xs
xsm
sm
md
lg

“วิชา๙หน้า” ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ จ.พิษณุโลก-สุโขทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Facebook :Travel @ Manager
ภาพมุมสูงของทุ่งทะเลหลวง
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดตัวโครงการ “วิชา๙หน้า” ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ ต่อยอดศาสตร์พระราชาในการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่น ใน “วิชาธรรมชาติสามัคคี : โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดําริภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก” และ “วิชารักแรงโน้มถ่วง : โครงการแก้มลิงในพระราชดำริทุ่งทะเลหลวง จ.สุโขทัย” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน

โครงการ “วิชา๙หน้า” ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ อันเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ “ตามรอยศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” จัดขึ้นโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการน้อมนำหลักเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา อันเป็นหลักการทรงงานของพระองค์ท่าน จนเกิดเป็นโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ เกิดเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและการพัฒนาประเทศในทุกด้าน
โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า
หนึ่งใน “วิชา๙หน้า” นั่นคือ “วิชาธรรมชาติสามัคคี : โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดําริภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก” หากได้สัมผัสกับโครงการพัฒนาป่าไม้ ภูหินร่องกล้า ซึ่งน้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องคนกับป่าของในหลวง รัชกาลที่๙ มาปรับใช้ตั้งแต่ปี 2552 เมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศไทยกำลังตกอยู่ภายใต้กระแสของลัทธิคอมมิวนิสต์ ภูหินร่องกล้าคือสมรภูมิสำคัญในฐานะจุดยุทธศาสตร์ซึ่งเชื่อมต่อพื้นที่ถึง 3 จังหวัด คือ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์

ด้วยสภาพภูมิประเทศบริเสณของภูหินร่องกล้า เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยป่ารก ทำให้กลุ่มผู้ก่อการยึดพื้นที่นี้เป็นฐานบัญชาการ ภายหลังเหตุการณ์คลี่คลายลง รัฐบาลขณะนั้นประกาศใช้นโยบายการเมืองนำการทหารผู้ก่อการจำนวนมากตัดสินใจออกจากป่าเพื่อมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย สมรภูมิรบภูหินร่องกล้าจึงกลายเป็นอดีต
จุดชมวิวสวยงามตามแนวหินผา
แม้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นสงบ แต่ปัญหาที่ภูหินร่องกล้ากลับยังไม่หมดไป เพราะชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนี้เป็นชาวม้ง ประกอบอาชีพด้วยการปลูกฝิ่นกับกะหล่ำปลี ชาวบ้านมักจะเข้าไปบุกรุกถางพื้นที่ป่าอยู่เสมอ โดยสร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก บางครั้งลุกลามจนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน แม้อาจจะไม่รุนแรงเหมือนเมื่อสมัยก่อนอย่างที่ผ่านมา

หลังจากนั้นมาดินแดนภูหินร่องกล้าก็ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 48 ของประเทศไทย ในวันที่ 26 ก.ค. 2527 มีพื้นที่ประมาณ 191,875 ไร่ ครอบคลุม 3 จังหวัดคือ เลย(อ.ด่านซ้าย) เพชรบูรณ์(อ.หล่มสัก) และ พิษณุโลก(อ.นครไทย)
จุดชมวิวผาคู่รัก
ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงได้หยิบยกแนวทางพระราชดำริมาเป็นฐานเพื่อแก้ไขปัญหา โดยสนับสนุนให้ชาวบ้านเปลี่ยนมาปลูกพืชที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ทดแทนภูเขาหัวโล้นที่ถูกบุกรุกบนยอดดอย อย่าง กาแฟอราบิก้า และสตรอว์เบอรี่ พันธุ์พระราชทาน 80 เพื่อนำไปจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวที่มาชมความงามของทุ่งดอกกระดาษและดอกนางพญาเสือโคร่ง ขณะเดียวกันก็ยังปลูกฝังแนวคิดเรื่องป่าไม้ สอนให้รู้จักวิธีดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการทำแนวป้องกันไฟป่า การดูแลแหล่งน้ำธรรมชาติ ฯลฯ จนทำให้ภูหินร่องกล้ากลับมาอุดมสมบูรณ์ในระยะเวลาไม่นาน
กาแฟอราบิก้า
สำหรับโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ และจ.เลย จัดขึ้นเพื่อปฏิบัติงานโครงการตามแนวพระราชดำริด้านงานพัฒนาป่าไม้ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในปี พ.ศ. 2552 โดยส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งที่บ้านใหม่ร่องกล้า หมู่ที่ 10 ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย ได้ปรับเปลี่ยนอาชีพจากเดิมมีการปลูกฝิ่นและไร่กะหล่ำปลีที่ใช้สารเคมีมากมายทำให้ดินเสีย หันมาปลูกสตรอว์เบอร์รี่ พันธุ์พระราชทาน 80 และกาแฟอราบิก้า เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ปัจจุบันมีชาวเขาเผ่าม้งมาช่วยงานในโครงการทั้งสิ้น 17 ครอบครัว และได้นำการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ และกาแฟอราบิก้าไปปลูกไม่ต่ำกว่า 30 ไร่
ปลูกกาแฟอราบิก้าใต้ต้นสน
หนึ่งในความภาคภูมิใจของโครงการฯ คือการเพาะปลูกกาแฟอราบิก้าใต้ต้นสนเป็นที่แรก และที่เดียวในประเทศไทย แต่เดิมคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าใต้ต้นสนเป็นพื้นที่ๆ ปลูกอะไรแล้วก็ไม่ขึ้น แต่เมื่อได้ทำการทดลองปลูกแล้ว กลับได้รับผลผลิตที่ดี แม้ช่วงแรกจะประสบปัญหาบ้างจนกระทั่งประสบความสำเร็จ และได้ให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ว่า กาแฟสามารถขึ้นได้ทุกที่ โดยไม่จำเป็นต้องถางป่า ถ้ามีความสูงเพียงพอ มีความเย็นเพียงพอ เมื่อกาแฟออกผลสามารถขายผลผลิตได้ในราคาดีกว่าเดิม ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ทุ่งดอกกระดาษเริ่มบาน
และอีกหนึ่งไฮไลต์ของที่นี่คือ ทุ่งดอกกระดาษ ที่จะเริ่มบานช่วงปลายปี (ช่วงเวลาที่สวยงามที่สุดคือ พ.ย.-ม.ค.) ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยว อากาศเย็นสบาย มีจุดชมวิวสวยงามตามแนวหินผา 6 จุดสำคัญ ได้แก่ ผาไททานิค ผาพบรัก ผาบอกรัก ผาคู่รัก ผารักยืนยง และผาสลัดรัก สามารถจิบกาแฟปลอดสารเคมีฝีมือชาวม้งท่ามกลางผืนป่าเขียวชอุ่ม นอกจากนี้ในช่วงฤดูหนาว ที่นี่ยังเป็นจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งหรือดอกซากุระเมืองไทยที่สวยงามอีกจุดหนึ่งของเมืองไทย
ดอกกระดาษ
ไร่สตรอว์เบอร์รี่
นายประจวบ ฤทธิ์เนติกุล อดีตกำนันบ้านเข็กน้อย
หากพูดถึงหมู่บ้านม้งที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศไทย คงต้องยกให้ “บ้านเข็กน้อย” ปัจจุบันอยู่อาศัยเกือบ 14,000 คน อาศัยอยู่ใน 12 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเพาะปลูกพืชไร่ตามแนวภูเขา บางคนก็เข้าไปทำงานในเมือง ไปเรียนหนังสือ

นายประจวบ ฤทธิ์เนติกุล อดีตกำนันบ้านเข็กน้อย ได้เล่าให้ฟังว่า ในอดีตชาวบ้านมีอาชีพปลูกฝิ่น ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีรับสั่งให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นและหันมาปลูกพืชเมืองหนาวทดแทน อย่างเช่น กาแฟ ลิ้นจี่ พืช ผัก ผลไม้ ซึ่งหลังจากชาวบ้านได้เลิกปลูกฝิ่นแล้วมีชีวิตที่ดีขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันชาวบ้านมีรายได้หลักมาจากการค้าขาย ทำการเกษตร รับจ้าง

“ถ้าวันนั้นในหลวง รัชกาลที่ ๙ ไม่พระราชทานแนวทางการเลิกปลูกฝิ่น ให้เลิกถางป่า ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเข็กน้อยคงไม่มีความเป็นอยู่ที่ดีดังเช่นทุกวันนี้” อดีตกำนันบ้านเข็กน้อย กล่าว
บริเวณใจกลางทุ่งทะเลหลวง
และในอีกหนึ่งวิชา๙หน้า คือ “วิชารักแรงโน้มถ่วง : โครงการแก้มลิงในพระราชดำริทุ่งทะเลหลวง จ.สุโขทัย” สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย “แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ” หรือเรียกโดยทั่วไปว่า “เกาะรูปหัวใจ” พื้นที่แห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณใจกลางทุ่งทะเลหลวง ในเขตตำบลปากแคว อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจแห่งนี้ ได้เกิดจากแนวคิดโครงการแก้มลิง ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริเพื่อให้บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในช่วงหน้าฝน ด้วยการเป็นแหล่งรับน้ำจากแม่น้ำยม ที่ไหลบ่าล้นตลิ่งฝั่งขวา น้ำห้วยท่าแพ น้ำแม่มอก ที่ไหลบ่าจากอำเภอสวรรคโลก และน้ำแม่รำพัน น้ำแม่กองค่าย ที่ไหลบ่าจากอำเภอบ้านด่านลานหอย ให้ไหลมารวมกันบริเวณที่ลุ่ม ซึ่งเป็นหลักการตามธรรมชาติ

โครงการแก้มลิงในพื้นที่ทะเลหลวง มีลักษณะเป็นเกาะรูปหัวใจขนาดใหญ่หากมองจากมุมสูง และมีเกาะที่ยื่นออกไปกลางน้ำที่ถูกออกแบบพื้นที่ให้เป็นรูปหัวใจ ซึ่งในวันที่ 17 มกราคม 2553 ได้มีการจัดทำบุญพิธีกลั่นแผ่นดิน โดยให้ทุกครอบครัวในแต่ละหมู่บ้านนำดินมาด้วย แล้วมาทำให้เป็นดินบริสุทธิ์ และตั้งปณิธานร่วมกันว่า จะร่วมกันสร้างแผ่นดินนี้ให้เจริญรุ่งเรือง แล้วได้นำดินทั้งหมดไปวางรองรับพระพุทธรัตนสิริสุโขทัย ณ มณฑปเกาะกลางแผ่นดินรูปหัวใจทุ่งทะเลหลวง และเรียกพื้นที่จุดนี้ว่า แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ เพื่อสื่อถึงแผ่นดินที่เป็นศูนย์รวมแห่งความรักใคร่ปรองดองของชาวเมืองสุโขทัย

ในปัจจุบันโครงการแก้มลิงทุ่งทะเลหลวงและแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย โดยบริเวณพื้นที่บนเกาะนั้น ได้มีการปลูกต้นไม้เพื่อความร่มรื่น เเละยังได้ถูกใช้เป็นพื้นที่ในการจัดงานในวันสำคัญต่างๆ อาทิ วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา อีกทั้งทางจังหวัดยังได้มีการวางแผนที่ย้ายศูนย์ราชการ และสร้างอาคารสำคัญเช่น สนามกีฬา สวนสาธารณะ ไว้ในพื้นที่โดยรอบ
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager
กำลังโหลดความคิดเห็น