อีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั่นก็คือ “การแสดงมหรสพสมโภช” ที่เป็นการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงเพื่อถวายพระเกียรติในวันออกพระเมรุได้ถูกจัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติ โดยการแสดงนี้ถือเป็นแบบแผนประเพณีที่สืบปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
การแสดงมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุ อาจเรียกว่า “มหรสพหน้าไฟ” ถือเป็นสัญลักษณ์ของงานออกทุกข์หรือการออกพระเมรุ ซึ่งตามประเพณโบราณนั้นการออกพระเมรุไม่ใช่การโศกเศร้า แต่เป็นสิ่งที่ควรยินดี เหมือนได้ส่งเสด็จดวงพระวิญญาณกลับสู่สวรรคาลัย ทำให้ต้องมีการฉลองหรือสมโภช นับเป็นสิ่งสุดท้ายที่ข้าแผ่นดินจะสามารถสนองพระมหากรุณาธิคุณ เทิดทูนพระเกียรติต่อพระเจ้าแผ่นดิน
“การแสดงมหรสพสมโภช” ปรากฏหลักฐานครั้งแรกในสมัยอยุธยารัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ได้มีการจัดแสดงมหรสพในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าปราสาททอง พระราชบิดา ต่อมาในสมัยธนบุรีมีการจัดแสดงมหรสพและการละเล่น เวลากลางวันคือ งิ้ว หุ่นญวน หุ่นลาว กายกรรม ส่วนเวลากลางคืนคือ เล่นหนัง โดยถือว่าการแสดงที่พบในสมัยนี้เป็นการแสดงที่สืบสานวัฒนธรรมไทยของเดิมสมัยอยุธยาไว้ และเชื่อมส่งต่อไปสู่สมัยรัตนโกสินทร์
ครั้นมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จัดให้มีการถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก โปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงมหรสพสมโภช 3 วัน 3 และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดสมโภชพระบรมธาตุ 1 วัน 1 คืน และมีความพิเศษกว่าครั้งอื่นๆ เนื่องจากมีการมหรสพในน้ำด้วย
ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดสมโภช 3 วัน 3 คืน ในงานพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในรัชสมัยนี้ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการแสดงมหรสพสมโภชเกิดขึ้น เนื่องจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ ได้ทรงมีพระราโชบายให้ลดความสิ้นเปลืองในการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระองค์เองลง โดยการเปลี่ยนแปลงขนาดพระเมรุมาศให้เล็กลงและยกเลิกการแสดงมหรสพ เพื่อลดค่าใช้จ่ายลงและได้เริ่มรับวัฒนธรรมจากต่างประเทศเข้ามาด้วย
จนกระทั่ง พ.ศ.2539 ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรื้อฟื้นการประโคมดนตรีและการมหรสพอีกครั้ง เพื่อไม่ให้บรรยากาศเงียบเหงาเหมือนครั้งงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ และเป็นการรักษาประเพณีโบราณไว้ด้วย จึงจัดให้มีมหรสพ 4 ชนิด คือ หนังใหญ่ โขน ละคร และหุ่นกระบอก
สำหรับในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดการแสดงมหรสพสมโภชขึ้น โดยกรมศิลปากรจัดเตรียมนักแสดงจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ นาฏศิลปิน สำนักการสังคีต นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศ และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นับพันคน เพื่อการแสดงในวันที่ 26 ต.ค. 60 ณ เวทีกลางแจ้งบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวงด้านทิศเหนือทั้งหมด 3 เวที ประกอบด้วย
เวทีที่ 1 การแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ และการแสดงโขนรามเกียรติ์ ใช้ผู้แสดงจำนวน 1,420 คน
การแสดงหนังใหญ่ ถือเป็นศิลปะชั้นสูงที่รวมนาฏศิลป์ชั้นสูงหลากหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ต้องใช้ความชำนาญในการแกะแผ่นหนังให้เป็นลวดลายฉากและตัวละคร และใช้คนเชิดควบคุมเงาที่จะทอดลงบนฉากอีกด้วย แบ่งออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 การแสดงหนังใหญ่ ชุดจับลิงหัวค่ำ
ส่วนที่ 2 การแสดงโขนหน้าจอและโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร ชุดศึกทศกัณฐ์ครั้งแรก ทัพสิบขุนสิบรถ ชุดท้าวมาลีวราชว่าความ ชุดนางมณโฑหุงน้ำทิพย์ ชุดศึกทศกัณฐ์ขาดเศียรขาดกร และชุดสีดาลุยไฟ พระรามคืนนคร
ส่วนที่ 3 การแสดงโขนหน้าจอและโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดรามาวตาร ทศกัณฐ์รบสดายุ หนุมานถวายพล พิเภกสวามิภักดิ์ เป็นการแสดงของโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ
เวทีที่ 2 การแสดงละคร หุ่นหลวง และหุ่นกระบอก ใช้ผู้แสดง 422 คน
สำหรับการแสดงหุ่นหลวงเป็นเรื่อง พระมหาชนก จากบทประพันธ์ของในหลวง ร.๙ โดยหุ่นหลวงเป็นหุ่นในราชสำนักต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 2559 โดยกรมศิลปากร ส่วนการแสดงหุ่นกระบอก จะเป็นเรื่องพระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาครจนถึงเข้าเมืองการะเวก
นอกจากนั้นยังมีรำกิ่งไม้เงินทอง เป็นการรำเบิกโรงละครในชุดหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่ โดยผู้ร่ายรำจะต้องถือกิ่งไม้เงินและกิ่งไม้ทองไว้ในมือ
ในส่วนของละครในเสนอเรื่อง อิเหนา ตอนบุษบาชมศาล อิเหนาตัดดอกไม้ ฉายกริช ท้าวดาหาบวงสรวง และละครเรื่อง มโนห์รา เป็นการแสดงรูปแบบใหม่ที่ทางกรมศิลปากรได้สร้างสรรค์ขึ้นในปี พ.ศ.2498 โดยปรับปรุงจากการแสดงโนราและละครชาตรี ซึ่งเป็นต้นแบบของละครรำของไทยมาประยุกต์รวมกัน
เวทีที่ 3 การบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” ใช้ผู้แสดง 942 คน
สำหรับการบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” ประกอบด้วยการแสดงทั้งหมด 7 องก์ โดยคัดเลือกบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บทเพลงเทิดพระเกียรติ และบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายความอาลัย โดยผู้บรรเลง ขับร้อง และผู้แสดงจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันดนตรีกัลป์ยาณิวัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ วงสหายพัฒนา โรงเรียนราชินี กองสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมดุริยางค์ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เข้าร่วมด้วย
โดย 1 ในการแสดงทั้งหมด 7 องก์ ได้แก่ “การแสดงบัลเลต์เรื่องมโนราห์” ถือเป็นอีกหนึ่งการแสดงที่สื่อให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านการดนตรีของในหลวง ร.๙ ที่ทรงคิดค้นและสร้างสรรค์บัลเลต์ไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก โดยนำความงามของบัลเลต์มาผูกโยงกับบทเพลงพระราชนิพนธ์ กลายเป็นบัลเลต์มโนราห์ ที่ผสมผสานระหว่างความอ่อนหวานแบบไทยและความคลาสสิกของบัลเลต์ โดยในครั้งแรกที่มีการแสดงนั้นพระองค์ทรงฝึกซ้อมด้วยพระองค์เอง นับเป็นคุณูปการต่อวงการนาฏศิลป์ไทยเป็นอย่างมาก
“การแสดงมหรสพสมโภช” ทั้ง 3 เวทีจะเริ่มแสดงตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 26 ต.ค.60 จนถึงเวลา 06.00 น. ของวันที่ 27 ต.ค. 60 และการแสดงทุกเวทีจะหยุดการแสดงเมื่อมีพระราชพิธีบนพระเมรุมาศ
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager