xs
xsm
sm
md
lg

“4 ดำ มหัศจรรย์แห่งภูพาน” จากพระราชดำริ สู่การยกระดับชีวิตเกษตรกรไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager

โคเนื้อภูพาน (โคทาจิมะ)
“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” จ.สกลนคร เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวและเรียนรู้วิถีพอเพียงตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) เนื่องจากที่นี่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานศึกษา ทดลอง และพัฒนาการอาชีพด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมทางการเกษตรอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ชุมชนยืนได้ด้วยการพึ่งพาตัวเอง ทั้งยังช่วยฟื้นฟูและพัฒนาป่าไม้ด้วยระบบชลประทาน

นอกจากการศึกษาและทดลองในเรื่องข้าว พืชไร่ พืชสวน ที่นี่ก็ยังมีการศึกษาและทดลองเกี่ยวกับสัตว์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) มีพระราชดำริเกี่ยวกับสัตว์ที่ทางศูนย์จะทำการทดลองและส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปเลี้ยง โดยมีแนวทางไว้ว่า จะต้องเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย อาหารของสัตว์ต้องหาได้ในท้องถิ่น ใช้เทคโนโลยีแบบง่ายๆ ทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถนำมาทำเป็นอาหารในครัวเรือนและมีกำไรเมื่อนำไปขาย

สุกรภูพาน
ซึ่งสัตว์ที่ทางศูนย์ส่งเสริมและแนะนำให้กับเกษตรกรก็มีอยู่หลายชนิด แต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ “3+1 ดำแห่งภูพาน” อันได้แก่ 3 ดำ คือ ไก่ดำภูพาน สุกรภูพาน โคทาจิมะ (โคเนื้อ) และกระต่าย ซึ่งสัตว์ทั้ง 4 ชนิดนี้เองที่มีสายพันธุ์โดดเด่น ช่วยสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างมากมาย 

“โคเนื้อภูพาน” เป็นโคที่ถูกปรับปรุงพันธุ์มาจากโคทาจิมะ (Tajima) ซึ่งเป็นโคสายพันธุ์หนึ่งของพันธุ์วากิว (หรือโคญี่ปุ่น) และเป็นสายพันธุ์ที่ให้เนื้อที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก ลักษณะเนื้อมีความนุ่ม มีไขมันแทรกเกรดสูง จุดเด่นที่สำคัญคือ มีสัดส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวต่อกรดไขมันอิ่มตัวสูงกว่าโคทั่วไป จึงทำให้ปลอดภัยต่อการบริโภค นิยมนำมาทำอาหารประเภท สเต๊ก ชาบู สุกี้ เป็นต้น

ไก่ดำภูพาน ทั้ง 3 สายพันธุ์
“สุกรภูพาน” ภายนอกมีสีดำ เป็นพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว จุดเด่นคือเป็นหมูที่เลี้ยงง่าย อยู่ง่าย และลูกดก เกษตรกรสามารถเลี้ยงปล่อยหลังบ้านเพื่อกินเศษอาหารที่เหลือ อีกทั้งยังสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม ทนทานต่อโรค เมื่อนำไปขุนให้เนื้อแดงมากกว่าไขมัน การเลี้ยงหมูดำภูพานมีอยู่ 2 แบบคือ เลี้ยงเพื่อขุนเป็นเนื้อหมู และเลี้ยงเพื่อทำเป็นหมูหัน

“ไก่ดำภูพาน” เป็นสัตว์เศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นที่นี่ โดยมีลักษณะเด่นคือ หนังดำ เนื้อดำ กระดูกดำ ตลอดจนเครื่องในก็มีสีดำ ซึ่งสารสีดำนี้คือสารเมลานิน ที่มีการกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ร่ายกายเป็นสีดำ สารเมลานินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยลดโอกาสของการเป็นโรคมะเร็งและออกฤทธิ์ช่วยชะลอความแก่

กระต่ายดำภูพาน (สีดำ) กระต่ายป่า (สีน้ำตาล)
“กระต่ายดำภูพาน” แต่เดิมมีการบริโภคกระต่ายป่าอยู่แล้วในพื้นที่นี้ ในป่าภูพาน แต่ปัจจุบันมีกฎหมายคุ้มครองเรื่องสัตว์ป่า จึงไม่สามารถเลี้ยงหรือบริโภคกระต่ายป่าได้ ทางศูนย์จึงพัฒนาต่อยอดจากสายพันธุ์ดั้งเดิม นำมาผสมข้ามอีกหลายสายพันธุ์ จนได้กลายมาเป็นกระต่ายดำภูพาน สาเหตุที่เลือกพัฒนากระต่ายดำภูพาน เนื่องจากต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรที่ยากจน เพราะกระต่ายกินแค่หญ้ากับน้ำ ไม่ต้องใช้อาหารชนิดอื่นๆ เหมือนโคเนื้อ ไก่ หรือหมู ทำให้มีต้นทุนน้อย และยังสามารถบริโภคกระต่ายเพื่อเพิ่มสารอาหารในครัวเรือน รวมถึงสามารถจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้ให้ครอบครัวได้ด้วย สำหรับเนื้อกระต่ายนั้นก็ได้รับการศึกษามาแล้วว่าเป็นเนื้อที่มีไขมันน้อย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพ

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่Youtube :Travel MGR




กำลังโหลดความคิดเห็น