่นเดียวกัน เป็นเสมือนพระพุทธรูปผู้พิทักษ์พระพุทธชินสีห์ จึงโปรดให้อัญเชิญพระศาสดามาประดิษฐานที่วัดบวรใน พ.ศ.2407
พระพุทธไสยา
ส่วนห้องด้านทิศตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธรูปนอนอันงดงามยิ่งนักคือพระพุทธไสยา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริดลงรักปิดทองปางไสยาสน์ สมัยสุโขทัย เดิมประดิษฐาน ณ วัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย ต่อมารัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ได้เสด็จประพาสเมืองสุโขทัย และทอดพระเนตรว่ามีลักษณะงามกว่าพระไสยาองค์อื่นๆ พระองค์จึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่วิหารพระศาสดาห้องทิศตะวันตก
พระศรีมหาโพธิที่ในหลวง ร.๙ ทรงปลูก
ที่วัดบวรนิเวศยังมีพระพุทธบาทโบราณประดิษฐานอยู่ภายในศาลาด้านทิศตะวันตก รอยพระพุทธบาทนี้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงได้มาจากจังหวัดชัยนาท เป็นรอยพระพุทธบาทที่สลักบนแผ่นศิลาแผ่นใหญ่ โดยรอบรอยพระพุทธบาทสลักภาพพระอสีติมหาสาวกมีตัวอักษรบอกชื่อ และด้านข้างแผ่นหินด้านปลายพระบาทมีคำจารึกภาษามคธ อักษรขอม

และอย่าลืมไปชมพระโพธิฆระ ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่แสดงอาณาเขตของต้นโพธิเพื่อให้เป็นพื้นที่หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พระโพธิฆระที่วัดบวรนิเวศนี้เป็นฐานต้นพระศรีโพธิซึ่งมีทับเกษตรล้อมรอบ อยู่ด้านหลังวิหารพระศาสดาทางห้องพระไสยา ต้นโพธินี้เดิมรัชกาลที่ ๔ ทรงได้เมล็ดพันธุ์พระศรีมหาโพธิจากพุทธคยาแล้วทรงเพาะเป็นต้นขึ้น และรัชกาลที่๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูก ต้นพระศรีมหาโพธิเติบโตจนมีอายุราว 100 ปี ได้ตายลงตามอายุขัย ต่อมาในวันที่ 6 ก.ค. 2525 ซึ่งเป็นวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกหน่อกล้าโพธิซึ่งเกิดใต้ต้นพระศรีมหาโพธิต้นเดิมที่ตายลง และยังคงเติบโตงอกงามอยู่จนทุกวันนี้
ประตูเซี่ยวกาง
อีกหนึ่งสิ่งน่าสนใจที่หลายคนมักมองผ่านกันคือ ประตูเซี่ยวกาง หรือประตูทางเข้าสู่เขตวัดทางฝั่งถนนพระสุเมรุ เป็นประตูที่มีทวารบาลสร้างตามคตินิยมแบบจีน ที่ปากของทวารบาลจะดูดำเป็นปื้นและมีพวงมาลัย ถุงโอเลี้ยงแขวนห้อยอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งชาวบ้านได้มาบนบานศาลกล่าวตามความเชื่อที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวจีนคนหนึ่งติดฝิ่นงอมแงมได้มาเสียชีวิตที่นี่ และได้มาเข้าฝันท่านเจ้าอาวาส(สมัยนั้น)ว่า ดวงวิญญาณของเขาจะขอสิงสถิตเฝ้าวัดบวรนิเวศให้
ตำหนักเพ็ชร
ที่กล่าวมานี้ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจในเขตพุทธาวาส ส่วนในเขตสังฆาวาส หรือเขตพักอาศัยของพระสงฆ์นั้นก็มีอีกมายมาย เนื่องด้วยวัดบวรนิเวศเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ที่ทรงผนวช ไม่ว่าจะเป็นรัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ และรัชกาลที่ ๙ ใจเขตสังฆาวาสจึงมีพระตำหนักที่สวยงามและสำคัญ อาทิ พระตำหนักปั้นหยา เป็นตึก 3 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบยุโรป เดิมเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ ๔เมื่อครั้งที่ทรงผนวช และยังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระผนวชและเสด็จมาประทับที่วัดนี้

พระตำหนักเพ็ชร เป็นพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถวายเป็นท้องพระโรงแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตำหนักทรงพรต เป็นสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ได้รับอิทธิพลจากทางตะวันตก พระตำหนักแห่งนี้ก็ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเจ้าฟ้าที่ทรงผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ภายหลังจากประทับที่พระตำหนักปั้นหยา 1 คืน ตามพระราชประเพณี

ความสำคัญนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว วัดบวรนิเวศยังเป็นที่เสด็จสถิตของสมเด็จพระสังฆราช ประมุขของคณะสงฆ์ไทยถึง 4 พระองค์ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

ดังนั้นหากจะเดินทางมากราบพระบรมราชสรีรางคารในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่วัดบวรฯ แล้ว ก็ขอเชิญชวนทุกท่านให้ร่วมชมและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญในวัดบวรฯ ดังที่กล่าวมาข้างต้นด้วย

วัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งอยู่บนถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สอบถามโทร. 0 2629 5854

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager
กำลังโหลดความคิดเห็น